การเติบโต: จิตใจ..รู้คิด รู้เข้าใจ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 12 กุมภาพันธ์ 2012

วัยเด็กที่เราทุกคนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในวิชานี้คือ สมการ ดังเช่น X+5 = 23 หรือ 3Y = 15 เป็นหัวข้อที่หลายคนเครียด กังวล  บางคนอาจสนุกกับความแปลกและปริศนาของโจทย์ดังกล่าว  สิ่งที่ผู้เขียนเอาตัวรอดกับโจทย์สมการแบบนี้คือ การพยายามจดจำวิธีแก้โจทย์เพื่อค้นหาคำตอบ ด้วยการย้ายข้างตัวเลขและเปลี่ยนเครื่องหมายบวก ลบ คูณ หาร ให้เป็นตรงข้ามในอีกข้างหนึ่งเพื่อให้เหลือตัวแปรตัวเดียว คำตอบก็จะออกมา  อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ตอบคำถามตนเองไม่ได้ว่า โจทย์สมการแบบนี้จะนำไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร  ในชีวิตจริงตัวแปร x หรือ y คืออะไร คุณครูสอนอะไรก็ทำตามนั้น  ประสบการณ์ที่มีต่อคณิตศาสตร์คือ การพยายามทำความเข้าใจ ทำแบบฝึกหัดให้มากๆ  สิ่งที่ได้ตามมาโดยอาจไม่รู้ตัวคือ ทักษะทางคณิตศาสตร์และวิธีการคิดแบบตรรกะ เหตุผล

ทักษะเป็นความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมความเชี่ยวชาญ กลายเป็นประสบการณ์ที่อยู่ในตัวเรา เหมือนนักกีฬาที่ฝึกซ้อมมากจนมีพลกำลังและความเชี่ยวชาญในกีฬานั้นๆ  คณิตศาสตร์ก็ให้ทักษะวิธีการคิดในเชิงเหตุผล ความสมดุล รวมถึงทักษะการคิดเชิงกระบวนการ  เราไม่สามารถได้คำตอบคณิตศาสตร์โดยไม่ผ่านกระบวนการค้นหาคำตอบ  จากโจทย์คณิตศาสตร์  วัยเด็ก วัยรุ่น เป็นช่วงผ่านวัยที่เราทุกคนต่างเปลี่ยนผ่าน และพบพานประสบการณ์ชีวิตทั้งบวก และลบ  ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้สั่งสมกลายเป็นความเชี่ยวชาญ ทักษะประจำตัวในการดำเนินชีวิต และการทำอาชีพการงาน  ช่วงขณะของการเรียนรู้ สติปัญญาก็ค่อยๆ งอกเงยและเพิ่มพูนผ่านความสามารถในการคิดนึกที่มีอยู่ในตัวเรา ทั้งการคิดเชื่อมโยง คิดเปรียบเทียบ รวมไปถึงการคิดนอกกรอบ หรือคิดจากมุมมองที่แปลก แตกต่างออกไป

จากโจทย์คณิตศาสตร์ตัวอย่างข้างต้น หากเราเริ่มต้นด้วยคำถามทำนองว่า “ครูมีปากกากี่ด้ามไม่บอก แต่ถ้าครูเอาปากกาของครูรวมกับปากกาอีก 5 ด้าม จะได้รวมกัน 23 ด้าม ลองทายว่าครูมีกี่ด้าม”  โจทย์ปริศนานี้ผู้เขียนรู้สึกว่าน่าสนใจ น่าค้นหาคำตอบ และดูเชี่ยมโยงกับเรื่องราวชีวิตจริงมากขึ้น  แตกต่างจากโจทย์สมการเริ่มแรกที่มีตัวแปร ตัวเลข ที่ดูออกแห้งแล้ง ไร้เรื่องราว ไร้ความรู้สึก

นี่คือตัวอย่างของแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ผ่านการศึกษาวิจัยค้นคว้า กลายเป็นแนวทาง องค์ความรู้ที่พบว่ากระตุ้นคุณภาพการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กนักเรียนมากขึ้น  องค์ความรู้เพื่อพัฒนาวิธีคิดทางคณิตศาสตร์ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความสำคัญของการพัฒนาวิธีการคิดในฐานะเครื่องมือที่เราทุกคนใช้ในการดำเนินชีวิต เผชิญและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว  เพราะหากวิธีคิดของเราไม่สอดคล้องกับปัญหา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นั่นหมายถึงเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่อาจทำลายชีวิตและคุณภาพชีวิตเราได้

สังคมที่เคลื่อนตัวไป  ตัวเรา ชุมชน สังคม ประเทศกำลังปะทะกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง  ทั้งจากกระแสการบริโภคนิยม พลังรุนแรงจากกระแสเครือข่ายทางสังคมในโลกออนไลน์ ภัยคุกคามและความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ  สำนึกการรู้คิดที่มีคุณภาพเป็นงานสำคัญที่เราทุกคนจำเป็นต้องตระเตรียมเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงข้างต้น และนับว่ามีความรุนแรงมากขึ้น  สำนึกของการรู้คิดจึงมีมิติเชิงคุณภาพที่ประกอบด้วยจิตคิดนึกในเชิงความเชี่ยวชาญ ความสร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงประสานสังเคราะห์

จิตเชี่ยวชาญ

หมายถึง คุณภาพจิตใจที่มีความรู้ ความเข้าใจ ผ่านการฝึกฝน อบรมบ่มเพาะ  คุณภาพจิตเช่นนี้ต้องอาศัยสมาธิ ความจดจ่อ ตั้งใจ ใส่ใจในการเรียนรู้ ทุ่มเทเพื่อสร้างความชำนาญ  ดังเช่นวิชาการต่างๆ ที่เราเล่าเรียน  ประสบการณ์ที่ผู้เขียนทดลองทำอาหารด้วยการทอด ทดลองทำก็พบกระบวนการภายในที่เกิดขึ้น เริ่มจากการสังเกต ใส่ใจ จดจ่อและทำต่อเนื่อง  ก็ค่อยๆ พบประสบการณ์บางอย่างถึงจังหวะการทอด ระดับความร้อนที่พอเหมาะพอควร ช่วงเวลาของการทอด  และที่น่าสนใจคือ ความเพลิดเพลินและสนุกกับการงาน ตัวอย่างการเล่นว่าวก็เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยจิตเชี่ยวชาญ

จิตสังเคราะห์

คือ คุณภาพของจิตที่มีคุณสมบัติของจิตเชี่ยวชาญอยู่ในตัวและพร้อมพัฒนางอกเงยต่อไป  เป็นคุณภาพจิตที่สามารถรับรู้หรือทำความเข้าใจเรื่องราวในระดับภาพรวม ซึ่งหมายถึงการมีคุณภาพในเชิงเปิดรับ เปรียบเทียบ แยกแยะ  เปรียบเหมือนไฟฉายที่สามารถสอดส่อง ตรวจตราสิ่งที่สนใจ และสามารถจดจ่อในบางจุด บางประเด็นที่สำคัญ  และหากคุณภาพจิตมีความแหลมคม จิตสังเคราะห์นี้ก็มีคุณภาพเหมือนแสงเลเซอร์ในการตัด คัดสรรความคิด ความรู้บางอย่างจากข้อมูลมากมาย หลากหลายที่มีอยู่ แล้วสังเคราะห์เป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา

จิตสร้างสรรค์

คือ คุณภาพจิตที่เติบโตสืบเนื่องกับจิตสังเคราะห์และจิตเชี่ยวชาญ โดยมีคุณสมบัติของศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ ปัญญาชนที่รักการเรียนรู้ ค้นคว้า กล้าคิดกล้าทำ และยินดีเสี่ยงเพื่อทำสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างจากสิ่งเดิมๆ โดยอาจอาศัยแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

สำนึกการรู้คิดที่มีคุณภาพ เป็นงานสำคัญที่เราทุกคนจำเป็นต้องตระเตรียมเพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลง

คุณภาพจิตทั้งสามนี้เป็นคุณภาพของจิตใจที่รู้คิดนึก และจำเป็นต้องพัฒนาฝึกฝนเสมอ  สำนึกเรื่องการรับรู้และเข้าใจในเรื่องราวรอบตัว เช่น ปัญหาความยากจน  ความทุกข์ ความสุขในชีวิตว่าเกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร  รวมถึงปัญหารอบตัวตั้งแต่การบริหารจัดการด้านการเงิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ ต้องอาศัยจิตคุณภาพทั้งสาม  และการพัฒนาเตรียมพร้อมคุณภาพจิตทั้งสามในตัวเราก็คือ ส่วนหนึ่งของความไม่ประมาทในชีวิต


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน