ถอยหลังลงสวน

มะลิ ณ อุษา 11 พฤษภาคม 2014

การทำสวนไม่ใช่เรื่องของการครอบครองหรือการฉวยเอา แต่เป็นเรื่องของการให้ และในการให้นั้น สวนก็ได้มอบสิ่งตอบแทนกลับมาด้วย” ฮวนนิลลา นอร์ริส นักจิตบำบัดชาวคอนเน็กติกัต

หลังจากบั้งไฟถูกจุดขึ้นบูชาพญาแถนไม่กี่วัน ฟ้าก็คำราม ฝนก็ตกพรมผืนดิน และหลังจากนั้นไม่นาน เปลือกสีน้ำตาลของเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ก็อ่อนนุ่มพอให้ยอดสีเขียวอ่อนเล็กๆ งอกขึ้นมาได้

การใช้ชีวิตที่แปลกแยก ทำให้เรามองปรากฏการณ์การก่อเกิดของเมล็ดพันธุ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตผลที่รอคอยการเก็บเกี่ยว เพื่อตอบสนองการบริโภค การบรรสานของธาตุทั้งสี่เพื่อทะนุบำรุงพืชพันธุ์ต่างๆ ให้เติบโตงอกงาม เป็นเพียงกิจกรรมที่ไม่แตกต่างจากการทำงานของเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม ภายในแปลงปลูกผักขนาดยักษ์ ทุกอย่างเป็นไปตามการคำนวณอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มของแสง ความชื้นของน้ำ ปริมาณสารเคมีบำรุงและปราบศัตรูพืช จึงไม่น่าแปลกใจหากผลผลิตที่ออกมาจะเหมือนกันทั้งขนาด รูปร่าง และรสชาติ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมสารเคมีและพลังงานที่ใช้ในกระบวนการขนส่งจากแหล่งผลิตมาสู่ห้างร้านต่างๆ

กับประโยคคลาสสิก You are what you eat จึงมีคำถามต่อว่า แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เรากินเข้าไปในแต่ละวันนั้นมีที่มาอย่างไร?

นี่ไม่ใช่คำถามแค่เรื่องสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่กินความไกลไปถึงสังคมและจิตวิญญาณเลยทีเดียว

หากคุณเคยกินหัวมันที่ขุดขึ้นมาใหม่ๆ เผาด้วยใบไม้แห้งกิ่งไม้แห้งที่เก็บได้ภายในสวน ความหวานหอม และมัน จะทำให้หัวใจของคุณอิ่มเอม เพราะนั่นคือพลังชีวิตที่มาจากการสะสมอาหารตลอดฤดูกาล ใบสีเขียวและม่วงที่ค่อยๆ แทงยอดโผล่พ้นผิวดิน ดูดซับสารอาหารจากใต้ดิน ในขณะเดียวกันก็สังเคราะห์อาหารจากแสงแดดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากหัวมันที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า ที่แม้จะมีรสหวาน แต่ก็เป็นความหวานที่ได้จากการปรุงแต่งของสารเคมี

บางที…คุณค่าและความหมายของชีวิตก็คล้ายกับหัวมัน คือ ต้องผ่านการสะสมบ่มเพาะภายใน ทั้งจากความร้อน ความหนาว ความชื้น ความแห้งแล้ง ความแข็งกระด้าง ความอ่อนนุ่ม และความมืดมิด ซึ่งเรามักจะไม่รู้ตัวและมองไม่เห็นกระบวนการดังกล่าว สิ่งที่เราดูดซับมาหล่อเลี้ยงชีวิตวันแล้ววันเล่า ย่อมไปปรากฏบนดอกใบเหนือผิวดิน มันบางหัวอาจจะมีใบที่แข็งแรงสมบูรณ์ บางหัวอาจจะมีใบที่หยิกงอเหลืองซีด สะท้อนความป่วยไข้ภายใน

ทุกวันนี้เริ่มมีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม และการใช้สารเคมีในการกระบวนการผลิตปรากฏออกมาเป็นระยะๆ มีผู้คนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวและเปลี่ยนทิศทางทั้งการผลิตและบริโภค ซึ่งเป็นทิศทางที่ย้อนกลับมาตามเส้นทางที่เราเคยผ่านเมื่อนานมาแล้ว นั่นคือ…เส้นทางกลับสู่วิถีแห่งธรรมชาติ

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า โลกของเราได้พัฒนาวิทยาการด้านต่างๆ ไปไกลมากแล้ว การกลับมาปลูกผักปลูกหญ้ากินด้วยวิธีแบบโบราณนั้นเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่ทันต่ออัตราการเพิ่มจำนวนของประชากรโลก และเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ความคิดเห็นเช่นนี้ยังคงมีอยู่มากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นความคิดที่สนับสนุนให้การผลิตเชิงอุตสาหกรรมยังคงเติบโตต่อไปได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หัวใจของเราจะเต็มไปด้วยการปรุงแต่งและสะสมของสารพิษ

เราไม่อาจล่วงรู้อนาคตได้ว่า หากยังคงเดินตามสายพานการผลิตนี้ต่อไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พอจะคาดเดาได้จากสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพราะหัวใจที่สะสมสารพิษมาเนิ่นนานนี้กำลังป่วยไข้และยากต่อการเยียวยาขึ้นทุกขณะ

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องลึกแล้วเราต่างโหยหาธรรมชาติ แต่เรามักไม่ยอมรับว่าเราอ่อนแอเมื่ออยู่ห่างจากธรรมชาติ มิหนำซ้ำยังสร้างค่านิยมใหม่ โดยลดทอนคุณค่าของธรรมชาติให้เป็นเพียงทรัพยากรที่มนุษย์มีสิทธิ์นำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น

การใช้ชีวิตที่แปลกแยกจากธรรมชาติ ทำให้เรามองปรากฏการณ์การก่อเกิดของเมล็ดพันธุ์เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อการบริโภค

แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าแต่ก็ไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เมื่อเริ่มมีผู้คนรวมตัวกันเป็นชุมชน ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติตามมุมต่างๆ ของโลก อาทิเช่น ชุมชนฟินฮอร์นในประเทศสก๊อตแลนด์ ชุมชนของชาวอังกฤษที่เช่าพื้นที่รกร้างในเมืองเพื่อทำแปลงปลูกผักร่วมกัน (Allotment) ชาวชุมชนท็อดมอร์เดน (Todmorden) ที่พร้อมใจกันปลูกพืชผักตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ เพื่อเป็นอาหารบริโภคภายในชุมชน ในเมืองไทยเองก็มีการรวมตัวเป็นชุมชนต่างๆ ขึ้นมาหลายแห่งด้วยกัน เช่น สวนพันพรรณ จ.เชียงใหม่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี หรือแม้แต่ชุมชนสังคมออนไลน์อย่าง กลุ่มเมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก ชุมชนเกษตรพอเพียง ฯลฯ

สำหรับเรา…ผู้ยังคงมีทางเลือกในการบริโภคไม่มากนัก การตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต คือ จุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อเราตระหนักว่าเราไม่สามารถหยิบฉวยอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือเพื่อดื่มกินอีกต่อไป และเพิ่มความใส่ใจในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเริ่มต้นลงมือเพาะปลูกด้วยตัวเอง มีอาหารสักมื้อในหนึ่งสัปดาห์ที่มาจากพืชผักที่เราปลูกเอง ปรุงเอง คุณก็จะได้สัมผัสรสชาติของความอิ่มเอมทั้งทางกายและหัวใจ และแน่นอนหากคุณละเอียดลออกับปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว ความอิ่มเอมก็จะแผ่ซ่านไปถึงจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน

ฤดูฝนที่กำลังมาถึงนี้ ลองก้มลงมองบนพื้นดินอย่างใส่ใจแล้วคุณจะพบว่า ชีวิตเล็กๆ ที่โผล่จากเปลือกแข็งๆ สีน้ำตาลนั้น คือ คำบอกเล่าของชีวิตอันเก่าแก่ที่เราหลงลืมไป และหากมีโอกาสเราคงได้พูดถึงเรื่องนี้ในคราวต่อไป


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน