จากความเห็นแก่ตัวสู่รักที่แท้กับตนเอง : จากเป้าหมายสู่วิถีทาง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 28 ตุลาคม 2007

ในช่วงเวลาที่เราหลงรักใครสักคน แม้คนนั้นจะมีพฤติกรรมที่ชั่วร้ายเพียงใด มีพันธะครอบครัวหรือเงื่อนไขใดๆ ก็ตาม อาการหลงรักที่รุมเร้าจิตใจ ทำให้เรามีความปรารถนาที่รุนแรงอยากได้คนที่เราลุ่มหลงมาครอบครอง  เราสามารถสรรหาเหตุผลต่างๆ เพื่อสนับสนุน หรือปลอบใจการกระทำของตนเอง สร้างความหวังแม้เพียงเล็กน้อย เพื่อหล่อเลี้ยงให้เราได้อยู่กับช่วงเวลาของความลุ่มหลงตรงนั้น  พร้อมกับที่เราก็ปฏิเสธไม่รับรู้ ไม่รับฟังสิ่งใดที่จะสั่นคลอนอาการหลงรักนั้น  เราพอใจ มีความสุขกับการได้พยายามไขว่คว้า จนกว่าจะรู้ผลแพ้ ชนะ กับความสัมพันธ์นั้น หรือจนกว่าความทุกข์จะรุนแรงจนต้องตื่นขึ้นมา

บางช่วงของชีวิต เมื่อเราหรือคนสำคัญรอบตัวของเราได้รับความไม่ยุติธรรม ถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างโหดร้าย ถูกโจรขโมยทำร้ายร่างกาย จิตใจ รวมถึงชีวิต  ความต้องการที่เกิดขึ้นคือ การแก้แค้น ตอบโต้อย่างรุนแรงและสาสม จิตใจคุกรุ่นด้วยความโกรธ เกลียด  หนทางเดียวที่จะลดทอนความทุกข์ในใจ คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน  และหากเราทำไม่ได้ หรือความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุใดก็ตาม จิตใจเราก็ไม่อาจปล่อยวางความโกรธแค้น ความเจ็บปวด กับบาดแผลชีวิตนี้ได้

เรื่องราวข้างต้นเป็นตัวอย่างของที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน  ตลอดชีวิตเรามีความต้องการ ความปรารถนาจากเรื่องหนึ่ง เคลื่อนย้ายไปอีกเรื่องหนึ่งแล้วไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง  สิ่งที่เราพึงใส่ใจ ไม่ใช่การมุ่งหมายว่าความต้องการนั้นดี หรือไม่ดี  แต่คือ การได้กลับมาสำรวจแรงผลักดันในความต้องการนั้นว่า เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัวหรือไม่ อย่างไร  ความต้องการนั้นดำเนินไปและมีวัตถุประสงค์เพื่อสติปัญญาเพียงใด  ความต้องการนั้นเป็นไปเพื่อความรัก สร้างสรรค์สิ่งดีงาม หรือเพื่อทำร้าย เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ความรักตนเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิง  ความรักตนเองเป็นวิถีทาง แต่ความเห็นแก่ตัว คือ เป้าหมาย  สำหรับผู้ที่ทอดทิ้ง ละเลยการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง จักไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างนี้ได้  เราทุกคนต้องการความสุข หลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่หากเราแสวงหาสิ่งปรนเปรอเพื่อได้ความสุข นั่นคือ ความเห็นแก่ตัว  เว้นแต่เมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ประพฤติธรรมไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เรากลับพบความสุขจากวิถีชีวิตที่เราดำเนินอยู่

ในบางครั้งความเห็นแก่ตัวยังปรากฏในรูปของความเมตตากรุณาอย่างโง่เขลา เช่น ความเกรงใจที่เบียดเบียนตนเอง  นิทานที่ผู้เขียนขอหยิบยก “กบกับแมงป่อง”

“ครั้งหนึ่ง แมงป่องขอร้องให้กบช่วยพาข้ามฝั่ง ด้วยการให้มันเกาะหลังไป  กบรู้ดีว่าอีกฝ่ายคือแมงป่อง และมีอาวุธร้ายที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง  เจ้ากบทักท้วงแต่แมงป่องก็ยืนยันว่ามันเพียงต้องการข้ามแม่น้ำไปเท่านั้น ไม่มีเจตนาทำร้ายกบแต่อย่างใด  กบยอมตามจะด้วยความเกรงใจ ความเชื่อใจ การมองโลกแง่ดี หรือความโง่เขลาก็ตาม  แล้วเมื่อถึงกลางทาง แมงป่องก็ต่อยเจ้ากบ  คำอธิบายสุดท้าย คือ ข้าเป็นแมงป่องและธรรมชาติที่ข้าเคยชินก็คือ การต่อย จากนั้นทั้งคู่ก็ค่อยจมน้ำลงไป”  บ่อยครั้งตัวเรา หรือคนรอบข้างต่างก็อาจเคยประพฤติตัวคล้ายเจ้ากบ และคล้ายเจ้าแมงป่อง  เราอาจหลงลืมไปว่าหน้าที่ของเราในการดำเนินชีวิตประการหนึ่ง คือ การหลีกเลี่ยงคนพาล และการสร้างความเป็นสุจริตชนในตัวเอง

กลับมาสำรวจแรงผลักดันในความต้องการนั้นว่า เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงาม หรือเพื่อทำร้าย เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ชีวิต คือ เรื่องราวที่ซับซ้อน ซ้อนทบกันไปมาเหมือนหัวหอมที่ถูกห่อหุ้มด้วยเรื่องราว ประสบการณ์ต่างๆ นานา  อีกทั้งชีวิตก็คือ ความความสัมพันธ์ที่เรายึดโยงกับตนเอง ผู้อื่น หมู่คณะ สถาบัน สังคม  ทั้งชีวิตก็เป็นสิ่งมีค่า ที่ให้โอกาสกับการได้รับบทเรียนเพื่อนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ให้ความสุขที่แท้จริง ไม่ติดจมกับความทุกข์อันเนื่องจากความเห็นแก่ตัว  และความสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถมีความรักที่แท้กับตนเอง  แล้วอะไร หรืออย่างไรจึงเรียกว่า การมีความรักที่แท้กับตนเอง

ผู้เขียนเห็นว่านิยามคงมีได้มากมายไปตามบริบทและเรื่องราวชีวิตของแต่ละผู้คน  หัวใจสำคัญคือ การปล่อยวาง  ท่านอาจารย์พุทธทาสมักใช้ธรรมบทนี้บ่อยๆ คือ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น”  โจทย์ชีวิตสำคัญคือ การปล่อยวางได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่เราเชื่อว่า สิ่งนั้นสำคัญกับชีวิตเหลือเกิน เช่น ความมั่นคง ความสำเร็จ ครอบครัว คนรัก ฯลฯ  เพราะเมื่อเรายึดมั่นสิ่งใด เราก็จะมุ่งตอบสนองด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่มากก็น้อย  แต่ความรักที่แท้กับตนเองจะเปิดให้เราได้รับรู้และสัมผัสสิ่งที่อยู่เหนือพ้นตนเองด้วย

แบบฝึกหัดการมีความรักกับตนเอง ก็คือ การรับฟัง  การรับฟังที่เปิดรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาให้เราได้รับรู้ ไม่มีแม้กระทั่งผู้พูดและผู้ฟัง มีเพียงการรับฟัง  ยามที่เราเปิดรับฟังเช่นนี้ เราสามารถได้ยินเรื่องราวทุกคำพูดที่ถ่ายทอดออกมา เรารับรู้ได้ถึงสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด แววตา รวมไปถึงพลังงานที่อยู่รอบตัวของอีกฝ่าย  พร้อมกับที่เราก็สามารถรับรู้ได้ถึงปฎิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ทั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่ผุดขั้น โดยที่เราเพียงแต่รับรู้และตระหนักรู้ตัวว่ามันเกิดขึ้น  แต่เมื่อใดที่ความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทรก ปะปน  การรับฟังของเราก็จะเต็มไปด้วยการวิพากษ์ ตัดสิน คับข้องไปด้วยความรู้สึกเบื่อ ชอบ เซ็ง สนุก ฯลฯ  หรืออย่างดี เราก็อาจสามารถจดจ่อ ใส่ใจกับบางเรื่อง บางประเด็น ที่เราใส่ใจ  แต่ละเลยส่วนที่เราไม่ใส่ใจ หรือไม่จดจ่อกับบางเรื่องที่เราไม่สนใจ

ความรักตนเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความรักที่มีต่อผู้อื่น มันเป็นหนทางที่เราต้องดำเนินการด้วยตนเอง  แต่หากเราเบี่ยงเบนและจับต้องสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป้าหมาย เราจะมุ่งเพื่อเสพ ไขว่คว้า กระหายอยาก ความรักตนเองเช่นนี้จะเป็นความเห็นแก่ตัว  แต่หากเรารักตนเองในฐานะวิถีทาง เราจะมุ่งดำเนินชีวิตภายใต้การไม่เบียนเบียนตนเองและผู้อื่น เรามุ่งสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่เพื่อมุ่งอยาก หรือเสพ นี่จึงเป็นความรักตนเองที่แท้  เราสามารถเริ่มต้นแบบฝึกหัดความรักตนเองที่แท้ ด้วยการเรียนรู้การเปิดรับฟังคนรอบข้างด้วยจิตใจทั้งหมด เปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง ยามที่มีใครต้องการให้เรารับฟังเขาหรือเธออย่างแท้จริง  แล้วบางที แบบฝึกหัดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจผู้อื่น  การเข้าใจตนเอง นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีและสันติภาพของสังคมได้ในที่สุด

ขอให้เราได้รับฟังคนอื่นอย่างแท้จริง เพื่อที่เราจะได้ยินเสียงที่เราอาจหลงลืมไปนานแล้ว


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน