งานชีวิต: อยู่รอด และเติบโต

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 9 สิงหาคม 2015

หญิงสาวอายุราว ๒๖ ปี กำลังร้องไห้ขณะบอกเล่าเรื่องราวทุกข์ใจที่เธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองกับสามี เธอมีลูกติดจากสามีเก่าและตอนนี้เธอต้องฝากลูกคนโตให้แม่ช่วยเลี้ยง ซึ่งแม่ของเธอก็มีหลานอีก ๒ คนเป็นลูกของพี่สาวซึ่งฝากให้แม่เธอเลี้ยงเช่นกัน โดยที่แม่ของเธออาศัยวัดและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ พร้อมหลาน ๓ คน  และเมื่อถามเธอว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่เธอจะรับลูกคนโตมาเลี้ยงดู เธอบอกเพียงว่าไม่สะดวก  และเมื่อถามถึงพี่สาว เธอรู้เพียงว่าพี่สาวทำงานโรงงานและอยู่กินกับสามีคนที่สาม และพี่สาวเองก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรนัก นอกจากเอาลูกมาฝากไว้  แล้วเธอก็ร้องไห้สงสารแม่ สงสารตนเอง

ในวาระโอกาสที่ผู้เขียนมีโอกาสสวมหมวกผู้ให้คำปรึษา เรื่องราวของหญิงสาวรบกวนจิตใจผู้เขียนอยู่มาก สิ่งที่รบกวนคือ ความเชื่อมั่นศรัทธาว่า สำหรับคนยากจน คนด้อยโอกาส อะไรคือหนทางการเติบโตของพวกเขา  เส้นทางการเรียนรู้ การเข้าใจตนเอง การเข้าใจชีวิตของตนเอง รวมถึงการมีความตระหนักสำนึกรู้ในตนเองของกลุ่มคนที่ติดขัดเรื่องปากท้องควรเป็นเช่นใด  พวกเขาควรได้รับการเติมเต็มเรื่องปากท้องก่อนที่จะมาพูดเรื่องการเข้าใจชีวิต การเข้าใจตนเอง  หรือความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องนำ ๒ เรื่องมาเป็นเงื่อนไขต่อกัน

ภายหลังการปรึกษาหารือกับเพื่อน และตรึกตรอง  ผู้เขียนพบว่าแนวทางที่พึงเป็นไป คือ ความยากไร้ทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ไม่น่าจะเป็นเหตุให้โอกาสการเติบโตทางจิตสำนึกของการเรียนรู้ เข้าใจตนเองต้องถูกปิดกั้นไป  โจทย์คือ ทำอย่างไรที่จะไขประตูด้านการเติบโตในมิติด้านการเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิต การมีความตระหนักรู้ในตนเอง และการกระทำให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดบางประการให้เปิดประตูภายในใจขึ้นได้  ทำอย่างไรให้พวกเขาตื่นและสามารถเรียนรู้มิติชีวิตที่ไม่ยึดติดแค่เรื่องการอยู่รอด แต่เข้าใจ เรียนรู้ตนเอง เพื่อการดำเนินชีวิตในด้านการเติบโตภายในได้

พักความคิดและจิตใจมาอ่านข้อมูลและข่าวสารในเฟสบุ๊ค  ข่าวคราวเรื่องความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่  แรงกดดันของบรรษัทข้ามชาติ นักการเมือง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะผลักดันการเพาะปลูกพืชพันธ์ดัดแปลงพันธุกรรม GMO  ทำให้ผู้เขียนเข้าใจชัดเจนขึ้นว่าฐานะและโอกาสทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายถึงเครื่องบ่งชี้ความพร้อมในการเรียนรู้ตนเอง การเข้าใจตนเอง การเข้าใจในชีวิต รวมถึงการมีความตระหนักรู้ในชีวิต ในจุดมุ่งหมายการมีชีวิต

ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา กับการเรียนรู้เข้าใจเพื่อการมีความตระหนักรู้ในตนเอง ในชีวิตและการกระทำ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเงื่อนไขต่อกัน  แต่อยู่ที่การปิด เปิดของระบบความเชื่อที่กำกับในเราแต่ละคน  ความเชื่อสำคัญคือ “การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ  แม้สภาพแวดล้อมภายนอกจะมีข้อจำกัด การเปลี่ยนแปลงภายในก็ยังเกิดขึ้นได้”  และจากการเปลี่ยนแปลงภายในก็จะเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่ตามมา

สำหรับหญิงสาวข้างต้น ปัญหาความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ก็ยังต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขต่อไป  พร้อมกับการเรียนรู้ที่จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ด้านความเข้าใจและตระหนักรู้ในคุณค่าตนเอง ก็เป็นงานสำคัญที่พึงช่วยเหลือเพื่อให้เธอมีทุนชีวิต มีทรัพยากรภายในเป็นรากฐานเพื่อการดำเนินชีวิตต่อไป  เธออาจได้รับการช่วยเหลือทางสังคมสงเคราะห์ แต่หากเธอไม่ได้เรียนรู้เข้าใจตนเอง ปัญหานี้ก็อาจเวียนซ้ำอีก

ด้านหนึ่งของชีวิต เราต้องดูแลชีวิตเพื่ออยู่รอดทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม  และอีกด้านที่สำคัญเช่นกันคือ ด้านของการมีชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมาย  กล่าวโดยรวมเราต้องอาศัยการมีสติปัญญาในด้านการคิด ด้านอารมณ์ความรู้สึก และด้านการใช้ชีวิต  การมีชีวิตจะรวมความหมายของสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึก และสิ่งที่เราเป็น  การสร้างสรรค์ความฉลาดในการใช้ชีวิตจึงเป็นงานสำคัญที่เราต้องบำรุงรักษา เพราะความฉลาดในด้านนี้ไม่ได้ขึ้นกับฐานะเศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษา  แบบฝึกหัดเบื้องต้นของการสร้างสรรค์ความฉลาดในการใช้ชีวิต จึงเป็นหนทางการเติบโตที่เราสามารถเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ กับตนเอง คือการตั้งคำถาม “ทำไม” กับตนเอง

คำถามที่เราถามตนเอง คือจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่จะตรวจสอบตนเอง  เกิดอะไรขึ้นกับชีวิต กับการงาน กับสัมพันธภาพของตัวเรา  อะไร อย่างไรที่มันเป็นไป  เพราะอะไร ทำไมจึงนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นนี้  การตั้งคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่ดี คำถามที่ถูกต้อง คือจุดเริ่มของการนำพาชีวิตไปสู่ทิศทางชีวิตที่ปรารถนา  เพราะเมื่อเราตั้งคำถามผิด คำตอบที่ได้ก็จะนำเราหันเหไปอีกทาง  แต่นั่นก็เป็นบทเรียนชีวิต และเราสามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบชีวิตได้ตลอดเวลา

แม้สภาพแวดล้อมภายนอกจะมีข้อจำกัด การเปลี่ยนแปลงภายในก็ยังเกิดขึ้นได้

และจากคำถามที่เราตรวจสอบตนเอง ก็จะนำเราไปสู่การค้นพบและเรียนรู้ว่าอาจมีอะไรบางที่ไม่ถูกต้องซ่อนอยู่ เช่น ความเชื่อบางประการที่เรายึดถือผิดๆ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  และการค้นพบความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน ก็จะนำเราไปสู่การสร้างกรอบความเชื่อที่เหมาะสม สอดคล้องกับความจริงและความเป็นไปของชีวิตมากกว่า  เพราะเราทุกคนต่างมีขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ ขุมทรัพย์ในรูปของความทุกข์ยากในชีวิต ความผิดพลาด ความยากลำบากที่เราได้ประสบ  สิ่งเหล่านี้ซ่อนบทเรียนสำคัญ ซ่อนความตื่นรู้ ความตระหนักรู้  รอเพียงการตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อไขปริศนาในขุมทรัพย์เหล่านี้

ปัญหาคือ อย่าให้ความทุกข์ ภาวะความโลภ โกรธ หลง เข้ามาบดบังความสามารถในการตั้งคำถามตรวจสอบตนเอง ปิดกั้นการเรียนรู้ตนเอง  ชีวิตเราแต่ละคนมีความหมายมากกว่าแค่เรื่องการอยู่รอดทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม  สิ่งสำคัญคือ การมีชีวิตที่มีคุณค่าและสุขสันติภายใน และกระบวนการเรียนรู้ก็เพื่อนำไปสู่ความหมายชีวิตเช่นนี้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน