ชีวิตมือถือ

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 16 มิถุนายน 2001

มีคำคมของลัทธิเต๋าบอกว่า “เพราะความว่างจึงทำให้ชามมีประโยชน์” ซึ่งเป็นความจริงที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน  ชีวิตมนุษย์ก็เช่นกัน เราต้องการ “ความว่าง” ไม่ว่าจะเป็นเวลาว่าง จิตใจที่ว่างจากความวุ่นวาย เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความว่างนั้นในการพัฒนาตนเองในทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน การคิดจินตนาการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ  ลองนึกดูว่า หากไอแซค นิวตัน ไปนอนเล่นใต้ต้นแอปเปิ้ลแล้วก็มีโทรศัพท์มือถือติดตัวไปด้วย เขาจะมีโอกาสสนใจลูกแอปเปิ้ลที่หล่นใส่ศีรษะแล้วคิดตั้งคำถามจนนำไปสู่การค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกหรือไม่  และถ้าไอน์สไตน์มีเพจเจอร์ หรือโทรศัพท์พร้อมอินเทอร์เน็ตมือถือติดไปด้วยในระหว่างเดินเล่นยามเย็น เขาก็อาจจะง่วนกับการคิดว่าจะโทรศัพท์หาใครดี (ไหนๆ ก็มีโปรโมชั่นโทรฟรี) จะโทรจองตั๋วหนังล่วงหน้าสำหรับสุดสัปดาห์ดี หรือจะดูผลฟุตบอลดีกว่า ฯลฯ  และถ้าตอนนั้นไอน์สไตน์มีชื่อเสียงแล้ว เขาก็อาจจะวุ่นวายอยู่กับการรับโทรศัพท์ของใครต่อใคร จนไม่มีโอกาสว่างที่จะรู้สึกสัมผัสกับแสงทองของพระอาทิตย์ที่กำลังสาดส่อง จนทำให้เกิดประกายความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีที่เขาขบคิดอยู่นาน กระทั่ง “คิดทะลุ” เป็นทฤษฎีสัมพัทธ์อันยิ่งใหญ่ จากความว่างในระหว่างการเดินเล่นอย่างปลอดโปร่งโล่งใจในเย็นวันหนึ่ง

เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่มีประโยชน์มากมายหลายประการอย่างที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ เช่น ประโยชน์ทางการแพทย์ในยามฉุกเฉิน การกู้ภัย การป้องกันอันตราย ฯลฯ รวมไปถึงความสะดวกสบายมากขึ้นในการทำงานและชีวิตประจำวันในบางกาละและเทศะ  แต่เครื่องมือติดต่อสื่อสารเหล่านี้ หาใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตทุกเวลาทุกสถานที่ดังที่ปรากฏให้เราเห็นในสังคมขณะนี้แต่อย่างไร  จะกินก็พูด จะเดินก็พูด แม้แต่เข้าห้องสมุดก็ไม่เว้น  จะไปพักผ่อนดูหนัง ฟังคอนเสิร์ต ไปเที่ยวภูเขาชายทะเลก็ยังหา “ความว่าง” ไม่ได้จากมือถือ  ยิ่งผู้ให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้นเท่าไร สามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ มีบริการเสริมสารพัด อยากดูดวง ติดตามผลฟุตบอล เช็คอีเมล์ ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้เรามีชีวิตอยู่กับการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ตลอดเวลา ราวกับว่าชีวิต “ว่าง” จากเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ไม่ได้ ไม่ใช่รับสายเข้าก็คิดโทรออก

การที่เครื่องมือเหล่านี้มีผู้ใช้แพร่หลายมาก จนเสมือนของใช้ประจำตัวคนยุคใหม่อย่างหนึ่งด้วยฝีมือการตลาด ทำให้มีคนโทรศัพท์หรือเพจข้อความเข้ามาถึงเรามากขึ้น เช่นเดียวกับที่เราสามารถโทรศัพท์ออกไปหาใครต่อใครได้มากขึ้นด้วย  “ความว่าง” จึงยิ่งหดหายไปจากชีวิตของเรา (รวมทั้งผู้คนซึ่งนั่งอยู่ติดกับเราที่ต้องพลอยฟังการสนทนา เพราะสถานที่บังคับ) เนื่องจากเวลาของเราไปผูกติด “วุ่น” อยู่กับเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ จนน่าคิดทบทวนว่า เราเป็นผู้กำหนดการใช้เครื่องมือเหล่านี้ หรือเครื่องมือเหล่านี้กำลังมีอิทธิพลโน้มนำกำหนดให้เราใช้  เพราะความเคยตัวและความเคยชินของจิตที่ไม่สามารถอยู่กับความว่าง และไม่เห็นคุณของความว่าง รวมทั้งใช้เพราะแรงโหมทางการตลาด (โทรฟรี ๔๘ เดือน โทรถูกทุกพื้นที่ มีบริการเสริม ฯลฯ) กระทั่งกลายเป็นความเคยชิน “ต้องใช้” ไปในที่สุด

ถ้าเป็นอย่างแรก คือใช้ตามความจำเป็น ที่เป็นความ “จำเป็นจริงๆ” เช่น ในกรณีเร่งด่วน สำคัญ เพื่อความรับผิดชอบในการงานบางครั้งคราว หรือมีไว้เพื่อความปลอดภัย เช่น ต้องการความช่วยเหลือ หลงทาง ประสบภัย ฯลฯ เครื่องมือติดต่อสื่อสารเหล่านี้ก็มีประโยชน์มาก  แต่หากใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะรู้สึกว่าทุกเรื่อง “จำเป็น” หมด เนื่องจากเราคิดและเชื่อไปว่า นี่คือ “ความจำเป็น” พื้นฐานของโลกยุคใหม่ โลกซึ่งได้ถูกเชื่อมเข้าด้วยกันหมดแล้ว  ดังนั้น หากบุคคลไม่ต้องการตกยุค ไม่ต้องการถูกลอยแพจากยุคสมัย เราจะต้องมีอุปกรณ์ที่ขจัดข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลา  ช่วยให้เรามี “อำนาจ” ในการติดต่อถึงคนอื่นได้ดังใจตลอดเวลา อันเป็นสิ่งที่โลกยุคเก่าทำไม่ได้  เครื่องมือติดต่อสื่อสารแบบเคลื่อนที่นี้ ทำให้เราเกิดความมั่นใจ อบอุ่นใจในการทำงานและใช้ชีวิต และในหมู่วัยรุ่น เป็นความภาคภูมิใจที่มีมือถือใช้เหมือนคนอื่น ๆ

วิธิคิดแบบหลังนี้ กำลังทำลาย “ความว่าง” อันมีประโยชน์ต่อชีวิตของเรา  เพราะการไม่ยอมว่างเว้นจากการจดจ่อในการติดต่อสื่อสารติดตามโลกในทุกที่ทุกเวลา จะทำให้เราขาดโอกาสและเงื่อนไขที่จะสงบจิตสงบใจ ใช้ความคิดไปในทางอื่นๆ  เพราะยิ่งสื่อสารมากไม่หยุดหย่อนก็ยิ่งรับข้อมูลเข้ามามากโดยต่อเนื่อง  หากจัดการไม่เหมาะสมหรือจัดการไม่เป็น จิตก็ยิ่งไม่ว่าง จดจ่อหรือกรุ่นไปด้วยอารมณ์ต่างๆ ตามแต่การปรุงแต่งของข้อมูลที่รับเข้ามาหรือส่งออกไป  ถ้าเคยชินกับการใช้มากก็กระสับกระส่าย ดังที่บางคนหงุดหงิดงุ่นง่านเมื่อแบตฯ หมดหรือเครื่องเสีย  ความไม่ว่างทางกายภาพนี้ นำไปสู่ความไม่ว่างทางจิต อันเป็นการลดหรือปิดโอกาสของการใช้ร่างกาย จิตใจและปัญญาความคิดไปในทางอื่นๆ  เช่นแทนที่จะได้ชมวิวทิวทัศน์ ดูชีวิตผู้คนระหว่างเดินทาง ได้สนทนากับคนรอบตัว ได้เกิดจินตนาการ ปัญญา ฯลฯ จากสิ่งเหล่านี้  เราก็มัวจดจ่ออยู่กับการคุยๆๆ โทรศัพท์ ยิ่งถ้าขับรถไปพูดไปก็กลายเป็นเรื่องอันตรายไปด้วย

ลองนึกดูว่า หากไอแซค นิวตัน ไปนอนเล่นใต้ต้นแอปเปิ้ลโดยมีโทรศัพท์มือถือติดตัวไปด้วย เขาจะมีโอกาสสนใจลูกแอปเปิ้ลที่หล่นใส่ศีรษะแล้วคิดตั้งคำถามจนนำไปสู่การค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกหรือไม่

ที่สำคัญและมักเข้าใจกันผิด คือเข้าใจว่าเครื่องมือติดต่อสื่อสารถึงกันนี้ ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการติดต่อถึงกันทำได้ง่ายและกว้างขวาง  เป็นความจริงในเชิงปริมาณว่าการติดต่อถึงกันทำได้ง่ายกว่า บ่อยกว่า แต่คุณภาพความสัมพันธ์ดีขึ้นด้วยหรือไม่นั้น น่าจะไม่ใช่  เพราะมนุษย์มิได้เชื่อมใจกันด้วยลำพังคำพูดหรือคำเขียน แต่การได้พบกันโดยตรง ได้สัมผัสโอบกอด ได้เห็นรายละเอียดของสุขทุกข์ที่ปรากฏผ่านใบหน้าแววตา และได้เห็นการกินการอยู่ การได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ฯลฯ คือสิ่งสำคัญซึ่งทำให้มนุษย์หลอมใจเข้าหากัน  หากไม่ตระหนักในความจริงประการนี้ เราอาจเลี้ยงลูกทางโทรศัพท์ เยี่ยมพ่อแม่ทางโทรศัพท์ ฯลฯ แล้วลดการพบปะโดยตรง เพราะคิดว่าได้ติดต่อสัมพันธ์กันแล้ว

เครื่องมือสื่อสารทั้งหลาย มีประโยชน์และจำเป็น แต่มิใช่ในทุกที่ทุกเวลา  เราจึงควรที่จะใช้อย่างมีเวลาให้แก่ “ความว่าง” บ้าง  มีเวลาหันกลับมาคุยกับตนเอง ทบทวนตนเอง หรือคุยและฟังเสียงจากธรรมชาติอันประณีตบ้าง  แล้วเราจะพบว่า “ความว่าง” คือ ความสะอาด สว่างและสงบ


ภาพประกอบ