จากดีทรอยท์ถึงเมืองไทย

พระไพศาล วิสาโล 15 พฤศจิกายน 2009

ครั้งหนึ่งดีทรอยท์เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดในอเมริกา เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศ  กล่าวได้ว่าดีทรอยท์เปรียบเสมือนหัวใจที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของอเมริกาให้เติบใหญ่ เพราะรถยนต์ซึ่งเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญผลิตจากเมืองนี้แทบทั้งนั้น

ดีทรอยท์ในยุคที่เจริญสุดขีดมีสีสันหลากหลาย  เพราะนอกจากเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำแล้ว ยังมีชื่อเสียงโดดเด่นด้านดนตรีและความบันเทิง ใจกลางเมืองคึกคักด้วยผู้คนและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา  ในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ ดีทรอยท์มีประชากรเกือบ ๒ ล้านคน จัดว่าใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ ของสหรัฐอเมริกา

แต่มาวันนี้ดีทรอยท์กลายเป็นเมืองที่ซบเซา  ยกเว้นใจกลางเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้าทันสมัยแล้ว ส่วนที่เหลือของเมืองกลับเงียบเหงา มีแต่ตึกร้างและอาคารเก่าคร่ำคร่ามากมาย  ประชากรหายไปครึ่งหนึ่ง เหลือไม่ถึง ๑ ล้านคน  ตามท้องถนนเกลื่อนกล่นด้วยปัญหาอาชญากรรม คุณภาพชีวิตของผู้คนตกต่ำ บริการสาธารณูปโภคไร้ประสิทธิภาพ เพราะงบประมาณไม่พอเพียง  ขณะที่อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ ๒๙  คนยากจนมีมากถึงร้อยละ ๒๖ ของประชากร  ความตกต่ำดังกล่าวมิได้เพิ่งเกิด หากดำเนินต่อเนื่องมา ๔๐ ปีแล้ว  ยิ่งมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจและความถดถอยของอุตสาหกรรมรถยนต์เมื่อเร็วๆ นี้ จึงทรุดหนักกว่าเดิม

สภาพบ้านถูกทิ้งร้างในดีทรอยท์

อะไรทำให้ชะตากรรมของดีทรอยท์พลิกผันเช่นนั้น  เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารไทม์ได้วิเคราะห์ความตกต่ำของดีทรอยท์ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ  ปัจจัยแรกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ก็คือการจลาจลครั้งใหญ่ของคนดำเมื่อปี ๒๕๑๐ ซึ่งทำให้มีคนตายถึง ๔๓ คน  บ้านเรือนถูกเผาทำลายเป็นจำนวนมาก  นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักให้คนขาวนับหมื่นย้ายไปอยู่ตามเมืองรอบนอก

การจลาจลดังกล่าวเกิดจากความรู้สึกชิงชังโกรธแค้นในหมู่คนดำที่ถูกปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง  ดีทรอยท์ในตอนนั้นมีการแบ่งแยกผิวสีอย่างรุนแรงทั้งในที่ทำงาน โรงเรียน สถานที่สาธารณะ แม้กระทั่งบนรถยนต์  คนดำถูกกีดกันไม่ให้อยู่ปะปนกับคนขาว  เขตที่พักอาศัยบางแห่งของคนขาวมีการสร้างรั้วคอนกรีตสูง ๒ เมตรยาวเป็นกิโลเมตร เพื่อแยกขาดจากถิ่นของคนดำที่อยู่ใกล้เคียง

การถูกกีดกันในอาชีพการงาน ขาดโอกาสในการศึกษาและเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทัดเทียมกับคนขาว ทำให้คนดำจมปลักอยู่ในความยากจน ยากที่จะเงยหน้าอ้าปากได้  ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนทางเศรษฐกิจระหว่างผิวสี เป็นตัวบ่มเพาะความเกลียดชังที่พร้อมระเบิดเป็นความรุนแรงได้ทันทีเมื่อเห็นคนดำถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นคนขาว  นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๐

ไม่กี่ปีหลังจากที่คนขาวพากันผละหนีไปเมืองรอบนอก ดีทรอยท์โดยเฉพาะชั้นในก็เต็มไปด้วยคนดำเป็นส่วนใหญ่  ๖ ปีหลังจลาจลใหญ่ ดีทรอยท์ก็ได้นายกเทศมนตรีผิวดำเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์คือ โคลแมน ยัง  เขาสร้างความนิยมในหมู่คนดำด้วยการชูประเด็นผิวสี โจมตีคนขาว และใช้นโยบายเผชิญหน้ากับฝ่ายบริหารของเมืองรอบนอกซึ่งเป็นถิ่นคนขาว  ทำให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกระหว่างดีทรอยท์กับเมืองเหล่านั้น  ขณะเดียวกันนโยบายเอียงข้างคนดำ (เช่นดึงงบประมาณมาลงใจกลางเมืองซึ่งเป็นย่านคนดำแต่ละเลยชานเมืองซึ่งเป็นถิ่นคนขาว) ก็ยิ่งผลักไสให้คนขาวละทิ้งดีทรอยท์ไปมากขึ้น ธุรกิจหดหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้ของเมืองลดลงจนงบประมาณติดลบนับร้อยล้านดอลลาร์ทุกปี

โคลแมน ยัง ขณะปราศรัยหาเสี่ยงในปี 1981

ในขณะที่โคลแมน ยัง ใช้นโยบายแบ่งเขาแบ่งเราตลอด ๒๐ ปีที่เขาเป็นนายกเทศมนตรี  ตัวแปรอีกด้านหนึ่งได้แก่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเมืองก็มีส่วนไม่น้อยในการสร้างความตกต่ำให้แก่ดีทรอยท์  บริษัทรถยนต์ทั้ง ๓ บริษัท คือ จีเอ็ม ฟอร์ด และไครสเลอร์ พยายามทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการออกกฎหมายที่กระทบผลประโยชน์ของบริษัท โดยอาศัย ส.ส.และสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือ  ทั้งสองส่วนมีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ อาทิ มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่าเดิม การเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ รวมทั้งการผ่อนคลายข้อจำกัดทางการค้า  ความพยายามดังกล่าวแม้เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทรถยนต์  แต่ในระยะยาวกลับกลายเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกา  เพราะทำให้รถยนต์อเมริกันขาดการพัฒนาคุณภาพ จึงไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่นำเข้าต่างประเทศได้  ผลก็คือบริษัทรถยนต์เหล่านี้ขาดทุนต่อเนื่องจนเกิดวิกฤตทางการเงิน ผลก็คือต้องปิดโรงงานและปลดคนงานออกเป็นจำนวนมาก

ดีทรอยท์อาจไม่ตกต่ำลงถึงขนาดนี้หากมีอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่หลากหลาย แทนที่จะผูกติดอยู่กับอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเดียว  แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ดีทรอยท์ไม่มีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ก็คือค่าแรงที่สูงมาก อันเป็นผลจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานรถยนต์  ค่าแรงที่สูงมากนี้ครอบคลุมไปถึงกิจการที่อยู่นอกอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย ทำให้อุตสาหกรรมเกิดใหม่เติบโตได้ยาก  ดังนั้นเมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์เกิดวิกฤต จึงไม่มีอุตสาหกรรมอื่นมารองรับหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของดีทรอยท์แทน

คนงานในโรงงานประกอบรถยนต์บริษัท Ford Motor กำลังเปลี่ยนกะการทำงานรอบ 4 โมงเย็น

ดีทรอยท์เป็นตัวอย่างของเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอนาคตเจิดจรัส แต่แล้วในชั่วหนึ่งอายุคนเท่านั้นกลับเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว  นับเป็นอุทธาหรณ์สอนใจได้ดีถึงความไม่จีรังยั่งยืนอันเป็นธรรมดาโลก  มองให้ใกล้ตัวเข้ามา ดีทรอยท์เป็นบทเรียนที่ดีมากสำหรับเมืองไทย  ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเมืองไทยตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจังเช่นเดียวกับดีทรอยท์  แต่ยังเป็นเพราะว่าหลายอย่างที่ฉุดดีทรอยท์ให้ตกต่ำนั้นกำลังเกิดขึ้นกับเมืองไทยด้วยเช่นกัน

ดีทรอยท์เมื่อ ๕ ทศวรรษก่อนเจริญสุดขีดก็จริง แต่ก็เปรียบเสมือนตึกระฟ้าที่ขาดฐานที่มั่นคง  คนดำส่วนใหญ่ที่เป็นฐานของดีทรอยท์นั้นอยู่อย่างยากจน  มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างชัดเจนระหว่างคนขาวกับคนดำ มิใช่แต่ในทางรายได้เท่านั้น แต่รวมถึงสถานภาพ  ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับคนดำแทบทั้งนั้น ในขณะที่คนขาวหาได้ล่วงรู้หรือใส่ใจกับความรู้สึกดังกล่าวไม่  คนขาวส่วนใหญ่คิดว่าคนดำพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ จึงนึกไม่ถึงว่าจะเกิดการจลาจลลุกฮือโดยคนดำในปี ๒๕๑๐

ประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (นั่ง) ประชุมร่วมกับคณะทำงานเพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์การจราจลในเมืองดีทรอยท์ (24 กรกฎาคม 1967)

แม้เมืองไทยไม่มีการเหยียดผิว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมากในสังคม  รายได้ระหว่างกลุ่มคนที่รวยสุดกับกลุ่มคนที่จนสุดนั้นถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก  ความไม่เท่าเทียมระหว่างคนมีกับคนไม่มีเห็นได้ทั่วไป คนรวยสามารถทำผิดกฎหมายได้อย่างสบาย (เพราะมี “เส้น” และสินบน) ในขณะที่คนจนถูกข้าราชการรีดไถและถูกนายทุนเอาเปรียบเป็นอาจิณ  ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ แทบไม่มีลูกชาวนาชาวไร่สอบเข้าได้เลย  หากต้องการได้ปริญญา ก็ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น เช่น ราชภัฏ  มหาวิทยาลัยไทยจึงมีการแบ่งชั้นไปโดยปริยาย  ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ปรับปรุงใหม่ทำให้คนจนถูกกีดกันออกไปมากขึ้น เพราะเอื้อให้คนที่มีเงินกวดวิชามีโอกาสสอบได้มากขึ้น

คนชั้นล่างที่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงปัญหานี้เลย และไม่รับรู้ด้วยว่าคนชั้นล่างมีความคับข้องใจเพียงใดบ้าง เพราะอยู่ในกลุ่มก้อนหรือชนชั้นของตัว  ดังนั้นจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนชนบทหรือคนยากจนในเมืองจึงชื่นชมคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบาย (และภาพลักษณ์) ที่ใส่ใจคนจนมากกว่าหัวหน้ารัฐบาลคนอื่นๆ  อย่างน้อยพรรคการเมืองของเขาก็ทำให้ชาวบ้านที่เป็นหัวคะแนนได้รับความเกรงใจจากข้าราชการ ซึ่งเคยอวดเบ่งใส่พวกเขามาตลอด

ความเหลื่อมล้ำในสังคมมักนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม การก่อกวนเยี่ยงอันธพาล ไปจนถึงการประท้วงต่อต้านที่ลงเอยด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต  สังคมไทยมีแนวโน้มจะเกิดเหตุแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และนับวันจะขยายวงกว้างขึ้นจนอาจเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ โดยมีตัวเร่งมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การที่คนชนบทพร้อมใจหย่อนบัตรเลือกพรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ (ไม่ว่าชื่อใดก็ตาม) อย่างล้นหลามหลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙ (รวมทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดง) มองในแง่หนึ่งก็คือการแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองการบริหารที่มองข้ามคนจน  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ต่างจากการเมืองของดีทรอยท์เมื่อได้นายกเทศมนตรีผิวดำ  ทุกพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลคิดแต่จะตอบโต้ โจมตี และบั่นทอนอีกฝ่ายหนึ่ง เข้าทำนอง “ทีใครทีมัน”  ขณะเดียวกันกลุ่มมวลชนทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็ใช้วิธีการเดียวกัน จนเกิดความร้าวลึกไปทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับภาค และระดับประเทศ  การพยายามแสวงหาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

ที่คล้ายกันอีกอย่างคือ นโยบายเศรษฐกิจที่คำนึงถึงประโยชน์ระยะสั้นของกลุ่มทุนที่มีอำนาจ  การออกนโยบายและกฎระเบียบเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมชั้นนำ รวมทั้งการขัดขวางมิให้เกิดมาตรการที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาล นักการเมืองและข้าราชการในเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น  แม้จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  แต่ถึงที่สุดก็ไม่ต่างจากการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทรถยนต์ในดีทรอยท์  นั่นคือทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและประสิทธิภาพการผลิต  กาลเวลาได้ชี้ให้เห็นว่าการปกป้องผลประโยชน์ด้วยวิธีนี้ก่อผลเสียในระยะยาวแก่บริษัทเหล่านั้น รวมทั้งเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของดีทรอยท์อย่างมาก  ในเมืองไทยปรากฏการณ์ทำนองนี้กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

การชุมนุมเพื่อรณรงค์ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม บริเวณด้านหน้าอาคารสหประชาชาติ ซึ่งใช้เป็นที่จัดประชุม 2009 Bangkok Climate Change Conference

สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง การเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมุ่งร้ายต่อกัน และนโยบายเศรษฐกิจที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม  หากมารวมกันเมื่อใด ก็ทำให้ผู้คนแตกแยก ฉุดรั้งบ้านเมืองให้ถอยหลัง บั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ ไม่อาจเจริญรุดหน้าได้  เมืองไทยกำลังจมปลักจนถูกเพื่อนบ้านแซงขึ้นหน้าก็เพราะเหตุนี้

ป่วยการที่จะพูดถึงความสามัคคี หากสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก  สามัคคีจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อช่องว่างทางรายได้และสถานภาพของผู้คนลดลง  เปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะหรือบริการของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน  รวมทั้งมีการกระจายรายได้และโอกาสในทางการศึกษาให้แก่ผู้ยากไร้อย่างทั่วถึง  นี้คือธรรมในระดับสังคมที่มิอาจมองข้ามได้

สังคมใดจะเจริญงอกงามได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนธรรมะ  นอกจากการเอื้อเฟื้อเจือจานหรือแบ่งปันกัน ทั้งระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่มชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว  ทุกฝ่ายยังควรหันมาร่วมมือกันให้มากขึ้น  แทนที่จะขับเคลื่อนการเมืองด้วยความโกรธเกลียดเดียดฉันท์ ซึ่งทำให้อีกฝ่ายเป็นปฏิปักษ์หนักกว่าเดิม  ควรดึงเอาพลังฝ่ายบวกของทุกฝ่ายออกมา เพื่อทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน

การเมืองที่โจมตีใส่ร้ายกันนั้นสนองผลประโยชน์เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ส่งผลเสียกลับมาที่ตนเองและสังคมในระยะยาว เพราะความโกรธเกลียดนั้นไม่เคยให้ผลดีที่ยั่งยืน  เช่นเดียวกับการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยความโลภ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ไม่เคยเป็นผลดีต่อกลุ่มทุนในระยาว ในที่สุดผลร้ายย่อมเกิดขึ้น ตัวอย่างมีมากมายนับไม่ถ้วน

การผลักดันให้เกิดนโยบายเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ กาลเวลาย่อมพิสูจน์ว่าเป็นการกระทำที่ฉลาดและเห็นการณ์ไกล  คนไทยจึงควรสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ แม้ว่ามันจะกระทบ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุนต่างประเทศจำนวนหนึ่งก็ตาม

แม้เมืองไทยไม่มีการเหยียดผิว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมากในสังคม ความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลางและคนจนนั้นเห็นได้ทั่วไป

ความเสื่อมของดีทรอยท์ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วเป็นเพราะทุกฝ่ายไม่ว่านักการเมือง นักธุรกิจ และสหภาพแรงงานต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและคำนึงถึงผลตอบแทนเฉพาะหน้ามากเกินไป จึงพากันฉุดรั้งดีทรอยท์ให้ตกต่ำอย่างยากจะฟื้นตัวได้  นี้ใช่ไหมที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองไทยวันนี้ด้วยเช่นกัน

ธรรมะมิใช่เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดระบบสังคมด้วย  เมื่อใดก็ตามที่สังคม การเมือง และเศรษฐกิจคลาดเคลื่อนจากธรรมะ บ้านเมืองย่อมเสื่อมถอย ชีวิตย่อมตกต่ำ  แม้จะมีวัดนับหมื่นพระนับแสนทุกหัวระแหงก็ดูจะช่วยอะไรไม่ได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา