ชนชราแห่งอนาคต: คำถามจากนิทรรศการ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 20 มีนาคม 2016

ผลกระทบจากการระเบิดทางประชากรที่เรียกว่ายุคเบบี้บูม (คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507) ประกอบกับการแพทย์และการสาธารณสุขที่ก้าวหน้าและทั่วถึง ทำให้สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปี แต่ละครอบครัวจะมีสัดส่วนคนแก่มากขึ้น คนดูแลจะต้องทำงานหนักขึ้น

นี่เป็นสภาพปัญหาที่น่าสนใจ TCDC ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบจึงได้จัดแสดงชุดนิทรรศการชื่อ “ชนชราแห่งอนาคต” มีวัตถุประสงค์นำผู้ชมส่องสำรวจนิยามของความชรา ชวนคิดหาวิถีทางอยู่ร่วมกับความแก่ สะกิดให้เราออกแบบชีวิตต้อนรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

เปิดประตูเข้างาน เราจะได้ทบทวนกรอบคิดเกี่ยวกับความแก่จากแบบสอบถามง่ายๆ และจากหลากหลายคำสัมภาษณ์ในจอยักษ์ จะได้เห็นปิระมิดโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน

เดินเข้าไปด้านใน นิทรรศการเตรียมอุปกรณ์ให้ชิมลางประสบการณ์ความแก่ เราจะได้ตระหนักว่าคนแก่ต้องประสบความทุกข์สารพัดจริงๆ ตั้งแต่การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว

ลองสวมใส่แว่นคู่นั้นสิครับ แล้วท่านจะซึ้งถึงปัญหาที่สถิตในดวงตาของผู้สูงอายุ จะได้ฟังเสียงอู้อี้ในหูชวนรำคาญยิ่ง

เห็นปัญหาแล้วก็ค่อยใจชื้นกับทางออก เราจะได้สำรวจวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ใช้แอพและอุปกรณ์ไอทีเพื่อเชื่อมต่อกลุ่มเพื่อนและการสนับสนุนจากกลุ่มสังคม รวมถึงการออกแบบชีวิตที่ดีงามและเอื้อเฟื้อความชราไว้ตั้งแต่ยังหนุ่มสาว

exhibition-computer-tools-life-design-tcdc

ที่ใจกลางนิทรรศการ เราจะได้เรียนรู้ตัวอย่างชีวิตของคนแก่ที่ยังเปี่ยมพลัง สามารถดำรงอยู่ในสังคมต่างวัยได้อย่างสมสมัยและสมศักดิ์ศรี ทั้งนี้ ข้าวของและป้ายคำในนิทรรศการล้วนสนับสนุนให้เราใคร่ครวญออกแบบชีวิตสำหรับคนแก่อย่างจริงจัง ส่งต่อคำถามสำคัญให้พวกเราครุ่นคิดกันต่อไปว่า…

นี่เป็นคำถามบางส่วนที่ผมพอจะนึกออก แน่นอนว่าคำถามเหล่านี้ล้วนสำคัญ ไม่ช้าก็เร็วเราต้องพบและตอบปัญหาเหล่านั้น ทั้งยังต้องลงมือดูแลความแก่ของตนเองและผู้อื่นอีกด้วย

woman-look-map-tcdc

ปัญหาความแก่หลายประการแก้ได้ด้วยการซื้อสินค้าและบริการ แล้วคนแก่ที่ไม่มีอำนาจการซื้อ จะทำอย่างไร

คำถามหลายข้อ บางคนไม่เคยเอะใจนึกถึง เพราะไม่คิดว่าตนจะแก่เข้าสักวัน ความทุกข์นั้นง่ายที่เราจะทำลืมและปล่อยผ่าน งถึงเวลาแล้วกระมัง ที่เราจะเริ่มคิดถึงการอยู่ร่วมและรับมือความจริงข้อนี้

นึกและเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ ยิ่งดี ยิ่งเราเตรียมพร้อมให้มาก ความกลัวแก่ก็จะยิ่งบรรเทา จะดีแค่ไหนที่เราสามารถเป็นมิตรกับความแก่ ยอมรับความสึกหรอได้อย่างโปร่งโล่ง เบาสบาย

ฝึกรับมือกับความแก่ให้ดีเถิด แล้วการยอมรับความตายก็จะเป็นเรื่องง่ายเข้า


เครดิต

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher