การบ้านทางจิตวิญญาณ

มะลิ ณ อุษา 18 พฤศจิกายน 2012

สิ่งที่ฉันจะเขียนต่อไปนี้ แตกต่างจากเรื่องราวที่ผ่านๆ มา เพราะในขณะที่คุณมองว่าเป็นบทความธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่ง สำหรับฉัน มันคือการบ้านที่ได้รับจากครูที่ชื่อ Gil Alon

ในการเข้าร่วมอบรม Creativity Workshop เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สิ่งที่ฉันได้ค้นพบผ่านการลงมือปฏิบัติ ณ ขณะนั้น ไม่ค่อยสวยงามเท่าไรนัก แต่มันก็คือความจริง หรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งก็คือ แง่งามของชีวิต

กล่อง คือ …?

คุณ Gil เกริ่นนำเข้าสู่เนื้อหาด้วยเรื่องของ กล่อง และระหว่างการอบรมเขาก็ได้พูดถึงกล่องบ่อยหน แล้วในที่นี้ กล่องคืออะไร?

ทันทีที่เราได้รับการประทับตราว่าเป็นประชากรคนหนึ่งของโลก สังคม ชุมชน และครอบครัว ความคาดหวังและข้อปฏิบัติต่างๆ ก็ได้รับการปลูกฝังและรดน้ำให้เติบโตมาพร้อมๆ กับตัวเราด้วย เมื่อถึงเวลาแห่งการผลิดอกออกผล เรากลับพบว่ามีกล่องขนาดและรูปทรงต่างๆ ปรากฏอยู่ตามกิ่งก้านมากมาย ในทางกลับกัน ที่ว่างสำหรับดอกไม้ก็ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ

กล่องบางใบอาจได้รับการดูแลใส่ปุ๋ยจนมีขนาดใหญ่โตพอที่จะครอบกิ่งไม้แห่งจินตนาการของเราได้ทั้งกิ่ง หรือที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ต้นไม้ทั้งต้น ถูกครอบงำโดยกล่องใบใหญ่ เช่น กล่องจารีตประเพณี กล่องศาสนา กล่องการศึกษา ฯลฯ แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ การครอบงำที่แทรกซึมไปจนถึงรากของต้นไม้ เพราะนั่นจะทำให้เรากลายเป็นซากต้นไม้ที่มีเพียงกิ่งก้านแห้งเหี่ยวหงิกงอยืนต้นตายอยู่ท่ามกลางม่านหมอกที่หม่นมัว

“การแข่งขัน คือ อาชญากรที่ลงมือสังหารจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเรา” คือถ้อยคำในวันแรกที่พบกัน

เราเริ่มเข้าสู่สนามของการแข่งขันตั้งแต่เมื่อไร? อาจจะเป็นช่วงที่เราหัดนั่ง หัดคลาน หรือหัดพูด “ลูกฉันเริ่มพูดคำว่า แม่ แล้ว ดูสิเร็วกว่าเด็กๆ ทั่วไปอีกนะ” หรือ “ลูกฉันวาดรูปแมวได้เหมือนมากเลย” ไม่เพียงแต่ความคิดสร้างสรรค์หรอกที่จะตายจากชีวิตของเราไป ญาณทัสนะในการดำรงอยู่แต่ละขณะก็จะค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตของเราด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้ประโยคติดปากของเรามักจะเป็น “ฉันคิดว่า…” แทนที่จะเป็น “ฉันรู้สึกว่า…” หรือ “ฉันเห็นว่า…”

เราจะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จัก ความรัก ความกลัว ความโกรธ หรือแม้แต่ ความไม่รู้  เราจะใช้ชีวิตแต่ละวันเหมือนคนที่ตาบอดทั้งๆ ที่มองเห็น

ทำไมการมีกล่องมันถึงได้แย่ขนาดนั้น? คุณอาจจะเคลือบแคลงสงสัย

ไม่แปลกที่จะคิดอย่างนั้น เพราะฉันเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะการไม่มีกล่องเลยสักใบในชีวิต อาจจะทำให้เราเติบโตขึ้นมาอย่างหลงทิศหลงทาง สังคมก็อาจจะเกิดความสับสนวุ่นวาย ลุกลามไปจนถึงขั้นกลียุคก็ได้  หากมองลึกลงไปถึงที่มาที่แท้จริง กล่องบางใบก็มาจากความรัก ความปรารถนาดีด้วยซ้ำไป เช่น นักปกครองที่ต้องการให้สังคมสงบสุขก็ออกกฎหมายข้อห้ามต่างๆ สมาชิกในชุมชนต้องการความสงบสุขจึงกำหนดจารีตประเพณีขึ้นมา หัวหน้าครอบครัวต้องการความสงบสุขจึงสร้างข้อปฏิบัติขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ฉันจะไม่ชวนคุณถกประเด็นนี้หรอก มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งหรือสองคำตอบ แล้วเราก็จะเข้าสู่วังวนของกล่องใบใหม่อีกใบ

ฉันเพียงจะเชิญชวนให้คุณเปิดตา เปิดใจ มองดูกล่องแต่ละใบที่มีอยู่ในหัว ในใจ ในชีวิตของเราอย่างพินิจพิจารณาเท่านั้น

คำตอบของคำถาม คือ ลงมือทำเดี๋ยวนี้!

อุปกรณ์ที่สำคัญในการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้มีอยู่ 3 อย่าง คือ หมอน (ที่เราต่างหอบขึ้นรถลงเรือมาจากบ้าน) ผ้าปิดตา และร่างกาย ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสามอย่างนี้จะเป็นเครื่องมือในการทลายกำแพงและออกเดินทางสู่ตัวตนภายใน (Journey within)

ด้วยการผสมผสานของความเป็นศิลปินและเซนมาสเตอร์ กระบวนการปลุกญาณทัสนะของคุณ Gil จึงเต็มไปด้วยความสดใหม่ (ความเป็นปัจจุบันขณะ/ฉับพลัน) และพลังแห่งจินตนาการ แทบจะไม่มีวินาทีใดที่จะมีโอกาสได้คิด ตัดสิน หรือตีความ เราทำได้เพียงเปิดรับถ้อยคำ ท่าทาง และความรู้สึกที่เกิดขึ้น บางอย่างที่ปรากฏขึ้นกับตัวเราอย่างฉับพลัน ไม่สามารถวิเคราะห์หาเหตุผลถึงที่มา เราไม่มีเวลามากขนาดนั้น

ทันทีที่เสียงดนตรีดังขึ้น เราจะรับโน้ตตัวแรกเข้ามาสู่ร่างกาย แล้วเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งเดียวกับท่วงทำนอง การคิดล่วงหน้าว่าจะวาดแขนป่ายขาไปทางใดจึงจะสวยงาม ไม่มีประโยชน์ เพราะทุกคนที่อยู่บนฟลอร์ล้วนแล้วแต่มีผ้าผูกตาด้วยกันทั้งนั้น

หากในวัยเด็กคุณเคยเขย่าพุทราสุกช่วงฤดูเกี่ยวข้าวคงจะนึกภาพออกว่า กล่องใบเล็กใบใหญ่ที่ผูกอยู่ตามกิ่งก้านชีวิตของเราถูกเขย่าให้หลุดร่วงลงมาในลักษณะใด แต่มันก็ไม่ได้หลุดลงมาง่ายๆ เหมือนพุทราสุกอย่างแน่นอน บางทีเราอาจจะต้องเขย่าจนบางกิ่งหักราน หรือรากสั่นคลอนเลยทีเดียว

อย่างที่ฉันได้เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า การค้นพบระหว่างทางสายนี้ไม่ได้สวยงามสักเท่าไร โดยเฉพาะในกิจกรรม อยู่กับความเจ็บปวด (Being with pain) และ คุก (Jail)

ในสถานการณ์ที่มีความเจ็บปวดหรือความทุกข์เกาะกุมอยู่ (ในกิจกรรมจะมีเพื่อนเกาะตัวเราไว้แน่น) สลัดเท่าไรก็ไม่หลุด จะวิ่งไปรอบๆ กระโดดโลดเต้นอย่างไรก็ไม่หลุด ท้ายที่สุดก็พบว่า วิธีที่ทำให้เจ็บและเหนื่อยน้อยที่สุดคือ ยอมรับความเจ็บปวดนั้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา โอบกอดมันด้วยความรักอย่างอ่อนโยน ในขณะที่กิจกรรม คุก  ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนได้รับโจทย์ให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 99 ปี (ให้คิดเองว่าเราทำความผิดอะไร) พอผู้คุมกระชากนักโทษเข้าไปในคุกทีละคน แต่ละคนก็แสดงท่าทีตามเรื่องราวของตัวเองและปฏิสัมพันธ์กับนักโทษคนอื่นๆ ในคุก บางมุมเป็นบรรยากาศของความท้อแท้สิ้นหวัง บางมุมเป็นความโกรธเกรี้ยวก้าวร้าว บางมุมสงบนิ่งเงียบ บางมุมเป็นความหวังที่จะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง

สำหรับฉันการค้นพบว่า ได้พิพากษาตัวเองให้จองจำอยู่กับความรู้สึกผิดมากว่ายี่สิบปีนั้น สั่นสะเทือนเข้าไปถึงในอก บาดแผลที่คิดว่าเคยได้รับการเยียวยาแล้วกลับกลัดหนองขึ้นมาอีกครั้ง หยาดน้ำตาที่ไหลออกมาให้วงแลกเปลี่ยนวันนั้น ได้รับการยินยอมให้หลั่งรินออกมาในอ้อมกอดที่แสนอบอุ่นเนิ่นนานเท่าที่ปรารถนา

หากความเจ็บปวดในอดีตกลับมาปรากฏในห้วงเวลาปัจจุบันอีกครั้ง นั่นไม่ใช่ความเจ็บปวดของอดีต แต่เป็นความเจ็บปวดครั้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตราบใดที่เราไม่สามารถมองเห็นถึงความเป็นปัจจุบัน เราย่อมถูกทำร้ายโดยความเจ็บปวดที่มาจากอดีตอย่างไม่สิ้นสุด

การเกิดใหม่ในมณฑลแห่งจิตวิญญาณ

การเกิดการตายดำเนินไปทุกขณะ ก่อนที่ลมหายใจจะหมดลง เราต่างเกิดและตายนับครั้งไม่ถ้วน ในการอบรมครั้งนี้ก็เช่นกัน เราได้มองเห็นตัวตนและกรอบความคิดเก่าๆ ค่อยๆ ตายจากไป ในขณะเดียวกันการเกิดใหม่ของเด็กน้อยก็ปรากฏขึ้นมาในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล

เมื่อใดก็ตามที่เราหายใจเข้าออกด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มณฑลแห่งจิตวิญญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดย่อมปรากฏ ต่อให้กล่องใบใหญ่ขนาดไหนก็ไม่สามารถครอบงำเราได้


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน