ตามรอยพระศาสดา บทที่ 3 : ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

เครือข่ายพุทธิกา 30 พฤษภาคม 2022

ตามรอยพระศาสดา บทที่ 3

ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

พระนพดล ธีรวโร เจ้าอาวาสวัดดาวเรือง จ.ชัยภูมิ

 

จากวัดที่เกือบจะร้าง ชาวบ้านไม่เข้าวัด ไม่ทำบุญใส่บาตร แต่เมื่อวันหนึ่งพระนพดล ธีรวโร  เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดาวเรือง บ้านช่อระกา ก็ได้พลิกฟื้นวัดให้กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน  ศรัทธาที่จางไปเริ่มกลับมา ชาวบ้านต่างเข้ามาร่วมกันฟื้นฟูวัด จากวัดที่แห้งแล้งกลายเป็นพื้นที่ร่มเย็นถิ่นรมณีย์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน 

พระนพดล ธีรวโร เป็นนักกิจกรรมทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย  ขณะเดียวกันก็สนใจประเด็นทางศาสนาเมื่อมาศึกษาธรรมะและบวชเรียนที่วัดป่าสุคะโต ท่านได้น้อมนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต สิ่งสำคัญคือการทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน  

สิ่งสำคัญนี้ ท่านได้นำมาปฏิบัติอย่างประจักษ์ในฐานะเจ้าอาวาสวัดดาวเรือง  บ้านช่อระกา จ.ชัยภูมิ เจ้าอาวาสที่บอกว่าตัวเองทำหน้าที่เป็นเพียงสะพานเชื่อมให้คนเข้าวัด เข้าหาธรรม พระไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของวัด แต่ชาวบ้านคือเจ้าของที่แท้จริง

ทราบมาว่าตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ท่านชอบทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เพื่อสังคม เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สมัยที่เรียนอยู่ ม.เกษตรฯ ทำกิจกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะกิจกรรมการพัฒนา ค่ายอาสา ออกค่ายอาสาหลายครั้ง สนใจงานกิจกรรมกับชุมชน กับสังคมแบบนี้เรื่อยมา จนกระทั่งมารวมกลุ่มกันทำสหพันธ์เยาวชน สมัยเรียนอยู่อาตมาเป็นเลขาธิการสหพันธ์เยาวชน 40 สถาบัน ได้ทำกิจกรรมในมิติงานสังคมแบบนี้อยู่เรื่อยๆ คิดว่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในการทำกิจกรรมชุมชนและช่วยเหลือสังคม พอมาบวชก็ประจวบเหมาะเลยว่า ทางสายวัดป่าสุคะโต เป็นวัดที่ไม่ใช่แค่เผยแผ่ศาสนาเท่านั้น เราทำกิจกรรมเพื่อชุมชนด้วย เพื่อจะดึงคนเข้าสู่ทางธรรมมากขึ้น

 

นอกจากประเด็นเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมที่สนใจ แล้วเรื่องศาสนาล่ะคะสนใจมาพร้อมๆ กันหรือเปล่า

ความจริงเราเป็นคนที่สนใจศาสนามาก่อน ก่อนบวชเราอยู่ในโบสถ์คริสเตียนมา 20 ปี เป็นคนสอนพระคัมภีร์ในโบสถ์ แต่พื้นฐานครอบครัวเราเป็นพุทธ มาทำกิจกรรมจากโบสถ์ยาว จนกระทั่งเราสนใจเรื่องวิปัสสนา และคิดว่าการที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเชื่อมต่อกับสิ่งสูงสุดได้ หรือมีชีวิตที่ดีงามได้ เรื่องวิปัสสนาของคนพุทธเป็นมิติที่น่าสนใจ เลยไปเรียนวิปัสสนาที่เกาหลี  วัดพุทธที่โน่นสอนวิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว อยู่เกาหลีเกือบ 2 ปี พอกลับมาที่เมืองไทย ความสนใจสมาธิเคลื่อนไหวยังมีอยู่ บังเอิญวันหนึ่งนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน เห็นพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มาออกรายการสด ประมาณ 10 นาที คิดว่าท่านตอบคำถามกระชับ สั้น และคม ท่านมาสอนยกมือ 14 จังหวะ เจริญสติแบบคนเมือง (เคลื่อนไหว) ด้วย ก็เชื่อมโยงกัน เลยทำให้เส้นทางเราเดินมาถึงจุดนี้ ก็พบว่าศาสนาไหนไม่ต่างกัน พบว่าจุดที่เราทำในแต่ละจุด มันเชื่อมโยงถึงกันหมด พอได้มาที่วัดป่าสุคะโต ทำให้มิติของคำว่าศาสนาของเราไม่ติดอยู่ที่กรอบใดกรอบหนึ่ง เป็นสากล คำสอนของครูบาอาจารย์จะตรงกันในหลายแง่มุมหลายมิติ ทำให้เรารู้สึกว่า มันใช่ พอใช่ปุ๊บก็ทำให้เราเดินทางมาเรื่อยจนถึงจุดทุกวันนี้

 

การได้ดูพระไพศาล วิสาโล ออกรายการทีวี นับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์เดินทางยังวัดป่าสุคะโตด้วยใช่ไหมคะ

ตอนนั้นบอกกับครอบครัวว่า จะไปปฏิบัติธรรมวัดนี้เลย เริ่มจากไปสมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโต 7 วัน จบคอร์สหนึ่งเข้าต่ออีกคอร์สหนึ่ง  อีกหลายเดือนต่อมาก็มาเข้าอีกคอร์สหนึ่ง คิดว่าจะหาเวลาบวชอยู่กับหลวงพ่อคำเขียนสักช่วงหนึ่งสั้นๆ เริ่มแรกคิดบวช 21 วัน พอผ่านไป 21 วัน ก็ต่อวีซ่าไปเรื่อยๆ เป็น 40 วัน และเป็นหนึ่งพรรษา ก็ต่อเวลาให้ตัวเองไปเรื่อยๆ ได้ไปเดินธรรมยาตรา ทำกิจกรรมโน่นนี่กับทางวัด หันหลังกลับมาอีกที หลายอย่างในตัวเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลายๆ อย่างถูกแก้ปัญหา แล้วก็มีสภาวะที่หลายอย่างเปลี่ยนไป เลยบวชต่อมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ 12 ปีแล้ว

 

ทั้งปฏิบัติธรรมและบวชที่วัดป่าสุคะโต หากสุคะโตเป็นโรงเรียน ท่านคิดว่าโรงเรียนนี้หล่อหลอมเรื่องใดให้บ้าง 

เรื่องวินัย ความรับผิดชอบ การไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่คิดถึงผู้อื่นด้วย คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ เราเคยคุยกับหลวงพ่อคำเขียนหลายครั้ง เพราะมีความคิดที่จะไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปอยู่ตรงโน้นตรงนี้ หลวงพ่อบอกว่า “คนที่คิดถึงแต่ประโยชน์ตนอย่างเดียว พระพุทธเจ้าไม่เรียกหา คนที่คิดถึงแต่ประโยชน์ท่านอย่างเดียว พระพุทธเจ้าก็ไม่เรียกใช้ แต่คนที่คิดถึงทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน พระพุทธเจ้าถึงเรียกหาและเรียกใช้” หมายถึงว่าในมิติทางธรรมเราต้องเติบโตไปด้วย ไม่ใช่ว่ามุ่งแต่จะไปช่วยเหลือโลก ช่วยเหลือสังคมอย่างเดียว จนละลืมตัวเองไป ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่โดดเด่นมาก คือ ทำทั้งประโยชน์แห่งตนและประโยชน์ผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน เพราะบางครั้งเราลืมไป มุ่งแต่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นจนกระทั่งตัวเองเดือดร้อน ตัวเองเป็นทุกข์ ออกจากห้วงความทุกข์โดยตัวเองไม่ได้ เราจะเห็นพี่น้องจิตอาสา หรือพี่น้องที่ทำงานสาธารณะส่วนหนึ่งเป็นแบบนี้ เอาแต่คิดถึงแต่ผู้อื่น จนลืมเรื่องตนเอง เผลอปล่อยตัวเอง จมอยู่ในมุมเศร้า หรือแก้ปัญหาไม่ได้ เราคิดว่าวัดป่าสุคะโต เน้นจุดนี้ว่าต้องทำสองด้านให้ไปด้วยกัน

 

ตอนแรกที่มาอยู่วัดป่าสุคะโต แล้วพบคำสอนที่ว่าให้ทำทั้งประโยชน์แห่งตนและประโยชน์ผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน  ในแง่ของการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นคงไม่ยาก ในฐานะของคนที่ชอบทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาแล้ว แต่การทำประโยชน์ตนล่ะคะ  ท่านสร้างความสมดุลตรงนี้อย่างไร

โดยการเจริญสติ  สร้างความรู้สึกตัว จะทำให้ชีวิตของเราเดินทางควบคู่กันไป ในขณะที่เราทำงานชุมชนก็ดีอย่างอื่นก็ดี โดยหลักการของการเจริญสติ เราก็ใช้งานเหล่านั้นเป็นการภาวนาได้ มันเจริญเติบโตไปด้วยกัน บังเอิญว่าหลังจากเราบวช ตลอด 9 เดือนไม่เคยออกจากวัดเลย แล้วก็อยู่กับการภาวนายาวต่อเนื่อง เราคิดว่าการเจริญสติต้องติดตัวก่อน เพราะถ้าเราไม่มีหลักการตรงนี้ การเจริญสติในชีวิตประจำวันก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นการเจริญสติได้ ต้องให้เวลาตัวเองสักช่วงหนึ่ง อาจจะ 7 วันอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ปีหนึ่งอาจจะครั้งสองครั้ง คือถ้ามันได้ปุ๊บยังไงมันก็อยู่กับเรา ไม่ไปไหน อาตมาชอบยกตัวอย่างเรื่องการขี่จักรยาน พอขี่เป็นแล้วก็ขี่เป็นเลย การเจริญสติเหมือนกันพอทำได้แล้วก็ติดตัวเราเลย วิธีการเหล่านี้ การเดินทางของสิ่งเหล่านี้จะมาเองไปเอง มันจะคล่องเอง ถ้าได้หลักการตรงนี้ติดตัวเราแล้ว เราไปทำงานข้างนอกหรือไปอยู่ตรงไหนก็ได้

 

ในฐานะของคนทั่วไป พระอาจารย์มีคำแนะนำยังไงบ้าง กับการฝึกตัวเองให้มีทั้งการทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านอย่างสมดุล

เราต้องรู้จักสังเกตตัวเอง ด้านกายก็ดี ใจก็ดี เราจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าสมดุลหรือยัง ใจเราพร่องไปไหมหรือกายเราพร่องไป ไม่มีใครบอกเราได้ แต่ตัวเราจะเป็นตัวชี้และเห็น เพราะฉะนั้นถ้าเราทำงานด้านภายนอกมากเกินไป ต้องเติมเต็มด้านภายในด้วย พลังชีวิตทั้งกายกับใจต้องไปด้วยกันตลอด จิตวิญญาณเราทิ้งไม่ได้เลย แต่บางครั้งเรามีข้ออ้าง เพราะตารางเวลาของกาย ตารางเวลาของโลกภายนอกมันควบคุมเราอยู่ แต่ความจริงแล้วภาวะพลังชีวิต พลังด้านในมันมี เขาเรียกว่าเป็นประธานเป็นตัวที่ทำให้พลังภายนอกเดินไปข้างหน้าได้ บางครั้งเหมือนเราลืมไป บางครั้งเราเหนื่อย ท้อ หรือแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะพลังชีวิตสองข้างไม่สมดุลกัน เพราะฉะนั้นให้ฝึกสังเกตตัวเองก่อนอันดับแรก คือ ให้เห็นตัวเอง อาตมาแนะนำแบบง่ายๆเลย เมื่อเราสังเกตตัวเองปุ๊บ ต้องแบ่งเวลาให้ทั้งสองข้าง อย่าทอดทิ้งเขาไป

ถ้าเราไม่เคยให้เวลาตัวเองเลย เช่นอยู่กับตัวเอง 7 วันเงียบๆ กำลังเจริญสติมันก็น้อย มันอ่อนกำลัง เพราะฉะนั้น ปีหนึ่งเราควรให้เวลากับตัวเองเหมือนกัน ให้ตัวสติมีกำลัง ฟื้นฟูเขา ทำให้เขาคล่องตัวขึ้น มันจะช่วยการออกไปอยู่โลกภายนอก ทำให้เรามีกำลังแห่งสติได้เร็วขึ้น และพึ่งตัวเองได้เร็วขึ้น  ถ้าไม่มีเวลาเลยก็ต้องพึ่งตัวเองโดยกุศโลบายที่สร้างขึ้น ขนาดเป็นพระยังต้องมีกุศโลบายว่า ต้องผูกตัวเองไว้ที่หลัก เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จิตเราเหมือนลิง ซุกซนวิ่งไปวิ่งมา แต่ไม่มีหลัก อันนี้ก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรม การใช้เวลาอยู่กับตารางเวลาของวัด ตื่นเช้าทำโน่นนั่นนี่ อันนี้เหมือนหลัก โยมเหมือนกันชีวิตข้างนอกก็ต้องมีกุศโลบายให้ตัวเองว่า เราต้องมีหลักบางอย่าง ถ้าภาษาพระคือดำริ เราดำริเสร็จปุ๊บ ต้องแอ็คชั่นด้วย

 

พอจะยกตัวอย่างถึงกุศโลบายของท่านในเรื่องการปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมได้ไหมคะ

โดยกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นตี 4 มาทำวัตร ทำวัตรเสร็จก็ฟังธรรมะ วันนี้เราเป็นผู้นำ ต้องนำพระลูกวัดและญาติโยมภาวนา คือพยายามทำให้ได้ทุกวัน แม้จะมีเวลาน้อย ก็ต้องพยายามทำให้ทุกวัน ถ้าทำไม่ได้จะเริ่มหาอุบาย เช่น ทุกวันพระชวนคนมาที่วัด พอชาวบ้านมาที่วัด พระก็ต้องออกมาปฏิบัติกับโยม นี่เป็นอุบายนะ การที่พาโยมมาวัด พระก็ขี้เกียจไม่ได้รวมทั้งผู้นำด้วย ต้องกระตือรือร้น เพื่อนำพาโยมปฏิบัติ ทุกอย่างล้วนเป็นวิธีผลักดันตัวเอง ผลักดันผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน และโดยผ่านกิจกรรมที่เราออกแบบ วันพระก็ดี หรือการจัดคอร์สสั้นๆ เช่น คอร์สที่ผ่านมาที่วัดจัด  คือคอร์สธรรมชาติบำบัด จัดแค่ 2 คืน 3 วัน มีเงื่อนไขว่า เป็นคอร์สปฏิบัติธรรมบวกสุขภาวะองค์รวมเชิงพุทธ คือดูแลสุขภาพ ทุกคนจะต้องตื่นเช้าตี 4 ทำวัตรด้วยกัน ได้ภาวนา ฟังธรรม ทุกคนที่มาเข้าคอร์สต้องเจอพระตอนเช้า 2 ชั่วโมง ตอนเย็น 2 ชั่วโมง ได้เจอพระ ได้ฟังธรรมแน่นอนวันละ 4 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือให้เข้าฐานเรียนรู้ดูแลสุขภาวะตัวเองด้านโน้นด้านนี้ ซึ่งก็มีวิทยากรเป็นกรุ๊ปๆ ให้ความรู้ พอเขามาเข้าคอร์สแบบนี้พบว่า ทั้งกายใจต้องไปด้วยกัน ถึงเกิดสุขภาวะองค์รวมได้ อันนี้เป็นอุบายหนึ่งที่ทางวัดออกแบบ ถ้าจะปฏิบัติธรรมจ๋าเลย หนึ่ง คนไม่อยากมา สอง เห็นบ่อย แต่พอเราบูรณาการคอร์สปฏิบัติธรรมแบบนี้ พบว่าเด็กวัยรุ่นก็มานะ คนทำงานก็มา ทำสั้นๆ แค่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มันก็ง่ายขึ้น เป็นการออกแบบกิจกรรม เป็นการสร้างพื้นที่และเปิดโอกาสให้คนได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง แต่จุดประสงค์หลักจริงคือพาคนเข้าวัด คิดตลอดเวลาว่าจะทำกิจกรรมอะไรให้คนเข้าวัด ส่วนที่เหลือเป็นการทำหน้าที่ของเรา หมายถึงว่า กิจวัตรของเราที่จะพาคนเข้าถึงธรรมได้

จากที่ท่านเล่ามา ท่านบวชอยู่ที่วัดป่าสุคะโตตลอด แต่วันหนึ่งได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดดาวเรือง ในตัวเมืองชัยภูมิ  ความเป็นมาช่วงนี้เป็นอย่างไรคะ

ก่อนหน้านี้เราไปธุดงค์ที่ประเทศอินเดีย จำพรรษาที่วัดไทยในเมืองธรรมศาลา (ดารัมซารา) ประเทศอินเดีย เป็นวัดสายหลวงพ่อเทียนเหมือนกัน คิดว่าปีถัดไปก็จะไปจำพรรษาที่ธรรมศาลาอีก เผอิญวีซ่าหมด ก็กลับมาเมืองไทย มาเดินธรรมยาตรา เผอิญคืนนั้นเป็นคืนที่กางเต็นท์ใกล้ๆ กับพระอาจารย์โน้ต (พระสุทธิศาสตร์ ปัญญาปทีโป) บังเอิญท่านมีเรื่องหนักใจว่าชาวบ้านมานิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดดาวเรือง ซึ่งพระอาจารย์โน้ตก็บวชที่วัดดาวเรือง พรรษาแรกจำพรรษาที่นั่น แต่ว่าท่านไปอยู่สุคะโต เป็นรองเจ้าอาวาส วันหนึ่งชาวบ้านก็ไปนิมนต์ แต่ท่านไม่สามารถมาได้ ตอนนั้นชาวบ้านร้างพระ หมายถึงว่า ชาวบ้านเกิดวิกฤตทางศรัทธาระหว่างฝั่งพระเดิมกับชาวบ้าน กลายเป็นว่าวัดเกือบจะร้าง พระอาจารย์โน้ตมานิมนต์เราว่าให้ไปช่วยดูวัดให้หน่อย ตอนนั้นไม่รู้ว่าวัดดาวเรืองอยู่ที่ไหนด้วย แต่ด้วยความว่าครูบาอาจารย์ท่านนิมนต์ให้มาดูแลวัดให้หน่อย เราก็รับนิมนต์จากท่าน เดี๋ยวผมไปเฝ้าวัดให้พระอาจารย์ก่อนก็ได้ พอมาวัดก็คือเป็นเจ้าอาวาสโดยปริยาย จนถึงวันนี้มาอยู่ที่วัดดาวเรือง บ้านช่อระกาได้ 5 ปีแล้ว แล้วเราเหมือนเป็นพระใหม่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาอยู่ ก็ต้องฟื้นศรัทธาใหม่หมด และชวนชาวบ้านฟื้นฟูวัดใหม่ ตั้งแต่วัดไม่มีต้นไม้ แห้งแล้งต้นไม้ เราก็เริ่มปลูกต้นไม้ ทำวัดให้เป็นรมณีย์ ร่มรื่น เข้ามาถึงวัด แม้ไม่เจอพระ แต่ก็รู้สึกได้ถึงความร่มเย็น ตลอด 4  ปีที่ผ่านมาปลูกต้นไม้อย่างเดียว ทำวัดให้เป็นพื้นที่สีเขียว

ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อ 5 ปีก่อน ท่านวาดภาพวัดดาวเรืองไว้ว่าเป็นอย่างไร

ไม่มีภาพในหัว ไม่รู้จริงๆ รู้แต่ว่าถูกส่งมาให้ดูแลวัดและฟื้นวัด มีแต่ใจอย่างเดียว ตอนนั้นคิดว่า เราหนีจากกรุงเทพฯ ไปบวชวัดป่า อยากอยู่ป่าแบบสงบ แต่พอเวลาหนึ่งผ่านไป ความคิดคนเปลี่ยน ถ้าคิดว่าเราจะอยู่แต่ในป่าจะสงเคราะห์คนได้อย่างไร เราคิดว่าเมื่อเป็นพระแล้วอยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นพระได้ หมายถึงว่า เมื่อเราเป็นพระที่ทำประโยชน์ได้ ให้ไปอยู่ที่ไหนเราก็ต้องทำประโยชน์ได้ ถึงวัดที่นี่จะเป็นวัดบ้าน เป็นวัดที่ไม่มีต้นไม้ แล้ง ร้อน แต่ถ้าเราเป็นพระจริงๆ เราต้องอยู่ได้ และฟื้นศรัทธาผู้คนได้ และชวนชาวบ้านให้มาฟื้นวัด เวลาผ่านไปเร็วมากนะ  4 ปี ภูมิทัศน์ภายในวัดก็เปลี่ยนแปลงไปมาก  วันนั้นเราเคยมีคำถามเล็กๆ ว่า ทำไมชาวบ้านที่นี่ไม่ใส่บาตรนะ แต่พอมาถึงวันนี้เราพบว่า ความศรัทธาของผู้คนไม่เคยเสื่อมหายไปจากศาสนา ความรัก ความศรัทธาของผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวบ้านมีเต็มเปี่ยมเลย พอเราเห็นเขาเข้ามาทำงานที่วัด เห็นมาสวดมนต์มาภาวนา เขามีศรัทธาในศาสนามาก คนเหล่านี้เกิดก่อนเราอีก เขาเรียนปฏิบัติธรรมยกมือ 14 จังหวะก่อนเราอีก เขามีพื้นฐานกับหลวงพ่อคำเขียน กับอาจารย์โน้ตเป็น 10 ๆ ปีก่อนที่เราจะมาอยู่ เขาก็ภาวนาอย่างนี้มานานแล้ว เพียงแต่ว่าเกิดวิกฤตอย่างหนึ่ง เขาไม่เจอพระที่จะนำพาเท่านั้นเอง เราแค่มาทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้เขาเข้ามาทางธรรมได้ ทำหน้าที่แค่นี้ ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้สอนอะไรเขาเยอะแยะ เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นสะพานให้คนเดินเข้ามาในวัด คนก็ไม่ทิ้งวัด

 

อย่างที่ท่านบอกว่าหน้าที่คือเป็นสะพานเชื่อมให้คนมาวัด การเป็นสะพานของท่านใช้วิธีการแบบไหน

วัดต้องตอบโจทย์ชุมชนด้วยว่า ชุมชนต้องการวัดแบบไหน เราก็เริ่มทำให้วัดตอบโจทย์ชุมชน โจทย์แรกที่ทำคือทำวัดให้ร่มเย็นเป็นรมณีย์ เป็นวัดบ้านก็จริงแต่เรามีต้นไม้ก็จะกลายเป็นวัดป่า เราคิดว่าพอชาวบ้านได้พื้นที่ที่ร่มเย็น ก็ตอบโจทย์ข้อที่หนึ่งแล้ว เป็นการเย็นภายนอก และมาเจอพระที่พาเขาเย็นภายใน ให้ธรรมะเขา พาเขาปฏิบัติ ก็ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวพุทธ ตั้งแต่มาวัด รักษาศีล ปฏิบัติธรรม พาเขาทำง่ายๆ แบบนี้ ฟื้นฟูมาเรื่อยๆ ก็พบว่าโจทย์ข้อที่ 1 เราทำได้ ข้อที่ 2 ทำวัดให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อเขาคิดถึงการปฏิบัติธรรม วัดก็ทำหน้าที่นี้ หมายถึงเราทำวัดให้พร้อม มีการออกแบบพื้นที่ปฏิบัติธรรมเป็นลานธรรม ลานหินโค้ง ตอนนี้วัดเราเป็นสถานปฏิบัติธรรมประจำตำบล นอกจากเป็นที่ปฏิบัติธรรมของบ้านช่อระกาแล้วก็ยังเป็นของหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย  เรื่องที่ 3 เราทำวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เริ่มต้นด้วยพิพิธภัณฑ์ชุมชนช่อระกา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้  3 อย่างนี้ทำให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน คือเป็นแหล่งเรียนรู้ 4+1 หลักสูตรของวัดดาวเรืองคือ 4+1 คือทำเรื่องปัจจัย 4 แต่ต้องบวก 1 ด้วย

ชุมชนช่อระกาเป็นชุมชนดั้งเดิมอายุ 200 กว่าปี มีภูมิความรู้เรื่องข้าว เราทำเรื่องวิถีข้าว ทำเรื่องอาหารพื้นถิ่น ทำเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ที่นี่ทอผ้าไหม และทำเรื่องยารักษาโรค คือทำเรื่องสมุนไพร เราพาชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านช่อระกา ฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมด้านยา เราเอายาสมุนไพรมาลงที่วัดให้เป็นห้องเรียนสมุนไพร แหล่งเรียนรู้ 4 ด้าน คือ ด้านปัจจัย 4 จะทำเรื่องใดก็ตามต้องบวก 1 เข้าไปด้วย คือบวกศาสนาเข้าไปด้วย สังเกตว่าถ้าเราทำเรื่องนี้ แต่ไม่มีศาสนาเข้าไป คุณค่าจะลดไปเลย ต่างคนต่างอยากได้อยากเอาอยากมี หรือว่าจะทำธุรกิจ ทำยา ทำอาหารก็คิดแต่ตัวเอง ไม่ได้คิดถึงผู้อื่น พอเราชี้ให้เห็นถึงมิติว่า ศาสนาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ถึงทำให้คุณค่าชีวิตเกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้  ชาวบ้านก็เริ่มมีความชัดเจนว่าทิ้งวัดไม่ได้ หมายถึงว่า เราต้องใช้วัดเป็นศูนย์กลางเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้เด็กๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ทางจังหวัดประกาศวัดเราให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของจังหวัดชัยภูมิ เมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างที่บอกว่าไม่ว่าทางวัดดาวเรืองจะทำกิจกรรมใดต้อง + 1 มีเรื่องศาสนาเข้ามา แต่จะทำยังไงให้คนที่เข้ามาวัดไม่รู้สึกว่าไม่ถูกยัดเยียดคะ

ทุกกิจกรรมจะถูกจัดที่วัด เขาก็หนีไม่ได้ ต้องเจอพระ อาจารย์ก็พยายามสอดแทรกธรรมะ แล้วก็แง่คิด มุมมองการทำงาน การทำกิจกรรมแบบนี้ทีละเล็กละน้อย โดยที่เราไม่ได้บังคับฟัง โดยการที่เขามาร่วมกิจกรรมกับวัด กับพระอยู่เรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย เขาก็เริ่มเห็นวิถี ตั้งแต่วิถีวัด และวิธีคิดของพระ พอเขาเห็นวิถีวัด และวิธีคิดของพระ เขาก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  คือยัดเยียดไม่ได้ เพราะถ้ายัดเยียดปุ๊บ เขาจะไม่มาเลย เราสังเกตเห็นว่าโดยวิธีธรรมชาติแบบนี้มันค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติความคิดไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มเปิดใจ  อย่างสมัยก่อนมีแต่คนแก่เข้าวัด แต่อาจารย์เริ่มพาเด็กเข้าวัด โดยชวนเขามาบวชเณร เราก็เริ่มมีเด็กวิ่งในวัด พอเขามีเวลาปุ๊บ ก็มาวิ่งเล่น ปั่นจักรยานในวัด มาหาพระ กลายเป็นธรรมชาติที่เด็กเข้าวัดโดยไม่ได้บังคับ  พอเด็กเข้าวัด ปรากฏเราได้พ่อแม่เขาเข้าวัดด้วย แต่ก่อนมีช่องว่างห่าง มีแต่ผู้สูงอายุเข้าวัด แต่เราพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้ 3 ชั่วอายุคน มีทุกเจเนอเรชั่นมาเข้าวัด คิดไม่ออก จนกระทั่งเราจัดค่ายเณร โจทย์นี้แตกโดยปริยาย พอเด็กมาบวช พ่อแม่ที่ไม่เคยเข้าวัดก็มาวัด มาทำบุญ เราเห็นคนวัยแรงงานที่ไม่เคยเข้าวัดมาเข้าวัด เห็นมิติของวัดเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏว่าวัดดาวเรืองกลายเป็นศูนย์รวมของ 3 ชั่วอายุคนของทุกเจเนอเรชั่น สังเกตว่าเวลาวัดจัดกิจกรรม เรามีทุกวัยมาช่วยงาน จุดเด่นของวัดดาวเรืองคือการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูวัด ตั้งแต่ตั้งกรรมการวัดแล้ว อาจารย์ตั้งกรรมการวัด 8 ฝ่าย มีทุกฝ่ายเลย แล้วก็แต่ละฝ่ายมีทีมงานของเขา มีกรรมการ 75 ท่าน มาจากทุกหมู่บ้าน ทุกหมู่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารวัด และต้องกระจายไปในฝ่ายต่างๆ เวลาจัดงานวัด ทุกหมู่เข้ามามีส่วนร่วมในหน้าที่ของทุกมิติ พยายามทำแบบนี้ให้เขาเห็นว่า วัดเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของพระ ก็จะสอดรับกับที่ครูบาอาจารย์เราเน้นมาว่า ต้องนำวัดกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน ก็พยายามให้เขาเห็นว่าพวกเธอเป็นเจ้าของวัด พระมาแค่อาศัย แค่มาเป็นเจ้าอาวาสให้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมาร่วมบริหารวัด

ตอนที่พระอาจารย์มาแรกๆ และพยายามสร้างวัดให้เป็นถิ่นรมณีย์ มีความรื่นรมย์ ท่านเริ่มต้นทำอย่างไร

ก็ชวนชาวบ้านปลูกต้นไม้ แล้วเขาก็ช่วยกันบริจาคต้นไม้ ทำเป็นกิจกรรมๆ ไป วันนี้จะปลูกตรงนี้ อาจารย์ก็ขุดหลุมไว้เลย อาจารย์ขุดไว้ 40 หลุม ก็หาเจ้าภาพเลย ต้องการต้นไม้ 40 ต้น เขาก็ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ครอบครัวละต้นก็ได้แล้ว ก็ใช้วิธีอย่างนี้ตลอด 4 ปี เราหาอุบายไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้นไม้ก็เต็มวัดแล้ว เต็มพื้นที่อย่างรวดเร็ว ด้วยความที่วัดเราอยู่ติดกับชุมชน เราต้องหาอุบายไปเรื่อยๆ ให้คนเข้ามาดูแลวัด มันก็ไม่โดนละเลย มีกิจกรรมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เนื่องจากวันสำคัญทางศาสนามีเกือบทุกเดือน อย่างเช่น วันวิสาขบูชา พาชาวบ้านปลูกต้นไม้ ทางวัดเราเป็นแกนของโครงการปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ ปีนี้เราทำค่านิยมเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ทอดผ้าป่าด้วยต้นไม้ ที่ทำมาหลายปีคือพวงหรีดต้นไม้ เราพยายามรณรงค์ ยังทำได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางคนไม่รู้ เขายังเอาพวงหรีดมาอยู่ แต่โดยการที่เราพูดบ่อยๆ เราก็ได้ต้นไม้เข้าวัดเยอะ เขาเรียกงานศพสีเขียว พวงหรีดต้นไม้ เป็นกิจกรรมที่ทำให้วัดเป็นสีเขียวอย่างรวดเร็ว

ปกติเวลานึกถึงเจ้าอาวาสวัด ยิ่งวัดในเมืองจะรู้สึกว่าเข้าพบได้ยาก แต่สำหรับพระอาจารย์นพดล น่าจะสวนทางกันเลย  

เราพบไม่ยากเลย โดยความเป็นกันเองของเราและโดยงานที่ทำกับชาวบ้าน ชาวบ้านเข้ามาร่วมทำงานกับเราบ่อย เขาก็คุ้นเคยกับเรา มีความสนิทสนม ไปมาหาสู่กัน เพราะฉะนั้นเวลาที่ชาวบ้านทำกิจกรรมในหมู่บ้าน เราก็ไม่ละเลย ก็เข้าไปช่วยเขา บางทีไม่ใช่งานเกี่ยวกับพระเกี่ยวกับวัด เราก็ออกไปดู ไปเยี่ยมเขา เรามีกิจกรรมเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้าน เวลาที่ประสบวิกฤต เราก็มีถุงยังชีพ ถุงปันบุญจากวัดออกไปแจกชาวบ้าน ไม่มีช่องว่างกับชาวบ้าน ก็ทำให้สะดวกในการที่เขาเข้ามาพูดคุย มาปรึกษา หรือที่ผ่านมาเขาไม่เคยมาปรึกษาพระเลยว่าจะจัดงานนั้นนี้ แต่หลังๆ เข้ามาปรึกษาพระ อีกอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย อดีตที่ผ่านมาเคยดูดบุหรี่ในวัด ทุกวันนี้เขาไม่กล้าดูดบุหรี่ในวัดแล้ว เราติดป้ายและรณรงค์ สงวนพื้นที่วัดให้ปลอดอบายมุข ซึ่งชาวบ้านก็รู้หน้าที่โดยตัวเองว่า จะไม่ดูดบุหรี่ในวัด เขาก็ออกไปดูดนอกรั้ว ก่อนหน้านี้วัดเคยมีการละเล่นบันเทิงที่ลานวัด มีคอนเสิร์ต หมอลำ รำวง แต่พอเรามาอยู่ก็เปลี่ยนไปแล้ว หมายถึงว่าโดยผ่านความคิดเห็น ทิศทางที่เราพัฒนาวัดไป ชาวบ้านก็ปรับตัวว่าแบบนี้ไม่เหมาะกับวัด เขาจะตัดสินใจกันเองว่า ถ้าเป็นรถแห่หรือบันเทิงหรือหมอลำจะไม่เอาเข้ามาในวัด ช่วงเวลาที่เราพาเขาฟื้นวัด เขาจะเห็นทิศทางที่ชัดเจน โดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปาก เขาจะรู้โดยธรรมชาติ

 

บทบาทของพระสงฆ์อย่างพระอาจารย์คือไม่ใช่แค่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเพียงอย่างเดียว แต่คือการเข้าหาชุมชน ช่วยเหลือชุมชน  ศึกษาหาความรู้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นอย่างไร นำสิ่งนั้นมาก่อเกิดกิจกรรมให้ต่อยอดอีกด้วย

เรื่องพิธีกรรมสำหรับเราใช้คำว่าบูรณาการได้ไหม คืออะไรที่เยอะเกินไปก็ตัดทอนลงให้เหลือแต่สาระสำคัญ 4-5 ปีที่ผ่านมา พิธีกรรมหรืองานบุญอะไรที่มากเกินไปก็แนะนำชาวบ้านว่าเอาออกไหม หรือว่าบางงานบุญถามใครก็ไม่รู้ว่าทำทำไม แต่ว่าทำทุกปี หน้าที่ของเราคือให้สารัตถะ ต้องเอาธรรมะไปเชื่อมว่า มีที่มาที่ไป หรือมีคุณค่ายังไง เหมือนกับพาชาวบ้านทำบุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ บางครั้งแค่จัดแล้วนั่งฟังพระเทศน์ไปจนกระทั่งลืมสารัตถะไป ก็ต้องฟื้นสารัตถะขึ้นมาใหม่  หมายถึงว่าหาสาระให้ชาวบ้านมองเห็นให้เกิดคุณค่า นี่คือเรื่องงานบุญ เราก็ต้องบูรณาการเหมือนกัน  แต่ไม่ใช่ว่า คิดจะเลิกก็เลิก ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะชาวบ้านเชื่อเรื่องนี้ เขาทำอย่างนี้ต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน เราก็ต้องเชื่อมโยงองค์ธรรมให้ไปถึงเขา และพอเริ่มทำงานกับชาวบ้าน 4-5 ปี เราพบว่างานบุญแต่ละงานความมุ่งหมายหลักเลยคือ เกิดความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธ ทุกครอบครัวมีส่วนร่วมกับงานบุญ ข้อนี้เห็นกับตา ทุกบ้านมาวัด พอตาพระเห็นปุ๊บ พระต้องทำหน้าที่แล้ว เห็นไหมโอกาสน้อยมากที่ทุกบ้านจะเข้าวัดวันเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หน้าที่ของพระคือพยายามนำธรรมะให้เข้าถึงผู้คน เรามีจังหวะสั้นๆ อาทิ เช่น คนจะมารวมกันทุกครอบครัว ถ้าเขามีเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง เราต้องสามารถแสดงธรรมให้ได้ภายใน 10-15 นาที เพราะฉะนั้นอาจารย์ต้องมองเห็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทำ เช่น พระอาจารย์ไพศาลท่านมีความสามารถพิเศษคือแสดงธรรมให้คนรุ่นใหม่ฟังในช่วงเวลาสั้นๆ เราก็ต้องเลือกองค์ธรรมที่สั้นกระชับ ได้ใจความและเข้าใจได้ง่าย อันนี้เป็นการออกแบบหมดเลย และเป็นการมองเห็นเลยว่า งานบุญเหล่านี้มีคุณค่า มีประโยชน์ ฉะนั้นหน้าที่ที่เราอยู่ตรงนี้ ต้องทำให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุดให้ได้

ในแง่การทำงานของวัดกับชุมชน ท่านคิดว่าปัญหา อุปสรรคที่สำคัญคือเรื่องอะไรบ้างคะ

เรื่องการสื่อสาร เราคิดว่าการที่วัดจะสื่อสารอะไรออกไปต้องใคร่ครวญ และสื่อสารให้เข้าใจ อย่ามากประเด็น คือทำแต่ละประเด็นให้ชัด ถ้าหากว่าต้องทำเรื่องหลายประเด็น ก็ควรค่อยๆ ทำไปทีละประเด็น การสื่อสารกับคนหมู่มาก ให้รู้จักสังเกตทิศทางของชุมชน ไม่มองเห็นจุดที่ขัดแย้ง ถึงมองเห็นก็ทำเป็นมองไม่เห็น ภาษานักพัฒนาคือสงวนจุดตัด แสวงจุดร่วม อันนี้เราถือคติเป็นใหญ่ ใครจะขัดแย้งอะไรมา ใครจะวิพากษ์วิจารณ์วัดยังไง ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่แสวงหาจุดร่วมไว้ก่อน ที่ทุกคนจะมาร่วมกันได้ จะมาทำบุญ มาเสียสละทำงานร่วมกันได้ คือเอาวัดเป็นตัวนำ เอาสิ่งสูงสุดคือ ศาสนา ธรรมะ มาเป็นตัวละลายความคิดที่ขัดแย้ง ละลายอุปสรรคปัญหา เช่น พระรู้ว่าชาวบ้านทะเลาะกัน หมู่นั้นไม่ถูก หมู่นี้ไม่เห็นด้วย แต่พระทำเป็นไม่รู้ เขาเรียกสงวนจุดตัด แสวงหาจุดร่วม อันนี้ถือว่าเป็นจุดใหญ่ ฉะนั้นสื่อสารอะไรไปจะใคร่ครวญให้ดีและทำให้ประเด็นกระชับสั้น อย่าให้ชาวบ้านต้องไปพูดต่อๆ กัน และขยายความกันเอง

 

วัดดาวเรืองสามารถเป็นโมเดลให้วัดอื่นนำไปปฏิบัติตามได้ไหม ถ้าอยากให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน

ปัจจุบันหลายวัดก็เข้ามาศึกษาดูงาน ที่วัดดาวเรือง จะบอกว่าให้วัดดาวเรืองเป็นโมเดลก็ไม่ได้ แต่อาจมาดูวิธีการ และวิธีคิด และมาดูบริบท ซึ่งแต่ละวัดมีบริบทแตกต่างกัน วัดอื่นๆ ที่เข้ามาดูวัดดาวเรือง ก็จะได้วิธีคิดวิธีการกลับไป และเอาไปปรับในมิติของตัวเอง เหมือนที่เล่าให้ฟังอาจได้แง่คิดมุมมองว่า เป็นพระก็จริง แต่ใช่ว่าเราจะทำได้ทุกเรื่อง เราก็พึ่งชุมชน วัดกับชุมชนไม่สามารถแยกจากกันได้

 

เป้าหมายที่พระอาจารย์ตั้งใจจะทำในลำดับต่อไปที่วัดดาวเรืองคือเรื่องอะไรคะ

ความตั้งใจตอนนี้คือทำเรื่องการศึกษา หมายความว่า ให้ที่นี่เป็นแหล่งศึกษา ตอนนี้เราร่วมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติของศาสตร์พระราชา ที่จะนำหลักสูตรของอารยะเกษตรมาบูรณาการ บวกกับ 4+1 ของเรา เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติมีโรงเรียนหลายโรงเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ เราคิดว่าโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านออกแบบไว้ จะเป็นอารยะเกษตรก็ดี กสิกรรมธรรมชาติก็ดี ก็ใช้วัดขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย และใช้ธรรมะกับทุนของชุมชนที่มีอยู่เรื่องปัจจัย 4 เข้าไปเสริมหนุนหลักการของกสิกรรมธรรมชาติ เราคิดว่าการผนึกกำลังของเครือข่ายเหล่านี้จะทำให้มิติการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงกว้างขึ้น นอกจากทำเรื่องการศึกษาแล้ว เราจะเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีทิศทางใกล้เคียงกันมาร่วมมือกัน ตอนนี้เราได้เครือข่ายสมุนไพรชัยภูมิ เครือข่ายแพทย์แผนไทยชัยภูมิ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งขับเคลื่อนในวงกว้างมาก เราใช้วัดเป็นฐานในการที่ทุกเครือข่ายมาใช้พื้นที่ของวัด มาใช้ทุนที่วัดมีอยู่ขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็อาศัยเครือข่ายมาเสริมหนุนงานวัดให้มีกำลังขับเคลื่อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาชุมชนเห็น เขาก็รู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว ไม่ใช่ว่ามีแต่เขาทำ มีเครือข่ายมีพี่น้องเราอีกหลายเครือข่ายเลยช่วยกัน อาทิ เครือข่ายปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ ซึ่งตอนนี้เรามี 40 วัดที่ทำเรื่องปลูกต้นไม้ไปด้วยกัน

 

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดาวเรืองมา 5 ปี จากวันแรกถึงวันนี้ ท่านพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงด้านในอย่างไร

ทำให้นึกถึงคำพูดหลวงพ่อที่พูดไว้ในเบื้องต้นว่า ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้บรรลุถึงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเราเห็นว่าทำได้จริง เราอย่าคิดว่าการภาวนาการปฏิบัติธรรมต้องปลีกวิเวกเท่านั้น ถึงเราอยู่ท่ามกลางชุมชนเราก็ภาวนา ทำให้การเจริญเติบโตของจิตวิญญาณเราเติบโตได้ แต่ช่วงจังหวะหนึ่งชีวิตก็ต้องมีเวลาให้กับตัวเองอย่างแท้จริง

 

จากการเป็นสะพานเชื่อมให้คนเข้าวัด เข้าหาธรรม ของพระนพดล ธีรวโร และจากการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างพระสงฆ์ และชาวบ้านชุมชนช่อระกาอย่างเข้มแข็ง  ส่งผลให้ชุมชนวัดดาวเรือง บ้านช่อระกา ได้รับรางวัลชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น ประจำปี 2564 จากกระทรวงวัฒนธรรม นี่อาจเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญเป็นอีกแรงบันดาลใจให้วัดอีกหลายแห่งทั่วประเทศได้กลับมาทำวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและมีความหมายต่อชีวิตจิตใจของผู้คน