คนจนเข็ญใจตามนัยพุทธธรรม

สมเกียรติ มีธรรม 3 ธันวาคม 2005

ในหมู่ชาวบ้าน ผู้คนกลัวกันมากก็เห็นจะเป็น ‘กลัวคนอื่นรู้ว่าตนเป็นหนี้’ นี่แหละครับ แต่ไม่ค่อยกลัวหนี้กันเท่าไหร่ นอกเสียจากในสังคมเมืองเท่านั้น ที่ไม่ค่อยมีใครรู้กันและกันอยู่แล้ว จะร้อนใจที ก็ตอนที่เจ้าหนี้ตามทวงเท่านั้น

ทุกข์จากการเป็นหนี้ เป็นอีกทุกข์หนึ่งที่คุกคามบีบคั้นทางด้านกาย วาจา และใจ ดังที่หลายคนประสบอยู่ในเวลานี้ ไหนต้องคอยปกปิดผู้คนไม่ให้รู้ว่าตนเป็นหนี้ ไหนต้องคอยวิ่งหาเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไหนต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ วิตกกังวลเครียด ที่หาเงินมาใช้หนี้และดอกเบี้ยไม่ได้ หรือไม่ทันตามกำหนดเวลา  สารพัดปัญหาที่ประเดประดังเข้ามาเช่นนี้แหละครับ ที่นำไปสู่การประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจได้ จนทำให้บางคนต้องหันไปเป็นโจรปล้นจี้ ลักขโมย ฉกชิงวิ่งราว บ้างก็ไปคดโกงเขามา บางคนก็เที่ยวหาลำไพ่พิเศษจากการขายบริการทางเพศ เป็นต้น ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีก

พอพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า “อิณสูตร” เป็นพระสูตรที่พูดถึงความเป็นหนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “การกู้หนี้เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” ที่นำมาซึ่งความวิตกกังวลร้อนรนทั้งกายวาจา และใจ อันเนื่องมาจากต้องชดใช้ดอกเบี้ยและถูกทวงหนี้ เมื่อชดใช้ไม่ทันตามกำหนดเวลา ก็จะถูกตามหนี้และถูกเจ้าหนี้จองจำ

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ทุกข์ที่เกิดจากความเป็นหนี้ฉันใด คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ ไม่มีวิริยะ และไม่มีปัญญา (-ในกุศลธรรม) ก็จัดว่าเป็น “คนจน” เข็ญใจยากไร้ในอริยวินัย และนำไปสู่การประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

การประพฤติทุจริตหรือประพฤติชั่วทางกายวาจาและใจ อันเนื่องมาจาก “ความยากจน” ในอริยวินัย คือความไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ วิริยะ และปัญญานั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น “การกู้หนี้” แล้ว  เมื่อกู้หนี้มา (อันหมายถึงความไม่มีอริยวินัย) ก็พยายามปกปิดความคิดและการกระทำชั่วของตนไว้ อาทิเช่น คิดไม่ใช้ดอกเบี้ย คิดเบี้ยวหนี้ คิดหาวิธีการใช้ดอกเบี้ยและหาเงินมาปลดหนี้โดยมิชอบ หรือคิดและกระทำชั่วในเรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้

บุคคลที่กู้หนี้เขามาแล้วประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจ ด้วยการปกปิดความคิดและการกระทำชั่วของตนไว้เช่นนี้แหละครับ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น “การใช้ดอกเบี้ย” แล้ว  ต่อเมื่อคนอื่นล่วงรู้ความชั่วของตนและมีคนนำไปพูดต่ออีก นั้นแหละครับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นการทวงหนี้” แล้ว  เมื่อผู้ถูกทวงหนี้ร้อนใจ (ทั้งๆ ที่เจ้าหนี้ยังไม่ได้มาทวง) แต่ร้อนใจเนื่องจากปกปิดความชั่วของตนไว้ไม่อยู่ มีคนล่วงรู้และนำไปพูดต่อนั้นแหละครับ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นการถูกติดตามหนี้” แล้ว

บุคคลที่ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจ นำความทุกข์มาให้กับตน คนอื่น และสังคมนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น “คนจน” เข็ญใจยากไร้อริยวินัย  หรือพูดกันง่ายๆ ว่า ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนจนดักดานหรือร่ำรวยเงินทองมหาศาล ถ้ากระทำชั่วทุกด้าน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ก็จัดว่าเป็น “คนจน” เข็ญใจในความหมายนี้ด้วยกันทั้งสิ้น  ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลผู้นั้นยากจนหรือร่ำรวยเงินทองมากมาย แต่ยึดมั่นในความดีงาม รู้จักเกรงกลัวและละอายในการกระทำชั่ว มีความเพียร และปัญญา ก็พูดได้ว่าไม่เป็นคนจนเข็ญใจ โดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น

บุคคลที่ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจ นำความทุกข์มาให้กับตนเอง คนอื่น และสังคม พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “คนจน” เข็ญใจยากไร้อริยวินัย

ในปัจจุบัน การทุจริตของบุคคลที่ “ยากจน” อริยวินัยนั้นมีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองในเวลานี้ ได้พัฒนาการทุจริตไปไกล โดยอาศัยกฎหมาย ระเบียบและคำสั่งต่างๆ รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีรองรับอย่างถูกต้องทุกกระบวนการ ไม่ได้กระทำโดยตัวบุคคลหรือคณะบุคคลแบบตัวใครตัวมัน หรือกระทำในโครงการของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดเหมือนกับในอดีต

หากแต่มีการบริหารจัดการอย่างดี มียุทธศาสตร์ มีการจัดระเบียบภายในองค์กร มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีการรวมศูนย์-อำนาจในการบริหารปกครองและข่าวสารข้อมูลของโครงการต่างๆ มีการตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนอนุมัติโครงการ มีการจัดทำทีโออาร์โดยผู้เชี่ยวชาญ และมีเครือข่ายเชื่อมโยงกันกว้างขวาง  จึงทำให้การทุจริตในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมาก และแยบยลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อาทิเช่น การทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”, การทำเอฟทีเอที่กีดกั้นการแข่งขันและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจของตน, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ช่วยให้ธุรกิจเอกชนสามารถรักษาอำนาจผูกขาดของตนเองไว้ แต่ทำให้รัฐเสียประโยชน์, การออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติปกป้องบริษัทจากการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจของตน ไปจนถึงการให้สัมปทานและการทำสัญญาที่โอนผลประโยชน์ทางการเงินขนาดใหญ่ของรัฐให้กับธุรกิจเอกชน ฯลฯ  จนทำให้หลายโครงการมักขาดประสิทธิภาพแต่กลับมีกำไรมหาศาล  รายได้และความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น กลับไปกระจุกตัวอยู่กับครอบครัวของนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น ส่วนประชาชนตาดำๆ แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มิหนำซ้ำยังต้องมาแบกรับหนี้สินและภาษีที่ตนไม่ได้ก่อให้กับคนกลุ่มนี้อีก  แต่ที่ร้ายกว่านั้น องค์กรอิสระและสื่อต่างๆ ที่เคยเป็นที่พึ่งที่หวัง และเป็นปากเสียงให้กับประชาชนในปัจจุบัน กลับถูกอำนาจทางการเมืองพยายามเข้ามาควบคุมทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ทำหน้าที่ได้อย่างปกติและมีอิสระ ฯลฯ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ บางท่านเรียกว่าเป็น “การทุจริตแบบบูรณาการ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมมหาศาล มีความรุนแรงมากกว่าการทุจริตอันเนื่องมาจากการเป็นหนี้ และการทุจริตโดยบุคคลหรือคณะบุคคลของกลุ่มการเมืองแบบเดิมเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาวแล้ว การทุจริตแบบบูรณาการ ถึงกับทำให้เศรษฐกิจไทยล้มละลายได้ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์สมัยประธานาธิบดีมาร์คอส ก็ใช้อำนาจทางการเมืองขยายธุรกิจกลุ่มของตนจนทำกำไรมหาศาล พร้อมกันนั้นก็กีดกั้นคู่แข่งออกไป เมื่อระบบเศรษฐกิจพัฒนาต่อไปไม่ได้ (เนื่องจากไร้คู่แข่ง) ก็เข้าสู่ภาวะเฉื่อยชา จนพาเศรษฐกิจของประเทศล้มละลายไปด้วย

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน การทุจริตแบบบูรณาการแม้จะเพิ่งเด่นชัดขึ้น และยังไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจล้มละลายในเวลานี้ แต่ถ้านักการเมืองไม่มีอริยวินัย กระบวนการประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง ไร้เรี่ยวแรงที่จะตรวจสอบ และผลักดันให้นักการเมืองที่ “ยากจน” อริยวินัย มีอริยวินัยขึ้นมาได้บ้าง เราก็คงไม่ต่างไปจากฟิลิปปินส์เป็นแน่


ภาพประกอบ