ตามรอยพระศาสดา บทที่ 1 : การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

เครือข่ายพุทธิกา 30 มีนาคม 2022

“ตามรอยพระศาสดา”

สังคมไทยในอดีต วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพราะเป็นทั้งสถานที่เล่าเรียนเขียนอ่านความรู้ต่างๆ เป็นที่พักรักษาตัวในยามเจ็บป่วย และเป็นแหล่งรวมตัวของคนในชุมชน ฯลฯ พระสงฆ์นอกจากจะมีบทบาทในการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่หลากหลายกับผู้คนในชุมชนที่วัดตั้งอยู่ไปพร้อมกันด้วย

แต่เมื่อบทบาทของวัดเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยนในเวลาต่อมา เนื่องจากมีสถาบันทางสังคมใหม่ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น เข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ แทนวัด อีกทั้งสังคมยังให้คุณค่ากับการแสวงหาความสุขทางโลกมากกว่าการพัฒนาจิตใจตามแนวทางของศาสนาเหมือนในอดีต ทำให้บทบาทและความสัมพันธ์ของพระสงฆ์กับชุมชนค่อยๆ เลือนหายตามไปด้วย

มิหนำซ้ำข่าวคราวเกี่ยวกับคณะสงฆ์ตามสื่อต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธา หากปล่อยปละละเลย ไม่เร่งรีบแก้ไข จะยิ่งทำให้สังคมไทยไม่ใส่ใจในการทะนุบำรุงสถาบันสงฆ์ให้เข้มแข็ง ทั้งที่พระสงฆ์เป็นตัวแทนสำคัญของพุทธศาสนาที่มีบทบาทโดยตรงต่อการรักษาพระธรรมวินัยให้ดำรงอยู่สืบต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้สังคมจะเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันสงฆ์ไปมาก แต่ยังมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ทั้งทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและสังคม พร้อมกับตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยเพื่อขัดเกลาตนเองอย่างน่าเคารพยกย่อง ควรนำมาเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่างของการแสวงหาบทบาทใหม่ๆ ที่พึงปรารถนาของพระสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน

มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาจึงอาสานำเรื่องราวของพระคุณเจ้าเหล่านั้น มาสื่อสารเพื่อเป็นตัวอย่างของพระสงฆ์ที่รักษาโลกและรักษาธรรมอย่างสอดคล้องกับโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว


บทที่ 1

“การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”

พระวิชิต ธมฺมชิโต  ผู้ก่อตั้งสันติภาวัน สถานดูแลภิกษุอาพาธระยะท้าย

ในพุทธศาสนาภาวะใกล้ตายและจิตสุดท้ายเป็นขณะที่สำคัญยิ่งในการกำหนดภพภูมิต่อไป ทั้งยังเป็นจังหวะสำคัญที่นำสู่การหลุดพ้นด้วย พระภิกษุผู้ที่ตั้งใจบวชอุทิศตนต่อพระศาสนาล้วนต่างปรารถนาให้บรรยากาศในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตตนเกื้อหนุนต่อการพัฒนาจิตทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่ระบบดูแลพระอาพาธในบ้านเราเมืองพุทธ นอกจากจะไม่เอื้อต่อการพัฒนาจิตแล้ว ยังทำให้ศีลและวัตรของท่านมัวหมอง ต้องอาบัติมากมาย หากจะรักษาตัวอยู่ที่วัดก็ติดขัดเรื่องผู้ดูแลและยาที่ใช้ ในที่สุดต้องสิ้นลมไปอย่างเดียวดายที่โรงพยาบาล หรือหากญาติรับไปดูแลที่บ้านก็มักต้องลาสิกขาในที่สุด การมีสถานที่ดูแลพระอาพาธระยะท้าย เพื่อเตรียมการให้ท่านจากไปอย่างสงบงดงามตามวิถีแห่งสมณะย่อมเกื้อกูลต่อท่านอย่างยิ่ง

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จึงทำให้พระวิชิต ธมฺมชิโต หรือพระจอม  อดีตเภสัชกร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดแรงบันดาลใจ และก่อตั้ง “สันติภาวัน” ขึ้นเพื่อดูแลแบบประคับประคองด้านร่างกายและจิตใจให้กับภิกษุอาพาธในวาระสุดท้ายของชีวิต

จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมะ และปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ แต่เมื่อได้อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ พระจอมก็พบว่าการปฏิบัติธรรมกับการดำเนินชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน ดั่งที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ชีวิตของท่านจึงอุทิศให้กับการทำงานด้านสุขภาพและความตาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคม ทั้งยังช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเกี่ยวกับชีวิตและความตายสู่สังคมอย่างร่วมสมัย  

จากที่พระจอมเคยทำงานทางโลก และเป็นข้าราชการด้วย ไม่ทราบเพราะเหตุใด ท่านจึงตัดสินใจบวช

มีหลายเหตุปัจจัยที่มาประกอบพร้อมกันพอดี ส่วนหนึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวเรื่องพุทธศาสนาอยู่แล้ว กับอีกส่วนหนึ่งช่วงเรียนปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์การแพทย์ มีโอกาสศึกษาประเด็นทางพุทธศาสนาด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีความรู้สึกว่าเรื่องของพุทธศาสนาน่าสนใจมาก ถ้ามีโอกาสอยากจะศึกษาให้มากกว่านี้ บังเอิญช่วงนั้นเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมหิดลออกนอกระบบ และยังมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้เราสามารถออกได้ โดยเรายังมีสิทธิพิเศษบางประการ เช่น ได้รับบำนาญ นี่เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา ทำให้รู้สึกว่าเรามีความมั่นคงในระดับหนึ่ง ประกอบกับทำงานใช้ทุนครบ เลยใช้โอกาสพิเศษตอนนั้นที่เปลี่ยนระบบออกมาแล้วก็บวช บวชพรรษาหนึ่ง พอครบพรรษาตัดสินใจอีกครั้ง ว่าน่าอยู่ต่อ เลยลาออกจากราชการ ไม่ได้กำหนดว่าอยู่ต่อไปเรื่อยๆ หรือบวชไปตลอดชีวิต ก็มีความรู้สึกว่ามีงานทำและมีความสุขดี บวชมาจนถึงทุกวันนี้ก็ 13 พรรษา

 

นับตั้งแต่บวชเรียน มีประเด็นทางพุทธศาสนาเรื่องอะไรบ้างที่ท่านสนใจเป็นพิเศษ

ตอนบวชตั้งใจศึกษาเนื้อหาตัวพุทธศาสนา เหมือนการตั้งเป้าหมายของภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนา เราก็อยากปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ อยากปฏิบัติเพื่อรู้ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงแค่ไหน เป้าหมายคือแค่นี้ แต่พื้นฐานที่เรียนด้านสุขภาพ และประกอบกับประเด็นตอนทำวิทยานิพนธ์เป็นประเด็นเรื่อง แนวคิดพุทธศาสนากับเรื่องสุขภาพ พอยิ่งอ่านก็รู้สึกว่าช่างน่าสนใจ เป็นแนวคิดที่เรารู้สึกว่า สามารถมาแก้ปัญหาได้ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า เรามีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา และพอปฏิบัติธรรมไปก็พบว่าการปฏิบัติธรรมกับการดำเนินชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน พระอาจารย์พุทธทาสพูดชัดว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” เพราะฉะนั้นเป้าหมายการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ก็ยังมี แต่ก็ยังสามารถทำงานด้านสุขภาพและความตายได้

 

นอกจากประเด็นเรื่องสุขภาพ ประเด็นเรื่องความตายก็เป็นประเด็นที่ท่านสนใจ

พื้นฐานเรียนมาด้านสุขภาพ ช่วงปริญญาเอกเรียนสายสังคม ทำให้เรามองเห็นทั้งสองด้าน ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และพระอาจารย์ไพศาลท่านก็สนใจประเด็นเรื่องความตาย และตัวเองก็สนใจ เรื่องความตายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ พอหยิบเรื่องความตายขึ้นมาพูด จะดึงทุกคนกลับมาอยู่กับตัวเอง เพราะการพูดเรื่องความตาย เป็นเรื่องของการกลับมาอยู่กับชีวิต ว่าเราจะจัดงานศพเราอย่างไรเมื่อตายไปแล้ว

 

แล้วจากจุดไหน หรือจากประสบการณ์อะไร ที่ทำให้ท่านมาลงมือทำเรื่องการดูแลพระอาพาธ

ตอนที่บวช บวชอยู่ที่วัดโพธิ์เผือก จ.นนทบุรี ได้มีโอกาสดูแลเจ้าอาวาสซึ่งป่วยด้วยหลายโรค จนกระทั่งท่านมรณภาพ การดูแลท่านมีโอกาสได้เห็นช่วงท้ายที่ได้พาท่านไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ท่านได้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เราได้ไปเห็นและพบว่าพระเมื่ออยู่โรงพยาบาล ถ้าเราสนใจหรือเน้นเรื่องวินัย จะพบว่าพระจะอาบัติ จึงมีความรู้สึกว่าตัวเราเองเป็นบุคลากรทางสุขภาพและเป็นพระด้วย คิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้พระได้รับบริการสุขภาพที่ดีขึ้น

ปะเหมาะเคราะห์ดี ได้ประสานงานกับทางโรงพยาบาลสงฆ์ พร้อมทั้งได้เขียนหนังสือเรื่องการดูแลพระในโรงพยาบาล สิ่งที่ควรทำมีอะไรบ้าง และมีโอกาสได้รับนิมนต์ไปบรรยายพูดถึงหนังสือเล่มนี้ให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลฟัง ได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่า พระมีปัญหามากมายตอนที่ได้รับการบริการที่โรงพยาบาล เช่น เมื่อพระอาพาธแล้ว ได้รับการรักษาแล้ว และการรักษาที่โรงพยาบาลมีข้อจำกัด  เมื่อสิ้นสุดการรักษาคือดูแลได้เท่านี้ ญาติต้องรับไปดูแลต่อ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ใครจะรับไปดูแลต่อ วัดก็ดูแลไม่ไหว เพราะพระเณรมีน้อย โรงพยาบาลก็จะติดต่อตามเกณฑ์ของโรงพยาบาล คือติดต่อญาติ ญาติก็มีหลายแบบ จำนวนมากเลยคือญาติจะรับพระกลับไปดูแลที่บ้าน แต่ปัญหาคือคนดูแลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทำให้ไม่สะดวกในการดูแล เพราะพระมีวินัยมีศีลอยู่ อาจทำให้พระต้องสึกออกมาเป็นโยม ทั้งๆ ที่ยังอยากจะเป็นพระอยู่

หรืออีกส่วนหนึ่ง เมื่อติดต่อไปทางญาติ ญาติไม่ยอมรับกลับไปดูแลต่อ ซึ่งมีหลายเหตุผลในการไม่รับพระกลับไปดูแล เช่น ไม่พร้อมที่จะรับ การดูแลผู้ป่วยที่ติดเตียงหรือป่วยระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่าย หรือมีบางคนพูดว่าตอนหนุ่มๆ ที่จะไปบวชบอกว่าจะบวชเพื่อช่วยพระศาสนา แต่พอป่วยแล้วทำไมพระศาสนาไม่รับไปดูแล

ทำให้ได้รับรู้ปัญหาจากผู้คน จากบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลพระอยู่ ทางโรงพยาบาล ทางสังคมสงเคราะห์พยายามช่วย พยายามติดต่อไปทางสังคมสงเคราะห์จังหวัดซึ่งมีศูนย์ที่ดูแลผู้คนที่ไร้ที่พึ่ง แต่ไม่รับดูแลพระ ต้องสึกมา

 

ทำให้รู้สึกว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่พอสมควร

จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะมาทำเรื่องสุขภาพ ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม แต่พอทำไปๆ พบว่าการทำงานกับการปฏิบัติธรรม สามารถเอื้ออำนวยกันได้ และพบว่าตรงนี้เป็นจุดที่มีปัญหาทั้งกับพระ กับโยม และพุทธศาสนาโดยรวมด้วย เพราะเรามองว่าคนที่ตั้งใจบวชอุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา ถ้าเกิดเขาไม่มั่นใจว่าตอนท้ายเขาจะอยู่อย่างไร ตอนแก่ ตอนป่วย จะอยู่ในพุทธศาสนาได้ไหม อาจทำให้หลายคนไม่กล้าตัดสินใจที่จะบวช และถ้าคนไม่กล้าตัดสินใจที่จะบวช อาจทำให้พุทธศาสนาเสียหายได้

ประเด็นนี้เคยพูดคุยกับกลุ่มพระที่ทำงานกิจกรรมด้วยกันว่าถ้าเกิดว่าหลวงพี่เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อัมพาตครึ่งซีกหรืออาจมีการป่วยติดเตียงขึ้นมา ช่วยตัวเองไม่ได้ หลวงพี่จะทำอย่างไร เป็นคำถามที่สร้างความอึ้งให้กับวงที่พูดคุยมาก หลายๆ คนตอบว่าคงต้องกลับไปอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ทุกคนทำงานเพื่อศาสนากันตัวเป็นเกลียว แต่สุดท้ายคำตอบที่ออกมาคือต้องกลับไปอยู่บ้าน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าศาสนาไม่รองรับไม่โอบอุ้มในช่วงสุดท้ายได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะให้ความมั่นใจกับพระที่อุทิศตนเพื่อศาสนาว่าท่านสามารถตายกับผ้าเหลืองได้ ไม่ใช่แค่พระแต่ละรูปหรือแต่ละครอบครัวเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

ด้วยเหตุผลทั้งมวลอย่างที่กล่าว จึงเป็นที่มาของการตั้งสันติภาวัน สถานที่ดูแลพระอาพาธระยะสุดท้ายใช่ไหม

เป็นส่วนหนึ่ง เพราะมองหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายจุดสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือช่วงใกล้ตาย เพราะช่วงอื่นๆ ยังพอประคับประคองกันได้ แต่ช่วงใกล้ตายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และความเชื่อของชาวพุทธเรา จิตสุดท้ายเป็นจิตที่จะกำหนดภพภูมิข้างหน้าต่อไป

อีกประเด็นคือ เรามองว่าถ้าทำกระบวนการดูแลช่วยเหลือพระอาพาธ ถ้าพูดโดยรวมเรื่องนี้มีคนทำเยอะ แต่ลักษณะของการทำคือ เป็นการทำตึกสงฆ์อาพาธ หรือการตั้งโรงพยาบาลสำหรับพระ การมีกองทุนดูแลภิกษุอาพาธ ซึ่งตรงนี้มีคนทำอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัวช่วงอาพาธที่ไม่ใช่จุดวิกฤต แต่เป็นช่วงระยะท้ายของชีวิตเป็นจุดที่ยังไม่มีใครทำ จึงไปปรึกษาพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านบอกว่าดีมาก แต่ทำไหวเหรอ  ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าจะทำไหวไหม พอทบทวนแล้วเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพระดับหนึ่ง เป็นพระบวชมาสิบกว่าปี มีพื้นฐานเรื่องสุขภาพ มีเพื่อนในแวดวงสุขภาพเยอะ จึงคิดอยากลอง ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าสำเร็จแล้วเกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคม จึงกลับไปคุยกับพระไพศาลอีกครั้งว่า ผมจะทำแล้ว จึงมองว่าจะขอพื้นที่ตรงนี้ จะสร้างอาคารตรงนี้ ตอนนั้นที่คุยมีพระอาจารย์สันติพงศ์ เขมปญฺโญ (พระอาจารย์ตุ้ม) วัดป่าสุคะโต ท่านเป็นสถาปนิกมาก่อน ท่านบอกว่าทำไมไม่เริ่มต้นจากอาคารที่มีอยู่แล้วปรับปรุง แล้วลองทำก่อน ไม่ต้องสร้างใหม่

จุดเริ่มต้นของสันติภาวัน จึงอยู่ที่วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ

ใช่ จุดเริ่มต้นของการดูแลภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย คือที่วัดป่าสุคะโตเป็นที่แรก ด้วยการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ให้รองรับภิกษุอาพาธได้ โดยให้ชื่อว่า “สันติภาวัน” แปลว่า การพัฒนาความสงบ ความสันติให้มีมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการดูแลภิกษุอาพาธ เพราะพระแต่ละรูปท่านมีเรื่องสันติในใจมาอยู่แล้ว เราจะมาเพิ่มการภาวนา เพิ่มภาวะสันติในกายในใจท่านพัฒนาขึ้นไป

และได้คุยกันไว้ว่า ถ้ากิจกรรมลงตัว งานลงตัว สามารถดำเนินงานต่อไปได้ จะไม่อยู่ที่สุคะโต เนื่องจากที่วัดป่าสุคะโตเป็นวัดเพื่อการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ การมีกิจกรรมอย่างนี้อาจทำให้บรรยากาศที่สงบ หรือพื้นที่เกิดความพลุกพล่านขึ้น คุยกันว่าเมื่อกิจกรรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว ควรทำให้มีความชัดเจนเรื่องสถานที่ รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการ ควรตั้งเป็นมูลนิธิ จะได้มีความชัดเจนโปร่งใสเรื่องเงินทอง ส่วนสถานที่จะหาพื้นที่ๆ เหมาะสม  ซึ่งต่อมาโยมวิจิตรกับโยมสุมาลี เจ้าของที่ที่นี่ (จ.จันทบุรี) ได้นิมนต์ให้มาตั้งสันติภาวันที่ อ.สอยดาว เริ่มด้วยการปรับปรุงสถานที่ (อาคาร 3 หลัง) เพื่อให้ถูกสุขอนามัย เพื่อเริ่มรับพระอาพาธเข้ามา

ภาพในใจของสันติภาวันที่ท่านวางไว้เป็นอย่างไรบ้างคะ อาทิ  สันติภาวันจะรองรับพระอาพาธได้มากน้อยขนาดไหน

เราคิดกันไว้ว่า จะไม่ทำขนาดใหญ่ถึง 20-30 เตียง เพราะหลักอย่างหนึ่งในวงการพระคือหน้าที่ของการดูแลพระอาพาธเป็นหน้าที่ของพระในแต่ละวัด ในแต่ละสำนักด้วยกันเอง  แต่ด้วยสถานการณ์ทุกวันนี้การดูแลพระอาพาธในแต่ละวัด ปัญหาคือพระอยู่กันน้อยลง การดูแลมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้พระทำบทบาทนี้น้อยลง ทำให้เห็นพระที่ถูกทิ้งตามโรงพยาบาลหรือต้องกลับไปอยู่บ้านโยมเพิ่มขึ้น

เราคิดว่าสันติภาวันจะเป็นตัวกระตุ้นให้การดูแลพระอาพาธในวัดสามารถทำได้  เราก็จะทำเล็กๆ และเป็นตัวอย่าง โดยการนำเสนอข้อมูล วิธีการ แนวทางการทำงานเพื่อให้สังคมหรือพระวัดต่างๆ รับรู้ว่าการดูแลพระอาพาธไม่ได้ยากอย่างที่คิด ใครก็สามารถทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่วัดมักบอกว่าที่ไม่มีอาคาร จริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีอาคาร แค่กุฏิที่ท่านอยู่ ปรับปรุงนิดหน่อยเพื่อดูแลท่านได้ง่ายขึ้น ให้ท่านเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น หรือหลายวัดมีศาลาที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน อาจปรับปรุงส่วนนั้นได้

โดยสรุปแนวทางของสันติภาวันคือ ไม่คิดจะทำใหญ่ เราจะทำเท่าที่เราทำได้ ตอนนี้ที่นี่มีอยู่แค่ 6 เตียง โดยหลักการจะทำเป็นตัวอย่าง พยายามแนะนำให้แต่ละวัดฟื้นฟูเรื่องการดูแลพระอาพาธกลับขึ้นมา เราทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่คอยแนะนำคนที่สนใจเรื่องเดียวกันและพัฒนาไปด้วยกัน เพียงแต่เราเริ่มทำมาก่อน อาจสามารถช่วยเหลืออะไรได้ ถ้ามีอำเภอละ 1 ที่ หรือถ้าเป็นตำบล อาจจะสัก 6-7 ตำบล ให้เจ้าคณะตำบลเป็นคนดูแลและตั้งวัด 1 วัดขึ้นมาเพื่อดูแลพระอาพาธ เป็นการให้พระได้อยู่ในพื้นที่ที่คุ้นเคยและญาติโยมสามารถไปเยี่ยมเยียนได้ สะดวกกว่าและง่ายกว่า ที่จะต้องพาพระอาพาธจากที่ไกลๆ มาอยู่ที่นี่ เพราะอาจทำให้ท่านรู้สึกถูกทอดทิ้ง

 

อยากให้ท่านช่วยอธิบายเป็นรูปธรรมหน่อยค่ะว่า ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลสงฆ์ คล้ายกับมีพระสงฆ์อยู่ 1-2 รูปที่ช่วยดูแลทางกาย แต่ถ้าหากว่ามีเหตุต้องใช้เทคโนโลยีหรือว่าพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแพทย์ เราก็ต้องพาพระที่ป่วยไปโรงพยาบาลใช่ไหมคะ

เราเปรียบเสมือนอยู่ช่วงหลังของการรักษา เหมือนกับบ้านหรือเหมือนกับวัด ต้องกลับไปดูแลที่วัด แต่วัดปฏิเสธ บ้านปฏิเสธหรือบ้านไม่พร้อม วัดไม่พร้อม ก็มาอยู่ตรงนี้ ถ้าถามว่าตรงนี้มีใบอนุญาตไหม มีบุคลากรไหม ไม่มีเลย เพียงแต่ว่าด้วยพื้นฐานที่เราพอมีความรู้ ด้วยศักยภาพที่มี เราพยายามจัดตรงนี้ให้ถูกสุขลักษณะ จัดระบบให้สะอาด ให้รับการดูแลอย่างดี พื้นความรู้ที่เรามี ถ้ามีอาการแบบนี้ควรพาไปโรงพยาบาล อาการแบบนี้ถ้าพาไปโรงพยาบาลหมอก็ต้องใส่สายใส่ท่อก็ต้องมรณภาพที่โรงพยาบาล ก็ให้อยู่ที่นี่เพื่อดูแลแบบประคับประคอง แต่ถ้ายังสามารถช่วยได้อยู่ เราจะพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาต่อ มีบางรูปเท่านั้นที่โรงพยาบาลบอกว่าถ้ามีอาการมากกว่านี้ไม่ต้องส่งมาแล้วเพราะรักษาได้แค่นี้

 

สมมติว่ามีคนรู้จักพระอาพาธระยะท้าย และทราบว่าสันติภาวันเป็นสถานที่ที่รับดูแลพระ เขาสามารถช่วยเหลือพระรูปนั้นด้วยการติดต่อให้มาที่นี่ได้ไหมคะ

ก่อนที่จะตอบประเด็นนั้น พอเราทำที่นี่ขึ้นมา เราทำข้อมูลเพื่อสื่อสารให้ผู้คนภายนอกผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ค  ผู้คนให้ความสนใจมากที่อยากจะมาช่วยเหลือ คำตอบคือ สามารถทำได้ โดยไปดูรอบๆ ตัวท่าน วัดข้างๆ หรือเวลาไปโรงพยาบาล มีพระอาพาธไปไหม แล้วท่านสามารถเข้าไปช่วยดูแลพระเหล่านั้น นี่เป็นวิธีการที่ช่วยสันติภาวันได้ดีที่สุดและได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ต้องมาถึงที่นี่ เราสามารถทำได้เลย เวลาไปโรงพยาบาล เจอพระอาพาธ ลองไปถามท่านว่าท่านต้องการความช่วยเหลืออะไร หรือวัดข้างบ้านเรา มีพระอาพาธติดเตียงอยู่ เราสามารถเข้าไปช่วยท่านในขอบเขตที่เราสามารถพอทำได้ เหมาะสม

ส่วนที่สองถัดมาคือ กระตุ้นให้ทางวัดนั้นดูแลพระอาพาธเอง โดยโยมจะช่วยหาตรงนั้น อาจช่วยหาเครือข่ายหรือหาคนไปช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูพระตรงนั้น ถ้าท่านติดขัดอะไร ลองติดต่อมาที่สันติภาวัน และพูดคุยกันว่าจะช่วยอะไรได้ตรงไหนบ้างเพื่อเกื้อหนุนกัน ถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้ว วัดก็ไม่ดูแล ญาติก็ไม่ดูแล ถ้าเป็นแบบนั้นค่อยติดต่อมาที่สันติภาวัน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้ เราก็จะรับ เพราะบางกรณีถึงแม้จะอยู่ในระยะท้าย เราก็รับไม่ได้  เพราะถ้าท่านมีอาการคุมสติตัวเองไม่ค่อยได้ แบบนี้เราจะไม่ค่อยกล้ารับ หรือในภาวะที่อยู่ในเครื่องมือที่เราไม่มี เราอาจจะรับไม่ได้ หรือกรณีท่านติดเชื้อบางอย่างที่พอมาอยู่ อาจทำให้พระรูปอื่นลำบากไปด้วย แต่โดยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ และเราพอรับได้ ก็ยินดีรับ

ถ้ามีจิตที่เป็นกุศลและอยากจะช่วย ให้มองรอบตัวว่าเราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง

ตั้งแต่พระมาบิณฑบาตแล้ว ถ้าพอรู้ว่ารูปนี้เป็นความดัน เป็นไขมัน เป็นโรคไต เราสามารถเตรียมอาหารที่เหมาะกับท่าน และบอกท่านว่าโยมเตรียมอาหารที่เหมาะกับการอาพาธของท่าน ท่านอาพาธอยู่ต้องการฉันอะไรเป็นพิเศษ โยมขอปวารณาตัว แบบนี้พระจะกล้าขอกล้าบอก เราก็เตรียมอาหารถวายท่าน แค่นี้ช่วยพระอาพาธได้อย่างมหาศาลแล้ว ไม่ต้องมุ่งมาที่สันติภาวัน

 

ยังมีอีกหลายประเด็นที่ท่านสนใจเกี่ยวกับเรื่องศาสนา เช่น พระอาจารย์สนใจเรื่องการประยุกต์ธรรมเข้ากับคนรุ่นใหม่ และทราบว่าพระอาจารย์มีเพจญาณภาวัน ซึ่งเป็นเพจที่เขียนการ์ตูนเพื่อจะสื่อสารธรรมะร่วมสมัยกับคนรุ่นใหม่ พระอาจารย์มองเรื่องคนรุ่นใหม่กับพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง และมีประเด็นอะไรที่พระอาจารย์มองว่าเป็นประเด็นที่สำคัญกับคนรุ่นใหม่

เราเห็นคุณค่าของพุทธศาสนา และคิดว่าเราน่าจะเชื่อมต่อพุทธศาสนากับสังคมรุ่นใหม่ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เริ่มมาตั้งแต่ตอนอยู่ที่วัดที่นนทบุรี หลังทำวัตรเย็น จะยกข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หยิบยกประเด็นนั้นมาพูดคุยกับญาติโยมว่าถ้ามุมมองทางพุทธศาสนา เราจะมองเรื่องนั้นอย่างไร จากจุดนั้นมา เรื่องแบบนี้ถ้าเราได้บอกต่อ และช่วงนั้นโซเชียลมีเดีย ก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น นึกว่าจะทำรูปแบบไหนที่จะสื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นนี้ไม่ค่อยอ่านแบบยาวๆ จะเบื่อง่าย จึงคิดว่ารูปแบบการ์ตูนจะเหมาะกว่า นำเสนอประเด็น หลายๆ เรื่องที่เป็นข่าวหรือเหตุการณ์สถานการณ์ในสังคมแล้วคนไม่มีคำตอบ การทำการ์ตูนพวกนี้ต้องใช้เวลา และยิ่งถ้าเรื่องสั้นๆ จะยิ่งยากในการเรียบเรียงแบบไหนให้จบและได้ประเด็นและพอดีกับกรอบของการ์ตูน สุดท้ายได้การ์ตูนถามมา หลวงตาตอบ รวมระยะเวลาประมาณ 5 ปีแล้วที่ทำสื่อการ์ตูนนี้

 

ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ ที่อาจกำลังเหนื่อยล้าเหนื่อยอ่อนกับพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือคนในสังคมทำ แต่จริงๆ เท่าที่สังเกตดูคือเขาก็สนใจเรื่องของความตาย อย่างเช่น ตายแล้วไปไหน  เขาควรจะมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับความตายบ้าง

ความตายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ พอพูดปุ๊บหยุดคนได้ ไม่ว่าจะเชื่ออยู่บนพื้นฐานความเชื่อไหน เพราะว่าความตายดูเหมือนเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต อาตมาก็มองว่าเป็นจุดหนึ่งที่สามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับมาทบทวนชีวิตของตัวเองได้ และเราควรจะมองความตายหรือนำเสนอมิติเรื่องความตายกับคนรุ่นนี้ด้วยความหลากหลาย แต่ถ้าพูดโดยกว้างๆ รวมๆ  อาตมาว่าพุทธศาสนามองเรื่องความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ต้องถึงกับกลัว แต่ธรรมชาติของความตายก็มีหลายมิติ สมมติถ้าคนเชื่อแบบวิทยาศาสตร์จ๋า  แน่นอนความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ก็มีข้อดีมากมาย แต่วิทยาศาสตร์ก็มีข้อจำกัด เช่น คำถามง่ายๆ ที่คนรุ่นใหม่จะถามว่าชาติหน้ามีจริงไหม เราไม่ต้องรีบให้คำตอบก็ได้ แต่เราบอกว่าถ้าเกิดไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง แล้วเราใช้ชีวิตอย่างชาตินี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดถึงเลย แต่สมมติว่าชาติหน้าไม่มีจริง เราก็สำมะเลเทเมา แบบนี้เราต้องมาทบทวน จะต้องถามเขาว่าเคยคิดถึงเรื่องคนระลึกชาติได้ไหม ซึ่งเดี๋ยวนี้มีงานทำวิจัยกันทั่วโลกเลยว่าสามารถระลึกชาติได้ในคนทั่วโลกทุกศาสนา วิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้ได้ หรือแม้กระทั่งฝาแฝดไข่ใบเดียวกันแฝดเหมือน ทำไมสองคนนิสัยไม่เหมือนกัน ถูกเลี้ยงมาเหมือนกัน และพ่อแม่ก็พยายามให้ความรักหรือเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ถ้าพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ของพวกนี้ต้องออกมาเหมือนกัน แต่ทำไมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงสำหรับฝาแฝดบางคู่ พอเราตั้งคำถามแบบนี้ปุ๊บให้เขาได้คิด อาจจะมีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งถ้าเราไม่สนใจเลย มันขาดทุน แต่เราก็ไม่ต้องมุ่งไปใช้ชีวิตเพื่อชาติหน้าอย่างเดียวเหมือนกับคนที่เชื่อในศาสนาหรือพิธีกรรมเหล่านี้มาก เช่น ทำบุญทุกอย่างเพื่อชาติหน้า ทุกอย่างเพื่อชาติหน้าหมด ใส่บาตรต้องมีน้ำนะ เดี๋ยวตายไปไม่มีน้ำกิน เพราะฉะนั้นไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าทุกอย่างเพื่อชาติหน้า ฉันจะสวย ฉันจะเรียนเก่ง ฉันจะรวยชาติหน้า ทำบุญไว้  เหตุผลที่ทำบุญคือเพื่อตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องของความโลภ ความติดยึดมั่นในตัวเอง ก็สุดโต่งด้านหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าเรามาใช้ชีวิตนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเราใช้ชีวิตนี้ดีแล้ว ถ้ามีชาติหน้าก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ขาดทุน เพราะการใช้ชีวิตที่ดีงาม เช่น แค่ในชาตินี้ถ้าเราตั้งใจเรียน ผลของการตั้งใจเรียนให้สิ่งที่ดีอยู่แล้ว และเรื่องความตาย อาตมาว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้าเกิดตายไปแล้วไม่จบแค่นั้น ลองดูว่าเราต้องเตรียมตัวเรื่องความตายหน่อยไหม เป็นจุดเริ่มต้นในการคุยและดึงเข้าหาศาสนาได้ดี

 

มีรายการหนึ่งชื่ออยู่ดีเพื่อตายดี มีคำถามจากคนหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรงอยู่ ถามว่า ทำไมฉันต้องสนใจเรื่องความตายด้วย  ฉันยังแข็งแรงอยู่  ฉันยังมีความฝัน มีภารกิจที่ยังต้องทำที่ต้องทุ่มเทมากมาย ความตายเป็นสิ่งท้ายๆ ที่เราควรจะนึกถึงได้ไหม

ถ้าจะตอบให้สั้นที่สุด จะตอบว่าสิ่งที่พูดว่าจะทำอาจจะไม่ได้ทำก็ได้ เพราะคุณอาจจะตายพรุ่งนี้ คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าความตายจะมาถึงคุณในอีก 40-50 ปีข้างหน้า ที่แน่นอนคือเราตายแน่ เป็นความแน่นอนที่ไม่มีใครไม่ตาย แต่ที่ไม่แน่นอนคือไม่รู้จะตายเมื่อไร ไม่รู้จะตายอย่างไร ที่ไหน

เพราะฉะนั้นการที่เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร ตายอย่างไร ตายที่ไหน เรื่องนี้เราเตรียมพร้อมหรือยัง และความตายมีผลกระทบต่อผู้อื่น เพราะคนรอบข้างเราจะเสียใจ รวมทั้งก่อนตายอาจต้องใช้เงินจำนวนมากสำหรับบางคนเพื่อรักษาตอนป่วยไข้ ถ้าเราไม่เตรียมตัว ไม่ศึกษาเรื่องความตาย คุณอาจจะไม่มีความสุขเลยในช่วงใกล้ตาย และเราไม่รู้ด้วยว่าความตายเป็นอย่างไร อย่างอื่นเราหาประสบการณ์ เราเรียนรู้ได้ แต่ความตายเราไม่มีประสบการณ์ ไม่มีใครที่เคยตายมาแล้ว ที่ฟื้นๆ กันคือเขาไม่ได้ตายจริง ถ้าตายจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นพอไม่มีประสบการณ์ แค่เราจะไปเที่ยวต่างประเทศ หรือไปที่ไหนที่เราไม่เคยไป เราต้องศึกษาหาข้อมูลเรื่องที่เที่ยว ที่กิน  แต่เรื่องความตายเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นอีก ถ้าเราไม่ศึกษาไม่เตรียมที่จะเรียนรู้เลย พอถึงเวลาความตายอยู่ต่อหน้า แน่ใจหรือว่าเราจะผ่านช่วงนั้นไปได้ แม้คนที่เตรียมตัวเวลาเกิดอุบัติเหตุก็ตั้งตัวไม่ทัน ทำให้รู้ว่าการเตรียมเรื่องความตายไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่อ่าน แค่รับรู้ว่าความตาย การเตรียมตัวเรื่องความตายต้องเตรียมอย่างเข้มข้นให้มั่นใจพอสมควรว่าเราจะผ่านช่วงนี้ไปได้ ประสบการณ์ที่เราไม่เคยเจอ เป็นเรื่องสำคัญ  เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนรอบข้าง และจะมาถึงเราเมื่อไรก็ไม่รู้ ถ้าเราคุยประเด็นแบบนี้กับคนรุ่นใหม่ก็คงสนใจ พระอาจารย์ไพศาลมักจะยกภาษิตธิเบตขึ้นมาว่า “ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาถึงก่อน” หลายคนชาติหน้าอาจมาถึงก่อนพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะคืนนี้ก็ไม่รอด ตายก่อนแล้ว

พุทธศาสนาให้พิจารณาความตายทุกขณะจิตด้วยซ้ำไป แต่ผลของการพิจารณาคือเราจะตื่นตัวที่จะใช้ชีวิตที่มีขณะนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะการเกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากมาก เราเป็นมนุษย์เทียบกับสัตว์โลกทั้งหมด มนุษย์เป็นสุดยอดของการพัฒนา

 

ในกรณีที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาก่อน แต่รู้อยู่แล้วว่าควรจะเตรียมตัวเพื่อที่จะตาย  มีขั้นตอนในการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรคะ

เรื่องแบบนี้ไม่ง่ายเหมือนขั้นตอนการทำอาหาร หรือให้อ่านเพื่อทำความเข้าใจก็ไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเป็น ไม่ได้แค่รู้ เพราะฉะนั้นต้องฝึก ต้องปฏิบัติ หรือต้องใคร่ครวญพิจารณา ไม่ใช่แค่คิด และเป็นเรื่องที่ครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานการเข้าใจชีวิตว่าชีวิตคืออะไร ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์อย่างที่เราเห็นคุณค่าของชีวิต พอเราพร้อมก็ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก และสามารถไปอย่างสบายๆ ไม่ได้ห่วงอะไร เป็นเพราะได้เรียนรู้ชีวิต เข้าใจชีวิต เราสามารถวางได้ เราไม่ห่วง เราทำดีที่สุดแล้ว

 

เราบอกแบบนี้ได้ไหมคะว่า แต่ละวันหรือบางช่วงของชีวิต ควรใช้เวลาในการใคร่ครวญว่าชีวิตคืออะไรสำหรับเรา เป้าหมายคืออะไร แล้วลองดูว่าเส้นทางที่เราเดินอยู่ ณ ตอนนี้ไปถึงจุดนั้นหรือยัง

อาจจะไม่ใช่แบบนั้น บางทีเราเดินไปเจอจิ้งเหลนนอนตายแบนอยู่ข้างถนน ให้น้อมเข้ามาใส่ตัวว่ามันไม่เที่ยงเลย เห็นอะไร สิ่งไหน ให้น้อมเข้ามาใส่ตัว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา โทรศัพท์ของเราอยู่ดีๆ คนเดินมาชนตกน้ำ ถ้ายึดว่าเป็นของเราเมื่อไร เราก็จะทุกข์กับโทรศัพท์นั้น ไปจัดการคนที่มาเดินชน เมื่อไรก็ตามที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าโทรศัพท์เป็นของเรา เราก็จะตกนรก เพราะคิดวนอยู่กับเรื่องโทรศัพท์นั้น แต่เมื่อไรที่เราปล่อยวางได้ นั่นแหละถึงพ้นนรกขึ้นมา

ใครที่สามารถไวต่อการที่จะตัดใจเรื่องโทรศัพท์ตกท่อ คนนั้นจะพ้นขุมนรกได้เร็ว อย่างครูบาอาจารย์สอนเรื่องสติ พอสติไวปุ๊บ ปัญญาเข้ามา รู้ว่าเป็นธรรมดาอนิจจัง เขาสามารถตัดได้ฉับไว ไม่ต้องไปตกนรก เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของการฝึก

ในพุทธศาสนา เรื่องความตายเป็นการพิจารณาได้ตลอด มีเรื่องอะไรเข้ามา สามารถพิจารณาได้ตลอด เห็นความไม่เที่ยง เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย

 

หลายคนที่รับหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจเป็นญาติตัวเอง พ่อแม่พี่น้อง พอดูแลไปนานๆ มีความทุกข์ในใจ เพราะบางเคสป่วยเรื้อรังนานหลายปี   ท่านมีคำแนะนำอย่างไรเพื่อช่วยเยียวยาผู้ดูแล

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะที่บอกว่าทุกวันนี้เราป่วยแล้วไม่ได้ตายง่ายๆ ในช่วงการดูแลที่ยาวนาน ซึ่งไม่ใช่แค่การลงแรงในการดูแลท่านเท่านั้น ต้องลงกำลังทรัพย์ รวมทั้งอาจทำให้หน้าที่การงานเสียหาย และบางทีอาจโดนพ่อแม่ที่เราดูแลดุกลับมาอีก หรือเปรียบเทียบว่าทำไมพี่น้องไม่ดูแล บางบ้านอาจมีเรื่องมรดกที่ให้แบบไม่เป็นธรรมอีก ก็เป็นปัญหาใหญ่

จุดสำคัญแรก คือเราต้องหาโอกาสพัก เป็นสิ่งที่จำเป็น ออกมาจากตรงนั้นบ้าง และใช้ช่วงเวลานี้ในการผ่อนคลาย อีกส่วนคือการวางใจ ถ้าเราวางใจไม่ถูกจะทำให้ทุกข์

หลักการสำคัญที่เราใช้และพูดอยู่เสมอและย้ำอยู่เรื่อยๆ คือตอนนี้เรากำลังปฏิบัติธรรม อาตมามองว่าการที่เราดูแลพระอาพาธหรือโยมที่ดูแลผู้มีพระคุณ ให้มองว่าตอนนี้เรากำลังปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปหวังว่านี้เป็นบุญกุศล เช่น ที่สันติภาวันจะมีเสียงกระดิ่งสำหรับพระอาพาธในเวลากลางคืนที่จะเรียกพระมาดูแล ถ้าเราได้ยินเสียงกระดิ่งปุ๊บ ใจเรารู้สึกอย่างไร โจทย์การปฏิบัติธรรมแบบนี้หาไม่ได้ง่ายๆ เราอาสามาทำตรงนี้นอกจากเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาแล้ว ยังถือเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย

แต่ถ้าเป็นพ่อแม่เราจะง่ายกว่าเยอะ เพราะท่านมีพระคุณต่อเรา และเราก็มองว่านี่คือการปฏิบัติธรรม ดูว่าเราทันต่อความโกรธไหม เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมาจะดับได้เร็วไหม และถ้าเราไม่ไหว ให้หาโอกาสพัก หรือการมีกัลยาณมิตรที่ช่วยรับฟังความรู้สึกของเรา

 

ในการดูแลผู้ป่วยเรามีเจตนาดีมาก แต่บางทีก็เผลอหลุดโกรธไปแล้ว กระแทกใส่คนที่เราดูแลไปแล้ว และมารู้สึกผิดภายหลังอย่างมาก จะทำอย่างไรกับกรณีนี้ดีคะ

ถ้ามีโอกาสและท่านยังอยู่ให้กล่าวขอโทษ อย่างพระเรามีเรื่องของการขอขมาในวันปาฏิโมกข์ มีการกราบพระผู้ใหญ่ เราใช้โอกาสนี้ในการขอโทษ การขอโทษก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายในการพูดขอโทษ ยิ่งถ้าเราพรรษาเยอะ เราเป็นผู้ดูแล เราคิดว่าเราสมควรที่จะโกรธหรือเราถูก ไปเอาเรื่องถูกผิดตรงนี้ แต่ถ้าเราสามารถขอโทษได้ ไม่ยึดติดเรื่องพรรษาที่มากกว่า เราจะสามารถหลุดออกมาได้ ให้มองว่าเป็นเรื่องของการฝึก  แต่ถ้าสมมติว่าท่านจากไปแล้ว ไม่สามารถขอโทษได้ บอกตัวเองว่าต่อไปให้พยายามคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ ไม่ให้ผิดพลาดอีก

 

การสูญเสียคนที่รักไป ย่อมมีความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้น แต่บางคนแม้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกเสียใจและทำใจไม่ได้ ท่านมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนตาย ปัญหาอยู่ที่ตัวเขาเอง อาตมามองว่าเขาควรตระหนักว่าเขาต้องมาศึกษาเรื่องชีวิตเรื่องความตายให้มากขึ้น ทำไมคนอื่นเขาเศร้าโศกเสียใจน้อย หลายคนบางทีไปโทษคนที่ตาย ซึ่งบางทีก็มีส่วน ถ้าคนที่ตายเขาจัดการหรือสั่งเสียไว้ค่อนข้างให้พร้อม รวมทั้งการตายเป็นการตายแบบพร้อมที่จะตาย และลูกหลานรับรู้ ทำให้ผู้ที่อยู่คลายความเศร้าโศกได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเรายังเศร้าโศกกว่าพี่น้องคนอื่น ตรงนี้อยากให้มองว่าโอกาสที่เราควรมาทบทวนตัวเองแล้วมาทำความเข้าใจชีวิต พอเข้าใจชีวิตมากขึ้นจะเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องธรรมดามากขึ้น เขาจะค่อยๆ เข้าใจความเศร้าโศก และคลายไปโดยเวลาอยู่แล้วและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือเขาเข้าใจเรื่องความตาย จะใช้ชีวิตของเขาเองอย่างมีคุณค่าในทุกๆ ขณะที่ดำเนินไป และเขาจะสามารถตายดีและจะไม่สร้างความเศร้าโศกให้คนอื่นอีกต่อไป