ชีวิตที่มั่นคง

วิชิต เปานิล 23 มีนาคม 2007

เป้าหมายสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการพัฒนาไม่ว่าในยุคสมัยใด เรื่องใด และไม่ว่าจะใช้ฐานคิดใดในการพัฒนา ล้วนอยู่ที่การต้องการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิตของเราทั้งสิ้น

ความเจริญและอารยธรรมของมนุษย์ที่ได้สร้างและสั่งสมถ่ายทอดมาจนทุกวันนี้ ก็เนื่องมาจากความรู้สึกต้องการความมั่นคงสะดวกสบายในชีวิตทั้งสิ้น

แต่ทำไมการพัฒนาที่ยาวนานจากอดีตจนถึงปัจจุบันจึงยังไม่ได้ทำให้ความรู้สึกนี้ลดลงเลย กลับจะยิ่งทำให้รู้สึกไม่มั่นคงรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าสิ่งที่เราทำตลอดมานั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่แท้จริง

เราสร้างครอบครัวและชุมชนขึ้นก็เพื่อความมั่นคงของชีวิตและเผ่าพันธุ์ เราพัฒนาระบบการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ก็เพราะต้องการความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น หรือในยุคนี้เราต้องทุ่มเทเพื่อสอบแข่งขันเรียนในสาขายากๆ ในที่ดังๆ ก็เพราะต้องการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงกว่าผู้อื่น

คนเรายังคิดระบบอีกหลายอย่างขึ้นมาเพื่อเสริมความมั่นคงที่มีอยู่แล้วให้มั่นคงยิ่งขึ้น เช่น มีระบบสิทธิบัตรเพื่อป้องกันผู้อื่นแย่งเอาสิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาไป คิดระบบประกันภัย หรือประกันสุขภาพก็เพราะเราไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนมั่งคงที่อาจเกิดขึ้นกับเราในอนาคต

นอกจากความมั่นคงทางกายและทรัพย์สินเงินทองแล้ว ในอีกด้านหนึ่งเรายังได้สร้างระบบความเชื่อความศรัทธา รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความรู้สึกไม่มั่นคงทางใจเกี่ยวกับอนาคต ซึ่งรวมไปถึงชีวิตหลังความตายด้วย  โดยหวังว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม บุญกุศล ความดีงามที่เราทำมา หรือองค์ศาสดาปวงเทพทั้งหลายที่เราเชื่อมั่นบูชามาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้มีความมั่นคงในชีวิตข้างหน้าได้

เมื่อมองในมุมนี้เราจะเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากความต้องการความมั่นคงในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของเราทั้งสิ้น

ยิ่งเมื่อกระบวนการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้ถูกนำเข้าไปรวมเข้ากับธุรกิจ กลายเป็นธุรกิจที่เสริมความมั่นคงให้ชีวิต เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจความงาม รวมทั้งพุทธพาณิชย์ และธุรกิจเครื่องรางของขลัง ได้ทำให้คนหันมาแข่งกันใช้จ่ายเพื่อความมั่นคงในชีวิตกันจนเป็นแฟชั่น

ความตื่นเต้นสนใจเครื่องมือและยาใหม่ๆ ในการตรวจรักษาโรคของบุคลากรทางการแพทย์ ดูเหมือนจะไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านตื่นเครื่องรางของขลังชิ้นใหม่ ที่ต่างล้วนมีกระบวนการสร้างความจริงที่เกินจริงขึ้นมา สร้างความหวังให้เชื่อว่าเราจะมีชีวิตที่มั่นคงขึ้นกว่าเดิม

คนยุคนี้นอกจากรู้สึกไม่มั่นคงเป็นทุนอยู่แล้ว ยังถูกกลยุทธการโฆษณากระตุ้นให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มั่นคงยิ่งขึ้น ก็ยอมจ่ายแต่โดยดีเพื่อซื้อความหวังนั้นไว้ครอบครอง หลังจากนั้นก็รอ “ผลิตภัณฑ์สร้างความหวัง” ชิ้นต่อไป ที่จะนำออกสู่ตลาด ความมั่งคั่งเฟื่องฟูของวงการธุรกิจนี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

แม้พุทธศาสนาในสังคมสังคมบริโภคก็อยู่ในฐานะที่ไม่แตกต่างกันนัก ได้ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกมาเป็นสินค้าแห่งความหวังชิ้นใหม่เพื่อเสริมความมั่นคงให้ชีวิตในหลายรูปแบบ ทั้งพิธีกรรมใหม่ๆ การทำบุญแปลกๆ อีกทั้งเครื่องรางของขลัง คำสอนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในปัจจุบัน ที่ชีวิตเต็มไปด้วยการแข่งขันและมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นทุกวัน

ความมั่นคงที่พยายามสร้างขึ้นทั้งหมดนั้น สุดท้ายแล้วมักไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้คน เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนเป็นเพียงความหวังไม่ได้ช่วยให้เกิดความมั่นคงขึ้นได้อย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ล้วนเป็นผลพวงจากความต้องการความมั่นคงใน ‘ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา’

เมื่อย้อนกลับมามองที่หลักคำสอนดั้งเดิมที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ซึ่งก็คือวิธีจัดการกับความไม่มั่นคงในชีวิตที่มีแต่ความทุกข์และความเปลี่ยนแปลงนั้น พบว่ามีจุดที่น่าสนใจมากมาย มีมุมมองและวิธีปฏิบัติต่อความไม่มั่นคงต่างจากสิ่งที่สังคมยุคนี้คิดสร้างขึ้นมา

พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราสร้างความมั่นคงด้วยการสร้างสิ่งใดขึ้นมาเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและธรรมชาติ แต่กลับเห็นว่าทำได้ด้วยการหันกลับทำความเข้าใจกับธรรมชาติของความไม่มั่นคงกันใหม่ ซึ่งก็จะพบว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่มั่นคงแท้จริง

พุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีสิ่งใดที่มั่นคงถาวร ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือสรรพสิ่ง

สิ่งที่ปรากฏ (และไม่ปรากฏ) ต่อการรับรู้ของเราขณะนี้ เป็นเพียงผลลัพธ์ของกระแสของเหตุและปัจจัยมากมาย ทั้งที่รับรู้มองเห็นได้และที่รับรู้สัมผัสไม่ได้หนุนเนื่องรองรับสืบต่อกันมาเป็นทอดๆ

เพราะเหตุผลนี้เอง จึงไม่มีสรรพสิ่งใดเลยที่มีตัวตนที่แท้จริง และอยู่ได้อย่างมั่นคงตลอดไป

อาจกล่าวได้ง่ายๆ ว่าในมุมมองของพุทธศาสนาแล้ว ความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพไม่อาจหาได้จากสิ่งใดภายนอก แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรากลับมาทำความเข้าใจธรรมชาติของความไม่มั่นคง

มุมมองที่แตกต่างนี้ ชาวพุทธเราเชื่อและปฏิบัติสวนกระแสกับการพัฒนาของสังคมโลกสืบต่อกันมานาน และพบว่าช่วยให้เราปฏิบัติตัวได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง มีความสุข และสงบกว่า

ท่ามกลางสังคมที่รุ่มร้อนหาทางออกให้กับความมั่นคงของชีวิตไม่ได้ อาจถึงเวลาที่พวกเราที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนจะเริ่มหันกลับมาศึกษาทบทวนแก่นแกนทางวัฒนธรรมของเราให้จริงจังอีกครั้ง

ความเข้าใจเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ทำความเข้าใจแทนกันไม่ได้ หาซื้อชุดสำเร็จรูปมาใช้เลยก็ไม่มี ต้องลงมือขบคิดพิจารณาและปฏิบัติเองเท่านั้นจึงจะได้มา

ว่าแต่เราจะเริ่มกันเมื่อไหร่ดีล่ะ… เพราะความไม่มั่นคงรอเราอยู่ข้างหน้านี้แล้ว


ภาพประกอบ