ชูใจ…สัมผัสแสงตะวันเหนือน้ำ

มะลิ ณ อุษา 18 ธันวาคม 2011

-1-

ก่อนจบการศึกษา ผู้เขียนกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนเห็นพ้องกันว่า เราจะลงจากดอยไปเที่ยวเกาะกัน ในวันเดินทาง ก่อนขึ้นเรือข้ามฟาก เพื่อนคนหนึ่งยื่นเสื้อชูชีพสีส้มมาให้ พร้อมกับรับประกันความปลอดภัยว่า ต่อให้ไม่มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในน้ำอย่างผู้เขียนก็ไม่จม แต่เพื่อนลืมบอกไปอย่างหนึ่ง…

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนกับเพื่อนร่วมงานเดินออกจากสำนักงาน เพื่อต่อรถประจำทางไปเข้าร่วมอบรมที่โรงแรมย่านราชเทวี เช้าวันนั้นระดับน้ำบนบาทวิถีหน้าซอยอรุณอมรินทร์ 39 ขึ้นสูงกว่า 50 เซนติเมตร กระนั้น แม่ค้าขายลูกชิ้นทอดที่ปากซอยก็ยังดำเนินกิจการตามปกติ มิไยว่าคลื่นน้ำจะซัดข้าวของกระเด็นกระดอนเป็นระยะๆ

ในขณะนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าถนนทอดไกลกว่าทุกวัน เสียงแม่ค้าลูกชิ้นทอดยังคงล้งเล้งกับถ้วยถังกระละมังขวดอยู่ข้างหลัง มารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่มีเพื่อนร่วมทางเพิ่มขึ้นมาอีก 2 คน ผู้หญิง 2 คนนี้ ผู้เขียนคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเจอที่ป้ายรถประจำทางหลายครั้ง แต่ก็เป็นไปตามแบบฉบับคนเมืองที่มองแล้วผ่านเลย ไม่เคยถามไถ่  แต่ในวันนี้เราเอ่ยปากทักถามกันถึงเส้นทางที่จะไป วิธีการที่จะไป และถามเลยไปถึงระดับน้ำที่บ้าน สำเนียงของความเข้าอกเข้าใจทำให้เราพูดคุยกันด้วยความสนิทสนม อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในเย็นวันเดียวกันนั้น น้ำสูงขึ้นอีกราวๆ 20 เซนติเมตร ผู้เขียนจึงไม่สามารถกลับเข้าไปเก็บของที่สำนักงาน ซึ่งใช้เป็นที่พำนักเวลาเดินทางมากรุงเทพฯ ได้ จึงนั่งรถแท็กซี่ไปขอลี้ภัยกับเพื่อนที่ อ.สามพราน

แม่น้ำท่าจีนที่ อ.สามพราน น้ำขึ้นและลงเป็นเวลา แต่ในชุมชนออนไลน์กระแสข้อมูลไหลบ่ามาตลอดเวลา รุนแรงและรวดเร็วจนตั้งรับไม่ทัน ข้อเท็จและข้อจริงปะปนจนแยกแยะได้ยาก บางเรื่องอ่านแล้วก็ทำให้รู้สึกว่า “ใจจม” ไปก่อนที่น้ำจะมาถึงจริงๆ เสียอีก

กระแสความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในครอบครัวของผู้คนที่อยู่รายรอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่น้ำยังไปไม่ถึง มีพ่อที่วิตกกังวลก่อทั้งกำแพงอิฐบล็อก กั้นด้วยกระสอบทราย และอุดรูด้วยดินน้ำมัน มีลูกที่เหนื่อยล้าจากการเฝ้าระวังน้ำในยามค่ำคืน มีแม่ที่ต้องลุยน้ำไปขึ้นรถทหาร เพื่อออกไปซื้อข้าวของมากักตุนเป็นเสบียงเลี้ยงทุกคนในบ้าน มีพี่สาวที่กลัวน้ำเอ่อล้นจากคลองเข้ามาในบ้าน มีน้องชายที่ท่าทีเพิกเฉย ทั้งที่ในใจวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งสองคนกลับไม่ยอมพูดคุยกัน

ไม่ไกลจากครอบครัวที่มีพ่อขี้กังวล มีหลานชายที่เหนื่อยใจกับการเกลี้ยกล่อมให้ย่าย้ายออกไปอยู่ที่อื่นสักพัก เพราะอาหารการกินเริ่มร่อยหรอ และหายากขึ้นทุกที

By U.S. Marine Corps photo by Cpl. Robert J. Maurer – Defense Video & Imagery Distribution System: III Marine Expeditionary Force / Marine Corps Installation Pacific, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=17198407

-2-

ในเช้าวันนั้น กระแสลมแรงโยนคลื่นเข้ามาปะทะเรือจนโงนเงน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหมือนมีมือยักษ์จับเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา จนเกิดอาการวิงเวียน หากเรือพลิกคว่ำ คงจะเป็นการยากที่จะตั้งสติเพื่อเอาชีวิตรอด โชคดีที่เรือถึงที่หมายอย่างปลอดภัย แต่…

พอได้ยินข่าวว่าน้ำจะมาก็เครียด ไม่รู้ว่ากำแพงที่ก่อไว้จะสูงพอไหม ถุงพลาสติกที่ห่อตู้เย็นไว้จะมีรูรั่วหรือเปล่า ของกินที่กักตุนไว้จะเพียงพอไหม ถ้างูกรีนแมมบ้าเข้ามาในบ้านจะทำอย่างไร จะ… จะ… แล้วก็คงจะดีกว่านี้ถ้าน้ำมาให้รู้แล้วรู้รอดไป

แต่พอถึงเวลาที่น้ำมาเคาะประตูบ้านจริงๆ ความเครียดกลับไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่เปลี่ยนรูปโฉมไปเท่านั้น

แม้เราจะรู้ดีว่า สติ คือ เสื้อชูชีพ ที่ช่วยให้เราไม่จมลงไปในกระแสความกลัว แต่ก็คงจะเป็นการยากที่จะบอกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับเจ้าตะขาบยักษ์ หรือคนที่กำลังวิดน้ำออกจากบ้านตอนเที่ยงคืนว่า “จงตั้งสติไว้” เพราะในขณะนั้น ชีวิตของเราจะถูกผลักดันด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดมากกว่าปัญญาญาณ

สัญชาตญาณในการเอาตัวรอด เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเราเอง แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมเราจึงได้รับมรดกที่ว่านี้น้อยเหลือเกิน เราแทบจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และไม่มีอาหารกระป๋อง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงรู้สึกเหมือนว่า เรากำลังพาชีวิตทั้งชีวิตมายืนอยู่บนเส้นลวดเล็กๆ ที่มองไม่เห็นว่า ปลายทั้งสองด้านนั้นยึดอยู่กับเสาไม้ผุๆ ที่ปักอยู่ในโคลนเลน และด้วยสัญชาตญาณที่พอมีอยู่บ้าง จะช่วยให้เราสามารถประคองตัวเองให้ยืนอยู่บนเส้นลวดไปได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่ช้าไม่นานเสาด้านใดด้านหนึ่งก็ย่อมต้องโค่นล้มลง เมื่อวันนั้นมาถึง ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เราจะมีสัญชาตญาณและปัญญาญาณพอที่จะเอาชีวิตรอดได้หรือไม่

By Withit Chanthamarit – https://www.flickr.com/photos/withit/6226335033, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16972765

-3-

พอคุณลุงคนขับเรือทอดสมอเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนและเพื่อนๆ ก็เตรียมกระโดดลงจากเรือ ซึ่งจังหวะที่ผู้เขียนกระโดดลงไปนั้น เป็นชั่วขณะที่คลื่นลูกใหญ่ม้วนตัวเข้ามาพอดี บวกกับอาการวิงเวียนที่มีอยู่เดิม ทำให้เซถลาล้มลงไปกองอยู่ในน้ำ แม้ว่าระดับน้ำจะไม่ลึกจนได้ใช้งานเสื้อชูชีพ แต่ก็ทำให้ใจของผู้เขียนจมดิ่งลงไปถึงก้นทะเล เพราะกล้องคอมแพคที่อยู่ในกระเป๋าด้านข้างของกางเกง ไม่ได้ใส่เสื้อชูชีพ!

ยังไม่ทันได้อาลัยอาวรณ์กับกล้องที่เสียไป ก็มีเพื่อนที่กระโดดตามลงมาถูกพิษแมงกระพรุนไฟ พวกเราจึงรีบช่วยกันหาผักบุ้งทะเลมาปฐมพยาบาล จนเมื่ออาการของเพื่อนดีขึ้นแล้ว ผู้เขียนจึงได้กลับมาทอดอาลัยกับกล้องอีกครั้งหนึ่ง

นี่เพิ่งเริ่มต้นเดินทางเท่านั้นเอง แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกหมดสนุกไปเสียเฉยๆ เสียดายกล้องที่เพิ่งเก็บเงินซื้อมา ใจหนึ่งก็นึกโกรธเพื่อนที่ยุให้กระโดดลงไปเป็นคนแรก แต่อีกใจก็นึกขอบคุณที่เขายุให้กระโดดลงมาก่อน เพราะไม่อย่างนั้นผู้เขียนอาจจะถูกพิษแมงกระพรุนไฟได้

ผู้เขียนไม่รู้ว่าอย่างไหนดีหรือร้ายกว่ากัน เพราะการดีกว่ากับร้ายกว่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะดีกว่าที่ผู้เขียนสูญเสียกล้องไปในวันนั้น แทนที่จะถูกพิษแมงกระพรุนไฟ เพราะถ้าผู้เขียนแพ้พิษจนหายใจไม่ออก อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้

ในวันนี้ หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง บางแห่งก็แห้งสนิทแล้ว มีข่าวการทำความสะอาดครั้งใหญ่ปรากฏตรงนั้นตรงนี้เป็นระยะ แต่ก็มีหลายคนที่ประวิงเวลาอยู่ที่ศูนย์พักพิงจนถึงวันสุดท้าย ไม่ใช่ไม่อยากกลับบ้าน แต่เป็นเพราะไม่พร้อมที่จะกลับไปเผชิญกับสภาพความจริงที่รออยู่ การเผชิญกับความสูญเสีย โดยเฉพาะสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมทำใจได้ยาก แม้ว่าน้ำจะลดจนไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อชูชีพแล้ว แต่หัวใจของเราก็ยังต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่อให้พ้นจากการจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ ความท้อแท้สิ้นหวัง หรือแม้แต่ความโกรธแค้นชิงชัง

By U.S. Marine Corps photo by Cpl. Robert J. Maurer – Defense Video & Imagery Distribution System: III Marine Expeditionary Force / Marine Corps Installation Pacific, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=17198604

หากผู้เขียนยังมัวอาลัยอาวรณ์อยู่กับกล้องที่มีแต่คราบเกลือ คร่ำครวญถึงแต่ภาพถ่ายที่ละลายหายไปกับน้ำทะเล ภาพความทรงจำในครั้งนั้นก็คงจะเป็นเหมือนคลื่นยักษ์ที่โถมซัดให้หัวใจสำลักอยู่ร่ำไป ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม

เช่นเดียวกัน ในวันที่เรายืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของความทรงจำนี้ บ่อยครั้งที่คลื่นความเสียดายโถมซัดจนเราตั้งตัวไม่ติด ในยามนี้เองที่เราจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ เพื่อช่วยชูใจไม่ให้จมลงไปในวังวนของความทุกข์ ใช่! ผู้เขียนกำลังหมายถึง สติ  และวิธีง่ายๆ ที่จะเรียกสติก็คือ การสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ และอาจจะกระซิบบอกกับตัวเองด้วยก็ได้ว่า “เรายังมีลมหายใจอยู่ ยังสู้ไหว” หรือจะเป็นประโยคที่ให้กำลังใจเฉพาะตัวของเราเองก็ได้

นี่เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ราคาถูกและใช้ง่ายกว่าการใส่เสื้อชูชีพสีส้มเสียอีก

และแม้ว่าเราจะสูดลมหายใจเรียกสติกลับมาได้แล้ว เราก็ยังคงร้องไห้ได้ ระบายความอัดอั้นที่มีอยู่ภายในออกมาได้ ขอเพียงให้มีสติเท่านั้น เพราะ ในช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย การที่เราจะเลือกเก็บอะไรไว้และปล่อยอะไรไปนั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก

เราจะเป็นผู้เลือกเองว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า เราจะมองกลับมายังวันนี้อย่างไร และหากใจยังจ่อมจมอยู่ก้นบึ้งของความเศร้าโศก ก็ย่อมจะไม่สามารถสัมผัสกับแสงตะวันแห่งความหวังที่อยู่เหนือน้ำได้

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน