คำสอนว่าด้วยรัก: หนึ่งแง่งามในพระพุทธศาสนา

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 10 มีนาคม 2001

พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตโดยแยก ‘โลก’ ออกจาก ‘ธรรม’  ด้วยเข้าใจว่าเรื่องพระธรรมคำสอนเป็นกิจของสงฆ์  เป็นความดีงามในอุดมคติมากกว่าจะปฏิบัติได้จริง อีกทั้งรุงรังไปด้วยภาษาที่เข้าใจได้ยาก

ใครที่เคยมีความเข้าใจเช่นนี้ เชื่อว่าเขาจะต้องเปลี่ยนความคิด หากได้อ่านหนังสือชื่อ เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก ของ ติช นัท ฮันห์

สกุล บุณยทัต อาจารย์-นักวิจารณ์ กล่าวในงานเสวนาแนะนำหนังสือ เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก  ว่า ติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือเล่มนี้โดยอาศัยรากฐานมาจากแก่นของพุทธศาสนา ให้พระสงฆ์รวมทั้งบุคคลสามัญได้เข้าถึงพรหมวิหารสี่

ติช นัท ฮันห์ อรรถาธิบายไว้ในบทที่หนึ่งของหนังสือว่า พระพรหม เป็นเทพแห่งความรัก  วิหาร คือที่สถิต  พรหมวิหาร จึงหมายถึง องค์ประกอบสี่ประการของความรักที่แท้  ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา  เป็นสภาวะที่แท้ของอริยบุคคล มีอยู่ในตัวของทุกคนและทุกๆ สิ่ง  ถ้าฝึกปฏิบัติมันจะงอกงามขึ้นในตัวเราทุกๆ วัน  เมื่อจิตใจท่วมท้นไปด้วยความรักความเมตตา มันจะแผ่ออกไปทุกทิศทาง สู่ทิศเบื้องบนและเบื้องล่าง แผ่กว้างและเพิ่มพูนออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งแผ่คลุมโลกทั้งมวลไว้

การมีไมตรี เป็นแง่มุมแรกของความรักที่แท้  ไมตรี แปลได้ว่า ความรัก หรือ ความเมตตา คือความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเบิกบาน  ซึ่งจะต้องมองลึกลงไปให้เห็นและเข้าใจถึงความต้องการ และความทุกข์ทรมานของคนที่เรารัก  เพราะหากเป็นความรักที่ขาดความเข้าใจ นั่นย่อมไม่ใช่รักที่แท้

แง่มุมต่อมาของความรักที่แท้ คือ กรุณา หรือความตั้งใจอยากให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์ คลายจากความเศร้าโศก  ซึ่งติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า เราสามารถช่วยขจัดทุกข์ให้คนได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ด้วย ดังเช่นหมอสามารถช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของคนไข้ได้ โดยไม่ต้องป่วยเป็นโรคเดียวกัน

สมัยพุทธกาล โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่พระพุทธองค์ยังทรงยิ้มแย้มได้  เพราะพระองค์มีความเข้าใจ สงบนิ่ง และตั้งมั่น  ความทุกข์จึงไม่สามารถครอบงำพระองค์

เราต้องรู้เท่าทันความทุกข์ โดยคงความเข้มแข็ง สงบ และพละกำลังของเราไว้ เพื่อพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  ผู้มีความกรุณาจะไม่จมจ่อมอยู่ในห้วงสมุทรแห่งหยาดน้ำตา

ความรักที่แท้นำความเบิกบานมาสู่ตัวเราและคนที่เรารักเสมอ  สิ่งนี้คือ มุทิตา องค์ประกอบที่สามของความรักที่แท้  มุทิตาเชื่อมโยงอยู่กับจิต  การอยู่อย่างมีสติ จะทำให้เราได้สัมผัสกับสิ่งอันแช่มชื่น มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน โดยไม่ต้องรีบเร่งไปสู่อนาคต  เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ณ ปัจจุบัน

ความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดของมุทิตา คือความยินดีเบิกบานที่เจือไปด้วยความสงบและความพอเพียง  ขณะที่ชื่นบานกับความสุขของผู้อื่น เราต้องชื่นบานไปกับความสุขของตนด้วย  ความยินดีชื่นบานเป็นของทุกๆ คน

ส่วน อุเบกขา ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สี่ของความรักที่แท้ หมายถึงการไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่วินิจฉัย การวางเฉย หรือปล่อยให้เป็นไป  แต่ไม่ใช่การไม่สนใจใยดี ไม่ใช่ความเย็นชาและไม่รัก

สายตาแห่งอุเบกขาสามารถมองทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกตัวเองกับคนอื่น  หากเราประเมินตนเองสูงกว่าคนอื่น หรือมองตัวเองต่างไปจากผู้อื่น อุเบกขาอันแท้จริงไม่มีทางเกิดขึ้น

หากปรารถนาที่จะเข้าใจและรักใครอย่างแท้จริงแล้วจะไม่มี ‘ตัวเรา’ และ ‘ตัวเขา’

สายลมฤดูร้อนแช่มชื่น  แต่ถ้าเราพยายามเอามันอัดใสกระป๋องให้เป็นของเรา สายลมก็จะไม่มีชีวิต  คนที่เรารักก็เช่นกัน  เขาเป็นเหมือนเมฆหมอก สายลม ดอกไม้  หากนำเขาไปกักขังเขาก็จะตาย

ความรักที่แท้จะต้องให้ตัวเราและคนที่เรารักยังคงมีอิสรภาพ นั่นคืออุเบกขา

เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์ของความรักอยู่ในตัว  เราสามารถพัฒนาพลังอันน่าอัศจรรย์นี้ บ่มเพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน

ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา  เป็นสภาวะที่แท้ของอริยบุคคล มีอยู่ในตัวของทุกคนและทุกๆ สิ่ง

ทุกๆ ตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้ คือความพยายามของติช นัท ฮันห์ จะที่ให้ เมล็ดพันธุ์ของความรัก ได้งอกงามขึ้นในใจของคนที่ได้อ่าน  ตั้งแต่การรักตนเอง รักต่อคู่รัก ต่อบุพการี กระทั่งแผ่ออกไปยังคนรอบข้าง

บางบรรทัดจึงได้พบพุทธพจน์อันกินใจยิ่ง ไม่มีใครในโลกนี้ ที่จะรักตัวเรามากไปกว่าตัวเราเอง

บางบทย้ำเตือนให้เราเฝ้ามอง พิจารณาตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อได้พบตาน้ำแห่งความรัก  จากนั้นความรักก็จะปรากฎสู่ภายนอก ดวงตาจะฉายแววของความสุข คนรอบข้างจะได้รับอานิสงส์จากการปรากฏตัวของเรา

คุณนารี แซ่ตั้ง วิทยากรอีกท่านหนึ่ง ยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนกะเหรี่ยงคือแบบอย่างของคนที่มีพรหมวิหารสี่อยู่ในตัว  “ดิฉันรักคนกะเหรี่ยงมากเลย  เขาเป็นชนชาติที่อยู่กับธรรมชาติและรู้จักธรรมชาติจริงๆ เขามีสติและระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันมาก  อยู่ใกล้ๆ เขาเราจะมีความสุขไปด้วย”

และบางบทมีบทกวีอันซาบซึ้งแทรกอยู่ด้วย อย่างบทที่เด็กชายคนหนึ่งเขียนถึงแม่ที่จากไป วรรคสุดท้ายของกวีบทนั้นจบลงว่า ฉันรู้ดีว่าการสูญเสียแม่  ก็เท่ากับได้สูญเสียโลกทั้งมวลไป

ในบทท้ายๆ ติช นัท ฮันห์ เชื่อมโยงให้เห็นว่าเราทุกคนล้วนเกี่ยวพันกัน  เราตระหนักรู้ว่าบรรพบุรุษและลูกหลานทั้งหลายอยู่ในตัวเรา

รูปกาย ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ และเราไม่ได้ถูกจำกัดด้วยรูปกายนี้  หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในสายธารชีวิตของบรรพบุรุษ  ซึ่งไหลเนื่องมานานนับพันปี จวบจนปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคต  การเสื่อมสลายของรูปกายไม่มีผลต่อตัวเรา

ธรรมกาย ปัญญาญาณ ไม่ต้องพบกับการเกิดดับ  อยู่เหนือความคิดว่าตัวเองคือรูปกาย ที่ถูกแบ่งแยกออกจากสรรพสิ่งอื่นๆ ด้วยมิติกาลเวลา

สิ่งนี้คือจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า นิพพาน ใช่หรือไม่…อ่านหนังสือเล่มนี้จบจะตอบตัวเองได้


ภาพประกอบ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ