กระบวนกรสำคัญไฉนในการเรียนรู้ที่ทรงพลัง (๓)

ปรีดา เรืองวิชาธร 15 สิงหาคม 2010

ความจาก ๒ ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง อันได้แก่การสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและทรงพลัง และการสรุปบทเรียนเพื่อให้เกิดการใคร่ครวญภายในและแลกเปลี่ยนแบ่งปันภายในกลุ่มที่เรียนด้วยกัน  ดังนั้นกระบวนกรจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้หรือสอนเพียงอย่างเดียว แต่กลับต้องทำหน้าที่สำคัญคือ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้อันสร้างสรรค์สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนรวมถึงเป้าหมายและเนื้อหา  ทั้งยังทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ใคร่ครวญบทเรียนอย่างลึกซึ้ง สามารถตั้งคำถามเชื่อมโยงเพื่อดึงบทเรียนจากภายในของผู้เรียนให้ปรากฏออกมา  ที่สำคัญยังต้องสามารถเชื่อมโยงบทเรียนจากผู้เรียนทุกคนให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันจนสังเคราะห์เป็นบทเรียนที่นำไปใช้ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง  ด้วยเหตุนี้กระบวนกรจำต้องสั่งสมคุณสมบัติภายในตลอดจนทักษะพื้นฐานของการเป็นกระบวนกร ดังต่อไปนี้

รู้ทัน มั่นคง ปล่อยวาง : แก่นแกนภายในของการเป็นกระบวนกร

ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงคนอย่างลึกซึ้งนั้น กระบวนกรจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคสิ่งที่ไม่คาดฝันมากมาย ทั้งที่เกิดจากความเหนื่อยหนักจากการสรุปบทเรียนร่วมกับผู้เรียน ซึ่งอาจจะมีทั้งความยากของบทเรียนและความฝืดฝืนของผู้เรียน เกิดจากบทเรียนที่ดำดิ่งสู่สภาวะภายในซึ่งมองเห็นได้ยาก บางคราวก็เกิดอารมณ์ความรู้สึกด้านร้ายจากการกระแทกความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นทั้งผู้เรียนและตัวกระบวนกรเอง บางครั้งก็ต้องใช้พลังสูงในการเผชิญกับความแตกต่างหลากหลายรวมถึงความท้าทายนานาชนิดของผู้เรียน หรือบางครั้งบทเรียนก็ไม่ได้ดำเนินไปตามที่คาดหวังไว้ และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้นกระบวนกรจึงต้องฝึกฝนพลังแห่งสติหรือความระลึกรู้ทันความรู้สึกนึกคิดภายในเวลากระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ฝึกฝนสติจนจิตใจมีความตั้งมั่นมีความนิ่งภายในพร้อมเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ไว้ แม้ว่าการจัดการเรียนรู้จะออกมาดีหรือไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม  นอกจากนี้กระบวนกรจำต้องฝึกฝนการเฝ้ามองสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งภายในภายนอกของเราจนมองเห็นความจริงว่าสรรพสิ่งล้วนผันผวนปรวนแปรไปตามเหตุปัจจัย พึงปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง  หากฝึกฝนจิตใจให้รู้ทัน มั่นคงและปล่อยวางได้ ก็ย่อมทำให้กระบวนกรมีสภาวะภายในที่เข้มแข็งปลอดโปร่ง สามารถทำกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไม่ทุกข์กังวล แต่กลับมีพลังมีชีวิตชีวา และสามารถทำบทเรียนได้อย่างสร้างสรรค์งอกงามไปได้อย่างไม่หยุดนิ่ง  นอกจากนี้สภาวะภายในที่เข้มแข็งมั่นคงมักจะเป็นแก่นแกนสำคัญทำให้ทักษะพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ที่จะกล่าวถึงต่อไปมีความแหลมคมและเต็มไปด้วยพลัง

รู้กว้าง รู้ลึก รู้ไกล กล้าหาญและใส่ใจ : คุณสมบัติพื้นฐานของผู้ศรัทธาต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้

หากกระบวนกรจะสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดบทเรียนที่ลงลึกและนำไปใช้ได้จริง กระบวนกรจำต้องหมั่นแสวงหาและเรียนรู้ในเรื่องที่ตนจัดการเรียนรู้อยู่เสมอ จนสามารถรู้ในเรื่องนั้นลึกและกว้างรวมทั้งต้องแสวงหาเรียนรู้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นที่สัมพันธ์กับเรื่องที่เราทำซึ่งถือเป็นการรู้ไกล

ดังนั้นยิ่งกระบวนกรรู้กว้าง รู้ลึก และรู้ไกลได้มากเท่าใด ก็ย่อมทำให้บทเรียนมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น

อีกด้านหนึ่งกระบวนกรจำต้องฝึกฝนความกล้าหาญในมิติต่างๆ ได้แก่ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นความเชื่อหรือทัศนคติเดิมที่ตนยึดถือ หากมันถูกตรวจสอบชัดเจนแล้วว่ามีข้อจำกัดในการอธิบายความจริง หรือมีความเห็นหรือทฤษฎีซึ่งอธิบายได้ดีกว่า  กระบวนกรจำต้องกล้าที่จะไม่ยึดในความเห็นความเชื่อเดิม และใจกว้างที่จะเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว พร้อมที่จะยืดหยุ่นพลิกแพลงทั้งความคิดเห็นและการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ  กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ กระบวนกรควรฝึกฝนความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับความเห็นที่ต่างไปจากตน รวมถึงกล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายในทุกรูปแบบของผู้อื่นรวมถึงผู้เรียนด้วย  ที่สำคัญที่สุดในเรื่องความกล้าก็คือ กล้าที่เรียนจากผู้เรียนที่สถานภาพต่ำหรือด้อยกว่า รวมทั้งถ้าตัวเองไม่รู้สิ่งใดก็กล้าที่จะบอกหรือยอมรับกับผู้เรียนได้ว่าไม่รู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบอย่างซื่อตรงต่อการจัดการเรียนรู้

ประการสุดท้าย กระบวนกรควรมีสำนึกแห่งการใส่ใจผู้เรียนทั้งหมด พยายามเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดซึ่งจะทำได้ดีก็ต่อเมื่อจิตใจภายในกระบวนกรต้องนิ่งพอที่จะดำรงอยู่กับเขาอย่างแท้จริง จึงจะทำให้สามารถรับฟังหรือได้ยินความรู้สึกนึกคิดภายในที่ผู้เรียนแสดงออกมา  หากกระบวนกรไม่นิ่งและไม่ได้ดำรงอยู่ร่วมกับผู้เรียน ก็ย่อมไม่สามารถได้ยินได้ฟังบทเรียนที่เกิดขึ้นจากผู้เรียน กระบวนกรก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์บทเรียนที่เกิดขึ้นจากตัวผู้เรียนได้อย่างแท้จริง แต่จะทำได้แค่เพียงนำเสนอความเห็นตนเองออกไปข้างเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้การใส่ใจผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง ยังทำให้กระบวนกรสามารถเห็นช่องทางหรือกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งจะทำให้กระบวนกรสามารถจัดวางเงื่อนไขการเรียนรู้ หรือช่วยเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จนสามารถเติบโตงอกงามได้ด้วยตัวเองในที่สุด

ทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้

การรับฟังด้วยใจอย่างลึกซึ้ง

กระบวนกรจำต้องฝึกรับฟังผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง ฟังด้วยสติจนสามารถจับประเด็นหรือเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ ของผู้เรียนที่กำลังแลกเปลี่ยนแบ่งปัน  การฟังอย่างลึกซึ้งยังช่วยทำให้กระบวนกรเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งการเข้าถึงทั้งประเด็นและอารมณ์ความรู้สึกจะเป็นประตูสำคัญของการทำให้บทเรียนลุ่มลึกโผล่ปรากฏขึ้นมา ทำให้กระบวนกรสามารถเชื่อมโยง วิเคราะห์ สังเคราะห์ประสบการณ์ของผู้เรียนได้อย่างแม่นยำและแหลมคม

วิธีคิดหรือกระบวนการคิดเพื่อใช้เป็นเข็มทิศนำทางในการวางแผนและการสรุปบทเรียน

ในการจัดการเรียนรู้ที่เอากลุ่มผู้เรียนเป็นตัวตั้ง และจะต้องสกัดความเห็นและประสบการณ์ออกจากผู้เรียนแล้วทำให้ปะทะสังสรรค์จนเกิดบทเรียนที่ลึกซึ้งนั้น กระบวนกรจำต้องมีวิธีคิดหรือกระบวนการคิดเพื่อใช้เป็นเข็มทิศบ่งบอกทางในการวางเนื้อหาและการสรุปบทเรียน  เข็มทิศของกระบวนการคิดที่ว่านั้นจะช่วยทำให้กระบวนกรรู้ชัดได้ว่าบทเรียนกำลังอยู่จุดใด กำลังเคลื่อนไปอย่างไร ประเด็นกำลังเชื่อมโยงสัมพันธ์หรือย้อนแย้งกันอย่างไร ซึ่งถ้ากระบวนกรรู้ตำแหน่งแห่งที่ของบทเรียนชัดเจนก็จะช่วยกลุ่มผู้เรียนเข้าถึงบทเรียนได้ง่าย

ด้วยเหตุนี้กระบวนกรจำต้องฝึกฝนกระบวนการคิดหรือวิธีคิดที่หลากหลายไว้ใช้งานอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายและเนื้อหาการเรียนรู้

การจับประเด็น

นอกจากการรับฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว กระบวนกรจำต้องหมั่นฝึกฝนการจับประเด็นหรือจับแก่นของเรื่องได้ เพราะหากกระบวนกรจับประเด็นได้แม่นยำไม่หลุดมือก็ย่อมช่วยทำให้ทุกคนเข้าถึงบทเรียนได้ง่าย ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่ผู้เรียนต้องการสื่อ ซึ่งนั่นก็จะเป็นประตูสำคัญของการทำให้บทเรียนอันลึกซึ้งซึ่งโผล่ปรากฏขึ้นมา และเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า การรับฟังอย่างลึกซึ้งและการจับประเด็นต้องทำงานควบคู่กัน

การสื่อสารที่เข้าใจง่ายและทรงพลัง

ทักษะด้านนี้ถือเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงบทเรียนได้ง่ายและมีพลังตื่นตัวต่อการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การเล่าเรื่องสั้นๆ หรือการพูดให้ข้อคิด หรือเสนอมุมมองใหม่ๆ ของกระบวนกร ดังเรามักจะประทับใจกระบวนกรบางท่านที่สามารถพูดได้อย่างคมคายและทรงพลังจนทำให้ผู้เรียนเกิดมโนธรรมสำนึกหรือเกิดการฉุกคิดอย่างใคร่ครวญได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะทำให้เราเห็นเรื่องภายในหรือเรื่องใกล้ตัวที่เรามักมองข้ามเสมอ เป็นต้น

การตั้งคำถามที่ลงลึกและเชื่อมโยง

ทักษะด้านนี้จัดเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากภายในและทำให้เกิดปะทะสังสรรค์บทเรียนภายในกลุ่มซึ่งช่วยทำให้องค์ความรู้ชัดเจนลุ่มลึก และขยายเชื่อมโยงไปสู่บริบทอื่นได้อย่างทรงพลัง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นข้อเสนอที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยเพื่อมุ่งสู่การเรียนรู้อย่างแท้จริง  หวังว่าแวดวงการศึกษาไทยจะได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้ไปสู่วงกว้างยิ่งๆ ขึ้นทุกที


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน