ชยันต์-ผาณิต พลปัถพี : พบสุข ลดอัตตา จากงานจิตอาสา

นุดา 10 พฤศจิกายน 2021

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นคู่สามี-ภรรยา จูงมือมาทำกิจกรรมร่วมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานจิตอาสา ที่ต้องสละเวลาส่วนตัวมาช่วยเหลือผู้อื่น  แต่คู่ของคุณเต๋า-ชยันต์  และคุณเจี๊ยบ-ผาณิต พลปัถพี กลับแบ่งเวลาในทุกสัปดาห์ เดินทางจากย่านหลักสี่มายังสถาบันประสาทวิทยา เพื่อปฏิบัติหน้าที่อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล

คุณเต๋า เออร์ลี่รีไทร์จากงานธนาคาร  ส่วนคุณเจี๊ยบ ทำงานด้านท่องเที่ยว แต่เมื่อโลกต้องเจอภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาด งานของเธอก็ได้รับผลกระทบตรงๆ  จากที่เคยทำงานทุกวัน บริษัทก็ประกาศให้เข้าทำงานเพียงสัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น  ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้เธอถามตัวเองว่าอยากทำอะไร นอกจากการต้องหารายได้เพิ่ม คำตอบก็คือ งานจิตอาสา

และงานจิตอาสานี้เองที่ช่วยให้ทั้งคู่ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงภายใน ทั้งยังช่วยเยียวยา เสริมภูมิคุ้มกันความเศร้าได้อีกด้วย

เจี๊ยบ : ตอนนั้นก็คิดว่าในเมื่อมีเวลาแล้ว เราลองไปทำงานจิตอาสาไหม จังหวะเดียวกับมีรุ่นน้องที่รู้จักกันเป็น 10 ปีไปเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลก่อน น้องเค้าก็แนะนำ พอมีประกาศรับสมัครอาสาฯ ลงในเฟซบุ๊ก เราเห็นก็รู้สึกอยากทำ เลยเขียนใบสมัครไป และชวนพี่เต๋า(สามี)สมัครด้วย  คือถ้าทราบจากประวัติพี่เต๋าก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พอเขาอยู่บ้าน และเราไม่ได้ทำงานทุกวัน มีเวลามากขึ้น ทำให้ได้อยู่เป็นเพื่อนเขา แล้วจากที่ได้พูดคุยกับคุณหมอของเขา หมอบอกว่า การได้ออกไปพูดคุยกับผู้คน จะช่วยเขาได้ส่วนหนึ่ง ตอนนั้นเขาก็เริ่มดีขึ้นแล้วล่ะ เลยบอกว่า พ่อลองทำดีไหม แม่เองก็อยากทำ  เราไปด้วยกัน พอไปด้วยกัน ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นสำหรับเขา

ทั้งสองคนเคยทำงานอาสาสมัครมาก่อนไหม

เจี๊ยบ : สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเป็นเด็กกิจกรรม ก็ทำกิจกรรมตลอด พอเรียนจบในคลาสก็จะไปอยู่ที่องค์การนิสิต ค่ายอาสาไปทุกค่าย แต่ไม่เคยขาดเรียนนะ พอเรียนจบ มาทำงาน ได้ทำงานอาสาน้อย เพราะเวลาทำงานเราก็ทำเต็มที่ ไม่ค่อยมีเวลา แต่มีอยู่ในใจว่า ถ้ามีโอกาส เราอยากทำ

เต๋า : ผมไม่เคยทำจิตอาสาแบบเป็นทางการ หรือเคยไปสมัครที่ไหน แต่ในมุมมองส่วนตัว ผมว่าตัวเองเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ เวลาเห็นคนเดือดร้อน เช่น เห็นผู้หญิงยกของ เราก็ไปช่วยยก ขึ้นรถเมล์ เจอผู้หญิง คนสูงอายุ ขึ้นมา เราก็ลุกให้นั่ง หรืออย่างตอนที่น้ำท่วม เมื่อปี 2554 เราเป็นสมาชิกในหมู่บ้าน ก็อาสาไปช่วยยกกระสอบทราย เพื่อป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้าน  ร่างกายผมใช่ว่าแข็งแรงมาก หลังก็ไม่ค่อยดี ต้องใส่ตัวซัพพอร์ตหลัง แต่ใจอยากช่วย ก็ลงไปช่วยเลย

ในใบสมัครเป็นอาสา มีข้อหนึ่งที่ให้เขียนถึง ความเข้าใจต่อการเป็นอาสา  คิดว่าทำงานอาสาแล้วจะได้อะไร ไม่ทราบเขียนไปว่าอะไรคะ

เจี๊ยบ : คิดว่าเราจะได้ความสุขที่จะได้เติมเต็มในสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว  คืออยากใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และมีส่วนช่วยสังคม ได้เห็นรอยยิ้มของคนไข้ คนที่ลำบากกว่าเรา ได้เห็นชีวิตของคนอื่นที่นอกจากสังคมที่เราอยู่

เต๋า : ไม่แน่ใจว่าผมเขียนแบบนี้ไหม ผมเขียนว่า เราได้ช่วยเหลือสังคม ได้ช่วยเหลือประเทศ อย่างน้อยเป็นจุดเล็กๆ อาจไม่ได้มาก แต่ขอให้เราได้ทำ

ให้คำแนะนำกับผู้มารับบริการที่สถาบันประสาทวิทยา

พอมาปฏิบัติงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล  ตอนแรกปฏิบัติงานที่จุดไหนกันบ้าง

เจี๊ยบ : ก็เริ่มจากจุดกดบัตรคิว ตรวจสอบสิทธิ์ และไปทำที่แผนกจักษุครั้งหนึ่ง

เต๋า : ผมเป็นคนไม่ค่อยจำ และไม่อยากทำให้ผิดพลาด ผมเลยเอาจุดที่ตัวเองสะดวก ที่ได้ทำจุดคัดกรองผู้ป่วย และจุดเอกซเรย์ จุดคัดกรองต่างๆ เป็นการต้อนรับ ความคิดของผมคือ การต้อนรับคือด่านแรกการพบเจอกับคนไข้ เป็น first impression คนไข้เข้ามาในองค์กร เขาจะได้รู้สึกดีกับองค์กร พอเขาได้รับจุดแรกที่ดี จุดอื่นๆ ก็เป็นสเต็ปๆ ที่เขาจะรู้สึกดีได้ต่อไป ผมใช้วิชาการธนาคารมาใช้ เช่น การต้อนรับผู้ถือหุ้น สวัสดีครับท่านผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นคุณจะมีร้อยหุ้น หรือหมื่นหุ้น คุณก็คือเจ้าของธนาคาร เราก็อ่อนน้อมถ่อมตน สองมือประกบไว้ ก้มหัว ขอบคุณครับๆ แล้วก็ผายมือ อย่าชี้นิ้ว ชี้นิ้วคือคุณสั่ง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ อาชีพอะไร สวัสดีครับ เชิญครับ

ประจำจุดคัดกรองผู้ป่วย

เคยรู้สึกเบื่อบ้างไหมคะกับการต้องอยู่จุดทำงานเดิม ทำอะไรซ้ำๆ ในช่วงแรกของการเป็นอาสา

เต๋า : ไม่เบื่อครับ ในมุมมองของผม ถ้าคุณมาเป็นอาสา คุณต้องทำด้วยความตั้งใจ แต่ถ้าคุณไม่ตั้งใจ คุณกลับไปบ้านเถอะ ผมเป็นคนตรงๆ และบางทีเป็นคนพูดแรง แต่จิตใจไม่ได้คิดร้ายกับใคร บางครั้งต้องพัฒนาตัวเองว่า ให้พูดซอฟท์ขึ้น  เรามาแล้วก็อยากทำให้ดีที่สุด อย่างเช่น มีครั้งหนึ่งนอน 3 ชั่วโมง แต่มาปฏิบัติหน้าที่ เรากลับไม่ง่วง ไม่เหนื่อย ได้มาทำบุญกับคน มาทำกับหน่วยงานต่างๆ น้องที่แนะนำให้เรามาทำงานอาสาบอกว่า พี่ทำงานอาสาเท่ากับมาทำบุญ เสร็จแล้วก็กรวดน้ำด้วยนะ เราได้ทำบุญ เราก็ปีติ มาทุกครั้งไม่เคยเหนื่อย ไม่เคยเบื่อ

เจี๊ยบ : ทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ เราจะรู้ว่าพรุ่งนี้ไปทำจิตอาสานะ ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ไม่ว่าจะนอนเร็ว เราจะอะเลิร์ท มีความตั้งอกตั้งใจที่จะมาทำจิตอาสา มีความสุข ถ้าไปดูในใบถอดบทเรียนทุกครั้ง จะเขียนว่า มีความสุขทุกครั้งที่มาทำ บางทีได้เจอคนไข้เดิมที่เคยเจอ เขาจำเราได้ ก็ทักทายเรา แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เจอคนไข้ เราก็ได้เห็น ได้ปลง อย่างน้อยมีคนที่แย่กว่าเรา เราเห็นเขา เราก็พยายามจะช่วย มีความสุขทุกครั้งที่มา

ทราบว่าตอนที่ถอดบทเรียน (เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดทุกวันหลังจบการปฏิบัติงานจิตอาสา) คุณเต๋าก็เล่าให้เพื่อนๆ จิตอาสาทราบว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 

เต๋า : บางสิ่งบางอย่าง เราต้องปกปิดไว้เป็นความลับ ไม่ต้องบอกใคร เหมือนเราเป็นหนี้เป็นสิน เราก็ไม่บอกว่าเป็นหนี้ แต่ผมกล้าเปิดว่าผมกลัวเข็ม กลัวเลือด และกล้าเปิดว่าผมเป็นซึมเศร้า ผมอยากให้เด็กๆ ลูก ๆ หลานๆ หรือเพื่อน พี่ จิตอาสาที่มาทำงานด้วยกัน รู้ว่าเราป่วยเป็นซึมเศร้า แล้วเราจะปรับเปลี่ยนหรือใช้วิธีการอย่างไรที่มาแก้ปัญหา หรือว่าปฏิบัติตัวให้ผ่อนคลายอาการซึมเศร้าได้

เจี๊ยบ : การมาทำจิตอาสาช่วยเขามาก เขาได้พูดคุยกับคนอื่น นอกจากในสังคมของเรา นับตั้งแต่เขาออกจากงานมา เขามีแต่สังคมของคนในหมู่บ้าน คนในบ้าน ไม่มีโอกาสไปเจอคนนั้นคนนี้ แต่พอมาทำงานอาสาได้มาเจอคนอื่น ได้เพื่อน ได้พูดคุย เขาก็ดีขึ้นเยอะ คุณหมอก็ชมว่าการออกไปทำงานอาสาช่วยเรื่องซึมเศร้าได้จริงนะ

เต๋า : แต่เราก็ต้องไม่ไปยึดตัวกูของกูว่าฉันดีขึ้น เราคงต้องรับการรักษาจากแพทย์ ยังต้องกินยา เราก็ค่อยๆ ปรับ จนตอนนี้เกือบไม่ต้องกินยาแล้ว

ช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพี่อาสากับน้องๆ

งานอาสานอกจากช่วยเยียวยาอาการซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอะไรอีกบ้าง

เต๋า : งานอาสาที่นี่สอนให้เรารู้ว่า เราไม่ต้องเป๊ะ นี่คือขอบเขตงานของคุณ คุณทำแค่นี้ เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องเป็น Perfectionist สมัยก่อนผมเป็นอย่างนี้ คุณต้องทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนี้ คุณอย่ามาว่าเต๋านะ เต๋าอุตส่าห์ทำดี เต๋าน้อยใจ จะคิดแบบนี้  ทำอะไรไม่ต้องการให้มีการผิดพลาด อาจเป็นเพราะผมเรียนบัญชีมา ผมเป็นคนที่ทำทุกอย่างต้องเป๊ะๆ ไม่อยากให้พลาด ตรงนี้ก็ไม่อยากให้พลาดเช่นกัน อย่างการบอกคนไข้ว่าไปจุดไหนๆ เราก็ไม่อยากให้พลาด แต่ไม่ถึงกับซีเรียส

เจี๊ยบ : เวลาถอดบทเรียนเป็นช่วงเวลาดีมากๆ ที่เราเรียนรู้ ได้แชร์ประสบการณ์ อ๋อ…ที่เราคิด ที่เราเข้าใจอาจไม่ถูก หรือที่ค้างคาใจ เราก็ได้อธิบายเค้า และขณะเดียวกัน คุณมิก (ผู้ดูแลโครงการฉลาดทำบุญ งานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล) จะเตือนพวกเราตลอดว่า หน้าที่เราเท่านี้ อย่างที่คุณเต๋าบอกว่า เขาเป็นคน Perfectionist เขาก็คาดหวัง เขาก็คิดว่าพอฉันทำดีแล้ว เธอยังมาว่าฉันอีก คือคาดหวังโดยไม่รู้ตัว ก็จะมีความเครียด รู้สึกเศร้าใจได้

แต่พอมาทำจิตอาสาตรงนี้ ทำให้ระบบการคิดของเรา และของคุณเต๋าดีขึ้น ในแง่ที่ว่า รู้ว่าหน้าที่เราเท่านี้ และทำหน้าที่ตัวเองเต็มที่แล้ว เมื่อคนไข้ดุเรา หรือเจ้าหน้าที่ไม่พอใจอะไรก็ตาม เราต้องปล่อยวาง เพราะเราทำเต็มที่แล้ว อย่าไปคาดหวังว่าเขาจะชอบ จะถูกใจ

เต๋า : นอกจากนั้นยังทำให้เรารับฟังให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง

การมาทำงานอาสา ผมว่าช่วยลดอัตตาของเราลง บางครั้งเราคิดว่าทำไมต้องยกมือไหว้คนอื่น แต่เราไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้ลำบากกับการลดอัตตา แล้วเรายังได้กัลยาณมิตรใหม่ด้วยจากงานอาสา” 

เจี๊ยบ : เราเข้าใจ ฟังคนมากขึ้น จัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น การมาเป็นอาสาไม่ใช่แค่ว่า เรามาให้ เราได้ด้วย ทั้ง give และ take  กลับไป นอกจากความสุข อิ่มบุญ อิ่มใจของเรา ก็ได้มุมมองที่หลากหลายเอามาปรับปรุงตัวเอง อย่างคราวที่แล้วน้องคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ปกติเป็นคนอารมณ์ร้อน เวลาขับรถ จะทะเลาะกับมอเตอร์ไซด์ข้างๆ แต่ตอนนี้เขานิ่งมาก ไม่คิดอะไรเลย กลายเป็นมาถามตัวเองว่า ทำไมต้องไปทะเลาะกับเขา เหนื่อยเปล่าๆ จริงๆ ขอโทษกันไปก็จบ

เต๋า : การถอดบทเรียนครั้งนั้น น้องเขาบอกว่า จากการที่เขามีอัตตา ยึดตัวกูของกู เพราะจากการที่เขาเป็นพี่ เขาก็ยึดว่าตัวเองใหญ่ เป็นพี่ตลอด แต่พอมาทำงานจิตอาสา ก็เอาประสบการณ์จากจิตอาสาไปใช้ในชีวิต อารมณ์ร้อนก็ลดทอนลง รับฟังน้องมากขึ้น และต่อเนื่องมายังการขับรถ ก็คิดได้ว่า อย่าไปทะเลาะกัน มันเสียเวลา  วันก่อนผมก็เจอเหมือนกัน ผมก็ใช้ประสบการณ์จากการถอดบทเรียนมาใช้ เดิมผมเป็นคนประเภทของขึ้นง่าย ถึงไหนถึงกัน ถ้าเจอใครขับรถไม่ดีใส่เรา ผมตามเลยนะ แต่พอมาตรงนี้ กลับช่วยเราได้ ประสบการณ์จากท่านอื่นที่มาแบ่งปันกัน

เจี๊ยบ : เราฟังมากขึ้น อันนี้สำคัญเลย จากเดิมที่เราเคยเป็นหัวหน้าคน เคยแต่สั่ง ไม่ใช่ว่าเราเป็นหัวหน้าต้องถูกเสมอ ต้องมาแชร์กัน ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เพื่อก่อเกิดสิ่งที่ดีขึ้น

การมาเป็นอาสาไม่ใช่แค่ว่า เรามาให้ เราได้ด้วย ทั้ง give และ take กลับไป  นอกจากความสุข อิ่มบุญ อิ่มใจของเรา ก็ได้มุมมองที่หลากหลายเอามาปรับปรุงตัวเอง”

ลักษณะการทำงานอาสาที่นี่กับการทำงานประจำ ความรู้สึกที่มีต่างกันอย่างไร ทั้งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานเหมือนกัน

เจี๊ยบ : ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเราไม่ได้คาดหวังถึงผลที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้สำคัญมาก ทางหมอจิตวิทยาของคุณเต๋าก็คุยกับเราว่า มาทำงานจิตอาสาเหมาะกับเขาเลย ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะการทำงานโดยที่ทำมาหากิน เราคาดหวังว่าจะได้เงินเดือน ถูกคาดหวังจากเจ้านายว่าเธอต้องทำให้ได้ตามที่เขาสั่งเรา ถูกคาดหวังจากลูกน้องว่าต้องเป็นตัวอย่างให้เขา แต่การเป็นจิตอาสาตรงนี้มาจากใจล้วนๆ เป็นความรู้สึกที่ไม่มีคนมาบังคับให้เราทำ แต่เป็นสิ่งที่เราเอาใจมาทำ พอเอาใจมาทำ เราได้มาทำเอง ไม่มีใครมาคาดหวังให้คะแนนเรา เราจะได้ความสุขจากตัวเราเอง ไม่มีใครมาตัดสินว่าเราดี แย่ มีแต่การแชร์ การช่วยกัน ความรู้สึกบวกสถานเดียวเลย

เต๋า : อย่างผมเคยทำงาน ผมรู้สึกว่า การทำงานที่ไม่มีความสุข เราเบื่อมาก ไม่อยากทำ มันไม่ใช่สิ่งที่เรารัก เมื่อไหร่จะหมดเวลาห้าโมงเย็น สักที แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เรารักชอบ จะทำได้แบบลืมเวลา  อย่างเจี๊ยบตอนนี้เขามาจัดต้นไม้ขาย เป็นรายได้เสริม เมื่อเจอโควิด เขาจัดถึงตี 2 ปกติสภาพร่างกายของเขา ถ้านอนน้อยจะมีปัญหา แต่เขาทำแล้วมีความสุข เฉกเช่นเดียวกัน พอเรามีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดรฟิน เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างมีความสุข และเราสามารถมีสติ ควบคุมว่าฉันต้องนอนเท่าไหร่ เราจะทำงานอย่างเพลิดเพลิน เรามีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา ถ้าเราไม่มีความสุขเราคงไม่มาหรอกครับ เราอยากทำต่อไป และอยากให้ตัวเรามีเวลาและสะดวกมาทำมากที่สุด

การมาทำงานอาสาด้วยกัน ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ของทั้งสองคนด้วยไหม

เจี๊ยบ : ก็ดีนะ เนื่องจากเราเจอประสบการณ์คล้ายกัน ถึงอยู่กันคนละจุดทำงาน แต่สิ่งที่ได้คือ เราฟังกันมากขึ้น อย่างเวลาเขาขับรถ เราก็เห็นเขาใจเย็นลง สิ่งที่เคยขุ่นข้องด้วยนิสัยส่วนตัวแต่ละคน ได้มีการขัดเกลาว่าใจเย็นลง ฟังกันมากขึ้น เลยทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ามีอะไรเราคุยกันได้ง่ายขึ้น

เต๋า : กรณีสามี ภรรยา ก็มีงอนกันบ้าง แต่พอมาเป็นอาสาอำนวยฯ ทำให้เราฝึกการรับฟังมากขึ้น เราก็มาใช้กับครอบครัวด้วย แล้วอีกอย่างเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เราก็โอเค ยอม นี่คือภรรยาเรา นี่คือลูกเรา บางครั้งก็มีผิดพลาด เราให้อภัย ยอมรับกันและกันมากขึ้น ผมมองว่าเหรียญมีสองด้านอยู่ที่เราจะมองบวกหรือลบ เช่น ตอนน้ำท่วมปี 2554 มีด้านลบคือทุกคนเดือดร้อน บ้านน้ำท่วม ผมก็เดือดร้อน ในหมู่บ้านก็เดือดร้อน ต้องไปช่วยกันขนทราย  แต่ในมุมบวกผมก็คุยกับคุณเจี๊ยบว่า ดีพ่อไม่ต้องไปทำงาน มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เราเป็นโรคซึมเศร้า ต้องเออร์ลี่รีไทร์ออกมา ก็ดีนะ เราได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น และเราก็มีวิสัยทัศน์มากขึ้น

งานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละรุ่น มีคนหลายวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่คนวัยทำงาน วัยเกษียณ เวลาถอดบทเรียน มานั่งคุยกันหลังปฏิบัติงานอาสาแต่ละครั้งเสร็จ  น่าจะเป็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนระหว่างวัยด้วย

เจี๊ยบ : ใช่ค่ะ เราก็ได้มาฟังว่าเด็กรุ่นลูกเราแสดงความคิดเห็นอย่างไร  อย่างแรกชื่นชมน้องๆ มาก แค่เขามีจิตอาสาที่จะเข้ามาทำก็สุดยอดแล้ว อย่างน้อยยอมตื่นตีสี่ ตีห้า มาที่โรงพยาบาลแต่เช้า เด็กบางคนอยู่ต่างจังหวัด ต้องออกจากบ้านมาตั้งแต่ตี 3  เขาทำแบบนี้ต้องชื่นชม

เต๋า : คือเราต้องเปิดใจด้วย ในฐานะผู้ใหญ่เราก็ชื่นชม เก่งมากเลยลูก เราชมด้วยใจ  เด็กเขาเกิดความสุข เกิดแรงบันดาลใจ

เจี๊ยบ : บางเรื่องผู้ใหญ่ยังคิดไม่ได้เท่าเขา เพราะอีโก้เราสูงแล้วไง คนที่เป็นผู้ใหญ่ ที่เป็นจิตอาสา บางทีมาเจอเจ้าหน้าที่ดุ หรือคนไข้ที่วีนใส่ ยังแสดงความคิดเห็นเลยว่า ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ฉันเคยไปที่นี่เขาทำอย่างนี้ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ คือยังรับไม่ได้ คุณมิกก็บอกตลอด  เราเป็นจิตอาสา เรามาช่วยเขาที่นี่ ซึ่งระบบเขาเป็นอย่างนี้ เราไม่มีสิทธิไปชี้ว่า ต้องเปลี่ยนเอเป็นบี ไม่ใช่หน้าที่เรา เราแนะนำ บอกได้ แต่เขาจะเปลี่ยนไม่เปลี่ยนเป็นเรื่องของเขา หรือถ้าคนไข้ตอบมาอย่างนี้ วางไว้อย่างนั่นแหละ คือให้จบไว้ตรงนั้น ไม่ต้องกลับมาคิดที่บ้าน แต่การถอดบทเรียนช่วยทำให้เราได้แชร์ข้อมูล ประสบการณ์กันและกันเยอะขึ้น ว่าสิ่งที่เราทำนี่ถูกหรือไม่

เต๋า : มีวันหนึ่งตอนถอดบทเรียน น้องคนหนึ่งเจอประสบการณ์ว่า คนไข้วีนใส่ แต่น้องบอกว่า หนูนิ่งแล้วก็ยิ้ม และหนูก็ดำเนินการต่อ เขาไม่มีอารมณ์ ไม่แสดงอาการฮึดฮัดใดๆ ถ้าเป็นผมอาจจะขอเพื่อนมาสลับตำแหน่งแทน หรือบางทีอาจจะวีนใส่คนไข้ไปเลย แต่น้องบอกว่า ค่ะ เราก็ถามว่าทำไมคิดอย่างนี้ น้องบอกว่า เป็นเรื่องของคนไข้ แต่หนูพยายามทำหน้าที่ของหนูให้ดี  ไม่ได้เก็บมาคิดหรอก ผมว่าเด็กคนนี้โอเคเลย เด็กๆ หลายคนได้ให้มุมมองกับพวกเราด้วย และเราก็ได้ให้มุมมองกับเด็กๆ แชร์ประสบการณ์กัน

คุณเต๋ากับน้องๆ อาสา

ดูเหมือนงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ยังสอนเรื่องการรู้จักปล่อยวางให้เป็นด้วย

เจี๊ยบ : ถูกต้อง ฝึกจริงๆ คือเอาแค่นั้น เราเป็นแฟนคลับพระไพศาล คือตอนที่เราเครียดหนักๆ ตอนที่เขาป่วยและลูกป่วย จะฟังธรรมะท่านทุกวัน พอมาทำงานนี้ก็เพิ่งรู้ว่ามูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา มีพระไพศาล วิสาโล เป็นประธาน  น้ำตาไหลกันเลย ดีใจจังได้มาทำตรงนี้ คือจะยกตัวอย่างท่านเทศน์อยู่ครั้งหนึ่ง แล้วใช้กับเราได้มาก ท่านบอกว่า เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง  คือตอนนั้นมีหลายอย่างที่ต้องทำ ท่านก็บอกว่าเวลาเปิดลิ้นชัก เราเปิดทีละอันใช่ไหม เราเปิดพร้อมกันแล้วทำสองมือได้ไหม ไม่ได้ อย่างเรามีงานบ้าน 3 อย่าง งานออฟฟิศก็สามอย่าง งานลูกอีก มันหลายอย่างจังเลย เราก็มาลำดับจัดวาง จัดการชีวิตเราได้ดีขึ้น

เต๋า : การมาทำงานอาสา ผมว่าช่วยลดอัตตาของเราลง บางครั้งเราคิดว่าทำไมต้องยกมือไหว้คนอื่น แต่เราไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้ลำบากกับการลดอัตตา แล้วเรายังได้กัลยาณมิตรใหม่ด้วยจากงานอาสา


*** อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉลาดทำบุญภูมิคุ้มกันสังคม มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันประสาทวิทยา หน้าที่ของอาสาสมัครคือให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถาบันประสาทวิทยา

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร