กรรมติดจรวด ทำได้ไง?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 8 เมษายน 2006

ใครที่ได้ดูละครดังเรื่องแดจังกึมในตอนที่ตัวเอกของเรื่องคือแดจังกึมและมินจุงโฮ ผู้อุตส่าห์ทำความดี เสี่ยงชีวิตช่วยชาวบ้านจากโรคภัยไข้เจ็บจนกระทั่งพบทางรักษา แต่แล้วกลับถูกลงโทษ “พักงาน-ย้ายงาน” ก็คงคิดว่า ถ้าทั้งคู่อยู่บ้านไทยก็คงจะรำพึงแบบที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”  แต่แล้วเหตุร้ายก็กลายเป็นดีเพราะหมอหญิงจังด็อกไม่ยอมนิ่งเฉยเอาเรื่องไปบอกเล่าอดีตตุลาการ และอดีตตุลาการฟังแล้วก็ไม่บอกแค่ว่า “อ้อ…เหรอ” หรือคิดไปว่าหากทำอะไรไปจะเสียความเป็นกลาง ว่าแล้วก็ไม่ยุ่งดีกว่า ตรงข้ามเขากลับยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้ความดีปรากฏจนเหตุร้ายกลายเป็นดีตามความจริงของมัน

การทำความดี-ความชั่วของปัจเจกบุคคลจึงเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับบริบททางสังคมหรือชุมชนของบุคคลผู้นั้น หมายความว่า แม้กฎแห่งกรรมจะเป็นกฎจริงแท้แน่นอนเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ (สัจธรรม) ที่อยู่นอกการควบคุมบงการของมนุษย์ แต่มนุษย์ก็สามารถช่วยให้กฎแห่งกรรมแสดงผลให้ประจักษ์ได้เร็วขึ้น ชัดเจนขึ้นด้วยกฎของสังคม เพื่อส่งเสริมคนให้ทำความดีมากขึ้น และเพื่อกำราบคนมิให้ทำความชั่วสร้างความเดือดร้อนกับส่วนรวม  ทั้งนี้ขึ้นกับว่าสังคมนั้นมีสติปัญญาเพียงใดในการสร้างกฏของสังคมให้สอดรับ เพื่อช่วยให้กฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งธรรมชาตินั้นมีอำนาจในการควบคุมคนในสังคมมากยิ่งขึ้น และยังขึ้นกับว่าบุคคลในสังคมนั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องมี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ในการจรรโลงกฎแห่งกรรมให้ทำงานได้หรือไม่ เหมือนที่หมอหญิงจังด็อกและอดีตตุลาการทำเพื่อปกป้องการทำความดีของแดจังกึม-มินจุงโฮ

ดังนั้น เสียงรำพึงที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” จึงสะท้อนสภาพของสังคมไทยในขณะนี้ว่า กฎหมายทั้งหลาย รวมถึงผู้ใช้กฎหมาย ไม่ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ ตำรวจ อัยการ ตุลาการ ราชทัณฑ์ ทนายความ ฯลฯ ไม่ได้จรรโลงหรือรักษาความยุติ “ธรรม” (คือหยุดที่กฎธรรมชาติหรือธรรมเป็นหลัก) และ/หรือขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะปฏิบัติตามกฎที่ถูกต้องตามจริง  ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น คือกฎหมายเองกลายเป็นเครื่องมือทำลายกฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งธรรมชาติมิให้แสดงความจริงของมันออกมาตามที่มันเป็น หากไปขวางไปถ่วงดึงให้มันทำงานเนิ่นช้า หรือเบี่ยงเบนออกไป โดยหารู้ไม่ว่า กระทำได้เพียงชั่วคราว เพราะกฎธรรมชาติมีอำนาจเกินการควบคุมของมนุษย์ ไม่ช้าก็เร็วจะต้องแสดงผลของมัน  แต่สังคมที่ฉลาดจะไม่รอให้มันแสดงผลเนิ่นช้า ต้องรอชาติหน้าตอนสายๆ หรือรอให้ “กรรมตามทัน” เอง หากแสวงหาวิธีที่จะให้กรรมเห็นผลรวดเร็ว หรือที่บางคนเรียกว่า “กรรมติดจรวด” เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญของการจรรโลงความสงบสุขในสังคม ในทางตรงข้าม การขวางกฎแห่งกรรมทางสังคม หรือถ่วงดึงให้เนิ่นช้า คือการก้าวเดินไปสู่หายนะและความรุนแรงของอนาคต

วลีที่ถ่ายทอดกันมาในสังคมไทยว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” สะท้อนว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีสังคมซึ่งมีกฎมนุษย์วางอยู่บนกฎธรรมชาติ ทำให้กฎแห่งกรรมติดจรวด เห็นผลเมื่อกระทำไม่ว่าเมื่อทำความดีหรือความชั่ว โดยกฎเกณฑ์ที่เข้าไปสนับสนุนนั้นมีหลากรูปแบบ ในสังคมสมัยเดิมที่ยังเป็นชุมชนหมู่บ้านนั้น กฎธรรมชาติจะอยู่ในจารีตที่เมื่อบุคคลละเมิดจะถูกลงทัณฑ์ด้วยหลายวิธีการ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อย่างเบาๆ ก็โดนนินทาซุบซิบ อย่างหนักก็ถูกขับออกจากชุมชน ฯลฯ  ในเงื่อนไขที่ความอยู่รอดของบุคคลต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ทำให้กฎมนุษย์เข้มแข็ง บุคคลต้องพยายามจะปรับปรุงตนเองเพื่อการยอมรับของคนอื่น

สังคมที่ฉลาดจะไม่รอให้กฎแห่งกรรมแสดงผลเนิ่นช้าหรือรอให้ “กรรมตามทัน” เอง แต่จะแสวงหาวิธีที่ทำให้กรรมเห็นผลรวดเร็วด้วยความยุติธรรม เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญของการจรรโลงความสงบสุขในสังคม

ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีกระบวนการเรียนรู้ของการทำความดีและความชั่วที่ชัดเจน โดยเชื่อมโยงผลประโยชน์ของบุคคลและส่วนรวมเป็นหนึ่งเดียวกันตามความจริงของกฎธรรมชาติ ว่าสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน มีผลกระทบต่อกัน ความร่ำรวยที่มากเกินจึงฝืนกฎความจริงของธรรมชาติ เพราะย่อมไปเอาทรัพยากรของคนอื่นมาไว้ที่ตัวโดยไม่กระจายออก การแอบลักลอบตัดไม้มาใช้ของตัวเองจึงถือเป็นความผิด (ผิดผีหรือผิดกฎธรรมชาติ) ต้องถูกลงโทษ เพราะส่งผลให้คนอื่น-ส่วนรวมขาดแคลนในอนาคตได้ การมีมากเกินความพอเพียงหรือตามความโลภจึงเป็นบาปอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ  การที่สังคมในระดับชุมชนมีขนาดเล็ก คนรู้จักกันทั้งหมด และพระสงฆ์หรือผู้นำจิตวิญญาณยังเป็นเสาหลักแห่งความถูกต้องดีงาม โดยที่เงิน อำนาจ อิทธิพล ฯลฯ ซื้อไม่ได้ เพราะพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ต้องการความสุขจากวัตถุน้อย สามารถแสวงหาความสุขสงบจากภายในของตนได้เอง ทำให้ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เห็นผลและสร้างการเรียนรู้ที่ชัดเจนแก่ผู้เกี่ยวข้อง

สังคมที่ใหญ่และซับซ้อนมากในปัจจุบัน ลัทธิปัจเจกนิยม “ช่างมันฉันไม่แคร์” ที่ถือสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่อิงอาศัยสิทธิชุมชนหรือสังคมส่วนรวม ไม่อิงกับสิทธิของสรรพชีวิตอื่นในธรรมชาติ (ระบบนิเวศ) เพื่ออยู่รอดร่วมกัน และกระบวนการเรียนรู้เรื่องของความดีความชั่วที่ถูกทำลายลงไป รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ได้ทำให้กฎสังคมซึ่งส่วนมากคือกฎหมายห่างไกลจากกฎธรรมชาติคือความยุติธรรมและการอยู่รอดร่วมกันออกไปทุกที สังคมที่ยึดถือกฎหมายดังกล่าวไว้ย่อมเกิดความปั่นป่วนโกลาหลเดือดร้อน วิธีการเยียวยาจึงต้องทำหลายมิติ เพื่อให้กรรมติดจรวด  ด้านสังคม ประชาชนจะต้องร่วมกันสร้างกฎหมายที่เป็นธรรม-ชอบธรรม ถ้ากฎหมายใดพึ่งไม่ได้ ก็ต้องสร้างกฎหรือพลังของหลักเกณฑ์ใหม่ในสังคมขึ้นมา โดยไม่นิ่งเฉยดูดายปล่อยให้คนทำดีแล้วไม่ได้ดี หรือปล่อยให้คนชั่วลอยนวล

สังคมที่ไม่มีอนาคต คือสังคมที่ผู้คนไม่นำพาศีลธรรมทางสังคม และไม่ใส่ใจปล่อยให้กฎแห่งกรรมถูกเบี่ยงเบนและบิดเบือน โดยเฉพาะภายใต้คำอธิบายว่าเพื่อรักษาความเป็นกลาง