กล่อง: เบื้องหลังชีวิต

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 14 พฤษภาคม 2017

ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดเตรียมร่างอยู่ในขณะนี้ หนึ่งในประเด็นข้อถกเถียงหลายๆ ข้อที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ ข้อสรุปว่าควรมีการระบุหรือไม่ว่า พุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติไทย ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม ขณะที่บางกลุ่มไม่เห็นด้วย  ต่างฝ่ายล้วนมีเหตุผลสนับสนุนข้อเรียกร้องของตน แต่ละเหตุผลของแต่ละฝ่ายจะสร้างการยอมรับได้ดีหรือมากน้อยเพียงใด คงเป็นอีกประเด็นของการถกเถียง  แต่สิ่งที่มีความหมายและมีอิทธิพลที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้อง คือ ‘กล่อง’ ที่ครอบงำเราอยู่ นั่นคือความคิด ความเชื่อ ความยึดมั่นถือมั่น หรือแม้แต่ผลประโยชน์ ฯลฯ

สิ่งที่น่าสนใจคือ พลังขับเคลื่อนของความรุนแรงในรูปการต่อสู้ การทำลาย ฆ่าฟัน ทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจในท่ามกลางความขัดแย้ง  แท้จริงก็คือ ‘กล่อง’ ที่ครอบงำเราอยู่ ที่คอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังคำพูดหรือเหตุผลที่ยกมันขึ้นมา ไม่ใช่เพราะกล่องเหล่านี้หรอกหรือที่อยู่เบื้องหลังสงครามเย็น การเหยียดผิว การแบ่งแยกดินแดน รวมไปถึงการแยกเขาแยกเรา

ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง มีผู้ใจบุญนำผ้าห่มมาแจกชาวบ้านในช่วงฤดูหนาว โดยมอบให้กับพระเป็นผู้ดูแลการแจกจ่าย ชาวบ้านต่างชื่นชมในความมีน้ำใจของผู้ใจบุญท่านนี้  แต่เมื่อชาวบ้านรับรู้ว่าบางบ้านได้ผ้าห่ม 2 ผืน แต่ตนได้เพียงผืนเดียว เสียงต่อว่า คำนินทา ความโกรธ โมโห ก็สาดใส่ไปทั่ววัดถึงความลำเอียง ความไม่ยุติธรรมของพระ  จนดูเหมือนว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ช่างเป็นผู้ที่รักความยุติธรรมเหลือเกิน และพร้อมจะสละทุกอย่างเพื่อความยุติธรรมในเรื่องนี้  ฟากหนึ่งมองว่าความยุติธรรมคือ ทุกคนได้เท่ากัน ขณะที่บางฝ่ายมองว่าตนเองมีสิทธิ์ได้มากกว่า เพราะ..  ผู้เขียนไม่ทราบว่าเรื่องคลี่คลายอย่างไร ทราบเพียงว่าเรื่องนี้ให้บทเรียนที่สำคัญยิ่งกับพระทุกรูปและสมาชิกทุกคนในวัดป่าแห่งนี้

ความที่แต่ละฝ่ายต่างเชื่อว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นมีความถูกต้อง เป็นความดี เป็นอุดมการณ์ที่ควรเสียสละ ยกย่องและเทิดทูน  ใครที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ไม่มากก็น้อยเราอดไม่ได้ที่จะมองว่า เขาเป็นคนที่ต้องถูกแก้ไข ปรับเปลี่ยนความคิด  หากเลวร้ายมากๆ ก็ต้องถูกประณาม ถูกลงโทษ จนกระทั่งถึงขั้นถูกทำลาย  อะไรที่ทำให้คนเราสามารถคิดนึกและรู้สึกรุนแรงได้ขนาดนี้ คำอธิบายคงมีได้หลากหลายทฤษฎีความรู้

ประเด็นที่บทความนี้ใคร่ขอเสนอแลกเปลี่ยน คือ ‘กล่อง’ ทำให้เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัย เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราและเพื่อนพ้องที่ร่วมกันยึดถือเป็นพวกพ้องเดียวกัน หากมีสิ่งใดหรืออะไรที่ทำให้ความมั่นคงปลอดภัยนี้สั่นไหว ทำให้กล่องที่ปกป้องเราอยู่เกิดรอยแตกร้าว เราก็ต้องจัดการกับสิ่งนั้น อย่าให้มีอะไรมาทำลายกล่องของเราได้  ดังเช่น ‘กล่อง’ ที่สอนเราในเรื่องระบบอาวุโส กล่องใบนี้ช่วยให้เรามีระเบียบในด้านความสัมพันธ์ เกิดระบบความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคม  แต่อีกด้านหนึ่งกล่องใบนี้ก็จำกัดความคิดสร้างสรรค์ และเสรีภาพของหลายๆ คน อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมคนอื่น  เช่นนี้แล้ว เราควรทำลายกล่องใบนี้อย่างนั้นหรือ ความไร้ระเบียบในความสัมพันธ์คงถูกกระทบแน่

กล่องที่ครอบงำเราอยู่โดยไม่รู้ตัว หรือเราตั้งใจแบกยึดอยู่ก็ตาม จึงมีทั้งข้อดี-ข้อเสียอยู่ในตัว เปรียบเสมือนดาบสองคมที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ เท่าๆ กับที่ดาบนี้สามารถทำให้เราบาดเจ็บได้ หากเราใช้มันโดยประมาท  โดยตัวกล่องจึงอาจไม่ใช่ตัวปัญหานัก แต่ตัวปัญหาแท้จริงคือ การไม่ตระหนักรู้ หรือหลงลืมในความเป็นดาบสองคมของกล่อง จนกระทั่งเรายึดมั่นถือมั่นในตัวกล่อง จนเราหลงลืมละเลยคุณค่าในเรื่องอื่นๆ คือ ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ  เมื่อเราหลงลืมก็ไม่ยากที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบรุนแรง เมื่อมีอะไรมากระทบกล่องที่เรายึดถือไม่มากก็น้อย  บ่อยครั้งที่เราทุกคน (รวมผู้เขียน) ก็มักหลงลืมจนใช้น้ำเสียงรุนแรง ด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ หรือใช้ดวงตาจ้องมองด้วยความโกรธ เกลียด กล่าวโทษ ตำหนิผู้อื่นหรือตนเอง ยามที่เราขุ่นเคือง ผิดหวัง เสียใจกับบางเรื่อง

โดยตัวกล่องอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาแท้จริงคือ การยึดมั่นถือมั่นในตัวกล่อง จนหลงลืมละเลยคุณค่าในเรื่องอื่น

ความโกรธ ความกลัว และความวิตกกังวล ต่างล้วนเป็นปฏิกิริยาที่เรามีความคาดหวัง มีความต้องการบางอย่างที่เราไม่ได้ตามนั้น  ความรุนแรงของปฏิกิริยามากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่า สิ่งที่เราคาดหวังต้องการนั้นมีความสำคัญกับชีวิตเราเพียงใด  ปฏิกิริยาจากอารมณ์นี้เอง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เราต้องโต้ตอบอะไรสักอย่าง เพื่อลดทอนความรู้สึกต่างๆ ที่อยู่ในภายในใจให้เบาบางลง

ตัวอย่างชีวิตประจำวันที่เด่นชัด กับหลายคนที่เรารัก ความรู้สึกความปรารถนาในใจคือ เราอยากกอด เราอยากพูดคำว่าขอโทษ แต่เราก็พบว่าเราทำไม่ค่อยได้  มันเหมือนมีกล่องบางอย่างบอกเราว่าทำแบบนั้นไม่ได้  มันไม่ดี มันไม่ควร  หรือเมื่อเราอยากเปลี่ยนงานเพราะเราไม่มีความสุขเลย แต่กล่องที่ได้ชื่อว่า ความมั่นคง ผลประโยชน์ คำพูด และสายตาของคนอื่น ฯลฯ ก็ทำให้เราไม่กล้า  หลายคนจึงมักเลือกอยู่กับสิ่งที่ตนเองไม่มีความสุข ด้วยการปลอบใจตนเองว่าการอยู่แบบนี้ก็สบายดี ทุกข์ทรมานบ้าง แต่ก็ใช้ได้ เพราะกล่องที่ครอบงำก็ให้ความปลอดภัย  เป็นไปได้ไหมว่า ภายนอกกล่อง อาจมีความสุข ความพอใจ อิ่มใจที่เต็มที่รอคอยอยู่ ศักยภาพของเราสามารถแสดงออกได้เต็มที่ หากเรากล้าที่จะออกหรือลองขยับเปิดกล่องที่ครอบอยู่

เรามีชีวิตที่ไม่ยาวนานนักที่เราจะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขใจ เป็นสิ่งที่เรารัก และแบ่งปันให้กับผู้อื่น  พร้อมกับเราก็มีช่วงชีวิตที่ยาวนานพอสำหรับการเริ่มต้นทำสิ่งที่รัก ทำสิ่งที่ปรารถนา  พร้อมกับในเชิงสังคมที่ต้องการความเมตตากรุณา ไม่ใช่ถูกครอบโดยกล่องที่กดขี่ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคม  เมื่อถึงวันที่เราต้องลาจากโลกนี้ไป เราจะไม่เสียใจ เพราะเราได้ทำสิ่งที่ปรารถนาในใจของเราแล้ว เราได้มอบสิ่งที่รัก สิ่งที่เป็นความเมตตากรุณาให้กับคนอื่นแล้ว  สิ่งสำคัญของจุดเริ่มต้น ก็คือ ก้าวแรกของการลงมือทำ

วันนี้เราได้เห็น ‘กล่อง’ ที่ทำให้เราไร้สุขและเป็นทุกข์แล้วหรือยัง  และเราได้ทำสิ่งที่รัก แม้สิ่งนั้นคนอื่นจะไม่เห็นด้วยก็ตาม วันนี้เราลงมือทำแล้วหรือยัง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน