การพนันในรถไฟสายพุทธคยา

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 11 มกราคม 2015

ผู้จาริกทั้งหกรีบแหวกผู้โดยสารคนอื่นๆ ขึ้นไปบนรถไฟชั้นสอง จากสถานีโกลกัตตา ประเทศอินเดีย มุ่งหน้าสู่เมืองพุทธคยา สังเวชนียสถานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พวกเราต้องรีบเข้าไปจับจองที่นั่งในรถไฟ แม้ซื้อตั๋วถูกตามระเบียบ แต่ใช่ว่าคนซื้อตั๋วจะได้นั่งในที่ที่เขาจับจองไว้

“ที่อินเดีย อะไรอะไรก็ไม่แน่นอน” หนึ่งในคณะจาริกบอกพวกเราให้เผื่อใจเตรียมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เราอาจเห็นคนอินเดียตู่เอาที่นั่งของพวกเราไป ผมเห็นด้วย ท่องคาถานี้ในใจตาม มันทำให้เราเตรียมใจรับเหตุการณ์ที่อันไม่เป็นที่พอใจ

แต่ผมก็ได้ยินคาถาอีกชุดหนึ่งดังก้องอยู่ ในความคิด มันคือข้อความที่ว่า “เจองูกับเจอแขก ให้ตีแขกก่อน” ผมไม่ชอบภาษิตนี้เท่าไหร่ มันเป็นภาษิตที่ลดทอนชาวอินเดีย พาลให้ไม่ไว้วางใจ ด่วนโกรธและตัดสินพวกเขาล่วงหน้าแม้ว่าเขายังไม่ได้ทำอะไรเลยก็ตาม อย่างไรก็ตามภาษิตนั้นคงปรากฏอยู่ในใจเพื่อนร่วมทางหลายคนเช่นกัน

ไม่นานนัก รถไฟก็ออกจากชานชาลา คณะจาริกได้นั่งที่ของตนกันทุกคน มันกว้างขวางสะดวกสบายเอาการ เราสบายใจที่ไม่มีใครมาตู่เอาที่นั่งของพวกเรา แต่ก็โล่งใจได้ไม่นาน เมื่อถึงสถานีถัดไป กลับมีชาวอินเดียขึ้นมาบนรถไฟอีก แน่นอนว่าที่นั่งถูกจับจองหมดแล้ว พวกเขาจึงยืนเบียดกัน หลายคนชำเลืองมามองที่นั่งที่ว่างอยู่ข้างพวกเรา

ใครบางคนในคณะจาริกเอากระเป๋าเดินทางจากพื้นมาวางไว้ข้างตัวถมที่ที่ว่างเป็นนัยว่า “ห้ามมานั่งตรงนี้นะ” พวกเรากลัวว่าผู้โดยสารชาวอินเดียจะถือโอกาสนั่งที่ว่างเหล่านั้น พวกเราเริ่มนั่งแผ่หลา นอกจากนี้ยังนำกระเป๋าไปถมที่ว่างตรงที่นอนชั้นบนด้วย

เมื่อถึงอีกสถานีหนึ่ง ผู้โดยสารก็ขึ้นมาบนรถไฟอีก คราวนี้ที่ว่างตรงทางเดินในโบกี้มีคนยืนเต็มและแออัด ใครคนหนึ่งพยายามปีนขึ้นมานั่งที่เบาะนอนชั้นบนของพวกเรา เขาแหวกกระเป๋าที่เราจับจองอยู่เพื่อให้พอจะมีที่นั่งได้ พวกเราสองสามคนโวยวาย “เฮ้ย มันจะปีนขึ้นไปนั่งตรงที่ของเราแล้วเว้ย”

แล้วกระบวนการเจรจาภาษาอังกฤษระหว่างคณะจาริกชาวไทย กับผู้โดยสารชาวอินเดียก็เริ่มขึ้น

“คุณกำลังนั่งที่ของพวกเรานะ”

“โอเค โอเค ขอผมนั่งสักครู่หนึ่งน่า ไม่นานหรอก”

“แต่นั่นมันที่นั่งที่พวกเราซื้อตั๋วมานะ คุณมีตั๋วหรือเปล่า”

“เราไม่มีตั๋วหรอก แต่นั่งแค่แป๊บเดียวน่ะ ไม่นานหรอก”

“เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแป๊บเดียว คุณลงสถานีไหนน่ะ”

“พวกเราจะลงอีกสองสถานี ไม่เกินสี่สิบนาทีก็ลงแล้วล่ะ”

“สัญญานะ พนันสิบรูปี เอาล่ะฉันจะจับเวลา” (น้ำเสียงดุ และตำหนิในตัว)

พวกเราไม่อยากให้เขามานั่งที่ของเราเลย อาจจะรังเกียจหน่อยๆ ตอนแรกเราคิดว่าการจับจองที่นั่งใกล้ๆ กันจะทำให้เราได้รับความเป็นส่วนตัว แต่ไม่เลย ที่นั่งที่นอนของเรา บัดนี้ถูกจับจองโดยผู้โดยสารชาวอินเดียแปลกหน้าที่กำลังคุยกันขโมงโฉงเฉง ผมสัมผัสได้ถึงความระแวงและไม่ไว้วางใจ บางคนผิดหวัง เราเสียเงินซื้อตั๋ว แต่กลับต้องถูกแย่งโดยคนที่แอบขึ้นรถไฟฟรี สิทธิของพวกเราถูกริดรอน พวกเราถูกเอาเปรียบเสียแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรได้

ที่จริงแล้วมันไม่ได้แย่อย่างนั้นหรอกครับ การได้นั่งและสังเกตความเป็นไปในรถไฟสักระยะหนึ่ง ทำให้คณะจาริกได้เรียนรู้ว่า ชาวอินเดียไม่ได้ตั้งใจจะเอาเปรียบพวกเรา เนื่องด้วยการเดินทางด้วยระบบรางรวดเร็วกว่าเดินทางบนถนนมาก ชาวอินเดียจึงนิยมเดินทางโดยรถไฟ ผู้โดยสารจึงมักมีเยอะกว่าจำนวนที่นั่งเสมอ การแบ่งปันระหว่างผู้มีและผู้ขอเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา ผมเห็นชาวอินเดียที่ซื้อตั๋วแบ่งปันที่นั่งแก่ผู้โดยสารที่ไม่ได้ซื้อตั๋วอย่างเต็มใจ เขายังแบ่งผ้าห่มหรืออาหาร นั่งนอนเอาหลังพิงกัน

การแบ่งปันมิใช่การเอาเปรียบ นอกจากมันจะเป็นวัฒนธรรมบนขบวนรถไฟแล้ว ยังเป็นความจำเป็นของสังคมอินเดีย เป็นไปไม่ได้ที่ประชากรจำนวนมากจะอยู่ในทรัพยากรอันจำกัดโดยไม่แบ่งปันกัน การแบ่งปันช่วยถ่างความคับแคบให้กว้างขึ้น การแบ่งปันช่วยขยายขีดจำกัด

ผู้โดยสารที่ขึ้นมาผลัดเปลี่ยนหน้ากันขึ้นลง และเมื่อครบสี่สิบนาที ชายที่ทำสัญญาไว้กับพวกเรา ก็ไต่บันไดลงมา เก็บข้าวของเตรียมลงจากรถไฟ เขารักษาสัจจะ!

“เอาล่ะ ผมจะลงสถานีนี้แล้วนะ ขอให้พบสิ่งดีๆ ในการเดินทาง” เขาและผองเพื่อนยิ้มให้ อวยพร และลงจากรถไฟในที่สุด ทิ้งพวกเราไว้เบื้องหลัง

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้วางพนันเป็นเงิน แต่เราวางพนันในใจ เดิมพันว่าชาวอินเดียจะหลอกลวง เอาเปรียบ และร้ายกาจ แต่เขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น เขาคือผู้โดยสารที่เป็นมิตร เขาเป็นเพียงหัวหน้าครอบครัวที่พยายามกลับบ้านเท่านั้น เราแพ้พนันจนหมดตัว

ชาวอินเดียที่ซื้อตั๋ว แบ่งปันที่นั่งแก่ผู้โดยสารที่ไม่ได้ซื้อตั๋วอย่างเต็มใจ นอกจากมันจะเป็นวัฒนธรรมบนขบวนรถไฟแล้ว ยังเป็นความจำเป็นของสังคมอินเดีย

ภาพชาวอินเดียที่ชอบหลอกลวง กับภาพความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าช่างแตกต่าง แทนที่จะพบว่าชาวอินเดียร้ายกาจ แต่ในทางตรงข้าม จิตใจและความคิดปรุงแต่งของเราเองต่างหากที่ร้ายกาจ เราพบว่ามันง่ายเพียงใดที่จะด่วนตัดสินผู้อื่น ง่ายเพียงใดที่จะโกรธ-กลัวว่าจะถูกเอาเปรียบ ถูกทำร้าย มันง่ายมากที่จะเผลอยึดเก้าอี้ที่เราซื้อบริการไว้เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา บางคนถึงกับรู้สึกผิดที่ปล่อยให้ความโกรธ ความกลัว ครอบงำจิตใจในห้วงเวลาบนรถไฟขบวนนั้น

ความอึดอัด คับแค้นใจ เหล่านี้ล่ะที่พวกเราควรกำหนดรู้ไว้ให้มาก เพราะการตระหนักรู้ว่าตนยังมีความคับแค้น ความยึด ความอยาก ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเห็นโทษของอกุศลเหล่านั้น มีศรัทธาปรารถนาที่จะฝึกฝนขัดเกลาจิตใจของตนเองไปสู่ความโปร่งเบา คลายความยึดติดถือมั่น ปล่อยวางความอยากเหล่านั้นจนถึงที่สุด

หากเราไม่ได้ขึ้นรถไฟขบวนนี้ เราคงไม่ได้ปะทะกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่ได้สำรวจตรวจสอบจิตใจของตนเอง และตระหนักว่าพวกเรามีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องฝึกฝนการแบ่งปัน มองโลกด้วยสายตาที่เป็นมิตร และสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยท่าทีที่อ่อนโยน

ช่างเป็นบุญยิ่งนักที่เราแพ้พนันในรถไฟขบวนนั้น


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher