จากความขัดแย้งสู่ความสามัคคี

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 6 มกราคม 2008

สมหวังเป็นนักธุรกิจ ซึ่งนอกเหนือจากงานธุรกิจส่วนตัวแล้ว สมหวังและเพื่อนๆ มองว่าการทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ตนควรมีบทบาทและทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมได้ พวกเขาจึงได้รวมกลุ่มเป็นสมาคมเพื่อทำงานสาธารณกุศลและทำงานมาได้ร่วม ๒-๓ ปี ภายใต้การเสียสละ การสนับสนุนมากน้อยไปตามปัจจัยแต่ละบุคคล  ในช่วงระหว่างนั้น ความขัดแย้ง ความไม่พอใจ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานก็เกิดขึ้นด้วย พร้อมกับสมาคมก็มีกิจกรรม มีความสำเร็จอยู่ด้วย  มุมมองความผิดหวัง ความพอใจต่อสมาคมจึงอาจแตกต่างไปตามทัศนะของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง

องค์กรนี้มีความสามัคคีหรือไม่ ภาพที่ปรากฏของคนทั่วไป คือ ดูคล้ายองค์กรนี้มีความสามัคคีกันดี แต่สำหรับคนในองค์กร บางคนรู้สึกเครียด อึดอัด โกรธกับความเป็นไป กับท่าทีไม่เข้าท่าของเพื่อนร่วมงาน บางคนก็ปล่อยวางทอดธุระ บางคนก็รู้สึกว่านี่คือสภาพทั่วไปของการทำงานเช่นนี้ บางคนมองในฐานะเกมชีวิตที่ค่อยๆ ขับเคลื่อนไป บางคนคิดถอนตัวและบางคนก็เลือกที่จะนิ่งงัน  ยามเมื่อเราต้องพบกับสิ่งไม่ชอบใจ เรื่องราวที่ผิดหวัง มากหรือน้อยก็ตาม ภาวะไร้สันติสุขในใจก็เกิดขึ้น และหากเป็นเรื่องราว บุคคล หรือองค์กรที่มีความหมายกับตัวเรา ภาวะไร้สันติสุขก็ยิ่งรุนแรง

หากเราเป็นสมหวัง เราจะเลือกทางออกกับเรื่องนี้อย่างไร  ๑) ประสานความขัดแย้งเพื่อรักษาสภาพความเป็นไป  เพื่อว่าอาจมีสิ่งดีเกิดขึ้น โดยยอมเสียสละทรัพยากรส่วนตัว เช่น เวลา กำลังทรัพย์ เรี่ยวแรง รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้องค์กรอยู่รอดต่อไป  ภาวะนี้อาจเปรียบได้กับกระแสน้ำในแม่น้ำลำคลองที่ไหลเลื่อนไปตามกระแสน้ำ มีความพยายามที่จะกัดเซาะชายฝั่ง ไหลไปตามสายธารเล็กๆ แต่สุดท้ายก็ไหลรวมไปปลายทางของกระแสส่วนใหญ่  ๒) นิ่งงัน รอคอยการเปลี่ยนแปลง  การขับเคลื่อนจากเหตุปัจจัยภายนอกที่เข้ามา จากนั้นก็ตอบสนองไปตามสามัญสำนึก  ภาวะนี้อาจเปรียบเทียบกับน้ำในบ่อที่รอคอยการสูบหรือเติมเพื่อให้ระดับน้ำสูงขึ้นหรือลดลงก็ได้  ๓) การถอนตัว  เมื่อถึงภาวะที่ความคับข้อง ความอึดอัดรุนแรงเกินกว่าจะรับ การปฏิเสธด้วยการถอนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยว ก็เป็นการตอบโต้อีกลักษณะด้วยความรู้สึกโกรธ ผิดหวัง เสียใจ  ภาวะนี้ดูคล้ายน้ำกับน้ำมันที่ไม่สามารถประสานอยู่ร่วมกันได้

เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้องค์กรซึ่งสมาชิกแต่ละคนก็เป็นคนดี และต่างมีเจตนาดีต่อสังคมกลับไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งหรือเมฆหมอกตรงหน้าได้  คำอธิบายที่เป็นคำตอบเบื้องต้นตรงนี้ คือ ความไม่ชัดเจน ไม่สอดคล้องในแก่นแกนหรือหลักการบางประการของการอยู่ร่วมกัน เช่น เป้าหมาย ทิศทาง ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ฯลฯ  องค์กรเปรียบได้กับหน่วยชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องการอาหาร อากาศ การออกกำลังกาย และอุดมคติ  ชีวิตต้องการความหมาย ความมีคุณค่าฉันใด องค์กรก็ต้องการอุดมคติเพื่อการดำรงอยู่อย่างมีความหมายเช่นกัน  องค์กรมีความหมายก็ต่อเมื่อองค์กรได้ทำหน้าที่ ได้ทำภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  อุดมคติขององค์กรจึงเป็นสิ่งที่สมาชิกมีภาพรวมของความปรารถนา การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายและทิศทางที่องค์กรมุ่งหวัง

อาหารขององค์กร คือ ทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงให้องค์กรมีชีวิตและทำงานได้  ผลตอบแทนทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สมาชิกในองค์กรได้มาซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพในชีวิตและความเป็นอยู่  หากว่าความต้องการพื้นฐานยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร การมุ่งมั่นเพื่อความต้องการอื่นๆ ในระดับที่สูงกว่าก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้  อากาศขององค์กรเปรียบได้กับความรู้สึกซึ่งจับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด  ยามที่แขนซ้ายเจ็บ ล้า แขนขวาก็ประคองช่วยเหลือ หรือเมื่อเราเจ็บป่วย กลุ้มใจ ร่างกายทุกส่วนก็เข้าช่วยเหลือโดยไม่เกี่ยงงอน ไม่แบ่งแยก เพื่อให้ร่างกายคืนสู่ภาวะปกติ  ความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนำมาซึ่งความรู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา  การงานง่ายๆ ที่สมาชิกในองค์กรมอบอากาศที่สดชื่นให้แก่กันและกันได้ ก็คือ การรับฟังซึ่งกันและกัน  และการที่สมาชิกต่างมีบทบาท หน้าที่ และมีโอกาสแสดงศักยภาพก็คือ การออกกำลังกายขององค์กร ซึ่งก็คือ การมีโอกาสได้เรียนรู้ ทดลองวิจัยนั่นเอง

ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มิอาจหลีกเลี่ยง แต่ป้องกันได้  แง่หนึ่ง ความขัดแย้งคือการเปลี่ยนผ่านที่สามารถไปสู่การล่มสลายแตกหัก พร้อมกับที่ความขัดแย้งก็เป็นโอกาสของการเปลี่ยนผ่านที่สามารถไปสู่การสร้างสรรค์ เรียนรู้ และเติบโตต่อไป  จุดหักเหของความขัดแย้งที่จะไหลเลื่อนไปสู่การแตกร้าว จนกลายเป็นความรุนแรง หรือการหันไปสู่ภาวการณ์สร้างสรรค์ เติบโต จึงขึ้นกับสมาชิกในองค์กรว่า มีความพร้อมทางสติปัญญาในการมีวิสัยทัศน์ มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกันเพียงใด มีความพร้อมด้านจิตใจในการเรียนรู้ อดทนต่อความผิดพลาดและให้อภัยต่อกันได้หรือไม่  เท่าๆ กับที่มีความรู้ ทักษะมากพอหรือไม่ในเรื่องระบบการจัดการ การบริหารงานเพื่อให้องค์กรมีผลงานที่สังคมชื่นชอบ  และมีกระบวนการทำงานที่คนทำงานมีความสุข และเติบโต

เรื่องง่ายๆ ที่สมาชิกในองค์กรมอบให้แก่กันได้ ก็คือ การรับฟังซึ่งกันและกัน

ภาวะไร้สันติสุขในจิตใจทำให้ดวงตามืดบอด อคติเข้ามาบดบัง และตัวตนก็เป็นอุปสรรคขัดขวางให้เราติดจมกับความไร้สุขในจิตใจ เพราะไม่สามารถปล่อยวางการถือโทษและมานะที่ยึดถือตัวตนแบบผิดๆ  และเพราะชีวิต คือความสัมพันธ์ที่เราไม่อาจแยกขาดจากผู้อื่น การทำงานในองค์กรจึงเป็นเวทีอันยิ่งใหญ่ของการปฏิบัติธรรม เป็นเวทีแห่งการทดสอบธรรมะในตัวเราว่า เราจะก้าวข้ามอุปสรรคและความโง่เขลาในตัวเราได้หรือไม่ ยามเมื่อเจอบททดสอบหนักๆ กับชีวิตในองค์กร ในสังคมเช่นนี้  ง่ายเกินไปนักหากเราภาคภูมิใจกับการปฏิบัติธรรมเพียงคนเดียว แต่สอบตกกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น

วันนี้เราอาจล้ม และต้องล่าถอย แต่วันพรุ่งนี้ก็ยังรอคอยให้เราได้เรียนรู้ ได้เติบโตในทางจิตใจและก้าวหน้าในธรรมะต่อไป  สิ่งสำคัญคือก้าวแรก อันนำพาซึ่งก้าวต่อไปสู่วันพรุ่งนี้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน