ตามรอยพระศาสดา บทที่ 2 : พุทธธรรมพาคนให้ออกจากทุกข์

เครือข่ายพุทธิกา 3 พฤษภาคม 2022

บทที่ 2

พุทธธรรมพาคนให้ออกจากทุกข์

พระครูศรีวิรุฬหกิจ (พระมหาวสันต์ ฐานวโร) พระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรม

กลุ่มอาสาคิลานธรรม คือการรวมตัวของกลุ่มพระสงฆ์ที่มีความปรารถนาช่วยเหลือดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์ที่ประสบความทุกข์ใจ โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มอาสาได้เข้าไปดูแลจิตใจผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมถึงญาติผู้ดูแล ด้วยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธ  ซึ่งประยุกต์หลักธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ร่วมกับการปรึกษาทางจิตวิทยา อันมีส่วนช่วยให้เขาเหล่านั้นได้บรรเทาคลายจากความทุกข์ภายในจิตใจ ทั้งยังได้เห็นคุณค่าในการดำรงอยู่ของตนเองและผู้อื่น

พระครูศรีวิรุฬหกิจ (พระมหาวสันต์ ฐานวโร)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอมรคีรี  กรุงเทพมหานคร คือหนึ่งในพระผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาสาคิลานธรรม ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน  โดยดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม  และยังคงทำหน้าที่จิตอาสา แวะเวียนไปเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาลจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังทำงานเพื่อชุมชน จัดรายการวิทยุเพื่อเผยแผ่ธรรมะ และเป็นครูสอนปริยัติธรรม

การทำงานในฐานะอาสาคิลานธรรม สำหรับพระครูศรีวิรุฬหกิจ คือการได้เอื้อเฟื้อญาติโยมที่ดูแลพระสงฆ์ ที่สำคัญคือได้นำพุทธธรรมพาคนให้ออกจากทุกข์ได้ ขณะเดียวกันงานที่ทำนั้นยังช่วยพัฒนาใจ  ขัดเกลาตนเอง และพบการเข้าถึงพระธรรมได้ชัดเจนขึ้น

เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มคิลานธรรมเริ่มต้นโดยกลุ่มพระนิสิตที่ศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีวิตและความตาย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อยากทราบว่าสาขาวิชานี้หลักๆ เรียนเรื่องอะไรบ้างคะ

เจริญพร สาขาชีวิตและความตาย หลักวิชาคือการให้คำปรึกษาแนวพุทธ ใช้หลักจิตวิทยาการปรึกษา และมีหลักพุทธธรรมเป็นแกนหลัก พอได้เรียนรู้โดยครูบาอาจารย์ ซึ่งมี รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว จากคณะจิตวิทยา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มาเป็นอาจารย์ผู้ช่วยออกแบบหลักสูตร และได้มาถวายความรู้รุ่นที่ 1 จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ ได้เห็นว่าการให้คำปรึกษาจริงๆ เป็นพุทธวิถี เดิมข้อมูลพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก มาในแนวปรัชญา เพราะฉะนั้นผู้ถ่ายทอดก็จะถ่ายทอดเฉพาะแนวปรัชญา แต่มุมจิตวิทยายังไม่ได้เข้าไปมอง ไม่ได้ถอดออกมาเป็นทักษะการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา  จากการที่อาจารย์โสรีช์ ได้เรียนรู้จากศาสตร์ตะวันตกมาทั้งหมดแล้วก็ได้มาศึกษาพุทธธรรม และมาพบตรงนี้ จึงได้เห็นว่า ทักษะตะวันตกก็ตรงกับพุทธธรรม ซึ่งเป็นทักษะของพระพุทธเจ้า อาจารย์ได้ถอดหลักพุทธธรรมออกมาเป็นทักษะ (TIR.) คือการเชื่อมสมานเข้าใจสิ่งที่เขาเป็นคือทุกข์, พากันไตร่ตรองให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ คือตัณหา, และเรียนรู้ทุกข์นั้นอย่างเข้าใจตามเป็นจริง คือ นิโรธและมรรค, จึงอยู่กับความจริงนั้นได้อย่างเป็นอิสระ จิตใจไม่เศร้าหมองด้วยทุกข์นั้นอีกตามศักยภาพของตน นอกจากเรียนรู้แล้วก็มีการฝึกงานเทอมสุดท้าย ทั้งพระทั้งโยมนิสิตก็ไปฝึกงานโดยประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาล  โดยใช้ทักษะที่เรียนรู้มาเข้าไปให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็ได้พบว่าการให้การปรึกษาในลักษณะที่เราไม่ได้เข้าไปเทศน์ แต่เราเข้าไปฟัง แล้วเห็นว่าเขาทุกข์ตรงไหน เขามีอะไรที่ค้างคาใจ จิตวิญญาณความเชื่อเขาไปทางไหน และก็ชวนกันคลี่คลายตรงนั้น โดยใช้หลักพุทธธรรมมีอริยสัจสี่  โพชฌงค์เป็นต้น  เจริญสติปัฏฐานเพื่อการเห็นทุกข์ของตัวเองว่าคืออะไร เสร็จแล้วก็ชวนกันสนทนาเพื่อที่จะมองย้อนเข้าไปหาเหตุแห่งทุกข์ของเขาเหล่านั้น เพื่อที่ให้เขาได้ตั้งสติรู้ชัดว่า ทุกข์เขาเป็นอย่างนี้ เหตุจริงๆ คืออะไร พอเขาเห็น เราก็ชวนเขาดูว่า จะมีทางออกอย่างไรบ้าง โดยที่เราไม่ได้บอก ไม่ได้ชี้ เพื่อจะดึงศักยภาพของเขาเองขึ้นมา พาตัวเขาเองให้ออกจากทุกข์ ตรงนี้เป็นทักษะที่อาตมาเองและพระนิสิตได้มองกันว่า จริงๆ คือตถาคตโพธิสัทธา คือความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง ความหมายไม่ได้จบเพียงเท่านั้น ถ้าเราเชื่อแค่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้แค่ศรัทธา คือกราบไหว้พระพุทธเจ้าเท่านั้นหรือ แต่พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่า การกราบ ถ้าเป็นอามิสบูชา ยังไม่ประเสริฐ ต้องปฏิบัติบูชาเพราะฉะนั้นองค์ธรรมคือศรัทธานี้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นก็มองลึกลงไปโดยโยนิโสมนสิการว่า จริงๆ แล้ว ความศรัทธาในพระตถาคตที่ตรัสรู้แล้วคืออะไร  คือการมองเห็นความสำคัญของศักยภาพของตนเอง พระองค์ตรัสรู้ด้วยศักยภาพลำพังพระองค์เอง พระองค์มองเห็นค่าของศักยภาพภายในของพระองค์เข้มแข็งมาก แล้วก็ดึงศักยภาพนั้นมาจนตรัสรู้ได้ เพราะฉะนั้นวิถีและรูปแบบที่เป็นพุทธวิถีนี่เอง ที่เมื่อเราศรัทธาแล้ว เห็นพระพุทธเจ้าทำให้เห็นแล้ว เราจะไม่ย่อท้อ ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ก็ดึงศักยภาพของตัวเองให้งอกงามขึ้นมาให้ได้  และพาตนให้เป็นอิสรภาพจากการถูกครอบงำจากความทุกข์ให้ได้

 

การไปฝึกงานในโรงพยาบาลจึงเป็นจุดสำคัญทำให้เกิดกลุ่มพระจิตอาสาที่ไปช่วยเยียวยาใจผู้ป่วยด้วยธรรมะ

ใช่  หลังจากที่ฝึกงาน ทางสาขาวิชาก็ทำ  MOU กับโรงพยาบาล  ตอนนั้นทางโรงพยาบาลศิริราชเปิดรับสมัครจิตอาสาดูแลผู้ป่วยในวอร์ดสามัญทั่วไป ปรากฏว่าอาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์ ท่านเป็นอาจารย์ด้าน Palliative Care  ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานด้านนี้ในศิริราช ได้ตั้งกลุ่มขึ้นมา และรับสมัครจิตอาสา มีการฝึกอบรมในส่วนของข้อปฏิบัติ พออบรมเสร็จแล้วมีการไปฝึกงาน พระอาจารย์มหาสุเทพ ธนิกกุล (สุทธิญาโณ) แห่งวัดสังเวชวิศยาราม  ท่านเป็นผู้ที่ชักชวนอาตมาและพระรูปอื่นว่าไปสมัครกันไหม  ก็ไปสมัครกัน  พอเปิดรับสมัครครั้งแรกในงานสัมมนาเรื่อง Palliative Care

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ไปบรรยายธรรมและมีอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อีกท่าน ก็ได้กราบและสนทนากับท่าน ได้เห็นว่าการทำงานสายนี้เป็นการทำงานที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า  จึงดำริกันว่าเราจะได้ดึงทักษะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติหรือทรงกระทำพุทธกิจในด้านโลกัตถจริยาออกมา เพื่อให้เป็นแนวทางของจิตวิทยาแนวพุทธได้เพื่อการเรียนรู้อย่างกว้างขวางต่อไป ก็คิดว่าเป็นหน้าที่ที่พระทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่นอกเหนือพระธรรมวินัย

 

ในกรณีจิตอาสาทั่วไป คนทั่วไปก็มองว่าเป็นเรื่องของปุถุชนที่ทำได้ แต่ในส่วนของพระสงฆ์ ปกติเราจะรับรู้กันว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่ท่านอยู่ที่วัด เผยแผ่พุทธศาสนาที่วัด หรือเป็นผู้ทำพิธีกรรมในวัด แต่พระอาจารย์บอกว่าการทำงาน Palliative Care งานอาสาสมัคร เป็นกิจของสงฆ์ที่ทำได้ อยากให้ท่านช่วยขยายความตรงนี้หน่อยค่ะ

ทางกลุ่มอาสาฯ ได้ไปกราบเรียนหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในวันเข้าพรรษา พระนิสิตที่เรียนสาขาชีวิตและความตาย รุ่นที่ 2 มีพระอาจารย์ปณต คุณวฑฺโฒ  จากวัดญาณเวศกวัน  ติดต่อประสานให้ เมื่อเข้าไปกราบแล้ว ท่านก็ให้โอวาทอนุโมทนา ท่านดำริว่า สิ่งนี้เป็นกิจที่พระสงฆ์ควรทำ เพราะอยู่ในหลักอาวาสิกธรรม 5 ในข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า (คิลานสตุปปาทกะ) เมื่อญาติโยมฆราวาสเจ็บป่วย พระสงฆ์ควรไปสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อเพื่อให้สติ ท่านเมตตายกข้อธรรมนี้ขึ้นมาเพื่อรับรองว่าเป็นกิจของสงฆ์ ฉะนั้นจึงทำให้กลุ่มมั่นใจ และรู้ว่าเป็นกิจของสงฆ์ ซึ่งถ้าเราย้อนมามองพุทธกิจของพระพุทธเจ้าจะเห็นว่า พระองค์ก็ไม่ได้อยู่ในวัด ตรัสรู้แล้วก็ไม่ได้อยู่ในป่า เสด็จจาริกไปด้วยพุทธดำรัสที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่พวกทวยเทพและมนุษย์  เพราะฉะนั้นพุทธดำรัสนี้ไม่ได้ผิดเลยที่จะให้เราก้าวออกไปจากวัด เพื่อที่จะไปอนุเคราะห์ผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ โดยเฉพาะผู้เจ็บไข้

ในคิลานสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงความเจ็บไข้ 2 อย่าง คือความเจ็บไข้ทางกายและความเจ็บไข้ทางใจ ฉะนั้นในมุมที่เราเข้าไปดูแลคือ ดูแลความเจ็บไข้ทางใจได้แก่ความทุกข์ทั้งหลาย จึงได้ตกลงกันว่า เราจะตั้งกลุ่มจิตอาสาขึ้นมาเพื่อทำงานด้านนี้ และการทำงานนี้เราไม่ได้เข้าไปโดยเดินเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วทักทายคุยไปได้ทุกเตียง  เราจะทำงานร่วมกันโดยที่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้คัดกรองเคสคนไข้ให้เรา จะเป็นวอร์ดไหนก็ขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลว่าจะเห็นสมควร และนิมนต์เราเข้าไป ไม่ใช่เข้าไปทำงานเลย ต้องไม่ผิดหลักพระธรรมวินัย

 

เมื่อนิมนต์ไปที่โรงพยาบาลแล้ว ในฐานะพระจิตอาสา มีกระบวนการทำงานอย่างไรต่อบ้างคะ

เมื่อได้รับนิมนต์แล้วก็เข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล รับถวายเคสผู้ป่วยแล้ว จึงเข้าไปพูดคุยสนทนา บางครั้งได้คุยกับผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยสื่อสารได้ แต่บางครั้งถ้าเป็นผู้ป่วยระยะท้ายคือสื่อสารไม่ได้ ตรงนี้เราจะเข้าไปคุยกับญาติผู้ป่วย จริงๆ ผู้ที่ทุกข์คือญาติ เพราะผู้ป่วยไม่รู้ว่าทุกข์ไม่ทุกข์ เนื่องจากสื่อสารไม่ได้แล้ว แต่เราจะถามญาติว่าผู้ป่วยเป็นยังไง ทุกข์ตรงไหนไหม เขากังวลตรงไหน มีอะไรที่ติดค้างใจตรงไหน คือชวนกันเข้าไปดูแล อาศัยการประเมินเบื้องต้นจากพยาบาลที่มารายงานเคสให้ว่า คนนี้มีความเจ็บไข้เป็นยังไง สภาพจิตใจเป็นยังไง ครอบครัวเป็นยังไง เป็นการทำงานแบบพหุภาคี ไม่เฉพาะหมอ พยาบาลอย่างเดียว มีพระ มีนักจิตวิทยา ที่เข้ามาดูแลร่วมกัน พอจบกิจกรรมกลับไปถอดบทเรียนกันว่า เคสนี้เราเข้าไปดูแลตรงไหน และถึงตรงไหน เพื่อการเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าพระรูปอื่นมา ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ต่อยอดได้เลย และมุมไหนที่ทางทีมไม่ทราบ เขาก็ได้ทราบจากเรา อย่างบางทีญาติก็รู้สึกว่าคนไข้ที่เป็นมะเร็งอายุมากแล้ว ไม่อยากบอกให้เขารู้ว่าเป็นมะเร็ง กลัวว่าเขาจะตกใจ และช็อกไป เป็นความกังวลใจ จะบอกดีไม่บอกดี ถ้าไม่บอกความจริง เกิดเขารู้ทีหลัง จะเสียใจไหม แต่ถ้าบอกก็กลัวเขาช็อกขึ้นมาแล้วจากไปเลย ก็ไม่อยากให้เขาไป อยากให้อยู่ต่อ ในมุมนี้ หมอ พยาบาลก็เกิดความกังวลเรื่องการสื่อสารด้านนี้ จึงส่งต่อให้พระอาสาเพื่อให้พระคุณเจ้าช่วยสื่อสาร

 

แล้วพระอาจารย์ช่วยอย่างไรคะ สถานการณ์แบบนี้ ซึ่งน่าจะมีเยอะ กรณีญาติคนไข้ไม่กล้าบอกผู้ป่วยว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง

ในกรณีเช่นนี้ใช้กระบวนการตามขั้นตอนทักษะแล้วนำสถานการณ์นั้นมาเป็นปฏิปุจฉา สนทนาด้วยคำถามชวนคิดชวนคุย เช่น โยมเข้าใจอาการป่วยของตนเองอย่างไรบ้าง  เขาก็บอกว่า “ ฉันพอเดาได้ เตียงข้างๆ ก็พูดว่าเขาเป็นมะเร็ง เตียงโน้นก็เป็นมะเร็ง ฉันก็น่าจะเป็นมะเร็งนะ”  อาตมาก็ถามว่า แล้วมีใครบอกโยมไหม  เขาบอกว่า ยังไม่มีใครบอก แต่พอเดาได้ว่าที่เขาไม่บอกเพราะ “คงกลัวฉันรับไม่ได้มั้ง” อาตมาจึงถามต่อว่า “ถ้าเขาบอกว่า ยายเป็นมะเร็ง ยายจะรู้สึกอย่างไร”

คำตอบของยายคือ “ฉันก็ไม่รู้สึกอะไร ฉันอายุมากแล้ว จะไปวันนี้วันพรุ่งนี้ก็ไม่เป็นไร ฉันพร้อมแล้ว”

พอเราไปพูดให้หมอ ให้ญาติฟัง ญาติก็โล่งใจ นี่คือเราเข้าไปฟังเขาก่อน ไม่ได้ไปบอกว่า “ยาย โรคอะไรเป็นได้ทั้งนั้น ยอมรับเถอะ ไม่ว่าวันนี้พรุ่งนี้เดี๋ยวก็ตาย” เราไม่ได้ไปบอก ไปชี้นำ แต่เราฟังเขา เป็นทักษะที่เห็นว่าพระพุทธเจ้าก็ทำอย่างนี้ เราก็ทำตามพุทธวิถี ความทุกข์ก็เกิดการคลี่คลายได้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือการพัฒนาใจเรา เหมือนกับการได้เห็นเทวทูตธรรม เห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่เจ้าชายสิทธัตถะเห็น และได้ทรงพิจารณาธรรมสังเวช  เราได้เรียนรู้ซึ่งความเสื่อมไป ความไม่แน่นอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพธรรมอยู่ตรงนั้นหมด จากสิ่งที่เราเรียนรู้มาโดยการท่องจำ ได้แค่ข้อมูล แต่ความจริงเราไม่ได้ไปประจักษ์ เราก็ได้ไปประจักษ์ตรงนั้น แม้กายของเรายังไม่ได้สัมผัส ผัสสะทั้ง 6 เรายังเข้าไม่ถึง แต่เราพออนุมานได้ว่ามันเป็นยังไง คืออะไร ทำให้ภายในเราพัฒนาขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย คือการเจริญสติกรรมฐานจากกรรมฐานในพระพุทธศาสนาที่เราได้ปฏิบัติ เจริญสติภาวนา เดิมเราสังเกตเข้ามาที่ตัวเรา ว่าทุกข์เราอยู่ตรงไหน ความเจ็บปวด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเกิดอะไรขึ้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัจจุบันขณะของรูปนาม เป็นอย่างไร เราใช้การกำหนดและสังเกตนี้

เมื่อสนทนากับผู้ที่เป็นทุกข์ สติเราอยู่กับเราและสังเกตเขา สติเราเดินเคียงคู่ไปพร้อมกับเขา รับรู้ถึงความรู้สึกเขา แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราอยู่กับความรู้สึกของเขา อันเป็นปัจจุบันนั้น เราจะไม่ปฏิเสธ ไม่ขัดแย้ง ในสิ่งที่เขารับรู้ สิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาเป็น และให้พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขาที่จะบอกกล่าว แล้วดำเนินการสนทนาไปตามกระบวนการ  เราได้กลับมาทบทวนความงอกงามแห่งพระสัจธรรมในใจเราเป็นการขัดเกลาใจให้คลายความยึดมั่นอยู่เสมอ

 

พื้นฐานทักษะที่จำเป็นของการเป็นอาสาในกลุ่มคิลานธรรม อันดับแรกคือ ทักษะการฟัง

การฟัง จริงๆ แล้วก็อยู่ในส่วนของบุญกิริยาวัตถุ10 ธัมมัสสวนมัย  บุญสำเร็จด้วยการฟัง ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม  ซึ่งผู้ป่วยหรือญาติเขาเป็นคนแสดงธรรมแล้ว สิ่งที่เขาพูดคือพระสัทธรรม เขาก็ได้บุญโดยการแสดงธรรม เราก็ได้บุญด้วยการฟังธรรม และเกิดปัญญาด้วย อันนี้ผลปรากฏเลย ปริยัติ ปฏิบัติ เขาได้ไตร่ตรอง เขาได้ปฏิบัติ ผลก็เป็นปฏิเวธ

 

เพิ่งทราบนี่เองว่าการที่เราฟังผู้ป่วยนับเป็นบุญด้วย เพราะในมุมของเรา นึกแค่ว่าบุญที่ได้จากการฟัง  คือฟังพระเทศน์เท่านั้น

ก็อยู่ในข้อบุญกิริยาวัตถุ 10 บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม กับบุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม มันมาคู่กัน ไม่เฉพาะคนที่ฟังอย่างเดียว คนที่แสดงก็ด้วย ได้บุญเหมือนกัน คำว่าพระธรรมหรือพระสัทธรรม สิ่งทั้งปวงคือสภาพธรรม ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ธรรมะมีทั้งธรรมที่เป็นอกุศลและเป็นกุศล ก็เรียกว่าสภาพธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจะปรากฏที่ไหน มันก็ปรากฏที่ตัวบุคคล พระพุทธเจ้ารู้ธรรมก็รู้ที่ตัว เห็นธรรมก็เห็นที่ตัว บรรลุธรรมก็บรรลุที่ตัว เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มันปรากฏ มันก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แม้แต่สุขจริงๆ ที่เป็นสุขสมมติ ที่สุดมันก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นตรงนี้อะไรก็ตามที่ปรากฏแก่มนุษย์ผ่านทางอายตนะทั้งหมดคือสภาวธรรม

เมื่อต้องดูแลผู้ป่วย  ญาติเองก็สามารถนำทักษะเรื่องการฟังไปใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่ดูเหมือนว่า ผู้ดูแลมักจะชอบพูด ชอบแนะนำมากกว่าจะฟัง

พระเองบางทีก็เป็น  คือเหมือนเรามีความรู้ เราก็อยากถ่ายทอด โดยเจตนาก็อยากช่วยเขา แต่ทีนี้เหมือนน้ำเต็มแก้วแล้ว เอาอะไรไปใส่ก็ล้นหมด ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ การแนะนำ การบอกกล่าว แต่ต้องรอโอกาสที่เหมาะสม ตรงนี้พระพุทธเจ้าใช้พุทธญาน แต่เราใช้ทักษะคือการสังเกต ฟังแล้วต้องสังเกตว่าจังหวะไหน เราควรเชื่อมอย่างไร เราควรชวนเขาดู เขาคิดตอนไหน ตรงไหนจุดใดที่จะชวนเขาคิด ซึ่งตรงนี้ตัวเงื่อนไขสำคัญเลยคือ เวลา  บางทีผู้ป่วยมีเวลาแค่ 30 นาที แต่อย่างมากเวลาเราเข้าไปพบผู้ป่วยคือไม่เกินชั่วโมงต่อเคส เพราะจะทำให้ล้าเกินไป ฉะนั้นจะพูดแบบน้ำท่วมทุ่งก็ไม่ได้ ต้องอาศัยการสังเกต

 

การที่พระอาจารย์ไปเป็นอาสา เหมือนเข้าไปทำงานกับความทุกข์ของผู้ป่วย  นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากทราบว่าพระอาจารย์ใช้หลักธรรมข้อไหนในการทำงาน

จริงๆ แล้วใช้หลักพุทธธรรมทั้งหมดบูรณาการ เช่น อริยสัจสี่ อิทธิบาทสี่ กัลยาณมิตรธรรม พรหมวิหารธรรมเป็นต้น อย่างเมตตา กรุณา ก็เรียกว่าเป็นอะไรที่เรารู้กันทั่ว แต่เมตตากรุณา บางครั้งบางทีถ้าอยู่บนฐานของตัณหา มันก็จะให้อย่างเดียว ยัดเยียดอย่างเดียว เราคิดว่าสิ่งที่เราให้มันจะต้องดีด้วย อันนี้เป็นตัณหา แต่ถ้าเมื่อใดเปลี่ยนจากตัณหา ซึ่งมีคุณสมบัติอันหนึ่งคือ อิทธิบาทธรรม คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ถ้าเปลี่ยนจากตัณหาเป็นฉันทะเมื่อไหร่ จะประกอบด้วยปัญญาของเราว่า อันไหนควรไม่ควร ควรเวลาไหน ควรกับใคร

 

ถ้าเป็นโยมทั่วไปเป็นจิตอาสา เราก็อาจมีเมตตาอย่างเดียว

ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าการเข้าไปทำงานกับเคสๆ นี้จะสำเร็จไม่สำเร็จ ตั้งความหวังไปไม่ได้ เตรียมการไปก็ไม่ได้ ถ้าเตรียมการไปมีสิทธิ์ผิดหวัง  อย่างว่าเราร้อนวิชา ทุกคนเรียนจบก็ร้อนวิชา อยากจะเข้าไปช่วย แต่พอพบผู้ป่วยที่เขาปฏิเสธเรา สาขาที่เรียนก็เรียนดูแลใจเขาด้วย และต้องกลับมาดูแลใจตัวเองด้วย ทักษะอะไรที่ใช้กับเขาได้ ก็เอามาใช้กับตัวเองได้ กลับมาดูใจของตัวเอง ว่าเราเผชิญกับสิ่งที่ไม่ต้องการปรารถนา เราจะดูแลใจของเรายังไง เป็นการกลับมาพัฒนาภายใน

มีบางเคส เราได้พบว่า ผู้ป่วยอยากคุยกับพระ แต่การคุยของเขา เป็นการคุยลักษณะที่เขามีอะไรที่ค้างคาใจกับมุมของพระ ซึ่งเป็นมุมที่ลบ ตรงนี้ต้องมีการทำงานกับใจตัวเองพอสมควร แต่การเรียนรู้ที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่า นี่คือสิ่งที่มากระทบ แล้วเราไม่ชอบใจ ไม่พอใจ คือการเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วมันทำงานกับใจของเรา จนข้างในใจเราพัฒนา เข้มแข็งขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ก็เข้าไปอยู่กับเขาว่า คุณโยมมีความรู้สึกอย่างนี้นะ ถ้าหากว่าสิ่งที่ปรากฏกับโยมเป็นสภาวธรรม เราทั้งคู่กำลังอยู่ต่อหน้าพระสัทธรรม อาตมาก็พร้อมเคารพพระธรรม ถ้าคุณโยมจะเอื้อเฟื้อใจตนเองเพื่อแสดงความเคารพต่อพระสัทธรรมนี้ เราจะดำรงอยู่ต่อหน้าพระสัทธรรมด้วยกัน  ถ้าโยมมีความรู้สึกว่า โยมจะกล่าวหาหรือต่อว่าตำหนิใดๆ กับมุมของพระสงฆ์ ณ เวลานั้น จิตใจเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี  โยมสามารถตำหนิหรือว่ากล่าวกับอาตมาได้ อย่าได้มองว่าอาตมาเป็นพระ แต่มองว่าเสมอกันด้วยความเป็นมนุษย์  ชายหญิงก็เป็นสิ่งสมมติ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราจะเข้าหาพระสัทธรรมโดยตรง เพื่อที่จะดำรงอยู่ต่อหน้าพระสัทธรรมอย่างเข้าใจ โยมสามารถว่าได้อย่างแรง ไม่ต้องเกรงใจอาตมา ก็เปิดพื้นที่ให้เขาว่าเต็มที่ จนสิ่งที่เขาอัดอั้นไว้ข้างในหมดไป  เข้าไปเติมเต็มความปรารถนาของเขา เขาอยากจะฟังแค่คำขอโทษ อาตมาก็ทำหน้าที่นั้น ซึ่งในฐานะของตัวแทนพระสงฆ์ในสิ่งที่ล่วงเกิน ถามว่าพระขอโทษโยมได้ไหม “ได้” เมื่อขอโทษไปแล้ว เราก็แสดงความเข้าใจในสิ่งที่เขาประสงค์ จะเป็นไปได้ไหมที่ต่างฝ่ายต่างให้อภัยกัน พอเขาได้ทำตรงนี้ เขาโล่งเลย ตอนนี้ความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ในศาสนามันลบไปหมด กลับมาเป็นพุทธศาสนิกชน  ทำให้เขาได้สมาทานรับศีล รับไตรสรณคมน์

เพราะฉะนั้นเมตตา กรุณา อาจต้องสังเกตและรอจังหวะ ถ้าสำเร็จก็มุทิตายินดี แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ต้องอุเบกขา ตรงนี้เมื่อคุณธรรมมาครบทั้ง 4 จะไม่หวั่นไหว และไม่ติดค้างจนมาถึงที่วัด แต่ส่วนใหญ่ทั่วไป ถ้าเราไปด้วยตัณหา ตั้งใจไปช่วยโยม ถ้าไม่สำเร็จ เราจะทุกข์กลับมาที่วัด มันไม่สำเร็จ ทำให้เขาทุกข์เพิ่ม  และอิทธิบาทธรรมคือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ตัวนี้เป็นส่วนการไตร่ตรองภายในของเรา

 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราต่างเจอสถานการณ์โควิด ในส่วนการทำงานของกลุ่มคิลานธรรมปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างคะ

ช่วงแรกที่เกิดโควิดระบาดก็ทำให้การทำงานชะงักไป เนื่องจากว่าไปออนไซต์ไม่ได้ โรงพยาบาลก็รับศึกหนัก เพราะเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ทุกโรงพยาบาลก็หยุดไว้ก่อน เข้าไปไม่ได้  วัดก็หยุดกิจกรรม แต่พอผ่านมาค่อนปีช่วงแรกของโควิด ช่วงนั้นทางกลุ่มทำงานกับสวนโมกข์กรุงเทพฯ เราก็ได้คุยกันว่า สถานการณ์แบบนี้เราควรจะทำอะไรได้บ้าง  เมื่อสวนโมกข์ได้เปิดโอกาส ก็มาคุยกัน และได้เปิดห้องให้คำปรึกษา เรียกว่าคลินิกรักษ์ใจ ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ให้คำปรึกษาผู้ที่มีทุกข์ทางใจตามแนวหลักพุทธธรรม คลี่คลาย เข้าใจ ยอมรับ พบหาทางออกด้วยตนเอง ทุกวันพุธ พฤหัส รับวันละ 2 เคส ในรูปแบบออนไซต์ ก็เปิดได้ระยะหนึ่ง แต่พอมาเจอโควิดอีกก็หยุดชะงักไป จึงคุยกันใหม่ว่า เราจะปรับออนไลน์ได้ไหม ก็ลองเปิดรับสมัคร คิวต่อเดือนเต็ม เพราะได้วันละ 2 เคสเอง แต่การออนไลน์ จุดอ่อนคือว่า จะติดต่อกับพระโดยตรงไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องพระวินัย จะคุยกันสองต่อสองไม่ได้  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้มารับคำปรึกษาเป็นผู้หญิง ดังนั้นจึงต้องมีผู้ประสานที่จะรับฟังอยู่ตรงนั้น เพื่อเป็นคนที่ 3 เจ้าหน้าที่ทางสวนโมกข์รับอาสาทำหน้าที่ตรงนี้  และได้มีการแจ้งผู้เข้าสนทนาไว้ว่าขอบันทึกซึ่งจะไม่มีการนำไปเปิดเผยที่ไหน ให้เขาได้วางใจ ถ้าเขาอนุญาต ถึงทำงานได้  ตรงนี้ก็ได้ทำงานกันมาน่าจะ 2 ปีแล้ว

นอกจากนี้ก็มีคิลานธรรมออนไลน์ เราใช้ช่องทางในการนิมนต์พระคิลานธรรมมาสนทนากัน โดยถ่ายทอดสดออนไลน์ และมีถามตอบปัญหา ส่วนของวิทยุ เรามีรายการ  “คิลานะ ธรรมะเพื่อชีวิต” ออกอาการที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ได้นิมนต์พระจิตอาสาและญาติโยมจิตอาสาที่ท่านทำงานด้านนี้มาแบ่งปัน เปิดสายให้ญาติโยมทางบ้านที่มีความทุกข์ใจ ไม่สบายใจเข้ามาสนทนาพูดคุย

 

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ญาติโยมไม่สบายใจและต่อสายเข้ามาสนทนาเป็นประจำในรายการวิทยุคือเรื่องอะไร

ก็ทั่วไป อกหัก มีปัญหากับครอบครัว มีปัญหากับลูกหลาน ความเจ็บป่วย ช่วงนี้ก็เรื่องการทำงาน เพราะเจอโควิด มีความเครียดเยอะ ในสังคมเรามีพื้นที่น้อยที่จะเปิดให้คนมาระบายความทุกข์ ผ่อนคลายใจตัวเอง ทางแพทย์เขาก็ตั้งรับ ถ้าไม่เดินเข้าไป เขาก็ไม่สามารถมาช่วยได้ อย่างพระเราก็ไม่สามารถเดินเข้าหาญาติโยมทุกคนได้ จะทำได้เฉพาะโยมที่เรารู้จัก ถ้าไม่รู้จักก็ไม่กล้าไป การมีรายการวิทยุ มีรายการออนไลน์ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่พอจะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ทางใจได้

นอกจากเป็นอาสาช่วยเยียวยาใจผู้เจ็บป่วยด้วยธรรมะแล้ว ยังทราบว่าพระอาจารย์ทำงานกับชุมชนด้วย

เป็นการเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน ในเขตบางพลัดบริเวณวัดที่อาตมาอยู่  เพราะเห็นว่าในกลุ่มผู้สูงอายุมีความทุกข์ที่ต้องอยู่กับบ้าน บางทีไม่ได้สนทนากับใคร สังคมยุคนี้เปลี่ยนเป็นสังคมโลกส่วนตัว อยู่กับสมาร์ทโฟนของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยสื่อสารกับครอบครัวมากนัก และคุยกันคนละภาษา ผู้สูงอายุคุยแบบยุคเก่าพอคุยกับคนยุคใหม่คุยกันไม่ได้ แต่อาตมาก็ทำงานได้ตามกำลัง ยิ่งเดี๋ยวนี้สภาพสังคมจะมองว่า พระจะไปแสวงหาประโยชน์กับคนถึงบ้านเลยหรือ ซึ่งธรรมขาติของชาวพุทธเวลาพระเข้าไป เขาก็อยากทำบุญ เพราะเขามาวัดไม่ได้ จริงๆ เบื้องต้นเราก็ปฏิเสธ เพื่อให้ญาติโยมรู้สึกว่าเราไม่ได้มาหาผลประโยชน์ แต่ถ้าเขาคะยั้นคะยอจะถวายปัจจัยจริงๆ ก็รับไว้ แต่ชี้แจงว่า ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปเข้ากลุ่มคิลานธรรม เป็นเงินกองกลาง ซึ่งถ้าปัจจัยกองกลางมีพอหมุนเวียนได้ ประธานกลุ่มท่านจะถวายเป็นค่ารถในการเดินทางให้พระอาสา  ในยุคก่อนนะที่ไม่มีโควิด ถวายเป็นค่ารถการเดินทางตามจริงของแต่ละรูป  แต่ถ้าไม่มีก็บอกว่าไม่มี รูปไหนที่พร้อมจะไปก็ไป ถ้าใครไม่พร้อมก็ไม่ต้องลงทะเบียนไป คือข้อตกลงร่วมกัน เราก็ชี้แจงให้ญาติโยมด้วย

 

ขึ้นชื่อว่าการทำงานเป็นกลุ่ม ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น สำหรับกลุ่มของพระอาสาล่ะค่ะ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ทางกลุ่มมีแนวทางแก้ไขอย่างไร 

การทำงานเหล่านี้ต้องใช้หลักธรรมคือมรรค 8 มาทั้งองค์เลย ตั้งแต่สัมมาทิฐิ เป็นต้นไป ถ้าไม่มีจุดร่วม ทัศนคติเดียวกันก็ทำงานไปด้วยกันไม่ได้ ต้องเริ่มจากสัมมาทิฐิ ความดำริ ความตั้งใจ ถ้าตรงกัน และต้องถูกต้องด้วย มรรค 8ได้หมด มีเป้าหมายเดียวกันคือเอื้อเฟื้อ ทีนี้เอื้อเฟื้ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องกลับมาพาให้เราออกจากตัวตนด้วย ไม่ใช่ยิ่งทำ ยิ่งอัตตาสูงก็ไปไม่รอด ยิ่งทำ อัตตาต้องยิ่งน้อย อันนี้สำคัญ

ในยามใดที่กลุ่มเรามีปัญหา เราจะเอื้อเฟื้อเปิดพื้นที่ เราจะคุยกันได้ ซึ่งถ้าเรามองเป็นปัญหามันก็เป็นปัญหา แต่ถ้ามองว่าเป็นเหตุพัฒนาปัญญามันก็เรียนรู้ได้ เพราะเราอาจไม่ทันสังเกตตัวเองในการแสดงออกกับผู้อื่น  เราก็เปิดพื้นที่รับฟังและได้เคลียร์กันว่า คืออะไร และในมุมของเราเกิดอะไรขึ้น  ถ้าผิดพลาดตรงนั้นก็จะอาศัยทักษะในการขอโทษ ขอบคุณ ผู้ใหญ่และผู้น้อยขอโทษ และขอบคุณกันและกัน ตรงนี้พุทธศาสนามีไหม ก็มีตลอดคือการมหาปวารณา เปิดโอกาสให้ทุกคนว่ากล่าวกันได้

 

คนทั่วไปเวลาไปทำงานจิตอาสา เราพบความเปลี่ยนแปลงภายใน อาจรู้สึกตัวเองมีความสุขขึ้น มีเมตตาขึ้น แล้วในมุมของพระสงฆ์ พบความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างคะ

เจริญพร ตรงนี้แต่ละรูปอาจไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าภายในของแต่ละรูปจะได้เชื่อมโยงพัฒนาตรงไหนที่เหมาะสม หรือต้องการ ณ เวลานั้น แต่ในส่วนของอาตมาเข้ามาทำงานกับใจที่ทำให้เราละตัวตนได้มาก อัตตาของเราสามารถวางได้เมื่ออยู่กับเคสของเรา สิ่งที่เราเคยเป็นด้วยทิฐิมานะของเรา เราอยากบอก อยากแนะนำ ฟังไปคิดไป ตัดสินไป มันน่าจะเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่มั้ง พวกนี้ค่อยๆ หายไป เรายอมรับสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็นได้ดีขึ้น ไวขึ้น และใจของเราเวลาเศร้าหมอง เราดึงกลับได้ไว สติของเราจะตัดได้ไว นี่คือสิ่งที่พัฒนาเรา เพราะฉะนั้นการปล่อยวาง ทิฐิ มานะ อัตตาตัวตนของเรา ก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน การตัดสินของเราก็น้อยลง ฟังมากขึ้น นี่คือมุมของการพัฒนาส่วนการเข้าถึงพระไตรลักษณ์ ก็ชัดขึ้นไปแต่ละระดับๆ

วันหนึ่งอาตมาก็ได้พบกับตัวเองว่า เรากลัวตายไหม แต่ก่อนขึ้นเครื่องบินยังกลัว ลงเรือก็หวั่นๆ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น วันหนึ่งนั่งรถทัวร์ไปภาคเหนือ เป็นช่วงเวลากลางคืน รถวิ่งเลาะไหล่เขา มืด คนขับขับไว เข้าโค้งแทบจะไม่เบรก แสดงว่าเขาชำนาญ แต่ใจเราหวั่น เรียกว่ารับรู้ถึงคำว่าเสียวสันหลัง จึงตั้งสติและถามตัวเองว่า ภาวะนี้เป็นอะไร ก็ตอบตัวเองได้ว่า กลัวตาย ทั้งๆ ที่เราฝึกตรงนี้มาพอควร แต่พอมันอยู่ไกลความตาย เราก็ไม่รู้สึกกลัวตาย แต่ ณ ตอนนั้น ใกล้ความตายแล้ว จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าคนขับขับพลาดปุ๊บนั่นคือตาย ก็ถามตัวเองว่าเพราะอะไรถึงกลัวตาย ไม่พร้อมหรือ ไม่รู้จักความตายหรือ กลัวมิติหลังความตายหรือ อะไรที่คิดว่าตัวเองไม่พร้อม มันก็ไม่มี แล้วกลัวทำไม เมื่อทุกคนก็ตายได้ทุกเมื่อ จิตมันตรึกตรอง เมื่อตรึกตรองปุ๊บ มันก็สงบ และหายใจโล่ง มันวาง พอวางปั๊บ คนขับจะขับยังไงก็ไม่สนใจ หายไปเลยความกลัวตาย นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา คือความพร้อมจะเผชิญความตายด้วยสติและปัญญา

10 กว่าปีในการทำงานอาสาคิลานธรรม พระครูศรีวิรุฬหกิจ  ขอน้อมถวายเป็นปฏิบัติบูชาแด่พระรัตนตรัย และขออนุโมทนาขอบคุณครูบาอาจารย์ จิตอาสาทุกรูปท่าน สถานพยาบาล ตลอดผู้ที่เอื้อเฟื้อ ที่สุดคือเคสผู้รับคำปรึกษาและญาติทุกครอบครัวซึ่งเป็นครูแห่งปัญญาตลอดไป