ความเคยชินเดิมๆ: สู้กับมัน อย่ายอมแพ้

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 1 ธันวาคม 2006

คุณเคยมั้ยครับ คุณตั้งใจทำอะไรสักอย่าง หรือไม่ทำอะไรสักอย่าง เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่เผลอรับปาก หรือรักใครง่ายๆ ไม่เผลอตามใจปาก รวมถึงตั้งใจออกกำลังกาย นั่งสมาธิทุกเช้าให้เป็นนิสัย  แล้วไม่ทันไร คุณก็พบว่าเอาแล้วสิ เราเผลอทำสิ่งที่เราเคยชินอีกจนได้  ชีวิตดูเหมือนจะวนเวียนกับความเคยชินเดิมๆ ก่อให้เกิดความทุกข์ซ้ำๆ เสียใจกับเรื่องเดิมๆ ซ้ำซากกับบาดแผลชีวิตเก่าๆ  ทั้งหมดเกิดขึ้น ถี่บ่อย หนักเบาไปตามสภาพเงื่อนไข  เราทำอะไรได้บ้างกับความเคยชินเดิมๆ เช่นนี้

ในทุกศาสนาต่างมีหลักการธรรมะสำหรับการดำเนินชีวิต แต่คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่า มันดูมีช่องว่างระหว่างชีวิตจริงที่ดำรงอยู่กับหลักธรรมะในศาสนา ทำให้หลักธรรมะนั้นดูออกจะเหมือนเรื่องราวไกลตัว ปฏิบัติได้ยาก  จะทำอย่างไรเราจึงสามารถดึงหลักธรรมะให้มาอยู่ในชีวิตจริงของเราได้

ศีล สมาธิ ปัญญา หลักธรรมะว่าด้วยความประพฤติทางกาย วาจา รวมถึงการจัดวางความสัมพันธ์ทางสังคม  สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น ไม่แส่ส่าย ไม่หวั่นไหว จะทำได้ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนปฏิบัติให้จิตใจมีความสงบ สว่าง และสะอาด  พื้นฐานการประพฤติศีล การมีศีลธรรม จะเอื้อให้ให้จิตใจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสมาธิภาวนา และจากสมาธิภาวนาทำให้เกิดปัญญา  ปัญญาในความหมายที่กว้างกว่าการเรียนรู้จากการคิดนึก แต่รวมถึงความตระหนักรู้ ความประจักษ์แจ้งกับจิตใจของตนเอง  จะตระหนักรู้ได้ก็ต้องอาศัยการมองเห็น การมองเห็นในอารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิดต่างๆ นานาที่กำลังทำงานในจิตใจ  สิ่งเหล่านี้ปรากฏในหลายรูปลักษณ์ เช่น ความอยาก โกรธ หงุดหงิด กลัว ตะกละ ระแวง ถือตัว ฯลฯ  จะเอาชนะหรือเท่าทันสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมักเกิดขึ้นตามอุปนิสัยความเคยชินได้ ก็ต้องมองเห็น และตระหนักรู้  ตัวอย่างเปรียบเปรยที่น่าสนใจ คือ ความนึกคิด ความรู้สึกเหล่านี้เป็นกิเลส เปรียบเสมือนโจรลักขโมยที่แอบเข้ามายามวิกาล ยามที่เราไม่รู้ตัว  แต่หากเรารู้ตัว เพียงแค่แสดงตัวให้เหล่าโจรรู้ว่าเจ้าของบ้านรู้ตัวแล้ว โจรลักขโมยเหล่านี้ก็ต้องหลบหนีไปตามธรรมชาติของโจร

ข้อคิดประการหนึ่งว่าด้วยเรื่องของจิตใจคือ จิตใจเป็นเหมือนบ่าวที่ดี แต่คือนายที่เลว  จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเมื่อเราทำสิ่งต่างๆ ตามใจตนเอง และชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเราสามารถดำเนินชิวิตและกระทำในสิ่งที่เราใฝ่ฝัน  แน่นอนว่าคำตอบอยู่ปลายทางของชีวิตที่ดำเนินไป การลองผิดลองถูก เก็บเกี่ยว เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ดำเนินไป  กระทำตามสิ่งที่ใจใฝ่ฝัน ต้องต่อสู้กับความเคยชิน ความอยากต่างๆ นานาที่จะมาขีดขวางกระทำสิ่งที่ใจใฝ่ฝัน

พวกเราคงเคยสังเกตอาการความอยากที่เกิดขึ้นชั่ววูบ และหากเราเผอเรอ จิตใจไม่ตั้งมั่นนัก เราก็เผลอทำตามความอยากนั้นๆ เช่น ความอยากบุหรี่ ของมึนเมา ความอยากเสพขนม ของขบเคี้ยว อินเตอร์เนต เพื่อความเพลิดเพลิน คลายเครียด  กว่าจะรู้ตัวและถอนตัวจากกิจกรรมเหล่านี้ได้ ก็ต้องเสียเวลาไปมากโดยเปล่าประโยชน์ บางกิจกรรมก็บั่นทอนสุขภาพ ก่อโทษภัยในระยะยาว  ปัญหายังซับซ้อนมากขึ้น คือ พวกเรารู้สึกถึงอาการความอยาก อาการที่ความอยาก ความต้องการเกิดขึ้น แต่ก็เลือกที่จะผัดวันประกันพรุ่ง ขอตามใจและตอบสนองความอยากก่อน ด้วยเหตุผลที่เข้าข้างและบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” “ตามใจตนเองอีกสักครั้ง คงไม่เป็นไรหรอก” ดูเหมือนความเคยชินเหล่านี้จะมีอำนาจจริงๆ

ความเคยชินเป็นอุปนิสัยที่เราเคยได้ประโยชน์ เราจึงใช้อุปนิสัยนี้บ่อยๆ จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญและเคยชินในที่สุด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความเคยชินนี้กลับกลายเป็นปัญหา ก่อโทษภัยกับชีวิต  อาจเปรียบเหมือนน้ำเน่าเสียที่หมักหมมในตัวเรา การเอาชนะน้ำเน่าเสียซึ่งเป็นความเคยชินเดิมๆ จึงต้องอาศัยน้ำดีมาทดแทนเพื่อขับไล่น้ำเสีย สร้างและฝึกฝนอุปนิสัยใหม่เพื่อมาแทนที่อุปนิสัยความเคยชินเก่าๆ

อุปนิสัยใหม่ที่เราต้องการ จะสร้างขึ้นได้ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ  1) ความรู้ ความรู้ที่ต้องมีพลังอำนาจ เป็นปัญญา ญาณทัศนะ ความตระหนักรู้ที่ทำให้เราลึกซึ้งถึงความสำคัญและความจำเป็นของอุปนิสัยใหม่นั้นๆ  2) ความปรารถนา เป็นความตั้งใจ เป็นเจตนาที่เรามุ่งมั่นต้องการกระทำ เป็นพลังขับเคลื่อนจากอารมณ์ความรู้สึกที่มุ่งมั่น  องค์ประกอบ 2 ส่วนนี้จะทำงานควบคู่ ส่งเสริม และสนับสนุนซึ่งกันและกัน  และ 3) ทักษะ ความเชี่ยวชาญ การได้ทดลอง ฝึกปฏิบัติกับการทำตามอุปนิสัยใหม่จนเป็นทักษะ ความเชี่ยวชาญในการใช้อุปนิสัยใหม่นั้นๆ  ตัวอย่างที่เราอาจนึกถึงเช่น เช่น การว่ายน้ำ เราไม่เคยว่ายมาก่อน แต่ความสนใจ ความต้องการที่จะว่ายน้ำให้เป็น การรู้วิธีการว่าย และการฝึกฝน ในที่สุดเราก็ว่ายน้ำได้

จะเท่าทันอุปนิสัยความเคยชินเดิมๆ ได้ เราก็ต้องมองเห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดที่กำลังทำงานในจิตใจ

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ความปรารถนาอันลึกซึ้ง และซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจสัตว์โลก รวมถึงมนุษย์ด้วยก็คือ ความปรารถนาในความสุข สงบ เย็นในจิตใจ ในชีวิตภายในของเราเอง  หลายคนทุ่มเทพลังงานชีวิต เวลา ทรัพยากรเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ความมั่นคง ความรู้ ความรัก ความยุติธรรม ถูกต้อง ฯลฯ ก็เพราะเชื่อและถือว่าสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสุข สงบและเย็นในจิตใจ (ใช่ ไม่ใช่ ถูก ผิด เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่บทเรียนชีวิตย่อมให้คำตอบโดยตัวบทเรียนแก่เจ้าของชีวิตเอง)

ถึงตรงนี้ อะไรคือรางวัลของการต่อสู้ อดทนเพื่อสร้างอุปนิสัยใหม่  ผู้เขียนมองว่าคำตอบคือ หากอุปนิสัยใหม่ที่เราเพาะสร้างขึ้นนั้น เป็นอุปนิสัยที่วางอยู่บนหลักการธรรมะ หลักการแห่งความมีสติ ปัญญา  อุปนิสัยใหม่ๆ จะให้รางวัลคือ ความสุข สงบและเย็นในจิตใจ เนื่องจากการคลี่คลายต่อความทุกข์ที่เราเคยติดตันอยู่ และความถึงพร้อมในศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง

พวกเราอาจยังไม่เข้มแข็งนัก ความรู้ที่ต้องการเพาะสร้างอุปนิสัยใหม่ก็ยังไม่ชัดแจ้ง พลังใจที่อยากเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่มาก ขึ้นๆ ลงๆ ตามเงื่อนไขชีวิต ทักษะที่จะเพาะสร้างก็แปรเปลี่ยนตามความขยันหรือเกียจคร้าน  ทั้งหมดเป็นเส้นทางชีวิตที่เราต้องเดินไป อายุขัยของเราทุกท่านยาวนานพอที่จะมีเวลาลองผิดลองถูก แต่ก็อาจมีเวลาไม่มากนักสำหรับการหลงผิดในความเคยชินเก่า หรือการผัดวันประกันพรุ่ง  ในแง่นี้ชีวิตก็มีความเสี่ยง แต่ท้ายที่สุด ก้าวแรกที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมีเพียง 2 ก้าวเท่านั้น คือ ก้าวแรก กับก้าวต่อไปนั่นเอง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน