ชาวพุทธกับตรุษจีน

พระวิชิต ธมฺมชิโต 13 กุมภาพันธ์ 2011

ช่วงเวลาแห่งความสุขก็ผ่านไปแล้วอีกหนึ่งเทศกาล นั่นคือวันตรุษจีน คนไทยจำนวนมากทุกวันนี้มีเชื้อสายจีนปนอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ถึงแม้ว่าไม่ได้มีเชื้อสายจีนเลย คนไทยเราก็ร่วมเฉลิมฉลองมีความสุขไปกับเขาด้วยได้อย่างไม่เก้อเขิน

ในเทศกาลแห่งความสุขอันเป็นขนมธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนับพันปีนี้ ย่อมมีแง่มุมดีๆ มากมายให้เราได้เรียนรู้ ยิ่งการเรียนรู้นั้นสามารถช่วยให้เราพัฒนาตนให้ดีขึ้นได้ก็ยิ่งดี

แม้บางเรื่องบางอย่างของพิธีกรรมในเทศกาลนี้อาจดูไม่มีเหตุผล เช่น ต้องไหว้ด้วยไก่ทั้งตัวเพราะแม้แต่หงอนไก่ก็ยังสื่อถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ จะต้องไม่กวาดบ้านเพราะจะกวาดเอาโชคดีออกไป ไม่ให้ใช้มีดของมีคมเพราะไปตัดอนาคตที่ดีๆ แล้วถ้าใครเผลอซุ่มซ่ามทำของตกแตก หรือพูดคำหยาบคายออกไปเรียกว่าซวยกันไปตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นช่วงนี้ต้องพูดกันแต่เรื่องความก้าวหน้า ความร่ำรวย ความสำเร็จต่างๆ แม้สิ่งที่วิงวอนขอต่อเทพเจ้าและบรรพบุรุษขณะเซ่นไหว้นั้นก็เป็นเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น

ท่ามกลางความเชื่อและข้อปฏิบัติที่ดูเหมือนจะงมงายไร้เหตุผลนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือในทางปฏิบัติทำไมคนไทยเชื้อสายจีนที่ถือขนบธรรมเนียมเหล่านี้อย่างเคร่งครัดจึงไม่ได้มัวแต่นั่งรอโชคชะตา หรือหวังพึ่งแต่ผลดลบันดาลจากเทพเจ้า ทุกคนกลับขยันขันแข็งทุ่มเทให้กับการงาน ใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้จักวางแผนการใช้จ่ายลงทุนจนร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผิดกับคนไทยชาวพุทธเรา ที่พระพุทธองค์ทรงย้ำพร่ำสอนไม่ให้ประมาทในชีวิต บอกว่าเราต้องบากบั่นเพียรพยายามสร้างความดีงามต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ใช่มัวรอพึ่งแต่เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์

แต่ภาพที่ปรากฏคือคนไทยเรามีชีวิตอยู่อย่างเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ มัวแต่วิ่งขอหวยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่การไปกราบไหว้พระพุทธรูปก็ไม่พ้นขอหวย ขอโชค เมื่อมีเงินก็ใช้จ่ายกันเพลินหมดไปกับเรื่องกินเรื่องเที่ยวเสียมาก

คงมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ แต่สาเหตุสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือเราไม่ได้ศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนากันอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถนำหลักธรรมเรื่องนี้ที่มีอยู่อย่างพร้อมมูลแล้วมาใช้เป็นหลักดำเนินชีวิตได้จริง

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าผู้คนสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น แต่เมื่อเริ่มสนใจเราก็มุ่งเป้าไปที่การปฏิบัติเพื่อละกิเลส ให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงกันอย่างเดียว

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดที่ตั้งเป้าหมายอย่างนั้น แต่ก็มิใช่ว่าชีวิตส่วนอื่นที่ไม่ใช่การเจริญสตินั่งสมาธิภาวนาจะไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรม หรือเห็นว่าเรื่องโลกๆ นั้นไม่ได้ช่วยให้บรรลุธรรมพ้นทุกข์ได้

คนที่สนใจศึกษาปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยยังคิดว่า เรื่องการใช้ชีวิตธุรกิจการงานนั้นต้องยกไว้เป็นเรื่องหนึ่ง เอาธรรมะเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ส่วนเรื่องการปฏิบัติธรรมนั้นก็แยกไว้เป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต

เรียกว่าปฏิบัติธรรมก็ส่วนปฏิบัติธรรม ธุรกิจก็ส่วนธุรกิจ

ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ปฏิบัติเจริญก้าวหน้าไปในธรรม

ที่เราคิดกันเช่นนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนากันให้รอบด้าน เราเน้นกันเฉพาะด้านที่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นเฉพาะตัว แต่ละเลยเรื่องรอบตัวที่มีส่วนเกื้อหนุนอย่างมากให้ส่วนแรกนั้นก้าวหน้าต่อไป

เราเน้นแต่การศึกษาธรรมจากพระและปฏิบัติกันในวัด ขาดการเรียนรู้และถ่ายทอดชุดประสบการณ์ในส่วนหลักธรรมเพื่อการดำเนินชีวิตของผู้ครองเรือนให้เป็นวิถีชีวิตชาวพุทธ เหมือนอย่างที่คนเชื้อสายจีนเขามีใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเขา

หลักธรรมในส่วนของผู้ครองเรือนนั้นมีมากมาย อย่างเช่นเรื่องความสุขของชาวบ้านหรือ คิหิสุข นั้น บอกว่าผู้ครองเรือนนั้นจะมีชีวิตที่มีความสุขได้จะต้องไม่มีหนี้สิน มีงานที่สุจริตทำ มีทรัพย์ และเมื่อใช้สอยทรัพย์นั้นอย่างเหมาะสมก็จะมีความสุข

ส่วนวิธีการหาทรัพย์ เก็บรักษา และใช้จ่ายอย่างเหมาะสมท่านก็กล่าวไว้ใน ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ดังนั้นการหาเงิน ใช้เงิน ก็เป็นธรรมะในพุทธศาสนาที่เราชาวพุทธต้องนำมาปฏิบัติด้วยเช่นกัน

ภาพที่ปรากฏคือคนไทยเรามีชีวิตอยู่อย่างเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ มัวแต่วิ่งขอหวยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีเงินก็ใช้จ่ายไปกับเรื่องกินเรื่องเที่ยวเสียมาก

หากเราต้องการรักษาพุทธศาสนาของเราไว้ให้คู่กับสังคมไทย ต้องทำให้พุทธศาสนานั้นมีคุณค่าต่อชีวิตของผู้คนได้จริงในทุกๆ มิติ

ที่ผ่านมาเราเน้นสืบทอดพัฒนาและปฏิบัติกันในมิติด้านในของชีวิตกันเป็นหลัก (จิตภาวนา และปัญญาภาวนา) แต่ละเลยด้านที่นำมาใช้กับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ทางสังคม (กายภาวนา และสีลภาวนา)

ความรู้สึกของชาวพุทธทุกวันนี้ คนกลุ่มใหญ่อาจถามกลับมาว่าพุทธศาสนามีหลักธรรมแบบนี้ด้วยหรือ ไม่เห็นเคยได้ยินเลย ส่วนผู้ที่เคยได้ยินมาบ้างก็สงสัยว่าจะใช้ได้จริงหรือ และถ้าอยากจะใช้ก็ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร

ทั้งนี้เพราะเราอาจเคยได้ยินแต่พระ (ที่อาจไม่เคยประกอบอาชีพเลย) ท่านสอนอยู่ที่วัด แต่ไม่เคยเห็นพ่อแม่นำมาใช้ หรือได้ยินว่าบริษัทใดนำมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรเลย

สำหรับยุคนี้ การรอให้แต่ละคนที่สนใจเอาไปใช้กันเองคงเป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและทันกับเวลาที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือกันจากเราชาวพุทธทุกกลุ่มทุกหน่วยที่จะเอาหลักธรรมเหล่านี้มาใช้เท่านั้น จึงจะทำให้เรื่องนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

ปัญหาอยู่ที่ว่า การร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามขึ้นมานี้ ก็ต้องใช้หลักธรรมที่อยู่ในฝ่ายของสังคมหรือฆราวาสที่เรายังด้อยอยู่นั่นเองเป็นฐาน ถ้าประยุกต์หลักธรรมเข้ามาใช้ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นนี้ไม่ได้ เพราะเห็นแต่ปัญหา และพยายามถามหาว่าใครควรเข้ามารับผิดชอบ ความสำเร็จก็คงไม่ต้องพูดถึง

หากเป็นเช่นนั้น คงไม่มีบทสรุปใดดีไปกว่าการไปยืมวิธีการที่เขาใช้ๆ กันอยู่มาใช้แทนหลักพุทธธรรม


ภาพประกอบ