กาลามสูตรพระไพศาล

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 20 พฤศจิกายน 2016

ธรรมะของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นเรื่องสนุก

แฝงอยู่ในเรื่องเล่าง่ายๆ  ท่านว่าไม่อยากทำให้คนรู้สึกว่าธรรมะเป็นเรื่องน่าเบื่อและไกลตัว  ท่านสนุกกับการประยุกต์เชื่อมโยงให้คนเห็นว่าธรรมะเป็นเรื่องอยู่ในชีวิตจริงประจำวัน

ท่านเล่าด้วยว่าในการบางครั้ง คนฟังจำเนื้อหาไม่ได้ แต่จำเรื่องเล่าได้ดี

“เคยได้ยินเรื่องนี้หรือเปล่า มีพ่อกับลูกขับรถไปกลางดึก พอไปถึงจุดข้ามทางรถไฟที่แยกยมราชรถเสีย พอดีกับที่รถไฟวิ่งมาพุ่งชนรถพังยับเยิน พ่อตายคาที่ ส่วนลูกชายเจ็บหนัก ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลรามา”

เค้าเรื่องอาจมาจากข่าวสารเหตุการณ์จริง นำมาแปลงเป็นเรื่องเล่าแบบไม่เคร่งครัดกับข้อเท็จจริงเท่ากับข้อธรรมที่จะนำไปสู่ บางทีก็เป็นเรื่องแต่งขึ้นเพื่อสื่อสอนธรรม

“เข้าห้องฉุกเฉิน ศัลยแพทย์ถูกตามตัวมาให้ผ่าตัดด่วน  แต่พอมาเห็นคนป่วย หมอมือไม้อ่อน บอกว่าผ่าไม่ได้ เพราะผู้ป่วยคนนี้เป็นลูกตัวเอง”

“ก็พ่อเพิ่งตาย” คนฟังบางคนพึมพำ

หลายคนฉงน..?

คำเฉลยคือ หมอคนนี้เป็นแม่

“คนส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ เพราะเรามีภาพในใจว่าหมอศัลย์ต้องเป็นผู้ชาย  พอได้ยินว่าผ่าตัด ความคิดของเรามันสร้างภาพขึ้นมาทันที โดยโจทย์ไม่ได้บอกว่าเป็นผู้ชาย”

(นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า) “อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่อยู่ในหัวเรา ”

บางเรื่องเล่าอ้างอิงมาจากงานวิจัยทดลองในต่างประเทศ อย่างน่าทึ่งกับความเป็นนักค้นหาข้อมูลของภิกษุวัดป่ารูปนี้

เรื่องเล่าถึงการทดลองในอเมริกา ให้ผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐานไปแนะนำตัวต่อนักศึกษาว่าตัวเองเป็นศาสตราจารย์ แล้วให้นักศึกษาในชั้นคะเนส่วนสูงของศาสตราจารย์คนนั้น  หลังจากนั้นให้ผู้ชายคนเดียวกันแต่งตัวโทรมๆ แล้วไปแนะนำตัวต่อหน้านักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งว่าเป็นภารโรง

สิ่งที่พบจากการทดลองคือ คนกลุ่มแรกกะประมาณส่วนสูงของชายที่แนะนำตัวเองว่าเป็นศาสตราจารย์ เฉลี่ยแล้วก็จะสูงกว่ากลุ่มที่สองประมาณ ๓-๔ นิ้ว

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ท่านว่า “เรารู้สึกว่าศาสตราจารย์นี่มีสถานะทางสังคมสูง การที่จะมองเห็นเขาว่ามีรูปร่างสูงก็เป็นไปได้มาก  คนเราไม่ได้รับรู้ด้วยตาเท่านั้น สิ่งที่อยู่ในใจมันกำหนดการรับรู้ทางตา ทางหูของเราด้วยไม่น้อย”

แล้วแฝงคำสอน

“ฉะนั้นเวลาเราเห็นหรือได้ยินอะไร ก็อย่าพึ่งสรุปว่าสิ่งนั้นมันคือความจริง เพราะมันมีการปรุงแต่งขึ้นมาในใจ”

“อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่อยู่ในหัวเรา อย่าเพิ่งสรุปว่าสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินนั้นคือความจริง”

“ความจำที่อยู่ในใจเรา นี่ก็เชื่อไม่ได้”

บางทีท่านก็เปิดเรื่องด้วยข้อสรุป

“สิ่งที่เราเห็นไม่ว่าจะทางหูทางตา เราไม่อาจแน่ใจได้เสมอไปว่าเป็นความจริง อันนี้รวมถึงความจำด้วย  ความจำคนเราก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งที่บางอย่างเราคิดว่าเราจำแม่น”

ตอนเกิดเหตุการณ์ “๑๑ กันยา” มีอาจารย์ในอเมริกาท่านหนึ่งบอกให้นักศึกษาจดบันทึกไว้ว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ตัวเองอยู่ที่ไหน  อาจารย์เก็บบันทึกนั้นเอาไว้

สามปีผ่านไป ก็ไปตามหานักศึกษากลุ่มนั้น แล้วให้เขียนความจำว่า เมื่อ ๑๑ กันยาตัวเองอยู่ไหน

ห้าปีผ่านไป ก็ไปหานักศึกษากลุ่มนี้อีก แล้วให้เขียนว่า จำได้ไหมว่า ๑๑ กันยา ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน

“เอามาเทียบกัน ๕ ปีผ่านไป กับตอน ๑ วัน หลังจาก ๑๑ กันยา คลาดเคลื่อนแตกต่างกันเกินครึ่ง อันนี้ชี้ให้เห็นว่าความจำเรา แม้แต่ในเรื่องใหญ่ๆ คนเรายังจำคลาดเคลื่อน และไม่รู้ว่าจำคลาดเคลื่อน”

ฉะนั้นอย่าไปเชื่อแม้กระทั่งความจำ

“ยุคนี้ต้องระมัดระวังมาก ต้องมีสติให้มากในการเสพข่าวสาร รวมทั้งรู้จักทักท้วงสิ่งที่อยู่ในหัวของเราหรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราเห็น ได้ยินว่ามันอาจไม่จริงเสมอไป เพราะจิตคนเรามันซับซ้อนและยังสามารถสรรหาเหตุผล”

ดังเรื่องเล่าถึงนายตำรวจวัยเกษียณที่ดูแลคุณแม่วัย ๘๐-๙๐ พยายามซื้ออาหารสุขภาพให้แม่ได้กิน  แม่ก็วอนว่าขอกินของที่ชอบเถอะ ขาหมู ข้าวเหนียวทุเรียน ให้แม่กินเถอะอีกไม่นานแม่ก็ตายแล้ว

ลูกก็ใจอ่อนซื้อให้แม่

มาตอนหลังอยากให้แม่เตรียมตัวเรื่องการตายสงบ เลยชวนแม่ไปวัดบ้างไปเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง

แม่ก็บ่ายเบี่ยงบอกว่า โอ้ย…เอาไว้วันหลังเถอะ ยังไม่ตายง่ายๆหรอก

ท่านว่า แม่คงไม่ได้พูดเพื่อหลอกลูกชาย แต่เป็นเหตุผลที่หลอกตัวเองด้วย

“ฉะนั้นอย่าไปเชื่อเหตุผลมาก เหตุผลนี่บางทีมันก็เป็นลูกไม้ของกิเลส  กิเลสมันไม่อยากเข้าวัด มันก็เลยหาเหตุผลมาว่าอีกนานกว่าจะตาย  เราต้องรู้เท่าทัน ไม่ใช่ว่าพอเหตุผลสวยหรูก็เชื่อเสมอไป  ถ้าเราใช้เหตุผลมากไปก็แย่เหมือนกันโดยเฉพาะเวลาโต้เถียงกัน”

“จิตคนเรามันซับซ้อนและยังสามารถสรรหาเหตุผล”

ท่านเล่าอ้างถึงข้อแนะนำของหมอนักจิตวิทยาด้วยว่า “ผัวเมียเวลาทะเลาะกัน อย่าใช้เหตุผลให้ใช้อารมณ์”

ไม่ใช่เฉพาะผัวเมีย เพื่อนๆ หรือในหมู่พี่น้อง เวลาทะเลาะกันถ้าใช้เหตุผลส่วนใหญ่ก็เพื่อปกป้องตัวเอง และใช้เหตุผลเพื่อกล่าวโทษคนอื่น

บ้างทีเราก็ควรใช้เหตุผลให้น้อยลง ควรใช้อารมณ์–ที่หมายถึง ความเมตตา

“เหตุผลนั้นมันเป็นเหมือนอุบายของกิเลส หรืออุบายของอัตตาเพื่อจะปกป้องตัวเองหรือเพื่อกล่าวโทษผู้อื่น  เหตุผลกับความคิดมันเป็นบ่าวที่ดี เป็นนายที่เลว  เราใช้มันเพื่อแก้ปัญหา แต่ถ้าเอามันเป็นใหญ่ หลงเชื่อมันหมดเราก็แย่ เราจึงควรมีสติเป็นเครื่องเตือนใจ”

ที่สุดแห่งกาลามสูตรของพระไพศาล-อยู่ที่สติ

ที่จะช่วยให้เรารู้จักทักท้วงตน ก่อนปักใจเชื่อเรื่องใดๆ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ