ดวงจะดีในปีไหน?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 29 ธันวาคม 2001

มีเรื่องเล่าเก่าแก่ของจีนเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงถึงชายชาวนาผู้มีคุณธรรมและน้ำใจเอื้ออารีคนหนึ่งคิดจะปลูกบ้านหลังใหม่ จึงไปเชิญซินแสผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในการดูฮวงจุ้ยคนหนึ่งมาจากในเมือง  เมื่อซินแสมาถึงก็เดินสำรวจดูอาณาบริเวณโดยทั่ว โดยยังไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร สำรวจเสร็จก็มานั่งพัก  ชาวนาเห็นว่าซินแสเดินมาเหนื่อยๆ หากเอาอะไรมาให้ดื่ม ก็อาจจะสำลักหรือจุกเพราะความรีบร้อนเอาได้  จึงนำแกลบสะอาด 3-4 เมล็ด โรยไว้ในน้ำดื่ม เพื่อว่าเวลาดื่มจะได้ต้องคอยเป่าแกลบและรีบร้อนดื่มไม่ได้  ซินแสไม่เข้าใจความปรารถนาดีดังกล่าว กลับนึกแค้นเคืองในใจว่า ชาวนาดูถูกตนซึ่งเป็นซินแสผู้เลื่องชื่อ  จึงแก้แค้นโดยการบอกฮวงจุ้ยที่ร้ายๆ ให้ชาวนาปลูกบ้าน ด้วยประสงค์ร้ายให้ชาวนาตกทุกข์ได้ยากจากฮวงจุ้ยนั้น  ชาวนาไม่รู้เรื่องอะไร จึงปลูกบ้านไปตามฮวงจุ้ยนั้น  แต่ผลกลับปรากฏว่า ชาวนาคนนี้ก็อยู่ดีมีสุข ยามมีทุกข์ภัยก็มีคนช่วยเหลือ เพราะความที่เป็นคนมีคุณธรรม และเอื้ออารีต่อคนอื่นๆ มาอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

นิทานเรื่องนี้ช่วยเตือนสติแก่เราว่า แม้ชาวจีนจะให้ความสำคัญและเชื่อถือกับเรื่อง ฮวงจุ้ย ดวงชะตา โหงวเฮ้ง ฯลฯ มีศาสตร์มากมายในทางนี้  แต่ถึงที่สุดแล้ว เขาก็ยังเชื่อว่าคุณธรรมยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ดังมีสำนวนที่คนจีนจะกล่าวติดปากว่า หนึ่ง คุณธรรม สอง ดวง สาม ฮวงจุ้ย  นั่นคือ ความดีของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์มากที่สุด รองไปคือดวงหรือวาสนาของบุคคล และฮวงจุ้ยหรือสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับสาม  โดยที่ทั้งสามสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและมีอิทธิพลต่อกันด้วย แต่คุณธรรมเป็นตัวนำก่อน  ดังเรื่องซึ่งเล่ามา หากชาวนาเป็นคนเกียจคร้าน ใจแคบ เห็นแก่ตัว ไม่ลงมือเพาะปลูก ไม่เคยเอื้อเฟื้อใคร ฯลฯ ต่อให้ได้ฮวงจุ้ยสุดวิเศษอย่างไร ความ “อยู่ดีมีสุข” (ทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา) ก็เกิดไม่ได้

ปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่คนทั่วไปมักจะให้ความสนใจเรื่องของดวงชะตา แต่เราจะต้องตั้งสติและท่าทีให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นคำทำนายอนาคตอาจจะกลายมาเป็นสิ่งทำลายปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย  เช่น ถ้าคำทำนายดี ถูกใจเรามาก ก็อาจทำให้เราประมาท ละเลยไปว่า ถึงที่สุดแล้ว การกระทำที่ถูกต้องตามเหตุปัจจัยทั้งภายใน (ตัวเรา) และภายนอก (สังคม สิ่งแวดล้อม) ต่างหาก จึงจะช่วยให้เราได้รับผลตามคำทำนาย  ในทางตรงข้าม หากคำทำนายเป็นร้าย และเราตั้งสติไม่เท่าทันสิ่งที่รับฟังหรืออ่านมา เราก็อาจจะวิตกกังวล หมกมุ่น เครียด กลัว ฯลฯ แล้วไปสร้างเงื่อนไขให้คำทำนายนั้นเกิดขึ้นจริงๆ  เหมือนภรรยาที่ไปดูหมอ แล้วหมอดูบอกว่าให้ระวังสามีนอกใจ ครอบครัวเดือดร้อน จึงเกิดความหวาดระแวงคอยจับผิดหาเรื่อง ทะเลาะกันทุกวัน จนครอบครัวลุกเป็นไฟจริงๆ ตามคำหมอดู  หรือกรณี (เรื่องจริง) ที่พ่อแม่เอาดวงลูกไปผูก แล้วหมอดูบอกว่าให้ระวังเด็กก่อเหตุร้ายแรง เพราะเกิดใต้ฤกษ์ดาวโจร  แทนที่พ่อแม่จะปรึกษาหารือกันว่าเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้ลูกเกเร ทำผิด ธรรมชาติของเด็กแต่ละวัยเป็นอย่างไร ควรเลี้ยงดูแบบใด  พ่อแม่กลับควบคุมเด็กแจและลงโทษรุนแรงเมื่อเด็กทำผิด สุดท้ายเด็กจึงทำผิดจริงๆ แต่เพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ซึ่งอยู่ภายใต้การชี้นำของความกลัว (โมหะ) มิใช่เพราะดวงโจร

ในการให้ความสนใจเรื่องดวงชะตา เราจะต้องตั้งสติและท่าทีให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นคำทำนายอนาคตอาจกลายเป็นสิ่งทำลายปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย

ในระดับบุคล การดูดวงอย่างไม่ให้เกิดโทษ จึงต้องมีสติ ตระหนักและเข้าใจในจุดอ่อนและธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ด้วยว่า ตราบใดที่เรายังมิได้ฝึกตนเองมาดีพอ (มีปัญญา) มนุษย์ก็มักจะหวั่นไหวง่ายดายกับข้อมูลที่รับรู้เข้ามา ไม่ว่าด้วยการอ่านการฟังหรือแม้แต่การฝัน  แล้วปรุงแต่งข้อมูลนั้นจนคิดไปต่างๆ นานา ไม่ว่าในทางดีหรือทางร้าย ทำให้จิตของเราเกิดได้ทั้งความหม่นหมอง ลำพอง ฟุ้งซ่าน ฯลฯ ติดอยู่ในกับดักความคิดที่ “ลวงใจ” เรานั้นอย่างเอาจริงเอาจัง กระทั่งให้มันชี้นำการกระทำของเรา  ชีวิตของเราจึงมี “ความลวง” หรือความไม่จริงที่เราสร้างขึ้นเป็นผู้นำทาง  ถึงตอนนั้น “ดวง” จะกลายเป็น “ลวง”  ชีวิตของมนุษย์ต้องการ “สัจจะ” หรือความจริง (ธรรม) เป็นเครื่องนำทาง หาใช่ความลวงหรือความไม่จริงที่เราสร้างขึ้นเองไม่  ดังนั้นใครที่ดู “ดวง” แล้วไม่รู้จักตั้งสติ  “ดวง” ก็จะกลายเป็น “ลวง” ให้เราคิดผิด ทำผิด เกิดทุกข์ได้ง่ายดาย

ในระดับสังคม เราก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า การกระทำของเราแต่ละคนและสิ่งแวดล้อม (สังคม ระบบนิเวศ ฯลฯ) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันตลอดเวลา เป็นเหตุปัจจัยที่มีผลกระทบถึงกันเสมอทั้งทางตรง-ทางอ้อม  คุณธรรมกรรมดีของชาวนามีผลคุ้มครองมิให้เขาตกทุกข์ได้ยาก แม้ฮวงจุ้ยเลวร้าย ก็เพราะสังคมโอบอุ้มเอื้อเฟื้อจุนเจือคนทำดีด้วยเป็นสำคัญ  โดยนัยนี้ปรากฏการณ์ “ทำดีได้ดี มีที่ไหน?” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า ขณะนี้ สังคมของเรากำลังอ่อนแอทางจริยธรรมอย่างรุนแรง และคนในสังคมไม่ใส่ใจที่จะร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบคุณธรรม  ปัจเจกบุคคลต่างแยกย้ายไปพึ่งดวง เสริมดวง พึ่งคนทรงเจ้า ผู้มีอิทธิพล ฯลฯ กันมาก ไม่เชื่อถือในการกระทำของตนเองมากขึ้นๆ  ยิ่งปริมาณความต้องการของคนในสังคมปัจจุบันมีมากขึ้นกว่าเดิม (อยากรวย อยากเลื่อนขั้น อยากสอบได้ ฯลฯ) ในขณะที่เหตุปัจจัยซับซ้อนผกผันที่จะผิดหวังก็มีมาก ความกลัวจะไม่สมหวังของบุคคลก็ยิ่งมาก จึงต้องหาสิ่งพึ่งพิงทางใจที่จะช่วยให้รู้และมี “โอกาส” (ดวง)ที่จะสมหวังมากขึ้น  ธุรกิจดูหมอทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ ฯลฯ จึงพุ่งแรงมาก

ข้อคิดปีใหม่คือ เราจะปล่อยให้สังคมของเราลอยละล่องอยู่บนความเชื่อเรื่องดวงเป็นหลัก หรือว่าจะกลับมาช่วยกันสร้างเหตุปัจจัยทางสังคมที่จะเป็นหลักประกันว่า “ทำดี ย่อมได้ดี”?


ภาพประกอบ