ตัวหยุด หยุดที่ตัว

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 30 ธันวาคม 2012

ลานกว้างใต้สะพานพระราม 9 ย่านฝั่งธนฯ ที่เชื่อมความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสะพานแขวนแห่งของประเทศ จากมุมนี้หากแหงนหน้าตั้งฉากนั่นคือท้องสะพานแขวน  แดดสวยยามเย็น เสียงกีตาร์และเสียงร้องครวญในเพลงรักอกหักของหนุ่มคนหนึ่งบนเก้าอี้หินริมน้ำ อย่างไม่อินังขังขอบกับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหมาแก่โทรมๆ ตัวหนึ่ง กลุ่มเด็กสาวที่นั่งคุยและส่งเสียงแซวเป็นระยะๆ วัยรุ่นส่งเสียงตะโกนโหวกเหวก เขาน่าจะกำลังขังตัวเองอยู่ในโลกของตัวเอง

อีกมุมหนึ่งของลานกว้างริมน้ำนั้น เด็กสาวนักเรียนมัธยม 2-3 คน กำลังใช้ปากกาในมือเขียนบางสิ่งบนกำแพงยักษ์ที่เป็นตอม่อสะพานขนาดใหญ่ สูงตระหง่านเท่ากับตึกหลายชั้น  ฉันเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จงใจเผชิญหน้ากับการกระทำของนักเรียนหญิงเหล่านั้น เพื่อให้พวกเธอสำนึกหรือละอายใจในการกระทำของตัวเอง นักเรียนหญิงเหล่านั้นหันมามองฉันแว้บหนึ่ง แล้วเธอก็ลงมือเขียนในสิ่งที่ตั้งใจให้เสร็จ

หลายนาทีแรกที่มาพบการขีดเขียนตอม่อสะพาน เพื่อบอกว่าใครรักกับใคร ใครเลิกกับใคร แล้วก็มีคำประกาศใครเป็นพ่อเป็นแม่ใคร ยิ่งใหญ่แค่ไหน กระทั่งคำหยาบคายทั้งหลาย  ฉันยอมรับว่าเกิดความรู้สึกไม่พอใจเอาเสียเลย ด้วยเคยคิดและเห็นว่าพฤติกรรมขีดเขียนในที่สาธารณะแบบนี้เป็นสิ่งน่าตำหนิ ทำให้เกิดความสกปรก เป็นการทำลายสาธารณะสมบัติ ตามที่วิชาหน้าที่พลเมืองได้เคยสอนไว้ในวัยเด็ก มาตรฐานความถูกผิดดีชั่วกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่

การที่ฉันค่อยๆ เดินอ่านแต่ละข้อความบนตอม่อสะพานอย่างช้าๆ ในใจตอนนั้นคิดจะสั่งสอนเด็กนักเรียนเหล่านั้นเงียบๆ ให้พวกเธอได้รู้สึกละอายใจที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ควร การกระทำของพวกเขากำลังอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่อย่างฉัน แต่แล้วพวกเธอกลับไม่สะทกสะท้าน

ฉันยืนดูพฤติกรรมนั้นด้วยความเดือดดาลอยู่ในใจ และกำลังคิดว่าควรเข้าไปคุยด้วยดีไหม ให้รู้ซะบ้างว่ากำลังทำความเดือดร้อนสกปรกให้กับพื้นที่สาธารณะ  แต่แล้วก็หยุดตัวเอง แล้วเดินมาหาที่นั่งสงบๆ มองสายน้ำ ฟังเสียงกีตาร์และเสียงครวญในบทเพลงรักของพ่อหนุ่มคนนั้น

“ในพฤติกรรมแย่ๆ แบบนี้ มันมีคุณค่าอะไรกับเด็กกลุ่มนั้นไหมนะ”  ฉันคิด ….

หรืออาจจะเป็นความพึงพอใจ อาจจะเป็นความปรารถนาที่อยากมีพื้นที่แสดงออก ที่ไม่ใช่ในหน้าเฟซบุ๊คหรือเที่ยวส่งข้อความไปบอกรักใครทางโทรศัพท์ มันคือการประกาศตัวตนบางอย่างของเด็กสาวกลุ่มนั้น บนความไม่ถูกควรในสายตาของผู้ใหญ่

เมื่อเด็กนักเรียนหญิงจารึกสิ่งที่อยู่ในใจบนกำแพงแล้ว ก็เดินมานั่งรวมกลุ่มกันพูดคุยหยอกล้อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็ยังใช้ปากกาในมือขีดเขียนลงบนเก้าอี้สวนสาธารณะอีก

ฉันเกือบจะทนเห็นพฤติกรรมเช่นนั้นไม่ได้ และเกือบจะสาวเท้าก้าวเข้าไปที่เด็กกลุ่มนั้นเพื่อ “หยุด” พวกเธออีกครั้ง แต่แล้วก็เกิดความรู้สึกแว้บขึ้นมาว่า ก่อนจะหยุดโลก ฉันควร “หยุด” ที่ตัวเองก่อน

ฉันให้เวลาตัวเองนั่งนิ่งๆ แล้วสังเกตความรู้สึกตัวเอง ใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้น บางครั้งเหมือนจะไม่มีคำตอบ เมื่อต้องการรู้ว่าเด็กพวกนั้นทำแบบนั้นทำไม ไม่รู้บ้างหรือว่ากำลังทำให้เกิดความสกปรก แล้วก็บอกตัวเองว่า ไหนลองปล่อยให้มันเป็นไปสิ

สักพัก เด็กๆ กลุ่มนั้น กับฉัน ก็ได้แต่มองกันไปมา ไม่มีการสื่อสารด้วยคำพูด  ในขณะที่เด็กหญิงอีก 2 คนเดินเข้ามาในบริเวณนั้นแล้ว ก็ลงมือเขียนบางสิ่งบนกำแพงอีก ฉันเหลือบไปเห็นแล้วแสดงท่าทางสนใจ ค่อยๆ ลุกขึ้นเดินเข้าไปดูใกล้ๆ  และแล้วคำพูดก็ออกจากปากว่า “มาเขียนอะไรแบบนี้กันบ่อยๆ เหรอ” น้ำเสียงถามเรียบๆ พยายามจะไม่เจืออารมณ์ใดๆ หนึ่งในเด็กหญิงตอบ “ค่ะ ก็เขียนไปเรื่อยๆ มีอะไร ใครรักกับใคร ก็มาเขียนบอกรักไว้”

ฉันคิดในใจว่าช่างกล้านัก ทำไมไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับการกระทำของตัวเองสักนิด แต่แล้วก็เลือกหยุดตัวเองอีกครั้ง ลองฟังในสิ่งที่เธอพูด เธอคิด “ใช่ค่ะ ใครที่กำลังรักใครก็จะมาเขียนไว้ จะได้มาอ่านกัน ส่วนใครเลิกกับใครก็มาเขียนด้วย แล้วก็มีที่เขียนเกี่ยวกับสถาบัน โรงเรียนเราอะไรแบบนี้ …ถ้ามองอย่างดีๆ ก็คิดว่า ไม่ดีใช่ไหมคะ เลอะเทอะ แต่ก็เป็นการะบายความรู้สึกก็แค่นั้นเอง”  ฉันฟังเธอพูดไปเรื่อยๆ อย่างไม่ต้องถาม แต่ได้คำตอบครบ

“นอกจากเขียนที่นี่แล้ว เขียนที่ไหนอีก ที่โรงเรียนมีไหม หรือบนรถเมล์”  ฉันเริ่มอยากรู้

“ไม่ค่ะ โรงเรียนเดี๋ยวอาจารย์เห็น บนรถเมล์ก็ไม่เขียน ไม่มีใครเห็นเยอะเท่ามาเขียนที่นี่แล้ว โรงเรียนเราส่วนใหญ่จะชอบมากันที่นี่” เธอหมายถึงสวนสาธารณะใต้สะพานแขวนซึ่งอยู่ในละแวกโรงเรียน เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักเรียนโรงเรียนนี้ และพื้นที่บนตอม่อสะพานขนาดใหญ่ คือพื้นที่สื่อสารความในใจของพวกเขา

ระหว่างนั้น เด็กหญิงคนแรกที่ฉันมาพบก่อนหน้านี้ แล้วเราได้สบตามองกันไปมองกันมา ก็ลุกไปเขียนข้อความหนึ่งขณะที่ฉันคุยกับเพื่อนนักเรียนของเธอ  เมื่อเธอเขียนเสร็จ ฉันเดินไปหยุดยืนอ่านข้อความนั้นเกือบจะทันที ข้อความใหม่ที่เธอเพิ่งเขียนคือ “กะหรี่อ่าน”

“อืม!” นั่นคือความคิดที่เกิดขึ้นทันที  อยู่ๆ ฉันก็วางเฉยกับความหมายของข้อความนั้น แต่รู้สึกได้ว่าเธอคนเขียนคงขุ่นเคืองที่ฉันมาจับตาดูพฤติกรรมของพวกเธอ และนี่คือการตอบโต้ของเธอคนนั้น

เด็กสาวคงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกไม่พึงพอใจในตอนแรกๆ ที่ฉันมาพบการกระทำของเธอ เป็นความรู้สึกที่คงสัมผัสได้จากกิริยาท่าทาง แม้ว่าจะไม่มีคำพูดใดๆ จากฉันก็ตาม

“ใครรักกับใครก็มาเขียนไว้ หรือใครเลิกกับใครก็เขียนด้วย จะได้มาอ่านกัน… มองแล้วดูไม่ดีใช่ไหม แต่เราก็แค่ระบายความรู้สึกเท่านั้นเอง”

ในที่สุด ฉันเลือกจะเดินจากมา  ระหว่างทางเดินกลับ เด็กผู้หญิงสองคนที่ฉันคุยด้วยเดินตามมาทัน แล้วยกมือไหว้ “สวัสดีค่ะ”  ฉันแปลกใจนิดหน่อย แต่ก็ได้ยกมือรับไหว้  เด็กคนหนึ่งก็ถามขึ้นว่า “คุณน้า จะกลับแล้วหรือคะ” ฉันตอบรับ และรู้สึกได้ว่าน้ำเสียงและกิริยามารยาทเป็นความสุภาพที่มาจากความรู้สึกที่แท้จริง

ฉันเข้าใจแล้วว่า พฤติกรรมการขีดเขียนในที่สาธารณะที่น่ารังเกียจ และบ่อยครั้งจะได้ยินใครต่อใครต่อว่าตำหนิที่ไปพบข้อความทำนองนี้ บนกำแพงวัด โบราณสถาน กำแพง และอื่นๆ  แท้จริงแล้ว เด็กวัยรุ่นเหล่านี้คงไม่เข้าใจและไม่รู้สึกเลยว่า การกระทำของตัวเองย่ำแย่สร้างความเดือดร้อนอย่างไร กับใคร ในเมื่อยังมีวัยรุ่นอีกมากที่ก่อความเดือดร้อนยิ่งกว่า ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์แข่งรถซิ่ง แก๊งค์ปาหิน ลักเล็กขโมยน้อย ติดยา มั่วเซ็กซ์ ยกพวกตีกัน  เหล่านี้กำลังบอกเราว่า สังคมกำลังป่วยจากโรคขาดพื้นที่ในการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง มองไม่เห็นความต้องการบางอย่างของบางคน โดยเฉพาะคนที่มีเรี่ยวแรงเหลือเฟือแต่ยังไม่มีการยอมรับ อย่างเด็กวัยรุ่น จนนำไปสู่การแสดงออกเพื่อประกาศตัวตน เรียกร้องการมีอยู่ของพวกเขา

สิ่งที่ได้จากการเดินเล่นที่สวนสาธารณะวันนั้น นอกจากย้ำเตือนภาพความป่วยไข้ของสังคมแล้ว นั่นยังทำให้ฉันได้พบ “ตัวหยุด” ที่มีอยู่ในตัวเอง  และที่สำคัญ มีสติทันให้ตัวหยุดได้ทำหน้าที่ แทนที่จะเข้าไปตำหนิติโทษพฤติกรรมของพวกเธอ โดยอ้างตำราวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งผลที่ได้อาจจะไม่ใช่แค่ข้อความ “กะหรี่อ่าน”  บนกำแพงนั้น ก็เป็นได้


ภาพสะพานพระราม 9: โดย Erzengel [CC BY-SA 4.0], via Wikimedia Commons

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ