คิดอย่างไรให้สร้างสรรค์

ปรีดา เรืองวิชาธร 25 ธันวาคม 2004

ทุกวันนี้การเป็นอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันในสังคมสมัยใหม่มีแนวโน้มเป็นปัญหาหนักยิ่งขึ้นทุกทีๆ ดังจะเห็นได้ง่ายอย่างพ่อแม่กับลูกต่างก็รู้สึกพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของกันและกันได้ เพื่อนร่วมงานเพียงมีความเห็นต่างกันบ้างก็ไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้ เกิดแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย พ้นจากระดับครอบครัวและที่ทำงานเดียวกันเราก็จะเห็นกลุ่มหรือฝ่ายต่างๆ ทางสังคมขัดแย้งหรือโจมตีกันด้วยความรุนแรงเต็มไปหมด

รากเหง้าที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสังคมแตกหักหรือเปราะบางได้ง่ายนั้นย่อมมีเหตุปัจจัยมากมายประกอบกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ มาจากวิธีคิดหรือมองอย่างตัดสินตายตัวของคนในสังคม ซึ่งจำแนกแยกแยะให้เห็นเด่นๆ ได้หลายลักษณะ ดังนี้

๑) คิดหรือมองความจริงแบบเจาะจงเพียงด้านเดียวหรือเลือกมองเพียงบางด้าน

แบบนี้จะพบเสมอกับคนที่คิดและพูดถึงคนอื่นสิ่งอื่นในทำนองตีขลุมสรุปไปเลยว่า สิ่งนั้นคนนั้นดีหรือร้ายไปทั้งหมด ไม่ได้คิดหรือมองอย่างแยกแยะว่า ที่ดีหรือร้ายนั้นเป็นที่ด้านไหน การคิดลักษณะนี้ทำให้เราไม่ได้มองอะไรตามที่เป็นจริง เพราะทุกสิ่งมักมีบางด้านดีบางด้านไม่ดี

๒) คิดหรือมองความจริงแบบเจาะจงสนใจเฉพาะเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นตรงหน้าเท่านั้น

โดยมองไม่เห็นหรือมองข้ามเหตุปัจจัยที่หนุนอยู่เบื้องลึกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังเรามักจะหงุดหงิดโมโหและโต้ตอบกลับไปทันที หากมีใครสักคนที่อยู่ดีๆ เขาก้าวร้าวใส่เรา โดยเราไม่สามารถหยุดนิ่งสักพักเพื่อมองให้ลึกจนเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาแสดงออกอย่างนั้น เป็นต้น

๓) คิดหรือมองความจริงอย่างหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง

แบบนี้พบได้ง่ายมาก เช่น กรณีสามีภรรยาที่ต่างก็มองเห็นด้านร้ายของกันและกันอย่างซ้ำซากจำเจ แล้วกล่าวโจมตีกันด้วยประโยคที่คุ้นหูว่า “เธอไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่รู้จักกันมา” ซึ่งอาจเป็นเพราะต่างคาดหวังกันมากเกินไป หรือเพราะต่างก็ถูกตอกย้ำให้รู้สึกเจ็บปวดจากรอยแผลเดิม จึงทำให้มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอีกฝ่ายเลย ซึ่งเขาหรือเธออาจจะกำลังพยายามอยู่ แม้จะทำได้เพียงเล็กน้อย

การคิดหรือมองความจริงแบบนี้มาคู่กันกับการคิดหรือเลือกเพ่งสนใจเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้น โดยไม่สนใจว่าเราทั้งหลายได้ร่วมกันลงทุนสร้างเหตุปัจจัยอะไรลงไปบ้างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี การเพ่งรอเฉพาะผลดีที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ลงทุนอะไรเลยจึงเป็นคำตัดสินที่ไม่ยุติธรรมเลยไม่ว่าจะตัดสินตัวเราหรือคนอื่นก็ตาม

๔) คิดหรือมองความจริงแบบยึดมั่นตายตัวว่า สิ่งนั้นๆ เป็นจริงหรือใช้ได้ผลจริงกับทุกสถานการณ์ทุกบริบท

ดังเช่น เรามักจะยึดติดกับทางออกหรือวิธีการบางอย่างที่เคยใช้ได้ผลกับตัวเอง แต่พอลองเอาไปใช้กับคนอื่นสังคมอื่นก็กลับไม่ได้ผล อีกแง่หนึ่งก็คือ แม้มันจะเคยใช้ได้ผลในอดีตแต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุปัจจัยเปลี่ยนไป มาถึงวันนี้ก็อาจใช้ไม่ได้ผล อย่างนี้ก็มีถมไป

๕) คิดหรือมองความจริงแบบปักใจเชื่อไว้กับบางคนหรือบางกลุ่มอย่างยึดมั่น

ในขณะเดียวกันก็ด่วนปฏิเสธความจริงความเชื่อของคนอื่นกลุ่มอื่นที่เห็นหรือเชื่อต่างออกไป เป็นการผูกขาดความจริงว่า ตนกับกลุ่มของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง คนที่เห็นเป็นอื่นนั้นผิด กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนดังเช่น ความขัดแย้งของกลุ่มลัทธิเคร่งคัมภีร์ซึ่งมีในทุกศาสนาทุกความเชื่อ เป็นต้น

วิธีคิดหรือมองความจริงแบบตัดสินตายตัวทั้ง ๕ ลักษณะนี้กำลังแทรกซึมเข้าไปมีอำนาจเหนือใจเราอย่างน่ากลัว ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวด ความขัดแย้งรุนแรงกันทุกระดับของสังคม

สาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความขัดแย้งในสังคม คือ วิธีคิดอย่างตัดสินตายตัว

ดังนั้น เพื่อให้สังคมมีความสงบสันติมากขึ้น เราจำต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีมองที่ไม่นำไปสู่ความแตกหักเปราะบางได้ง่าย สามารถอยู่ร่วมกันกับความแตกต่างหลากหลายอย่างสงบสุขได้  ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงเสนอวิธีคิดหรือมองแบบแยกแยะ (วิภัชชวาท) เพื่อช่วยให้เราไม่หลงไปสู่กับดักของการยึดติดความจริงที่ไม่ครบด้าน ซึ่งเราสามารถฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดจนเกิดความคุ้นเคยใหม่ได้โดยหมั่นกำหนดรู้ให้เท่าทันความคิด (สติ) และพิจารณาในใจดังเช่น

๑) เราไม่ควรลงความเห็นว่า สิ่งนี้คนนี้ดีหรือร้ายโดยส่วนเดียว

เพราะจริงๆ แล้วย่อมมีด้านอื่นแง่อื่นที่ดีหรือร้ายบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น หากจะยุติธรรมแล้วเราควรมองสิ่งนั้นคนนั้นอย่างแยกแยะและรอบด้าน ซึ่งจะช่วยทำให้เราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นคนนั้นได้ถูกต้องมากขึ้น อย่างน้อยก็จะไม่เกิดความคลั่งไคล้ใหลหลงหรือเกลียดชังอย่างสุดโต่ง

๒) เตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า ภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมา ไม่ว่าจะดีหรือร้ายเพียงใดย่อมมีเหตุปัจจัยมากมายที่เชื่อมโยงกัน แล้วหนุนให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นมา

ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าไปผลักไสด้วยความโกรธหรือคล้อยตามด้วยแรงชื่นชม ควรยับยั้งชั่งใจเพื่อสำรวจถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย เราจะได้ไม่ตกหลุมพรางของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

๓) ก่อนจะลงความเห็นว่า คนอื่นผิดพลาดซ้ำซากไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ก็ควรชั่งใจเพื่อตรวจสอบว่า เขามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว

เขาได้พยายามไปบ้างมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญเราได้ทำอะไรบ้างไหมเพื่อช่วยทำให้เขาเปลี่ยนแปลง หรือเรายังคงเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในภาพเดิมตลอดเวลา ข้อนี้จะทำได้ดีก็ต่อเมื่อรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

๔) เผื่อใจอยู่เสมอว่า สิ่งที่เคยใช้ได้ผลจริงมาตลอด อาจจะใช้ไม่ได้บางบริบทบางสถานการณ์

ซึ่งอาจจะมีสิ่งอื่นวิธีการอื่นที่เหมาะสมกว่า รวมถึงเผื่อใจอยู่เสมอว่าสิ่งนั้นวิธีการนั้นเดิมเคยใช้ได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลแล้วก็ได้

๕) ก่อนจะปิดกั้นหรือโจมตีความเห็นต่างของผู้อื่น ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราทุกฝ่ายไม่ควรผูกขาดความจริง ว่าเรา (หรือเขา) เท่านั้นที่คิดถูกเห็นถูก

เพราะจริงหรือไม่ที่แต่ละคนแตกต่างกัน ย่อมสัมผัสรับรู้และให้คุณค่าต่อสิ่งใดๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นความจริงหรือความรู้สึกว่าดีของเขาอาจจะไม่ตรงกับเรา จะมิดีกว่าหรือหากเราเอามุมมองที่แตกต่างมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันด้วยท่าทีของผู้รักการแสวงหาความจริง แทนที่จะปิดกั้นโจมตีความเห็นต่างก่อนที่จะได้ใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน ซึ่งย่อมทำให้สังคมได้คำอธิบายหรือได้วิธีการบางอย่างอันเป็นประโยชน์แท้จริงแทนด้วยซ้ำ

ตัวอย่างการคิดแบบวิภัชชวาทหรือมองอย่างแยกแยะที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพียงเราหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ย่อมช่วยให้เปลี่ยนทัศนคติหรือความเห็นที่ผิดพลาด ทำให้เราใจกว้างมากขึ้น และทำให้เราไม่ถูกลากจูงไปตามอำนาจของความรู้สึกชอบชังได้ง่าย สังคมของเราก็จะสงบสุขน่าอยู่มากขึ้น


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน