งานชีวิต: สวัสดี ความทุกข์ยาก

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 10 มกราคม 2016

“เครียด กังวล อารมณ์เสีย นอนไม่หลับกับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น”

“สัมพันธภาพกับคนใกล้ตัวกำลังร้านฉาน ขุ่นเคืองกับท่าทีความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างไม่ชอบใจในการกระทำของอีกฝ่ายและกล่าวโทษกัน”

“คนใกล้ตัวกำลังป่วยด้วยโรคร้ายแรง หมดทั้งเงิน หมดทั้งกำลังใจ อนาคตเหมือนกำลังดับสูญ”

“เหงา เศร้า เบื่อ หมดเรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไร อยากที่จะหลับ” ฯลฯ

คำกล่าวทักทายในวัฒนธรรมตะวันตกที่เราคุ้นเคยคือ take care of yourself “ดูแลตัวเองนะ”  หากพิจารณาให้ดี หมายถึงว่าในสถานการณ์ชีวิตต่างๆ ความทุกข์ยากคือเรื่องราวชีวิตที่เข้ามา เป็นเรื่องราวที่สร้างผลกระทบ ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการรับมือ  เราสัมผัสถึงความทุกข์ทรมาน เหน็ดเหนื่อย เครียด ไร้ซึ่งเรี่ยวแรง กำลังใจ  ผลกระทบเช่นนี้บังคับทำให้เราต้องตอบโต้ หรือทำอะไรสักอย่างเพื่อจัดการกับความทุกข์ยากที่เข้ามา

การดูแลตนเองในความหมายนี้จึงหมายถึง การกระทำอะไรก็ตามเพื่อเสริมสร้างความสามารถ เพื่อฟื้นคืน หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการดูแลสุขภาพกายและใจ ดูแลสัมพันธภาพและการงานในชีวิตให้ยังคงเป็นไปด้วยดี ใช้ชีวิตและมีความสุขตามเงื่อนไข ปัจจัยแวดล้อม

เราทุกคนต่างต้องพานพบเรื่องราวความทุกข์ยาก และเราทุกคนก็ต้องสอบให้ผ่านความทุกข์ยากนั้นเพื่อที่จะอยู่เหนือและเอาชนะความทุกข์ยากนั้น เพราะตราบที่มีชีวิตเราต้องเจอเรื่องราวเช่นนี้เสมอ ความทุกข์ยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเรา แต่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงอย่างไร  ขึ้นกับการเลือกของเราเอง

เรื่องเล่า “หม้อต้มน้ำสามใบ”

มีเรื่องเล่าจิตวิทยาที่นำเสนอชีวิตของหญิงสาวนางหนึ่งที่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าในชีวิตให้พ่อของเธอฟัง  แน่นอนว่าเธอคงคาดหวังว่าพ่อของเธอ หรือการบอกเล่าเรื่องราวนี้ จะก่อเกิดปาฏิหาริย์ทำให้ความทุกข์ยากนั้นเบาบางหรือหายไป  เธออาจต้องการความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจก็ได้ แต่พ่อของเธอต้องการให้บทเรียนอะไรบางอย่าง

พ่อขอให้เธอก่อเตาตั้งหม้อต้มน้ำ ๓ ใบ  ใบแรกใส่ผลแครอท ใบที่สองใส่ไข่ดิบ ใบที่สามใส่เมล็ดกาแฟ และต้มจนน้ำเดือด  จากนั้นพ่อขอให้เธอพิจารณาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับวัตถุดิบทั้ง ๓ ชนิดในหม้อแต่ละใบ

ใบแรก  แครอทที่เคยดิบแข็ง เมื่อทดลองบีบจับ มันกลายเป็นแครอทที่สุก นิ่ม เละ  ใบที่สอง  ไข่ดิบกลายเป็นไข่สุกที่แข็ง เนื้อในของไข่แปรรูปกลายเป็นของแข็งจากไข่เหลวในช่วงดิบๆ  ใบที่สาม  เมล็ดกาแฟดูไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่น้ำที่ต้มผ่านเมล็ดกาแฟให้กลิ่นหอมของน้ำกาแฟที่ออกมา

ความร้อนก็เหมือนความทุกข์ยากที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางคนเลือกตอบสนองคล้ายผลแครอท ด้วยการกลายสภาพจากสภาพแข็ง ดิบ มาเป็นสภาพนิ่ม เละ  ความทุกข์ยากทำให้บางคนสูญสิ้นแก่นเนื้อหา กลายเป็นความเละเหลว

ขณะที่บางคนเผชิญความทุกข์ยากที่ผ่านเข้ามาคล้ายไข่ดิบ จากสภาพไข่ที่เหลว พร้อมแตก กลายเป็นความแข็งนุ่มของเนื้อไข่ที่ต้มสุก  ความทุกข์ยากที่เข้ามากลายเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง สร้างแก่นแกนเนื้อแท้ขึ้นมา

และบางคนเลือกเผชิญความทุกข์ยากเหมือนเมล็ดกาแฟที่ภายนอกอาจดูไม่เปลี่ยนแปลง แต่ให้ผลลัพธ์ผ่านสารระเหย กลิ่น และสีที่ออกมาจากตัวเมล็ด  ความทุกข์ยากอาจทำให้บางคนได้มีโอกาสแสดงคุณค่าและความสามารถออกมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้

ความทุกข์ยากที่เข้ามาเป็นเสมือนหน้ากระดาษรองรับเรื่องราวชีวิต  ท่าทีการตอบสนองของเราก็คือ เรื่องราวชีวิตที่เราเลือกขีดเขียนลงบนหน้ากระดาษชีวิตของเรา  เราอาจตอบสนองความทุกข์ยากด้วยการกระทำแบบผลแครอท แบบไข่ดิบ หรือแบบเมล็ดกาแฟ ก็ขึ้นกับการเลือกและตัดสินใจของเรา  ถ้าเราเลือกตอบสนองในทางสร้างสรรค์ ให้คุณประโยชน์ เรื่องราวชีวิตที่เราขีดเขียนให้กับตัวเราก็จะเป็นเรื่องราวสร้างสรรค์ สร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้พบเห็น  ตรงกันข้ามหากเราเลือกตอบสนองความทุกข์ยากในทางเลวร้าย เห็นแก่ตัว เรื่องราวชีวิตของเราที่เราขีดเขียนให้กับตนเอง ก็จะเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว เรื่องความเลวร้ายในการกระทำเพื่อเอาตัวรอด

และสิ่งสำคัญคือ เรื่องราวที่เราขีดเขียนลงไป ก็จะเป็นเรื่องราวของเราเอง เป็นการกระทำของเรา

ตัวช่วยสำคัญคือ ๑) การมีกัลยาณมิตร  ซึ่งก็หมายถึงการมีสัมพันธภาพที่ดี มีคุณภาพกับบุคคลที่พึงคบหา ให้ประโยชน์และเกื้อกูลในทางจิตใจ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ  และ ๒) การมีโยนิโสมนสิการ  อันหมายถึงการมีความสามารถในการเรียนรู้ คิดนึกตรึกตรองอย่างมีสติปัญญา  ทั้ง ๒ ปัจจัยเป็นทั้งตัวเสริมสร้างและตัวแก่นแกนของการรับมือความทุกข์ยากและตัวดำเนินชีวิต

บางคนสูญสิ้นแก่นเนื้อหา บางคนใช้เป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเอง บางคนก็ได้แสดงคุณค่าออกมาโดยไม่รู้ตัว

ความทุกข์ยากที่เข้ามาอาจมาในรูปของเรื่องราวสัมพันธภาพ เรื่องราวของระบบสังคม สภาพแวดล้อม และอาจมาในรูปที่กระทบสุขภาพกาย-ใจของตัวบุคคล และดูเหมือนความทุกข์ยากก็หนักหนาสาหัสเรื่อยๆ  การสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตเพื่อรับมือความทุกข์ยากจึงเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของชีวิต  เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ ตั้งคำถามกับตนเองว่า ๑) เราคือใคร  ๒) เราอยากให้ชีวิตเป็นเช่นใด  และ ๓) เราควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้ชีวิตที่พึงปรารถนาตามข้อ ๒)

ปราศจากการตั้งคำถามกับตนเอง ทำความเข้าใจตนเอง เส้นทางชีวิตที่เป็นได้ของเราก็คือ ชีวิตที่เดินไปโดยไม่รู้คุณค่าชีวิตของตนเอง ไม่รู้คุณค่าชีวิตของคนอื่น  เมื่อไม่รู้คุณค่าชีวิต เส้นทางชีวิตที่เป็นได้ก็คือ การเบียดเบียน

สวัสดี… ความทุกข์ยาก


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน