ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา

พระไพศาล วิสาโล 22 มกราคม 2006

ศาสนาที่แท้ย่อมช่วยให้เกิดความสุขสงบในจิตใจ  แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งปรนเปรอทางวัตถุและความสนุกสนานบันเทิงที่ได้มาโดยฉับพลัน ความสุขสงบในจิตใจกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยาก  ผู้คนเป็นอันมากเชื่อว่าเงินตราและสิ่งเสพจะทำให้มีความสุข แต่แม้จะมีเงินมากเท่าไหร่ ก็หาได้มีความสุขเพิ่มขึ้นไม่  เคยมีการวิจัยในสหรัฐอเมริกาโดยสอบถามผู้คนว่าอะไรจะช่วยให้เขามีความสุขมากขึ้น  คำตอบก็คือมีเงินมากขึ้น  แต่เมื่อมีเงินมากขึ้น ก็จะพบว่าชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเลย อาจเป็นทุกข์กว่าเดิมด้วยซ้ำ  ความทุกข์ท่ามกลางความมั่งคั่งนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นตระหนักว่าศาสนาอาจเป็นคำตอบได้  แต่ศาสนาเป็นอันมากก็ไม่สามารถ ให้ความสงบอย่างที่ต้องการได้  ส่วนหนึ่งเพราะไปติดยึดกับประเพณีและรูปแบบ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกของศาสนา จนละเลยบทบาทที่สำคัญกว่าอันได้แก่การบำบัดความทุกข์ทางจิตวิญญาณ  ยิ่งกว่านั้นสถาบันศาสนาจำนวนไม่น้อยก็กลับถูกอิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยมครอบงำจนไม่เป็นที่ศรัทธานับถือของผู้คน

หากลัทธิบริโภคนิยมสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็น  แต่ลัทธิบริโภคนิยมได้พิสูจน์ตนเองว่าไม่สามารถบำบัดทุกข์ของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ซ้ำกลับสร้างความทุกข์ให้เพิ่มพูนขึ้น  ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์  ศาสนาใหญ่ๆ ของโลกในเวลานี้มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้  แต่นั่นหมายความว่าศาสนาดั้งเดิมเหล่านี้ จะต้องมีการปฏิรูปตนเองให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของบริโภคนิยม และสามารถที่จะกลับไปหาแรงบันดาลใจทางด้านจิตวิญญาณที่ศาสดาทั้งหลายได้วางรากฐานไว้  แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์ในยุคนี้ได้อย่างสมสมัย โดยไม่ติดกับอดีต  ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากศาสนาใหม่ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและฉับไวในการตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่า  อย่างไรก็ตามศาสนาใหม่นั้นมีแนวโน้มที่จะลงร่องเช่นเดียวกับศาสนาเก่า จนขาดชีวิตชีวาและขาดพลังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง  ดังนั้นจึงต้องพร้อมที่จะปฏิรูปตนเองอยู่เสมอด้วย

แม้ว่าบทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนาจะเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ต้องไม่ละเลยความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์  บทบาททางจิตวิญญาณต้องไม่แยกจากบทบาทสงเคราะห์ทางด้านวัตถุและสังคม เพราะความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความผาสุกทางวัตถุและสังคม  ปรากฏการณ์ใน ๓ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตอบสนองความต้องการทางวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกลุ่มศาสนาเป็นอันมาก ไม่ว่าขบวนการเคร่งจารีต หรือขบวนการศาสนาใหม่  ความจริงศาสนาในอดีตได้มีบทบาททั้งด้านวัตถุ สังคม และจิตวิญญาณโดยไม่แยกจากกัน  การแยกบทบาททางด้านจิตวิญญาณให้แก่ศาสนา และบทบาททางวัตถุและสังคมให้แก่สถาบันทางโลก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังนี้เอง  การกลับมาของศาสนาในปัจจุบันแยกไม่ออกจากการกลับมาของแนวทางแบบองค์รวมดังได้กล่าวมา  ในทำนองเดียวกันอนาคตของศาสนาก็อยู่ที่ว่าจะให้ความสำคัญแก่การตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน  การแพร่สะพัดของลัทธิบริโภคนิยมในสังคมไทยปัจจุบันมิใช่อะไรอื่น  หากเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน  แน่นอนว่าการคล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่วัดวาอารามไม่น้อยกำลังทำอยู่ในปัจจุบันมิใช่ทางออกที่พึงประสงค์  ทางออกสำหรับพุทธศาสนาจักต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ทั้งด้านการปกครองและการศึกษา  เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจริยธรรม และสามารถชี้นำผู้คนให้เข้าถึงความสงบสุขภายในท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนของกระแสโลกาภิวัตน์  ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางสติปัญญาให้แก่ชุมชนในการแก้ไขปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ อนุรักษ์สภาพแวดล้อม และสร้างความสามัคคีกลมเกลียว  บทบาทดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการนำธรรมะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และช่วยฟื้นฟูศาสนาให้กลับมามีความสำคัญต่อสังคม

แม้บทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องไม่ละเลยความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์

แต่นอกจากการปรับปรุงสถาบันสงฆ์แล้ว  สิ่งที่ควรทำควบคู่กันก็คือการฟื้นฟูหลักธรรมทางด้านโลกุตตรธรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดอิสรภาพและความสุขภายในอย่างแท้จริง  ที่แล้วมาหลักธรรมดังกล่าวถูกละเลยไป จนผู้คนเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนแค่ “ทำดี ละชั่ว” เท่านั้น  ทั้งๆ ที่การทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  นี้คือมิติทางจิตวิญญาณที่หายไปจากคำสอนกระแสหลักของพุทธศาสนาในปัจจุบัน  จนท่านพุทธทาสภิกขุต้องย้ำแล้วย้ำเล่าว่า “นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้” เป็นสิ่งที่ทุกคนควรพยายามเข้าถึงให้ได้ ทั้งพระและฆราวาส  เช่นเดียวกับการทำงานด้วย “จิตว่าง”  แต่สภาวะดังกล่าวจะเข้าถึงได้มิใช่ด้วยการอ่านหรือการคิด หากด้วยการปฏิบัติ  การฟื้นฟูสมาธิภาวนาให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและวัฒนธรรมไทยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย จึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนกันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกต่อส่วนรวม และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม ก็เป็นบทบาทอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่จะมองข้ามไปไม่ได้  ที่จริงนี้เป็นหลักการที่สำคัญของพุทธศาสนา แต่ถูกละเลยไปเช่นกัน  จนผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับสังคม เหมาะสำหรับผู้ต้องการหลีกเร้นจากสังคม  ความคิดเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนาถูกตีกรอบให้แคบลง และนับวันจะตกอยู่ในวงล้อมของบริโภคนิยม  ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของสังคมและความทุกข์ยากของผู้คน  การรื้อฟื้นหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับจริยธรรมทางสังคม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พุทธศาสนาในเมืองไทยมีพลังในการสร้างสรรค์สังคม และบำบัดความทุกข์ของผู้คนทั้งในทางวัตถุและจิตใจ  ดังที่ได้เคยมีบทบาทในอดีตมาแล้วโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ  ต่อเมื่อพุทธศาสนาสามารถปฏิรูปตนเองจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนทั้งทางวัตถุ สังคม และจิตใจ  พุทธศาสนาถึงจะเป็นคำตอบของผู้คนและมีอนาคตสดใสในยุคโลกาภิวัตน์


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา