ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม

นุดา 20 สิงหาคม 2021

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงนี้ พุทธภาษิตนี้ก็คือ นอกจากการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ที่ว่าสำคัญและจำเป็นมากในช่วงนี้ก็เพราะว่า ตอนนี้คนที่ทุกข์เพราะโควิดมีมากมาย เรียกว่าทั้งประเทศ

เพราะฉะนั้น พุทธภาษิตที่ว่า จึงมีความสำคัญมากในเวลานี้ นอกจากการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ต้องช่วยกันระดมกำลังที่ทำอยู่ แล้วก็ขอให้ทำต่อไป และก็รู้จักพักผ่อนบ้าง ส่วนผู้ที่อยู่วงนอกก็ลองหาทางว่าเราจะช่วยเหลือเขาอย่างไรบ้าง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม มีลู่ทางมากมายที่เราจะช่วยทำได้เพื่อช่วยทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายบรรเทาเบาบางลงได้ในที่สุด

 -พระไพศาล วิสาโล- 


ที่พึ่งสำคัญในยามที่สังคมเผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์  รวมไปถึงโรคระบาด นั่นก็คือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน

เช่นช่วงเวลาที่ผู้คนต่างประสบภาวะยากลำบากกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 เราได้เห็นพลังของการช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนดัง มูลนิธิ องค์กรต่างๆ รวมถึงคนธรรมดาที่ยื่นมือมาช่วยเหลือกัน

มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาขอเป็นหนึ่งในการเอื้อเฟื้อแบ่งปันนั้น ด้วยการสนับสนุนให้มีโครงการ ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม” เพื่อช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งหลายครอบครัวขาดรายได้ เพราะต้องหยุดงาน หลายคนตกงานไม่มีใครจ้างเพราะเป็นผู้อาศัยในชุมชน  รวมทั้งยังมีผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ที่เสี่ยงต้องกักตัวดูอาการอยู่ที่บ้านอีกจำนวนไม่น้อย

มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาและองค์กรภาคี จึงมอบเงินทุนตั้งต้นให้แต่ละชุมชน รวมทั้งช่วยสนับสนุนวัตถุดิบในการทำอาหาร เพื่อให้ครัวกลางผลิตอาหารปรุงสุก ราคาถูก ให้คนในชุมชนได้อิ่มท้อง และแจกฟรีให้กับผู้เดือดร้อนลำบาก คนตกงาน ขาดรายได้ ผู้ป่วย ผู้ที่ต้องกักตัว ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ

รายได้จากการจำหน่ายอาหารราคาถูก ก็มาเป็นทุนหมุนเวียนในแต่ละชุมชน เพื่อจัดหาวัตถุดิบมาปรุงอาหารอย่างต่อเนื่อง

ชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา

อาสาทำอาหารชุมชนบุญร่มไทร

อาหารที่ส่งไปถึงบ้านคนกักตัว

ขณะนี้มีชุมชนร่วมจัดตั้งครัวกลางปันกันอิ่มแล้ว 13 แห่งในกรุงเทพฯ ครอบคลุม 7,792 ครัวเรือน กระจายความช่วยเหลือได้ 28,033 คน

คือ ชุมชนบุญร่มไทร, ชุมชนวัดดวงแข, ชุมชนริมคลอง กม.11, ชุมชนบ้านพักรถไฟ, สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร จำกัด, ชุมชนหมอเหล็ง, ชุมชนพอเพียง, ชุมชนหัวรถจักรตึกแดง เขต 3, ชุมชนหัวรถจักรตึกแดง เขต 3 (หลังศูนย์เยาวชนเด็ก), ชุมชนหัวรถจักรตึกแดง เขต 2, ชุมชนซอยสะพานร่วมใจ และเครือข่ายบ้านมั่นคง เขตวังทองหลาง

ชุมชนบุญร่มไทร

ชุมชนพอเพียง

ชุมชนวัดโพธิ์เรียงเตรียมส่งอาหารให้ผู้กักตัว ผู้สูงอายุ

แต่ละชุมชนมีพ่อครัวแม่ครัวอาสา มาช่วยทำอาหารให้ครัวกลาง บางชุมชนเปิดขายอาหารจากครัวกลางทุกวัน บางชุมชนก็เลือกขายช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ราคาอาหารที่ขายเริ่มต้นที่ 9 บาทเท่านั้น และไม่เกิน 20 บาท

อย่างที่ชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อ ตั้งราคาอาหารเพียงอิ่มละ 9 บาท  ขายทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เหตุผลของแม่ครัวอาสาในชุมชนที่ตั้งราคานี้ก็เพราะที่นี่ใกล้ตลาดบางซ่อน หากขายในราคา 15 -20  บาท ก็ราคาพอๆ กับตลาด อาจไม่มีคนซื้อ เหล่าแม่ครัวอาสาจึงเลือกขายในราคา 9 บาท นอกจากไม่เหมือนใครแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนให้มีอาหารราคาประหยัดรับประทาน  ในสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง

อิ่มละ 9 บาท ที่ชุมชนกัลยาณมิตร

ถุงละ 10 บาท ที่ชุมชนหมอเหล็ง

ทำไปขายไป ชุมชนสะพานร่วมใจ

ยามนี้ทำอะไรได้ก็ทำ ช่วยอะไรได้ก็ช่วย”

ป้าก็ไม่ได้อะไรนะ คิดว่าแบ่งปันกัน ก็ช่วยๆ กัน

คือบางส่วนของความรู้สึกจากอาสาในชุมชนที่เข้ามาช่วยทำอาหารประจำครัวกลาง  แม้ต้องสละเวลาทำมาหากินของตนมาร่วมกันทำครัวกลาง แต่พ่อครัวแม่ครัวอาสาต่างเต็มใจที่จะมาทำอาหาร เพราะอาหารที่พวกเขาทำคือการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อคนในชุมชน

อาหารราคาถูก ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านได้  ทั้งยังช่วยลดการเคลื่อนที่ของการออกไปนอกชุมชน ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ระยะหลังๆ ในช่วงที่โควิดระบาดหนักในเมืองกรุง หลายชุมชนมีคนติดเชื้อ มีคนในครอบครัวที่ต้องกักตัว ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่มก็ได้ทำหน้าที่ทำอาหารให้กับคนที่ต้องกักตัว พร้อมส่งตรงถึงหน้าบ้าน แขวนไว้ตามประตู ตามรั้วบ้าง

นอกจากคนที่อยู่วงในอย่างผู้นำชุมชน พ่อครัวแม่ครัวอาสาแล้ว  ยังมีผู้ที่อยู่วงนอกร่วมปันน้ำใจ ส่งความช่วยเหลือไปให้ชุมชนผ่านมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา  ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินร่วมทำบุญ ส่งวัตถุดิบ เครื่องปรุง ในการทำอาหารมาให้

การเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันเช่นนี้  จะช่วยทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายบรรเทาเบาบางลงได้ในที่สุด

ชุมชนริมคลอง กม.11

อาสาทำอาหาร ชุมชนหมอเหล็ง

ชุมชนบ้านพักรถไฟ

ชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา

ชุมชนตึกแดงเขต 3

ชุมชนพอเพียง

ชุมชนวัดดวงแข แจกผัก สมุนไพร ผลไม้

ชุมชนสะพานร่วมใจ

แม่ครัวอาสาที่ชุมชนกัลยาณมิตร


ภาคีบุญ ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม

​• มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ​• มูลนิธิสุขภาพไทย ​• คลองเตยดีจัง ​• เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ​• มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ​• บางกอกนี้ดีจัง • สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) • สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) • มูลนิธิพันดารา • กลุ่มโอบใจ • มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร