ถอดหัวใจให้การศึกษา

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 31 พฤษภาคม 2015

ความว่าง โปร่ง โล่งตาของห้องประชุม กำลังต้อนรับผู้คนต่างที่มา ต่างวัย ต่างความคิด ต่างประสบการณ์ แต่สร้างความสั่นไหวให้แก่กันและกัน  “ตัวตนภายใน” ของแต่ละคนถูกเผยออกต่อหน้าคนแปลกหน้า อย่างที่คนใกล้ชิดก็ยังไม่อาจเข้าถึง

ระยะเวลา 5 วัน 4 คืนในการอบรม “หัวใจของการศึกษา” ได้นำพาผู้คนที่เข้าร่วม เดินทางไปกับการเรียนรู้ชนิดที่เรียกว่า ถอดหัวใจออกมาคุยกัน ทำให้ห้องนี้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยรองรับทุกเรื่องราว ยอมรับความรู้สึกของกันและกันอย่างแท้จริง

การนั่งล้อมวงลงบนพื้น คือการละวางตัวตน ปรับลดให้ผู้คนต่างที่มา มาอยู่ในระดับที่เดียวกัน

หันหน้าเข้าหากัน มองเห็นกันและกัน ฟังกัน เพื่อเรียนรู้ทั้งตัวเราและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน  เราเรียกพื้นที่นี้ว่า “โดโจ” ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “โรงฝึก” เป็นพื้นที่ฝึกความตระหนักรู้ของพวกเราทุกคน

วิธีที่ง่ายงามเช่นนี้ ครูผู้สอนก็สามารถสร้างพื้นที่ “โดโจ” หรือ “โรงฝึก” แบบนี้ในห้องเรียนได้  การจัดห้องเรียนแบบที่เรียกว่า “class room” ที่ผู้เรียนนั่งเรียงแถวเป็นหน้ากระดานอย่างที่เราคุ้นเคยนั้น มันสื่อถึงการเรียนรู้แบบตั้งรับ ที่เน้นให้ผู้เรียนรับ ความรู้ ความคิด จากผู้สอนที่ดูเหมือนผู้สอนจะเป็นผู้มีอำนาจดูแลความเป็นไปของห้องเรียนแต่เพียงผู้เดียว

ในขณะที่การจัดพื้นที่เรียนรู้แบบล้อมวง โดยผู้สอนวางตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของวงย่อมให้ความรู้สึกเป็นกันเอง ลดช่องว่างระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน แสดงให้เห็นว่า นี่คือพื้นที่การเรียนรู้ที่เท่าเทียม เปิดรับกันและกัน

สิ่งสำคัญคือการฝึกการรับฟัง ผู้สอนจะต้องเปิดโอกาส เชื้อเชิญให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง นำพาผู้เรียนเชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนรู้มาสู่ตัวตนของตัวเอง

แม้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ครูผู้เข้าอบรมหลายคน ก็สัมผัสถึงพลังของการเรียนรู้ในพื้นที่วงกลมตลอดระยะเวลาการอบรมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง และได้นำวิถีแห่ง “โดโจ” นี้กลับไปใช้ในห้องเรียนอย่างได้ผล  แค่การเปลี่ยนการจัดห้องเรียนแบบเดิมๆ มาสู่พื้นที่วงกลมแห่งการเรียนรู้ ก็ทำให้เกิดความแปลกใหม่ และสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้น

นอกจากนี้ การเรียนรู้เรื่องลำดับสถานะ (Rank) ก็เป็นสิ่งสำคัญ

เรามักไม่รู้ตัวว่า บทบาทสถานะทางสังคมของตัวเอง กำลังกำหนดพฤติกรรมบางอย่างของเรา และส่งผลต่อการวางตัวที่คนอื่นมีต่อเรา และบางทีสิ่งนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ การเข้าถึงกันและกัน หรือพูดง่ายๆ ทำให้เรามีช่องว่างกับผู้คนรอบข้าง

คนที่มีลำดับสถานะสูง มักวางตัวเหนือกว่าคนอื่นโดยอัตโนมัติ เช่น มักพูดไม่มีหางเสียงกับคนที่มีสถานะต่ำกว่า ลองสังเกตไหมว่า คนที่ไปใช้บริการห้างสรรพสินค้า ธนาคาร โรงแรม เวลาพูดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้านทำความสะอาด หรือแม้แต่พนักงานที่มีหน้าที่ต้อนรับ มักไม่มีหางเสียง เช่น ครับ ค่ะ โดยรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องสุภาพ หรือใช้คำว่า “น้อง” เรียกพนักงานบริการ ซึ่งสื่อถึงลำดับสถานะที่ต่ำกว่า

สำหรับในห้องเรียน ความเป็นครู ผู้สอน ดูเหมือนว่าจะมีลำดับสถานะที่สูงกว่าผู้เรียนอยู่แล้ว ถ้าไม่ระวังก็จะกลายเป็นกำแพงขวางกั้นการเรียนรู้ “ครูพูดอะไรถูกเสมอ” “ครูบอกนักเรียนต้องฟัง” นั่นคือสิ่งที่เราปลูกฝังกันมา ทั้งที่ครูมีโอกาสผิด เข้าใจผิด รู้มาผิด ได้เหมือนคนอื่นๆ ในห้องเรียน

การติดอยู่กับลำดับสถานะก็จะทำให้เราฟังคนอื่นน้อยลง เปิดรับคนอื่นน้อยลง หากหลงยึดติดตัวตนที่มีสถานะสูงกว่า ก็ทำให้มืดบอดในการเรียนรู้ได้

หนึ่งในสิ่งที่ต้องฝึกฝนอย่างมากคือ การสื่อสาร การรับฟัง

การถอดหัวใจออกมาฟังกันอย่างลึกซึ้ง ที่ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด เพราะเพียงแค่คำพูดกระด้างหู หรือคำพูดที่ดูดี คำพูดที่เสียดแทงเย้ยหยัน แต่ยังมีอะไรอีกมากมายภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง “ไม่เป็นไร …ไม่ต้องก็ได้” คำพูดที่เราได้ยินจนคุ้นหู แต่ในความเป็นจริงก็ไม่อาจแน่ใจว่า คนพูดหมายความเช่นนั้นจริงๆ หรือกำลังกลบเกลื่อนความรู้สึกบางอย่างอยู่หรือไม่

คนพูดอาจกำลังต้องการความช่วยเหลือ แต่ด้วยความเกรงใจ ด้วยความรู้สึกไม่อยากพึ่งพา ด้วยความรู้สึกอื่นๆ อีกมากมาย ก็ทำให้สิ่งที่พูด เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ต้องการ

เราเรียนรู้สิ่งนี้ เพื่อค้นหาว่าอะไรคือความรู้สึกของเราในแต่ละสถานการณ์ เราช่วยกันรับรู้ความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ดีงาม หรือย่ำแย่  เพราะความจริงแท้มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา และช่วยกันสืบค้นหาความต้องการที่แท้จริง  กระบวนการกลุ่ม การรับฟังกันฉันท์เพื่อน ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตประจำวัน เราจะฟังกันไม่เป็นขนาดนี้เลยหรือ ฟังกันไม่รู้เรื่อง ฟังกันจนเกิดเรื่องเกิดราวมากมาย ฟังด้วยอคติ ฟังด้วยใจที่เป็นอื่น

ระยะเวลา 5 วัน  ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ห้องประชุมที่เคยโล่งเปล่าแห่งนี้เต็มไปด้วยมวลความสุขแห่งมิตรภาพ ความรัก ความเข้าใจ เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม น้ำตา และการโอบกอด  ที่นี่มีความเปราะบาง ที่มาจากความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่แท้จริง และสิ่งนี้จะงดงามมากหากนำพาไปสู่ทุกพื้นที่การเรียนรู้ โดยเฉพาะในห้องเรียนของครูทุกคน

“หัวใจของการศึกษา” งานอบรมภายใต้โครงการจิตวิญญาณใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดย “ สวนเงินมีมา” จัดกระบวนการเรียนรู้โดยสถาบันขวัญแผ่นดิน

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ