งานศพออกแบบได้

อมรรัตน์ พุฒเจริญ 24 กรกฎาคม 2016

งานศพ…เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตาย และแสดงถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เมื่อมีใครทุกข์ก็มาร่วมให้กำลังใจ และร่วมแสดงความเสียใจ นี่คือเหตุผลที่ใครต่อใครตอบกันเมื่อถามถึงเรื่องงานศพ

งานศพที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน คืองานแสดงออกถึงความโศกเศร้า เสียใจ หรือบางงานก็แสดงฐานะหน้าตาของเจ้าภาพ ผู้ไปร่วมงานบางท่านก็ไปร่วมไว้อาลัย แสดงความเสียใจ ให้กำลังใจ บ้างก็ถือเป็นโอกาสนัดพบเพื่อนฝูงที่ไม่ค่อยได้เจอ พระสวดก็ไม่เข้าใจ เลยใช้เวลานั้นเป็นช่วงพูดคุย สนทนาระหว่างมิตรสหาย หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมก็รับประทานอาหารหรือรับของที่ระลึกและแยกย้ายกันไป นี่คือภาพงานศพที่เราคุ้นเคย

เช่นนั้น เราลองมาดูงานศพอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจเป็นงานศพทางเลือกสำหรับหลายๆ ครอบครัว….

ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายพุทธิกาได้มีโอกาสร่วมออกแบบและจัดงานศพงานหนึ่ง ซึ่งผู้ตายเคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา และเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านวนเกษตร * “ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม”

ในการออกแบบ เริ่มจากการพูดคุยกับเจ้าภาพทำให้ทราบว่า ผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นผู้ที่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากธรรมชาติ จากการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว การศึกษาดูงาน พบปะผู้คน ได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กับปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้นำเกษตรกร  แม้กระทั่งการเรียนรู้ตัวเองจากปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาด หรือความล้มเหลว  นอกจากเป็นผู้ที่ชอบการเรียนรู้แล้ว ผู้ใหญ่ยังก่อตั้ง “มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม” ในพื้นที่ของตนเองให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้  ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคมได้สร้างการเรียนรู้ให้กับคนนับแสนราย

งานศพครั้งนี้ทางครอบครัวผู้ใหญ่และเครือข่ายพุทธิกา จึงใช้โอกาสนี้ให้เป็นงานที่สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้มาร่วมงาน งานนี้จึงแตกต่างจากงานทั่วไปที่พวกเราคุ้นเคย ทั้งสถานที่จัดงานที่ทั่วไปมักจัดที่วัด แต่งานนี้เลือกจัดที่บ้านผู้ใหญ่ การออกแบบ การจัดสภาพแวดล้อมที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ผลกินได้ พืชสมุนไพร พืชสวนครัว ระหว่างทางก็จะมีภาพและข้อความต่างๆ ที่สื่อสารให้เราทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ทำอะไรมาบ้าง และเคยสร้างคุณประโยชน์อะไรไว้ให้กับคนรุ่นหลัง สลับกับข้อธรรมหรือพุทธพจน์ให้ผู้มาร่วมงานได้พึงตระหนักถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและระลึกถึงความตายอยู่เนืองๆ

เป็นงานศพอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจเป็นทางเลือกสำหรับหลายๆ ครอบครัว

เมื่อมาถึงโต๊ะลงทะเบียน จะมีสมุดเล่มโตให้เราได้เขียนคำไว้อาลัยถึงผู้ใหญ่ จากนั้นก็จะได้รับหนังสือพร้อมไหมแดง (ตามธรรมเนียมจีน เนื่องจากผู้ตายมีเชื้อสายจีนจากพ่อ) โดยปกติตามงานคนไทยเชื้อสายจีนเรามักจะได้รับไหมแดงพร้อมลูกอม 2-3 เม็ด แต่งานนี้เราได้ไหมแดงมาพร้อมกับการ์ดขนาดเล็กที่เขียนข้อธรรมและคำพูดที่ผู้ตายมักพูดเสมอๆ เช่น “วนเกษตร ทำให้คนเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเราเชื่อว่าพึ่งตัวเองได้ ทำให้เรามีเสรีภาพทางความคิด ไม่กลัวถูกใครปฏิเสธ”

พวงหรีด ก็เป็นพวงหรีดที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น พัดลม ผ้าห่ม ถาดขนาดใหญ่ ชุดจาน ชาม ช้อนส้อม เนื่องจากทางเจ้าภาพได้แจ้งข่าวถึงญาติมิตรที่มาร่วมงานว่า พวงหรีดที่นำมาแสดงความไว้อาลัย จะมอบให้กับโรงพยาบาลหรือโรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ในส่วนของพิธีกรรม โดยปกติจะนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม แต่งานนี้มีกิจกรรมทางพุทธให้ได้เจริญธรรม เมื่อย่ำค่ำลงแขกเหรื่อเริ่มทยอยมา ทางเจ้าภาพก็เชื้อเชิญให้แขกร่วมสวดมนต์ ทำวัตรเย็นร่วมกัน หลังการทำวัตรเย็นก็เป็นการนั่งสมาธิเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ซึ่งนอกจากการอุทิศส่วนกุศลแล้ว ทั้งเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานยังได้มีโอกาสสงบจิตใจและเรียนรู้ชีวิตและความตายไปพร้อมๆ กันด้วย เนื่องจากบทสวดบางบทเป็นการเชื้อเชิญให้เราพิจารณาถึงร่างกาย สังขาร และความตาย

หลังการทำวัตรเย็น ทางเจ้าภาพได้เชิญบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยหรือเคยร่วมงานกับผู้ตาย มาพูดถึงผู้ตายในมุมมองที่ตนรู้จักหรือทำงานร่วมกันมา ดังนั้นในแต่ละคืนก็จะมีคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาพูดถึงผู้ตาย ทำให้แขกเหรื่อที่มาร่วมงานได้รู้จักผู้ตายในมิติอื่นๆ ที่ตนไม่เคยรู้จักมาก่อน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการจัดงานศพที่เรียบง่าย สมถะ ทั้งเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานนอกจากได้รำลึกถึงผู้วายชนม์แล้ว ยังเป็นโอกาสได้เจริญทางธรรม หรือที่ผู้เขียนมักคุ้นชินว่า “เรียบง่าย ได้ปัญญา”  ทำให้ผู้เขียนคิดว่าคงจะดีไม่น้อยหากการจัดหรือไปร่วมงานศพแล้วเราเรียนรู้จากผู้ที่จากไป โดยเฉพาะการเรียนรู้มรณานุสติ

และคงจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากเรามีโอกาสได้ออกแบบงานศพของตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ เพราะเมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ไม่เป็นภาระหรือสร้างความขัดแย้งในครอบครัวที่ต้องถกเถียงกันว่าจะจัดงานแบบไหน สวดที่ใด วัดไหน กี่คืน เก็บไว้นานเท่าไหร่ เผาเลยหรือไม่ ของชำร่วยจะเป็นอะไร อัฐิจะทำอย่างไร เงินบริจาคจะจัดการอย่างไร นี่เป็นความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในยามที่บุคคลในครอบครัวเสียชีวิตลง ก็อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านได้เริ่มคิดและออกแบบงานศพของตัวเองกัน


* ระบบวนเกษตร หมายถึง การทำการเกษตรในพื้นที่ป่า เช่น การปลูกพืชเกษตรแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ การนำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า การเก็บผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการใช้พื้นที่ป่าทำการเพาะปลูกในบางช่วงเวลาสลับกับการปล่อยให้ฟื้นคืนสภาพกลับไปเป็นป่า รวมถึงการสร้างระบบเกษตรให้มีลักษณะเลียนแบบระบบนิเวศป่าธรรมชาติ (ที่มา: www.sathai.org)

อมรรัตน์ พุฒเจริญ

ผู้เขียน: อมรรัตน์ พุฒเจริญ

ข้าพเจ้าไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ แต่เมื่อใดที่มีแรงบันดาลใจ งานเขียนจะบังเกิด