ทะเลในใจ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 20 เมษายน 2008

ความปรารถนาสูงสุดในชีวิตของคุณคืออะไร คุณมีความฝันต่อชีวิตในเรื่องอะไรและอย่างไรบ้าง  ไม่มากก็น้อยในชีวิตของเรา เราทุกคนต่างมีความฝัน ความปรารถนาเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า  ด้านหนึ่งของความปรารถนาทำให้ชีวิตเรามีพลัง มุ่งมั่นและไขว่คว้า เรามีความใฝ่ฝันที่จะเดินทางท่องเที่ยว ใฝ่ฝันที่จะประสบความสำเร็จ ปรารถนาที่จะมีความสุขและสมหวังในบางสิ่ง  แต่ในอีกด้านของความปรารถนาก็ทำให้เราต้องตกจมอยู่กับความกระวนกระวาย และเดือดร้อนรำคาญใจยามที่สิ่งปรารถนายังมาไม่ถึง ลุกลี้ลุกลนอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ได้คำตอบโดยเร็ว พร้อมกับลังเลและกังวลใจกับผลลัพธ์นั้นว่าจะเป็นอย่างที่ปรารถนาหรือไม่

จิตใจของเราก็เปรียบเหมือนท้องทะเลที่มักมีคลื่นลมปั่นป่วนอยู่เสมอ อาจจะมีช่วงเวลาที่ท้องทะเลในใจของเราสงบนิ่งอยู่บ้าง แต่อีกไม่นานท้องทะเลแห่งนี้ก็พร้อมปั่นป่วนได้อีก

ดอนกิโฆเต้ ตัวละครเอกในวรรณกรรมระดับโลก “สู่ฝันอันสูงสุด” ดำเนินชีวิตตามความฝันและความปรารถนา คือ การได้ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของอัศวินด้วยการมุ่งมั่นที่จะอภิบาลคนดี กำจัดเหล่าทุรชน ท่ามกลางสายตาคำตัดสินของคนแวดล้อมที่มองว่า ดอนกิโฆเต้ คือคนบ้า  ขณะที่มาดามโบวารี ตัวละครเอกจากวรรณกรรมโลกเช่นกัน เลือกเดินทางตามความปรารถนาของเธอด้วยการหนีตามชู้รักทอดทิ้งสามีเพื่อไปอยู่กับชู้รักและสถานที่ที่เธอคิดว่ามีความสุขมากกว่า ภายใต้คำตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม

จากมุมมองของคนนอกด้วยกรอบของพุทธศาสนา คงไม่ยากที่จะแยกแยะว่าความปรารถนาใดเป็นฉันทะหรือตัณหา แต่เมื่อเราได้ลองก้าวเท้าเข้าไปอยู่ตำแหน่งเดียวกับบุคลในเรื่องราว หรือหากเราลองทบทวนตนเองยามที่เราตกอยู่ในอารมณ์ความรัก อยู่ในความเชื่อมั่นบางอย่าง สภาพแวดล้อมบางอย่าง ก็จะไม่ยากนักที่จะเข้าใจความฝัน ความปรารถนา และการกระทำของตัวละครในเรื่องราว  ซึ่งแท้จริงภาพตัวละครข้างต้นก็คือ ตัวแทนของชีวิตพวกเราทุกคนนั่นเอง ถึงตรงนี้นิยามความปรารถนา ความต้องการว่าอะไรคือ ฉันทะ หรือตัณหาก็อาจไม่สำคัญนัก

ในความเป็นตัวเรา ในแง่จิตและใจซึ่งทำหน้าที่คิดนึก และรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา หากแยกย่อยก็จะพบว่ามันมีส่วนประกอบที่เป็นความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ ความคาดหวังและความปรารถนาที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ องค์ประกอบเหล่านี้ขับเคลื่อนชีวิตด้วยแรงผลักดัน คือ แรงปรารถนาที่มีอยู่มากมาย  แต่แรงปรารถนาหนึ่งที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญมาก คือ แรงปรารถนาทางเพศ ความพึงพอใจในกามซึ่งแสดงออกผ่านความต้องการใกล้ชิด ผ่านความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งทางร่างกาย หรือทางจิตใจก็ตามกับคนพิเศษ ซึ่งอาจเป็นคนรัก หรือกับคนสำคัญของชีวิต เช่น ผ่านความรักที่มีต่อพ่อแม่ ความศรัทธาที่มีกับครูบาอาจารย์

แรงปรารถนาที่ต้องการใกล้ชิดนี้ขับเคลื่อนผ่านความเชื่อที่ซ่อนเร้นอยู่ว่า คนรักหรือบุคคลพิเศษจะเป็นสิ่งเติมเต็มให้เราได้รับความสุข ความพอใจในชีวิตอย่างยิ่งยวด บ่อยครั้งเราอาจผิดหวัง แต่ความเชื่อนี้ยังดำรงอยู่อย่างหนักแน่น เราจึงต้องแสวงหาและปรารถนาต่อไป  วงจรความปรารถนาที่จะบรรลุสิ่งที่ปรารถนาจึงประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ เราในฐานะคนรัก บุคคลในฐานะผู้เป็นที่รัก และสิ่งเชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้งสอง

เบี้องลึกของความปรารถนา ความต้องการ คือภาวะที่เราอยู่นิ่งไม่ได้ ภาวะที่เราต้องการหนีหรือขับเคลื่อนจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง  มันเป็นภาวะทุกข์ทรมานที่เราทนอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการ ความปรารถนานั้นๆ เพื่อให้ตัวเรามีความสุข ความพอใจ  เช่น เราปรารถนาในความรัก ความสัมพันธ์ เพราะมันทำให้เรามีความสุขในจิตใจ  เราต้องการปัจจัย 4 เพื่อให้ร่างกายเราอยู่ดี มีสุข  กิจกรรมชีวิต งานอดิเรก การทำงาน ฯลฯ ที่เราลงทุน ลงแรง และเวลา ต่างล้วนเพื่อมุ่งให้ร่างกายและจิตใจเรามีความสุข  ถ้าได้ สมหวัง เราก็มีความสุข  แต่ถ้าไม่ได้ ผิดหวัง หรือพลัดพราก สูญเสียสิ่งที่รักและหวัง ความทุกข์ทรมานโดยเฉพาะในจิตใจก็จับตัวเราทันที

ด้านหนึ่งของความปรารถนาทำให้ชีวิตเรามีพลังมุ่งมั่น แต่ในอีกด้านก็ทำให้เราตกจมอยู่กับความเดือดร้อน กังวล และกระวนกระวายใจ

สิ่งที่ซ่อนเร้นและเราอาจไม่คาดคิดมาก่อนคือ ทั้งหมดที่เรากระทำนั้น อยู่ภายใต้ความคิด ความเชื่อที่ฝังลึกในตัวเราว่า มีตัวตนที่เราต้องดูแล บำรุง บำเรอ  ตัวตนที่เป็นร่างกาย เป็นจิตใจที่ต้องการความสุข ต้องการการตอบสนอง ไม่ต้องการความทุกข์ กำจัดมันออกไปถ้ามีทุกข์  ยามใดที่ร่างกาย จิตใจเราทุกข์ทรมานกับความต้องการสิ่งใดมากๆ ร่างกายดูร้อนรุ่ม จิตใจอยู่ไม่เป็นสุข กระสับกระส่าย ดิ้นรน โหยหาสิ่งสิ่งที่ปรารถนาตลอดเวลา ราวกับท้องทะเลที่ปั่นป่วนด้วยคลื่นลมมรสุม  กว่าที่ท้องทะเลจะสงบนิ่งได้ ก็ต่อเมื่อคลื่นมรสุมได้พัดผ่านไปแล้ว ซึ่งก็คือ ความปรารถนา ความต้องการได้รับการตอบสนองแล้ว

แต่เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่ทนอยู่นิ่งไม่ได้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้แต่จิตใจของนักปฏิบัติที่ฝึกฝนมาเป็นเวลานาน ก็อาจพบว่าบางวันจิตใจแช่มชื่น แต่บางวันก็ดูเศร้าหมองได้  การปฏิบัติธรรมหรือการจัดการกับท้องทะเลในใจ จึงไม่ใช่การพยายามทำให้จิตใจไร้สิ่งกระทบ ไม่ใช่การทำให้จิตใจไม่มีหรือหยุดความต้องการ ความปรารถนาเสียทีเดียว  แต่คือ การปล่อยวางความคิด ความเชื่อว่าจิตใจที่ดิ้นรน แส่ส่ายอยากได้ ปรารถนาอะไรต่างๆ มากมายนั้น แท้จริงจิตใจไม่ได้เป็นของเรา  ปล่อยวางความเชื่อว่าเราสามารถควบคุม จัดการให้จิตใจที่เหมือนลิงนั้น มันสงบนิ่ง เรียบร้อยได้ตลอดไป  เพราะจิตใจที่ดิ้นรนแส่ส่ายด้วยความต้องการ ความปรารถนาไม่ใช่ประเด็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะนี่คือธรรมชาติของจิต  สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาคือ ท่าทีการตอบโต้การตอบสนองต่อจิตใจที่ดิ้นรนแส่ส่ายต่างหาก คือตัวปัญหา ไม่ว่าท่าทีนั้นจะเป็นการบังคับ กดข่มจิตใจ ปฏิเสธ หรือท่าทีตอบสนอง ปรนเปรอ ยินดีก็ตาม

เช่นเดียวกัน เราไม่อาจทำให้คลื่นลมในทะเลสงบได้ฉันใด เพราะทะเลมีธรรมชาติที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตามเหตุปัจจัยของมัน  สิ่งที่เราทำได้และเป็นทิศทางจัดการกับความทุกข์ที่แท้จริง คือ การปล่อยวางความคิด ความเชื่อว่าจิตใจเป็นของเรา  จิตใจไม่ใช่สิ่งที่เราจะยึดมั่นได้ว่าจะเป็นอย่างที่เราปรารถนา

แต่ในความรัก ความปรารถนา เรามักทุ่มพลังงาน ความใส่ใจไปกับสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราปรารถนา ไขว่คว้าให้ได้  ดังนั้นเราจึงไม่ได้ใส่ใจกับจิตใจที่ถูกปะปน บดบังด้วยความกลัว ระแวง ยินดี ยินร้าย ฯลฯ  เราไม่เห็นความปกติในจิตใจ รู้ตัวก็ต่อเมื่อเราถูกความสุข ความทุกข์ครอบงำจิตใจหมดแล้ว  อย่างไรก็ดี ภาวะระหว่างการรอคอยความปรารถนาเป็นช่วงเวลาอันมีค่าในการเรียนรู้จิตใจ เรียนรู้ที่จะปล่อยวางความทุกข์เช่นกัน

วิธีการปล่อยวาง คือ การเฝ้าดูให้เห็นอาการของจิตที่มักหลุดลอยออกจากความปกติของจิตใจ ตระหนักยามที่เราพบว่าจิตใจมีความไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น ใจลอย ฟุ้งซ่าน ลังเล สงสัย กลัว โกรธ หึงหวง อิจฉา ตะกละ โลภ ฯลฯ  จนในที่สุดเราก็จะพบว่า จิตใจ และอาการดิ้นรนต่างๆ ของจิตใจ อารมณ์ใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นเจ้าของแต่อย่างใด  เราไม่อาจควบคุมบังคับจิตใจได้ เพราะการปรุงแต่งของจิตใจเป็นตามเหตุและปัจจัย  เพราะการพยายามบังคับ ควบคุมจิตใจ ก็คือการกระทำโดยมีความเชื่อว่าเราบังคับจิตใจได้ จิตใจเป็นของเราที่เราสั่งการได้  ความเชื่อว่าจิตใจเป็นของเรา จึงเป็นที่มาและที่ตั้งของความทุกข์

กัปตันผู้นำพาเรือเดินสมุทรไปยังจุดหมายปลายทาง รู้ดีและชัดเจนว่าตนเองไม่มีอำนาจบังคับคลื่นลม หรือกระแสลม  หน้าที่ประการเดียวคือ การนำพาเรือไปยังจุดหมายปลายทาง โดยเฝ้าสังเกต เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนำพาเรือเดินสมุทรฝ่าข้ามทะเลพายุและคลื่นลม ร่องน้ำ อุปสรรค  สิ่งที่กัปตันต้องรุู้จักคือ การรู้จักและเฝ้าดูทุกสิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคของการเดินทาง  สำหรับพวกเรานักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เรามีหน้าที่นำพาชีวิตไปยังจุดหมายปลายทางที่พึงปรารถนา ด้วยการทำความรู้จักกิเลส นิวรณ์ และหรืออุปสรรคใดๆ ก็ตามที่จะขัดขวางทางเดินแห่งชีวิตของเรา ด้วยการเฝ้าสังเกต เรียนรู้ที่จิตใจของเราว่า มีสิ่งใด อะไรที่ทำให้จิตใจเราหลุดออกจากความปกติในจิตของเรา

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรามีความปรารถนา แต่อยู่ที่ท่าทีที่เรามีต่อความปรารถนาต่างหาก


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน