จัดระเบียบอารมณ์

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 31 มกราคม 2004

เด็กอายุ 7 ขวบคนหนึ่งกินขนมเค้กที่เป็นของสุดโปรดด้วยการปาดเอาครีมไปไว้ที่ขอบจาน เมื่อผู้ใหญ่ถามว่าไม่ชอบกินครีมหรือ ก็ได้รับคำตอบที่ผิดคาดว่า “ชอบที่สุดเลยค่ะ” และคำตอบต่อมาถึงสาเหตุที่เอาของชอบกันออกไว้กินทีหลัง ก็ยิ่งทำให้ผู้ฟังประหลาดใจเพราะคาดไม่ถึง  คือ “กินของไม่ชอบก่อน แล้วค่อยกินของชอบ  มะม่า (แม่) บอกว่าทุกข์ก่อนสุขทีหลังค่ะ จะได้สบาย”  เมื่อสอบถามจากผู้ใหญ่ (ครู พ่อแม่เด็ก) ซึ่งใกล้ชิดเด็กหญิงตัวน้อย ก็พบว่า เธอจัดการกับชีวิตตามที่ได้รับการอบรมขัดเกลามา เช่น  ทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วจึงไปเล่นทีหลัง หรือทำกิจส่วนตัวและส่วนรวมที่พ่อแม่มอบหมายให้เรียบร้อยแล้วจึงจะไปเล่น  แม้พฤติกรรมตรงนี้จะไม่แตกต่างไปจากเด็กจำนวนหนึ่ง ที่พ่อแม่เข้มงวดเรื่องการเรียน แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ เด็กจัดระเบียบชีวิตด้วยความสุขและความพอใจ มิได้รู้สึกว่าถูกบังคับ เพราะมีประสบการณ์ได้เรียนรู้คำสั่งสอนด้วยการทดลองปฏิบัติ และเห็นจริงกับสิ่งที่พ่อแม่สอน จนกระทั่งกลายเป็นความรู้สึกนึกคิดของเด็กเอง  ที่สำคัญคือพ่อแม่ได้สอนลูกให้รู้จักสุข-ทุกข์อย่างง่ายๆ ตามวัยของเด็ก และสอนเด็กให้รู้จักจัดระเบียบและเรียนรู้กับอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม

เมื่อมองย้อนกลับไปในสังคมปัจจุบัน คำถามที่เกิดขึ้นคือ จะมีเด็กสักกี่คนที่โชคดีมีผู้ใหญ่คอยอบรมสั่งสอน จัดวิถีชีวิตให้เกิดการเรียนรู้ในการจัดระเบียบอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสมตามวัย เพื่อให้เป็นภูมิคุ้มกันใจของเขาในการที่จะเผชิญหน้ากับชีวิตและโลกแห่งความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือความผันแปร ไม่คงที่ (อนิจจัง) เป็นสัจธรรม  ต่อให้เป็นลูกอภิมหาเศรษฐีหรือผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในโลก ทุกคนล้วนต้องประสบพบกับสิ่งต่างๆ มากมาย ที่นำไปสู่อารมณ์หลากหลายที่ให้ทั้งความรู้สึกทุกข์-สุข (รัก เกลียด กลัว เบื่อเซ็ง หดหู่ ฟุ้งซ่าน สับสน ลังเล ฯลฯ) ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ตราบเท่าที่บุคคลยังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ โดยยังไม่ต้องกล่าวไปถึงสิ่งที่ไม่ว่าเขาหรือใครก็ไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปได้ดังใจ คือความแก่ ความเจ็บและความตาย หรือความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนนี้ เด็กจึงต้องได้รับการอบรมขัดเกลาให้เรียนรู้ถึงการจัดระเบียบอารมณ์ของตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม และอย่างเท่าทัน คือมีสติเป็นตัวฉุดรั้งอารมณ์ในเบื้องต้น และมีประสบการณ์ของการฝึกฝนให้รู้จักความอดทนอดกลั้นทั้งในสิ่งที่ขัดใจและสิ่งที่พอใจ จนกระทั่งสามารถเหนี่ยวรั้งมิให้อารมณ์ความรู้สึกนั้น ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นๆ เช่น ตามไปยิงแฟนสาวที่ปฏิเสธรัก กระโดดตึกเมื่อผิดหวังการเรียน ลากปืนไปยิงคู่อริ หรือเอาตัวเข้าแลกกับความคลั่งไคล้ดาราคนโปรด ติดเกมส์ ติดการเที่ยวกลางคืนจนอดใจไม่ได้ เสียการเรียนการงาน ฯลฯ เพราะจัดระเบียบอารมณ์สุขทุกข์ของตนเองให้เหมาะสมไม่ได้

ต่อให้เป็นลูกอภิมหาเศรษฐีหรือผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในโลก ทุกคนล้วนต้องประสบกับสิ่งที่นำไปสู่ความรู้สึกทุกข์-สุขมากมายซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา

ผลการสำรวจของงานวิจัยต่างๆ ยืนยันแนวโน้มว่าสังคมของเรามีเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถน้อยในการจัดระเบียบอารมณ์ของตน เช่น เอแบคโพลระบุว่า มีนักเรียนชายถึงร้อยละ 59.5 ที่ตอบว่ามีความคิดใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาไม่ว่ากับครู อาจารย์ เพื่อน และต่อนักเรียนต่างสถาบัน และมีนักเรียนจำนวนถึงร้อยละ 49.7 ของผู้ตอบคำถามที่บอกว่า ไม่มั่นใจว่าจะควบคุมอารมณ์ของตนเองได้เมื่อรู้สึกโกรธแค้น  แน่นอนว่า การควบคุมอารมณ์ไม่ได้ของวัยรุ่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัย แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือในครอบครัวและในสังคมปัจจุบันนี้ เราได้ทอดทิ้งกระบวนการเรียนรู้ของการอบรมขัดเกลาให้รู้จักการจัดระเบียบอารมณ์ของความทุกข์และความสุขอย่างเหมาะสม หากแต่ปล่อยให้ระเบิดอารมณ์สุข-ทุกข์กันแบบดิบๆ เช่น ทุกข์ใจเพราะใคร-อะไร ก็ตามไปฆ่าหรือไม่ก็ฆ่าตัวเอง หรือมีความสุขแบบสั้นๆ แล้วก็เบื่อง่าย กระสับกระส่ายต้องหาความสุขที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ฯลฯ

การละเลยและไม่เข้าใจในเรื่องสำคัญดังกล่าว จึงมักปรากฏในรายงานข่าวว่า พ่อแม่หลายคนร้องไห้โศกเศร้ากับโศกนาฎกรรม เพราะไม่อาจเข้าใจได้ว่า ทำไมลูกจึงฆ่าตัวตายอย่างง่ายๆ เนื่องจากตนเองเลี้ยงดูลูกมาอย่างให้ความอบอุ่น ความรักความเข้าใจ และให้เวลาที่ใกล้ชิดกับลูกอย่างเต็มที่  แน่นอนว่าความรัก ความเข้าใจคือพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ลูกต้องการจากพ่อแม่ แต่สิ่งที่เขาต้องการมากพอกันคือ มีโอกาสทำความเข้าใจชีวิตและโลกผ่านพ่อแม่อย่างเหมาะสมกับวัยด้วย เพราะความต้องการของเด็กนั้นพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามวัย จากความต้องการแบบง่ายๆ เช่น ได้ของเล่น ได้กินของชอบ ได้เที่ยวสนุกสนาน ฯลฯ ไปสู่ความต้องการที่ซับซ้อนเป็นนามธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้องการความยอมรับของผู้อื่น อยากมีชื่อเสียง อยากประสบความสำเร็จ อยากเด่นดัง ฯลฯ  ซึ่งยากที่จะสมหวังได้ตลอดเวลา เพราะสังคมปัจจุบันได้ตีวง “ความสำเร็จ” ความมีชื่อเสียง ไว้อย่างหยาบและคับแคบ เช่น ต้องมีเงินมากๆ, ต้องเป็นดารา ต้องหล่อหรือสวยตามแบบฉบับมาตรฐาน, ต้องเป็นหมอ-วิศวกรหรือต้องเรียนเก่งในสายสามัญ (ไม่ใช่พาณิชย์ หรือช่างกล) ฯลฯ

มีสติเป็นตัวฉุดรั้งอารมณ์ในเบื้องต้น และมีประสบการณ์ของการฝึกฝนให้รู้จักความอดทนอดกลั้นทั้งในสิ่งที่ขัดใจและสิ่งที่พอใจ

ยิ่งกระแสสังคมปัจจุบันโหมกระหน่ำค่านิยมแบบคับแคบนี้มาก พร้อมกับปลุกเร้าการแข่งขันในความสำเร็จหรือการยอมรับแบบฉาบฉวยนี้มากเท่าไร เด็กวัยรุ่นที่จะตกเกณฑ์ก็ยิ่งมีมากขึ้น เหลือพื้นที่ให้แก่ความสำเร็จหรือการยอมรับในทางอื่นๆ ลดน้อย โดยเฉพาะความสำเร็จและความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้มาโดยง่ายแต่มีคุณค่าความหมายยิ่งใหญ่ในทางจรรโลงสังคม และไม่ว่าใครก็ทำได้โดยไม่ยากเย็น ไม่จำกัดศักยภาพ ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดี เช่น การทำความดี การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะแก่ผู้ด้อยโอกาสหรือมีความทุกข์ยากกว่าตน ความตระหนักรู้ในคุณค่าความหมายของตนเองก็ยิ่งหดหายไปจากคนในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนรู้จักโลก

ดังนั้น การให้ความรักความเข้าใจยังไม่เพียงพอ หากจะต้องให้ “ปัญญา” ในการเข้าใจความจริงของโลกอย่างเหมาะสมแก่เด็กแต่ละวัยด้วย เพื่อฝึกหัดขัดเกลาให้บุคคลรู้จักการควบคุมและจัดระเบียบอารมณ์กับความผิดหวัง-สมหวัง กับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านรุนแรงตามวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเข้าใจและเท่าทันกระแสสังคมที่อยู่รอบตัว ที่คอยปลุกเร้าบุคคลให้ตกไปสู่หลุมอารมณ์ ที่ยากจะปีนป่ายขึ้นมาได้หากไม่เคยได้รับการฝึกหัดขัดเกลาให้จัดระเบียบอารมณ์มาก่อนเลยในชีวิต ดังตัวอย่างของอารมณ์”ชั่ววูบ”ที่มีให้รับรู้ทางสื่อต่างๆ เกือบทุกวันในสังคมปัจจุบัน


ภาพประกอบ