ชีวิตและการเดินทางบนรถเมล์

ปองกมล สุรัตน์ 8 พฤษภาคม 2016

การจราจรคับคั่งและผู้คนคราคร่ำในเมืองหลวง เป็นวิถีปกติที่เราเห็นจนชินตา ด้วยต้องหาเลี้ยงชีพ ทำกิจธุระต่างๆ หลายคนต้องออกแต่เช้าตรู่ กว่าจะถึงบ้านก็ค่ำมืด ไม่ทันเห็นตะวันทอแสงเช้าหรือรอนแสงเย็น การเดินทางอันยาวนานบนท้องถนนกลายเป็นสิ่งที่ชาวเมืองต่างประสบ

การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ ยังเป็นที่พึ่งอันสำคัญที่หอบหิ้วผู้คนไปสู่จุดหมายทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้เขียนถูกฝึกให้ขึ้นรถเมล์ครั้งแรกในวัยประถม ครั้งแรกๆ เต็มไปด้วยความประหม่าในการทรงตัวและขึ้นลงให้ตรงป้าย แน่นอนว่ามันไม่สบายเท่ากับการนั่งรถตู้ของโรงเรียน แต่การพึ่งตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองเล็งเห็น ทั้งยังช่วยประหยัดสตางค์ บ่อยครั้งเข้าก็ชำนาญและกลายเป็นเรื่องสนุก เป็นอิสระเล็กๆ และความภูมิใจในวัยเด็กที่สามารถเผชิญโลกภายนอกอย่างปลอดภัย

พอโตเป็นผู้ใหญ่ การนั่งรถเมล์ไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยเหมือนเก่าก่อน ประชากรในเมืองมากขึ้น รถติดเบียดเสียดมากขึ้น รถเมล์ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในทุกครั้งอีกต่อไป ในยุคที่การคมนาคมมีตัวเลือกหลากหลาย และอยู่ในวัยที่พอมีเงินใช้จ่ายแลกกับการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็วกว่า ทำให้รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่มิเตอร์ เป็นทางเลือกหลักที่มาแทนที่ สำหรับคนที่ไม่ได้ขับขี่รถส่วนตัว

หลายครั้งที่กลับมานั่งรถเมล์ มันเป็นความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เมื่อยล้า เสียเวลามาก โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไกลในเส้นทางที่ติดขัด สิ่งที่ทำได้คืออ่านหนังสือไปพลางๆ มองนาฬิกา และถอนหายใจเป็นระยะ การขึ้นรถเมล์ไม่ได้น่าอภิรมย์แม้แต่น้อย จะเว้นแต่ตอนหยิบเงินแค่หลักสิบ แทนจะเป็นหลักร้อย (หรือหลายร้อย) เมื่อนั่งพาหนะอื่นที่เร็วกว่า

แต่มีวันหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกการนั่งรถเมล์ต่างออกไป…

ค่ำหนึ่งบนรถเมล์ที่วิ่งผ่านจตุจักรมุ่งตรงเส้นพหลโยธิน ภายในบรรจุผู้คนมากหน้าและส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน ต่างมีกิจกรรมของตัวเองในมุมสงบแต่แออัด เล่นมือถือ คุยกับเพื่อน เหม่อมองโลกภายนอกผ่านกระจกรถ ครุ่นคิดกับตัวเอง หรือนอนพักเหนื่อย

แล้วเสียงสนทนาก็ดังขึ้นท้ายรถเมื่อนักศึกษาสาวรายหนึ่งเก็บกระเป๋าสตางค์ของใครบางคนได้ที่เบาะหลังสุด และใครคนนั้นก็ลงจากรถไปเสียแล้ว โดยเผลอลืมของมีค่าไว้เบื้องหลัง

ในนั้นมีบัตรประชาชน บัตรเครดิต และเงินสดจำนวนหนึ่ง ผู้โดยสารสามสี่คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนปรึกษาและแชร์ไอเดียกันว่า จะทำอย่างไรให้กระเป๋ากลับคืนสู่เจ้าของ จนในที่สุดก็พบเฟซบุ้คเจ้าของกระเป๋าและดำเนินการติดต่อ คนข้างๆ ติดตามช่วยลุ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พวกเขาต่างไม่พูดจาและแปลกหน้าซึ่งกันและกัน

โดยที่ไม่ได้ตามเรื่องต่อจนจบ ผู้เขียนก็ก้าวลงเมื่อถึงป้าย และครุ่นคิดบางอย่าง

หลายครั้งที่กลับมานั่งรถเมล์ มันเป็นความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เมื่อยล้า เสียเวลา แต่มีวันหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกการนั่งรถเมล์ต่างออกไป…

เมื่อเทียบกับการเดินทางในเมืองด้วยพาหนะสาธารณะอื่น รถเมล์อาจช้าและเหนื่อยกว่า ทว่า เป็นโอกาสที่จะได้ฝึกตนหลายประการ กระตุ้นเร้าให้เอื้อเฟื้อเพื่อนร่วมทางที่เบียดเสียด อดทนต่อรถติดและความลำบาก รวมทั้งช่วยประหยัดเงิน

เหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นบนรถเมล์ไม่ว่าจะเป็นการลืมของแล้วได้คืน ชวนคุย ยิ้มให้กัน บอกทาง กล่าวขอบคุณเมื่อมีคนถือสัมภาระให้ กล่าวขอโทษเมื่อเผลอเหยียบเท้าคนข้างหลัง ช่วยพยุงคนเป็นลม สละที่นั่งให้คนชรา เป็นสิ่งดีๆ ที่หลายคนคงเคยร่วมประสบการณ์

บนรถเมล์เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงทุกชนชั้นรายได้และคนที่มีชีวิตหลายรูปแบบ เราอาจเห็นคนหาบเร่แบกของอย่างเหนื่อยล้าแต่มีแววตามุ่งมั่น คนพิการทางสายตาที่เดินทางด้วยตนเองอย่างแคล่วคล่อง และคนชราที่ท่องเที่ยวอย่างอิสระไม่พึ่งพาลูกหลาน

หลายการเดินทางมีความดีงามดำรงอยู่ แต่เรากลับมองไม่เห็น เพราะจดจ่อกับที่หมายจนหงุดหงิดเมื่อไม่เป็นดั่งใจ ละเลยการวางใจและเรื่องราวระหว่างทาง

สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เราจะพบเจอกับบางคนที่โดยสารด้วยกันเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต การเดินทางบนรถเมล์ทุกสาย ย่อมนำพาให้เราเจอกับคนแปลกหน้าเสมอ เราได้สัมพันธ์กันโดยร่วมทางในเสี้ยวของวัน แต่หลายครั้งเมื่อมองให้ดี ก็กลายเป็นข้อคิดและแรงใจในชีวิต

ใช่หรือไม่ว่า การขึ้นรถเมล์ในทุกครั้ง เป็นโอกาสการฝึกจิตใจและปราณีตในการมองชีวิตรอบข้าง