ก้าวข้ามวงจรอุบาทว์

พระไพศาล วิสาโล 21 มีนาคม 2010

เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ว่าเราเป็นคู่กรณีหรือผู้สังเกตการณ์ เราไม่ควรให้ความขัดแย้งดังกล่าวบดบังความจริงขั้นพื้นฐาน นั่นคือทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา  ถึงเขาจะใส่เสื้อเหลืองหรือแดง เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุม เป็นไทยหรือพม่า เป็นพุทธหรือมุสลิม อย่าลืมว่าเขาเป็นมนุษย์เหนืออื่นใด  ในทัศนะของชาวพุทธ ทุกคนที่เป็นคู่ขัดแย้งล้วนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา แม้เขาจะมีความเห็นต่างจากเรา  เราควรมีใจกว้างพร้อมยอมรับความแตกต่างทางความคิด  ความคิดบางอย่างอาจจะไม่ถูกใจเรา ก็อย่าเพิ่งไปตีขลุมว่า เขาคิดผิด  ขณะเดียวกันก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าความคิดของเราถูกร้อยเปอร์เซ็นต์  ถ้ายึดมั่นเช่นนั้นใจเราก็จะปิดและไม่ยอมรับความคิดของคนอื่นเลย

จะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีสติ ไม่เช่นนั้นความกลัว ความโกรธ ความเกลียดจะครองใจเราได้  อันที่จริงความกลัว-โกรธ-เกลียดเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยาก เพราะเรามีแนวโน้มที่จะมีอคติต่อผู้ที่เป็นคู่กรณีของเรา จนอาจจัดเขาเป็นคนละพวกกับเรา กระทั่งเห็นเป็นศัตรู ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มความกลัว-โกรธ-เกลียดให้รุนแรงขึ้น  หรือแม้เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ แต่ก็อาจตัดสินเขาไปในทางลบ ซึ่งทำให้มีอคติมากขึ้น  แต่หากเรามีสติรู้เท่าทันอคติหรือความกลัว-โกรธ-เกลียด มันก็จะครองใจเราได้ยาก ทำให้เปิดใจรับฟังเขาได้มากขึ้น  ในทางตรงข้ามถ้าใจเราถูกครอบงำด้วยความกลัว-โกรธ-เกลียดแล้ว ใจเราจะปิดทันที ไม่สนใจฟังเขา  ใช่แต่เท่านั้นมันยังทำให้เราพลอยทุกข์หรือร้อนรุ่มไปด้วย  ยิ่งถูกกระทบมากๆ ก็ยิ่งอดรนทนได้ยาก อาจลุแก่โทสะ ใช้ความรุนแรง หรือสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง

ความรุนแรงไม่ว่าทางกาย วาจา ทีแรกเราเป็นผู้กำหนดว่าจะแสดงออกมาอย่างไร แต่เมื่อได้ทำไปแล้ว เรากลับเป็นฝ่ายถูกมันกำหนดหรือถูกมันกระทำแทน  มันไม่เพียงทำให้จิตใจเราหยาบกระด้างและเศร้าหมองเท่านั้น หากยังผลักให้เราถลำสู่วงจรอุบาทว์ที่ชื่อว่าการจองเวร  วงจรแห่งการจองเวรจะทำให้เราจมปลักอยู่ในความรุนแรงและถอนตัวยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อคนอื่นถูกเราทำร้าย เขาก็จะตอบโต้เราด้วยความรุนแรงพอๆ กันหรือยิ่งกว่า ซึ่งย่อมทำให้เราเจ็บปวดและอดไม่ได้ที่จะต้องตอบโต้เขาอย่างรุนแรงเช่นกัน  ยิ่งเจ็บปวดและโกรธแค้นมากเท่าไรก็ยิ่งยากจะหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ได้

ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งใช้ความรุนแรงมากเท่าไร ทางเลือกที่เราจะใช้หนทางอื่นยิ่งมีน้อยลง  มิใช่เพราะไม่มีหนทางที่ดีกว่า แต่เป็นเพราะความแค้นและความโกรธบงการให้เราใช้ความรุนแรงมากขึ้นเพื่อตอบโต้  ความแค้นและความโกรธในใจเรานั้นมิได้มาจากไหน แต่มาจากความรุนแรงที่เรามีส่วนก่อขึ้นด้วย  ยิ่งใช้ความรุนแรงมากเท่าไร การจะหันไปใช้สันติวิธี (รวมทั้งการเจรจาหรือการให้อภัย) ก็ยิ่งกลายเป็นทางเลือกที่มีเสน่ห์น้อยลง เพราะถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอและเสียหน้า  แต่ใช่หรือไม่ว่านั่นเป็นความคิดของผู้ที่หลงติดในตรรกะแห่งความรุนแรง ยิ่งใช้ความรุนแรงก็ยิ่งหลุดจากตรรกะดังกล่าวได้ยาก ขณะเดียวกันยิ่งใช้ความรุนแรง ก็ยิ่งเชิญชวนให้อีกฝ่ายตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งกระตุ้นให้เราใช้ความรุนแรงมากขึ้น  ผลที่สุดทั้งสองฝ่ายจึงหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ยาก และดังนั้นจึงบอบช้ำกันทุกฝ่าย

ในทัศนะของชาวพุทธ ทุกคนที่เป็นคู่ขัดแย้งล้วนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา แม้เขาจะมีความเห็นต่างจากเรา

มองในแง่นี้ความรุนแรงจึงไม่ต่างจากยาเสพติด ที่เมื่อลองใช้สักครั้งหนึ่งแล้วก็ยากจะถอนตัวออกมาได้ จำต้องใช้เรื่อยไป  ยาเสพติดนั้นทีแรกให้สุขเวทนาแก่ผู้เสพ ส่วนความรุนแรงนั้นก็ให้ความสะใจแก่ผู้ใช้ (รวมทั้งความสุขที่เกิดจากสารเคมีบางชนิดที่หลั่งในสมอง เช่นโดพามีน)  แต่ในเวลาเดียวกันทั้งยาเสพติดและความรุนแรงก็ล้วนบั่นทอนทั้งกายและใจของผู้เสพผู้ใช้ทั้งสิ้น

แต่ถ้าความขัดแย้งมิใช่เป็นเรื่องของคนสองคนหรือสองกลุ่ม หากเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนจำนวนมากที่มาชุมนุมเรียกร้อง ผู้ที่จมปลักอยู่ในวงจรนี้จะไม่ใช่แค่คู่กรณีเท่านั้น แต่ประเทศชาติทั้งประเทศก็จะถูกผลักเข้าไปอยู่ในวงจรแห่งการจองเวรด้วย และยากที่จะไถ่ถอนออกมาได้ เพราะเพื่อนพ้องครอบครัวของทุกฝ่ายจะถูกดึงเข้าสู่วงจรนี้ และนำไปสู่การตอบโต้  เมื่อต่างฝ่ายต่างตอบโต้และแก้แค้นกันไปมา ความพินาศก็จะขยายวงกว้างจนดึงเอาผู้บริสุทธิ์เข้าไปพบกับความพินาศด้วย

วิธีเดียวที่จะหลุดจากวงจรแห่งการจองเวรได้ ก็คือการหยุดจองเวร  นี้คือความจริงที่เป็นสากลทุกยุคทุกสมัย  ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า “แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นกฎตายตัว”  การไม่จองเวรไม่ได้หมายถึงการยอมจำนน แต่หมายถึงการหยุดตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือด้วยความโกรธเกลียด โดยอาจจะหันหน้ามาเจรจากันหรือมีคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย  แต่ดังได้กล่าวแล้วว่าเมื่อถลำเข้าสู่วงจรแห่งการจองเวรแล้ว เป็นการยากมากที่จะใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ความรุนแรง เพราะความเคียดแค้นพยาบาทจะผลักดันให้หาทางตอบโต้อย่างสาสม

เป็นการดีกว่าหากเราใช้สันติวิธีตั้งแต่แรกเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น  แต่พอพูดถึงสันติวิธี ผู้คนก็มักเข้าใจว่าหมายถึงการอยู่เฉยๆ  แท้ที่จริงแล้วสันติวิธีหมายถึงการกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมหรือสถานการณ์ ไปในทางสันติ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน หรือโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทางกายและวาจา  สันติวิธีจึงเป็นทางสายกลางที่อยู่ระหว่างทางสุดโต่งสองทาง คือ การยอมจำนนกับการใช้ความรุนแรง

สันติวิธีเป็นได้ทั้งการประท้วงโดยสงบ การไม่คบค้าสมาคม การลาออก การนัดหยุดงาน การไม่ซื้อสินค้า การดื้อแพ่งหรือขัดขืนอย่างอารยะ เป็นต้น  มักเข้าใจกันว่าสันติวิธีจะใช้ได้ก็เฉพาะกับคนที่มีสถานะหรืออำนาจใกล้เคียงกัน หรือกับคู่กรณีที่ใช้สันติวิธีเหมือนกัน แต่ไม่อาจใช้ได้กับผู้ที่มีอำนาจหรืออาวุธอยู่ในมือ เพราะอาจถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจนต้องยอมแพ้สยบราบคาบ

ความจริงก็คือวิธีการดังกล่าวสามารถนำมาใช้กับผู้มีอำนาจหรือผู้มีอาวุธในมือ ไม่ว่ารัฐบาล เจ้าอาณานิคม นายทุน หรือเจ้าพ่อ โดยประสบผลสำเร็จได้ด้วย  ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้มิใช่เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ยอมใช้อาวุธหรือเป็นสุภาพชน ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์นับครั้งไม่ถ้วนที่ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงกับคู่กรณีที่ไร้อาวุธ จนถึงกับเลือดตกยางออกหรือสูญเสียชีวิต  แต่นั่นมิได้หมายถึงความพ่ายแพ้ของสันติวิธี  บ่อยครั้งการกระทำเช่นนั้นกลับนำความพ่ายแพ้มาสู่ผู้ที่ใช้ความรุนแรงเอง

เมื่อผู้มีอำนาจลงมือทำร้ายประชาชนที่มีเพียงแค่สองมือเปล่า เขาย่อมสูญเสียการยอมรับนับถือจากคนทั่วไปที่เห็นเหตุการณ์  หากผู้ที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นรัฐบาล และผู้ถูกทำร้ายไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ รัฐบาลย่อมสูญเสียความชอบธรรมในสายตาของประชาชนทั่วไป จนฐานะง่อนแง่นหรืออาจอยู่ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ดังเกิดกับรัฐบาลในประเทศรัสเซีย (พ.ศ.๒๔๔๘) อินเดีย (พ.ศ.๒๔๗๓) เวียดนาม (พ.ศ.๒๕๐๖) หรือแม้แต่กรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็อาจนับรวมอยู่ในตัวอย่างกลุ่มนี้ได้

ผู้รู้เรียกกระบวนการที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของผู้ใช้ความรุนแรงว่า “ยิวยิตสูทางการเมือง” คือการทำให้อำนาจของคู่กรณีที่ทำร้ายผู้ใช้สันติวิธี ย้อนกลับไปเป็นภัยแก่ตัวเขาเอง  ดังการเล่นยิวยิตสู ซึ่งมีวิธีการทำให้คู่ต่อสู้พ่ายแพ้ โดยอาศัยพละกำลังของคู่ต่อสู้ที่ถั่งโถมเข้ามานั้นย้อนกลับไปทำให้เขาเสียหลักล้มลง

ยิวยิตสูทางการเมืองจะมีพลังบั่นทอนอำนาจของผู้ใช้ความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธีเพียงใด  หากฝ่ายหลังมีวินัยมั่นคงและอดทน ไม่ยอมตอบโต้ด้วยความรุนแรง แม้จะถูกทำร้ายเพียงใด ความรุนแรงนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใช้อาวุธนั้นเอง  ดังคานธีได้กล่าวไว้ว่า “อำนาจของทรราชจะวกกลับมาที่ตัวเขาเองเมื่อไม่พบกับการตอบโต้ เช่นเดียวกับเมื่อสะบัดแขนฟาดกับอากาศอย่างรุนแรง ผลก็คือกระดูกเคลื่อนและปวดร้าว”

เป็นเพราะผู้มีอำนาจหลายคนรู้ดีว่าการใช้ความรุนแรงกับประชาชนมือเปล่า จะส่งผลเสียย้อนกลับมาที่ตัวเอง จึงพยายามจัดการด้วยความไม่รุนแรง หรือไม่ก็หาทางยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรง  ถ้าฝ่ายหลังไม่รู้จักอดกลั้นหรือไม่เข้าใจพลังของสันติวิธี หันไปใช้ความรุนแรงเมื่อใด เช่น ขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ เผาทำลายทรัพย์สิน หรือใช้อาวุธทำร้ายคนของรัฐ  ก็จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถใช้ความรุนแรงกับผู้ต่อต้านได้อย่างเต็มที่ โดยได้รับความเห็นใจจากประชาชนทั่วไปด้วยซ้ำ (แต่ถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรงเกินขอบเขต ก็อาจถูกประณามและอยู่ไม่ได้เช่นกัน ดังกรณีพฤษภาเลือด ๒๕๓๕)

ความรุนแรงไม่ได้ทำร้ายผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายกลับมายังผู้ที่ใช้ความรุนแรงด้วย  แม้ความรุนแรงอาจจะนำชัยชนะมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นชัยชนะชั่วคราว  มันแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่จะก่อให้เกิดปัญหาที่ถาวรหรือยั่งยืนตามมา

สันติวิธีให้ผลช้าก็จริง แต่เป็นผลที่ยั่งยืน  อย่างไรก็ตามเราจะมั่นคงในสันติวิธีได้ก็ต่อเมื่อมีสติ ไม่ปล่อยให้ความกลัว-โกรธ-เกลียดครอบงำใจ  ในยามที่บรรยากาศกำลังร้อนแรง จึงควรที่เราจะดำรงสติให้มั่น หาไม่แล้วเราแต่ละคนก็คงไม่ต่างกับระเบิดที่ยังไม่ได้ถอดสลัก สามารถที่จะเป็นอาวุธร้ายแรงทำลายซึ่งกันและกัน และเผาผลาญบ้านเมืองให้พินาศได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา