ความตายของฉันใครกำหนด

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 22 มีนาคม 2015

ยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนามากเท่าใด ก็ยิ่งมีข่าวคราวเกี่ยวกับความตายที่เราแทบไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนบ่อยขึ้นเท่านั้น ในบรรดาข่าวเหล่านี้ผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตมักไม่มีโอกาสตัดสินชะตากรรมของตัวเอง แม้ว่าในบางรายแสดงความจำนงเกี่ยวกับความตายไว้ชัดเจนแล้วก็ตาม เพราะการตายของคนๆ หนึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งความเชื่อ จริยธรรม และกฎหมายที่มักไม่ไปด้วยกันกับความปรารถนาสุดท้ายของเจ้าของชีวิต

เมื่อปีที่แล้วที่มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

จู่ๆ มาร์ลิส มูนอส (Marlise Munoz) ที่ตั้งครรภ์อายุ 18 เดือนก็หกล้มและหยุดหายใจไปชั่วขณะ สามีของเธอปั๊มหัวใจและเรียกหน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล หลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้สติอีกเลย ต่อมาแพทย์วินิจฉัยว่าเธออยู่ภาวะสมองตาย แต่ทางโรงพยาบาลไม่ยอมถอดเครื่องช่วยหายใจเพราะทารกในครรภ์ยังหายใจอยู่ ทั้งนี้กฎหมายของรัฐเท็กซัสและในอีก 31 มลรัฐในสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่า ห้ามถอดเครื่องช่วยหายใจในหญิงตั้งครรภ์และบุตรในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ เพราะต้องการปกป้องสิทธิ์ของทารกที่จะลืมตาออกมาดูโลก

สามีของเธอได้ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ มิเช่นนั้นภรรยาของเขาจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไปอีกประมาณ 20 สัปดาห์หรือ 5 เดือน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมหาศาล และผลการตรวจพบว่าทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์เพราะมีภาวะขาดออกซิเจนไปชั่วขณะ นอกจากนี้เธอยังเคยคุยกับน้องชายไว้ว่า หากเธอเจ็บป่วยอยู่ในสภาพไม่ได้สติและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ห้ามยื้อชีวิตเธอด้วยเทคโนโลยีเครื่องช่วยชีวิตต่างๆ  แต่ยังไม่ทันทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เธอก็หกล้มและตกอยู่ในภาวะสมองตายเสียก่อน

คดีนี้เป็นที่สนใจของสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก เพราะมีคดีลักษณะเดียวกันอยู่ในศาลใน 30 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาถึง 2 เดือน ศาลก็พิพากษาให้ถอดเครื่องช่วยหายใจได้เพราะเธอเสียชีวิตแล้ว

ช่วงใกล้เคียงกัน ที่ประเทศแคนาดา

มีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันแต่ผลสืบเนื่องดำเนินไปในทางตรงกันข้าม โรบีน เบนสัน (Robyn Benson) อายุครรภ์ 22 สัปดาห์เสียชีวิตจากภาวะสมองตายขณะที่บุตรในท้องยังหายใจ และสามีของเธอตัดสินใจให้เธอสวมเครื่องช่วยหายใจต่อไปอีก 7 สัปดาห์เพื่อรอให้บุตรชายลืมตาออกมาดูโลก ในวันที่บุตรชายของเธอเกิด เป็นวันเดียวกันกับที่แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจเธอ

อีกกรณีหนึ่ง

จาไฮ แมคแมท (Jahi Mcmath) เด็กสาววัย 13 ปีก็เสียชีวิตเพราะภาวะสมองตาย กรณีนี้ทั้งแพทย์และศาลเห็นพ้องต้องกันให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่พ่อแม่ของจาไฮกลับทำใจไม่ได้ พวกเขายื่นฟ้องต่อศาลขอให้ห้ามถอดเครื่องช่วยหายใจ เพื่อยืดอายุจาไฮต่อไป และพาจาไฮออกจากโรงพยาบาลไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย

แม้สังคมจะมองว่าพ่อแม่ของจาไฮดื้อแพ่งไม่ยอมรับความจริงของชีวิต แต่ทนายความฝ่ายโจทย์ตั้งคำถามต่อสังคมว่า “ถ้าคุณเป็นจาไฮ คุณคิดว่าเธออยากให้เป็นอย่างไร และถ้าเป็นครอบครัวของคุณ คุณจะตอบคำถามนี้อย่างไร”

ทั้งสามกรณีนี้ล้วนเป็นเรื่องของผู้ที่อยู่ในภาวะสมองตาย ซึ่งการแพทย์สมัยนี้วินิจฉัยว่าเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องชีวิตของเด็กในครรภ์ ความคิดความเชื่อของคนใกล้ชิด และกฎหมายที่แตกต่าง ผลลัพธ์จึงออกมาแตกต่างกัน

จากกรณีตัวอย่างข้างต้นไม่มีใครตอบได้ว่าผิดหรือถูก แต่ก็ชวนให้หวนคิดว่าหากเราตกอยู่ในสภาพนั้น ทั้งในฐานะผู้ป่วยและคนใกล้ชิด เราควรทำอย่างไรเพื่อให้การตายของคนๆ หนึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเจ้าของชีวิต ที่ต้องการตายอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสร้างความลำบากใจให้กับคนที่อยู่เบื้องหลังน้อยที่สุด

แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? ในสถานการณ์ทั่วไปสิ่งที่จะช่วยให้เจตจำนงการใช้ชีวิตและการตายของตัวเองบรรลุผลมากที่สุดก็คือ การบอกกล่าวเจตจำนงของตัวเองแก่คนใกล้ชิด เท่านั้นยังไม่พอ ยังควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย เพื่อที่ในยามที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ญาติสนิทและบุคลากรทางการแพทย์จะเคารพในการตัดสินใจนั้นๆ  ซึ่งเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวเรียกว่า หนังสือแสดงเจตจำนงการเลือกวิธีรักษา หรือ Living Will หรือ Advance Directives ซึ่งเป็นเอกสารที่มีผลทางกฎหมาย

โดยในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ โดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลนั้นไม่มีความผิด

ด้วยเป็นสิ่งใหม่ บุคลากรที่รับรู้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้จึงยังมีไม่มากนัก อีกทั้งสับสนกับการทำการุณยฆาต หรือการขอให้แพทย์ช่วยยุติชีวิตเพื่อหนีความเจ็บปวดทรมานทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย กรณีหลังยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายและจริยธรรมในประเทศไทย ที่น่าเป็นห่วงคือฝ่ายผู้ป่วยและผู้ดูแลแทบจะไม่เคยได้ยินเลยว่ามีหนังสือคุ้มครองเจตนาฯ ทำให้ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าในกรณีที่ตนประสบวิกฤติของชีวิต

นอกจากบอกกล่าวเจตจำนงของตัวเองแก่คนใกล้ชิดแล้ว ยังควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องยาก เนติบัณฑิตยสภาอเมริกัน (The American Bar Association) องค์กรซึ่งมีสมาชิกเป็นนักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาหลายแสนคน ได้ใช้โอกาสการตายของกรณีตัวอย่างข้างต้นในการให้ความรู้แก่สังคมอเมริกัน โดยแนะนำให้ทำหนังสือแสดงเจตจำนงฯ โดยเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจซึ่งควรจะเป็นคนที่ไม่จมดิ่งกับอารมณ์นัก

ในการพูดคุยให้ระบุไปเลยว่าคุณต้องการและไม่ต้องการสิ่งใด เช่น หากหัวใจหยุดเต้นคุณต้องการให้มีการปั๊มหัวใจหรือไม่ หากไม่สามารถหายใจด้วยตัวเอง ต้องการให้สวมท่อช่วยหายใจหรือไม่ และหากกินหรือดื่มไม่ได้ ต้องการรับอาหารทางสายยางหรือไม่ เป็นต้น จากนั้นอย่าลืมทำสิ่งที่พูดให้เป็นลายลักษณ์อักษรและถ่ายสำเนาให้ทั้งโรงพยาบาล ครอบครัว และคู่ครองรับรู้ร่วมกัน

ศึกษาเพิ่มเติมและดาวน์โหลดหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ได้ที่ www.thailivingwill.in.th

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง