ความเอ๋ย.. ความสุข

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 25 กรกฎาคม 2010

โฮเมอร์ เด็กชายอายุ ๑๔ ปี กำพร้าพ่อ พี่ชายของเขาเป็นทหารไปรบในสงคราม ครอบครัวของเด็กชายมีแม่ พี่สาว น้องชาย  ท่ามกลางภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เด็กชายต้องหางานทำ แม้อายุไม่ถึงเกณฑ์ โชคดีที่นายจ้างเข้าใจความยากลำบากและความจำเป็น รวมถึงความชื่นชมในความเป็นเด็กดีของโฮเมอร์  โฮเมอร์ได้งานทำเป็นบุรษไปรษณีย์ทำหน้าที่แจกจ่ายโทรเลข  สิ่งที่ยากลำบากในงานอาชีพของเด็กชาย คือ การที่ต้องทำหน้าที่ส่งมอบโทรเลข ซึ่งมีเนื้อความแจ้งข่าวการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวให้แก่ผู้รับโทรเลข  มันช่างเป็นภารกิจการงานที่หนักหนาสำหรับการที่ต้องแจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้เป็นที่รักให้กับครอบครัวนั้นๆ  แต่กระนั้นตลอดเรื่องราวของวรรณกรรมเยาวชน “ความสุขแห่งชีวิต” เราจะพบภาพของความสุขจากความเอื้ออาทรของตัวละครต่างๆ ในเรื่องราว การมีน้ำใจแม้แต่กับคนแปลกหน้า ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันท่ามกลางความทุกข์ยาก รวมถึงการมีความ หวังที่ดีในชีวิตท่ามกลางความเลวร้ายของสภาพรอบตัว

สิ่งที่น่าสนใจคือ แง่มุมประสบการณ์ของความสุขอันเนื่องมาจากทัศนคติของเราแต่ละคน รวมไปถึงความสุขอันเนื่องมาจากความดี และความรัก

“คนทุกคนเป็นโลกๆ หนึ่ง เป็นทั้งโลก ไม่ว่ามันจะเศร้า จะน่าเกลียด จะน่าสงสาร ก็เป็นโลกที่เขาสร้างขึ้นมาอย่างที่เขาต้องการ ถ้าเขามีความรัก โลกนั้นก็จะเต็มไปด้วยคนที่เขาจะรักใคร่ไยดีได้ แต่ถ้าเขามีความเกลียด โลกก็จะมีคนชนิดที่เขาต้องเกลียดโลกคอยอยู่ ให้คนแต่ละคนที่อยู่ในโลกสร้างมันขึ้นมา”

“คนดีไม่มีวันตาย เธอจะได้เห็นเขาอีกหลายครั้ง ตามถนนหนทาง ตามบ้านเรือน ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในเมืองในไร่องุ่นและสวนผลไม้ ทั้งในแม่น้ำและเมฆหมอก ในทุกอย่างที่สร้างโลกให้เราอยู่ เธอจะรู้สึกถึงเขาได้ในทุกอย่างที่เกิดจากความรัก และที่ทำให้เกิดความรัก ทุกอย่างที่มั่งคั่ง ทุกอย่างที่เติบโต คนอาจจะจากไปหรือถูกนำตัวไป แต่ส่วนที่ดีที่สุดของคนดีจะคงอยู่ มันจะอยู่ในชั่วนิรันดร์ ความรักเป็นอมตะและทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอมตะ”

– วิลเลียม ซาโรยัน ความสุขแห่งชีวิต แปลโดย มัทนี เกษกมล

เราทุกคนล้วนต้องการความสุข  แต่ความสุขก็เหมือนปริศนาในตัวมันเอง คือ หากเราไขว่คว้าความสุข  ความสุขที่แท้จริงกลับยิ่งลอยหาย เหลือแต่ความสุขจอมปลอมมาล่อลวงแทน  เนื่องเพราะเมื่อเราเฝ้าครุ่นคิดที่จะมีความสุข เราก็มักหมกมุ่นอยู่แต่ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง  การหมกมุ่นกับตนเองเป็นการยึดถือความคิด ความเชื่อของตนเอง โดยไม่มีการเปิดรับความคิด ประสบการณ์จากคนอื่น ไม่มีการเรียนรู้ของบทเรียนชีวิตที่ผ่านมา  ในอีกทาง ความสุขเหมือนมีมนต์มายาที่มักล่อลวงให้เราหลงยึดติดกับความสุขที่ได้มาง่ายๆ และรวดเร็ว  เช่น ความสุขจากการได้ครอบครองวัตถุที่โปรดปราน: เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ มือถือรุ่นใหม่ ฯลฯ  หรือความสุขจากการได้เสพรับประสบการณ์แปลกใหม่จากการท่องเที่ยว การพนัน สุรา ยาเสพติด  แม้กระทั่งความสุขจากการได้ครอบครองอำนาจ หรือการมีสถานภาพ  ในอีกทาง ความสุขจากการไม่ต้องพบปะหรือได้ในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เช่น โรคภัยไข้เจ็บ การพลัดพราก ลาจากสูญเสีย

แต่เมื่อเราเปิดรับและใส่ใจผู้อื่น แทนการหมกมุ่นในตนเอง รับรู้และใส่ใจในความสุข ความทุกข์ของผู้อื่น เรากลับพบความสุขจากการได้ส่งมอบความรักให้แก่ผู้อื่น  พร้อมกับการที่เรามีความเอื้ออาทรให้กับผู้อื่น ก็คือ การที่เราได้ทำความดีให้กับผู้อื่น  และความสุขเช่นนี้ผุดขึ้นจากใจ นำพาจิตใจให้เปิดกว้าง ข้ามพ้นความเห็นแก่ตัว หรือความหมกมุ่นในตนเองที่มีแต่ “ตัวกู กับของกู”  แน่นอนว่า ความสุขเป็นอารมณ์ ความรู้สึกที่เราปรารถนา  เรารู้สึกยินดี แช่มชื่น และรื่นรมย์ เรามีความสุขยามที่เราประสบความสำเร็จ  ยามที่เราสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา  และเมื่อเรามีความสุข เราก็พร้อมเผื่อแผ่ความสุขให้กระจายออกไป: หน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ที่ดี สบายใจ  แต่อารมณ์เป็นสุขหากมีความหมายเพียงเช่นนี้ คุณค่าความสุขคงด้อยค่า เพราะความสุขจากวัตถุ ความสุขจากการครอบครองก็ให้รสชาติไม่แตกต่าง

ความสุขก็เหมือนปริศนาในตัวมันเอง คือ หากเราไขว่คว้าความสุข ความสุขที่แท้จริงกลับยิ่งลอยหาย เหลือแต่ความสุขจอมปลอมมาล่อลวงแทน

พลังชีวิตของเราทุกคนขับเคลื่อนและผลักดันไปด้วยบทบาทหน้าที่ใน ๒ ลักษณะ คือ พลังเพื่อการสร้างสรรค์ และพลังในฐานะปฏิกิริยาตอบโต้  มองในแง่ความทุกข์ที่ให้อารมณ์เชิงลบ เช่น กลัว โกรธ ผิดหวัง ความรู้สึกผิด แท้จริงอารมณ์เชิงลบเหล่านี้ให้ประโยชน์กับชีวิตด้วย  ความกลัวช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัย ความโกรธช่วยให้เราค้นพบสิ่งที่ต้องการ ความรู้สึกช่วยให้เราเรียนรู้การกระทำที่ถูกต้อง  ด้วยเหตุนี้ยามที่เราต้องเผชิญหรืออยู่กับความทุกข์ อันเนื่องด้วยสภาพแวดล้อม หรือเหตุปัจจัยจากตัวเราเอง  เช่น ประสบการณ์เลวร้ายที่เรายังฝังจำในชีวิต การมีวิธีคิดเชิงลบและทำร้ายตนเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้พลังชีวิตถูกใช้เพื่อตอบโต้สิ่งกระตุ้นเร้าต่างๆ เพื่อปกป้องตนเอง ผ่านความเครียด ความกังวล ความวิตก ฟุ้งซ่าน  ขณะเดียวกันพลังตอบโต้ในฐานะปฏิกิริยาก็ยังถูกใช้เพื่อทำลายล้างสิ่งที่เราคาดคิดว่าเป็นอันตรายต่อเรา  ความรู้สึกเป็นทุกข์จึงทำร้ายเราด้วยลักษณะนี้

แล้วประโยชน์ของความสุขคืออะไร  คำตอบคือ ความสุขที่แท้จริง คือแหล่งพลังงานที่ให้กับชีวิต เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งการงาน ชีวิต สุขภาพกาย ใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์  นั่นคือ เมื่อเรามีความสุข พลังชีวิตไม่ต้องสูญเสียไปในฐานะปฏิกิริยาตอบโต้ แต่สามารถนำมาใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ดังเช่น ศิลปินที่มีความสุขกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ตนรัก ศรัทธา  การอุทิศตัวมุ่งมั่นเพื่อบรรลุสิ่งที่มุ่งหวัง  การทำความดีเพื่อเกื้อกูลต่อคนอื่นยิ่งๆ ขึ้นไป  การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สิ่งมีคุณค่าภายใต้ความรัก ความพอใจ และความสุขในการทำสิ่งที่ตนรัก รวมไปถึงการให้อภัย การมีความเมตตากรุณาต่อสรรพสิ่งรอบตัว

และเมื่อเรามีความสุขที่แท้จริง โลกรอบตัวของเราก็จะถูกสร้างสรรค์เพื่อวิวัฒน์ไปในวิถีที่เกื้อกูลชีวิตและธรรมชาติ ไม่เบียดเบียน  เราจะมีความสุขที่แท้จริงได้ จึงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ตนเองและข้ามพ้นการหมกมุ่นกับตนเอง เพื่อไปสู่การเกื้อกูลช่วยเหลือผู้อื่นผ่านความรักและความดี  อาจจะยาก แต่ก็คุ้มค่าที่จะลอง เพราะโลกที่มีความสุขรอคอยอยู่


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน