คนแบบนี้ มีจริงหรือ?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 22 ธันวาคม 2006

นิทานไทยเรื่องหนึ่ง เล่าถึงชายคนหนึ่งขี่ม้าเดินทางผ่านป่าเปลี่ยว ในระหว่างนั้นเขาพบชายตาบอดผู้หนึ่ง เดินคลำทางสวนมาด้วยความลำบาก เขาจึงหยุดม้าและลงถามไถ่ด้วยความเป็นห่วง  ปรากฏว่าเมื่อเดินถึงตัวชายตาบอด กลับพบว่าแท้จริงเป็นโจรป่าปลอมตัวเป็นคนตาบอด เพื่อให้คนที่บังเอิญผ่านมาพบเกิดความสงสาร หยุดช่วยเหลือ แล้วจะได้ถือโอกาสปล้น

ชายใจบุญผู้นั้นยกทรัพย์สินและม้าให้โจรป่าโดยไม่ขัดขืนต่อรอง แล้วบอกกับโจรป่าผู้นั้นว่า ทรัพย์สินทั้งหลายยกให้หมด แต่อยากจะขอร้องโจรว่า อย่าได้ใช้วิธีการแบบนี้ในการปล้นอีกเลย  โจรเกิดความสงสัยจึงถามเหตุผล ชายใจบุญบอกว่า เขาเกรงว่าในเวลาต่อไป เมื่อมีคนตาบอด พิการ หรือได้รับความยากลำบาก ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แล้วจะไม่มีใครช่วยเหลืออีกต่อไป เพราะหวาดระแวงว่าจะถูกหลอก ทำให้คนที่ทุกข์อยู่แล้วถูกซ้ำเติมให้ทุกข์ยากเข้าไปอีก  สุดท้ายคนเราอาจจะจะไม่ยอมช่วยเหลือกันอีก เพราะกลัวถูกหลอก ถูกทำร้าย ฯลฯ คนเมื่อหวาดระแวงกันแล้ว การอยู่ร่วมกันจะเป็นไปได้ยาก

นิทานเล่าว่า โจรป่าผู้นั้นฟังแล้วรู้สึกละอายใจชายใจบุญเป็นอย่างมาก เกิดสำนึกว่า นอกจากชายใจบุญจะไม่โกรธหรืออาฆาตตนเองแล้ว กลับยังเป็นห่วงคนอื่นอีก  อันตรงข้ามกับตนเองซึ่งนอกจากจะทำชั่วแล้ว ความชั่วในครั้งนี้ของตนจะส่งผลไปถึงคนอื่นๆ อย่างกว้างขวางในเวลาต่อไปได้อีกด้วย  เมื่อนึกได้ดังนั้น ก็ก้มกราบชายใจบุญเพื่อขอโทษ แสดงความรู้สึกสำนึกและคืนทรัพย์สินให้  พร้อมกับบอกว่าจิตใจอันดีงามของชายใจบุญ ทำให้เขารู้สึกละอายใจและเกิดสำนึกถึงการกระทำของตนเอง ต่อไปจะเลิกประพฤติตนเป็นโจร กลับตัวเสียใหม่

คิดว่านิทานเรื่องนี้ คงทำให้ผู้อ่านหลายคนนึกคล้ายๆ กัน ในทำนองเดียวกัน คือคิดว่า ไม่มีหรอกโจรกลับใจแบบนี้ (“รอไปเถอะ ชาติหน้าโน่น…..”)  บางคนคิดว่า เหมือนสมัยนี้เสียจริง เพราะเรามักจะเจอการหลอกล่อ ต้มตุ๋นเอาเงิน โดยวิธีการผ่านช่องทางความสงสาร เห็นใจอยู่บ่อยๆ  บางคนคิดไปว่า ปัจจุบันโจรกลับใจไม่มี มีแต่คนใจบุญกลับใจ คือหวาดระแวงไม่อยากจะช่วยใครอีก ถ้าเคยถูกหลอกมาก่อน หรือแค่ฟังเขาเล่า ก็ยังต้องคิดหนักเวลาพบสถานการณ์ดังกล่าว

แน่นอนว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นตรงข้ามกับในนิทาน คือโจรกลับใจ หรือคนได้สำนึกใหม่นั้นไม่มี ถึงมีก็คงยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร  แต่ประเด็นคิดหลักที่ตั้งใจจะกล่าวถึงในที่นี้ มิใช่เรื่องของโจรกลับใจมีจริงหรือไม่  แต่อยากจะคิดว่า คนที่มีวิธีคิดแบบชายใจบุญมีจริงหรือไม่ คือการคิดบนพื้นฐานของความห่วงใยผู้อื่น และคิดถึงความมั่นคงของศีลธรรมและคุณธรรมของคนในสังคมสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างคนพันธุ์ใหม่อย่างนี้ที่มีจิตสำนึกต่อผู้อื่นอยู่เสมอ?

บางคนคงจะตอบว่ามี และยกตัวอย่าง เช่น พระโพธิสัตว์ซึ่งบำเพ็ญเพียรสะสมบารมี ท่านย่อมไม่เสียดายสมบัติ และมีจิตเมตตากรุณาต่อทุกคน หรือพระภิกษุสงฆ์ นักบุญ อีกมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ถึงที่สุด คือเชื่อว่าเป็นไปได้แต่ในลักษณะเฉพาะของบุคคลพิเศษ มิใช่ลักษณะทั่วไป  เนื่องจากโลกสมัยใหม่สอนเราตั้งแต่ลืมตารู้จักโลกว่า คนเกิดมาเพื่อเอา และต้องเอาจากการแข่งกันเอาด้วย (ช้าหมด อดได้!) เราจึงต้องแย่งกันตลอดเวลา และมีคนอื่นเป็นคู่แข่งตลอด ตั้งแต่แข่งขึ้นรถ ลงเรือ หาที่นั่งบนรถเมล์ รถไฟฟ้า เครื่องบิน ไปจนกระทั่งถึงการแข่งเข้ามหาวิทยาลัย เข้าทำงาน เพื่อเข้าไปแข่งเกรดการเรียน แข่งเป็นเจ้านายหัวหน้า ฯลฯ (เฮ้อ!)

ลูกคนร่ำรวยอาจไม่ต้องแข่งกับใครในเรื่องที่กล่าวมา แต่ก็ยังต้องแข่งมีชื่อเสียง ความเด่นดัง ซึ่งปัจจุบันแข่งกันได้หลากหลายวิธี เช่น แข่งกันสะสมคู่นอน แบรนด์ของสินค้าที่ใช้  แม้กระทั่งรอยสัก ฯลฯ ไม่ว่าแข่งเพื่อเอาสนุกหรือแข่งเอาเป็นเอาตาย  เราจึงอยู่ในสังคมที่แข่งขันและถูกตอกย้ำอย่างซับซ้อนโดยไม่รู้ตัวหรือไม่เท่าทันว่า เรากำลังสะสมการมองโลกและวิธีคิดแบบมี “ตัวกูของกู” เกือบตลอดเวลา (ดังนั้น ยามที่เราได้พักผ่อนอยู่กับธรรมชาติ เราจึงรู้สึกอิสระ เบาโล่ง เพราะธรรมชาติเป็นแต่เป็นผู้ให้ ไม่มีตัวกูของกู ให้เราต้องไปแข่ง)

สังคมที่บุคคลมองเห็น รู้สึก และถูกกล่อมเกลาแต่เรื่องการต้องแข่งกับ “ผู้อื่น” ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว รู้จักกัน ไม่รู้จักกัน (ที่ร้ายที่สุดคือโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้จักกัน) ย่อมยากมากที่จะสร้างสำนึกให้คิดถึง “คนอื่น” หรือคิดถึงการแบ่งปัน การให้ ความสมานฉันท์ เอื้ออาทร จิตอาสา ฯลฯ  เพราะในจิตใต้สำนึก “คนอื่น” คือคู่แข่งที่ไม่ประกาศในวิถีชีวิตของเรา ตั้งแต่แข่งกันเอาวัตถุไปจนถึงสิ่งนามธรรม (ทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฯลฯ)  ในสังคมที่มีโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์ซึ่งส่งเสริมให้เกิด “คู่แข่ง (ศัตรู) ที่ไม่ประกาศ” ในทุกๆ พื้นที่ทั้งการศึกษา การทำงาน การใช้ทรัพยากร ฯลฯ หรือพูดรวบยอดคือในวิถีชีวิตประจำวัน โดยปราศจากพื้นที่-ช่องทางซึ่งจะเอื้อให้คนเราได้ปลดวางสำนึก “คู่แข่ง” หรือ “คนอื่น” ออกเสียบ้างเพื่อรู้จักกัน ได้สานสัมพันธ์กันในระดับและมิติต่างๆ  ย่อมเอื้อให้บุคคลและสังคมเกิดความตึง-เครียด จากการมีแต่ “ตัวกูของกู” อย่างที่เราสัมผัสได้ในทุกวันนี้

ในทางตรงข้าม หากสังคมหรือถ้าจะพูดให้ทำได้จริงมากขึ้น คือในองค์กร สถานที่ทำงาน โรงเรียน ชุมชน กลุ่ม ฯลฯ จับประเด็นได้ถูก และพยายามที่จะเปิดพื้นที่การรับรู้ เรียนรู้ และ “พื้นที่ใจ” ให้แก่คนอื่น  ด้วยการจัดโครงสร้าง ระบบ และกระบวนการเรียนรู้ในชีวิตประจำที่ส่งเสริมให้เกิดการสานสัมพันธ์เพื่อรู้จัก “คู่แข่ง” ที่ไม่ประกาศได้มากขึ้น จะในฐานะของเพื่อนร่วมทุกข์ (เรียนรู้ความทุกข์ของกันและกัน) และ/หรือเพื่อนร่วมสุข (เรียนรู้ความสุขจากความศรัทธาในสิ่งดีงามร่วมกัน)  โอกาสที่เราจะพบเห็นคนแบบชายใจบุญในนิทานอย่างที่โบราณท่านยกมาสอนใจเรานั้นเป็นไปได้แน่นอน

สังคมที่บุคคลมองเห็นแต่เรื่องการต้องแข่งกับ “ผู้อื่น” ย่อมยากมากที่จะสร้างสำนึกให้คิดถึง “คนอื่น”

เพราะถ้าเราศึกษาสืบค้นย้อนหลังกลับไปถึงสังคมในอดีต จะพบว่า “จิตสำนึก” เพื่อส่วนรวม และสำนึกทางศีลธรรม ความใฝ่ใจในความดีงามนั้น แม้จะปรากฏในปัจเจกบุคคลจนสร้างภาพรวมของสังคม ชุมชน ว่ามีศีลธรรม  แต่อันทีจริงแล้วเบื้องหลังที่มาของจิตสำนึกดังกล่าว มาจากกระบวนการขัดเกลาของสังคมทุกระดับ ทุกมิติ ซึ่งให้การเรียนรู้แก่บุคคลทั้งโดยตรงโดยอ้อมตลอดเวลา ผ่านช่องทางต่างๆ ในวิถีชีวิตประจำวันหรือทางวัฒนธรรม ที่ถ่ายทอดแบบแผนและค่านิยม จิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันของบุคคล ให้สำนึกว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้” อย่างต่อเนื่องและมีพลัง

วิธีคิด จิตสำนึกคนแบบชายใจบุญหรือโจรกลับใจในนิทานจึงมีอยู่จริงแน่นอน และเป็นไปได้ในสังคมที่จับประเด็นกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องจิตสำนึกสาธารณะได้ถูกต้อง


ภาพประกอบ