ทางหลุดพ้นจากกับดักแห่งความรุนแรง

พระไพศาล วิสาโล 16 พฤษภาคม 2010

นับแต่วันที่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นในเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหารที่นราธิวาสเมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๗  ความปริร้าวแตกแยกในหมู่คนไทยได้ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ และลุกลามจนเกิดความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่ความรุนแรงแต่ละครั้งยิ่งตอกย้ำความร้าวฉานให้ขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ

นับเป็นปีที่ ๗ แล้วที่ประเทศไทยได้พลัดเข้าสู่วงจรแห่งความแตกแยกอย่างรุนแรง  เริ่มจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีกรือเซะและตากใบ  ซึ่งเพิ่มความร้าวฉานในหมู่ชาวมุสลิมกับชาวพุทธ และก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนดินแดนที่เคยสงบสุขมีสภาพไม่ต่างจากสมรภูมิรบ

ในขณะที่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้อง ก็มีความขัดแย้งอย่างใหม่เกิดขึ้น  คราวนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนในส่วนที่เหลือของประเทศ โดยเฉพาะหลังจากเกิดรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ได้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนระหว่างผู้สนับสนุ นพ.ต.ท.ทักษิณกับผู้ต่อต้าน  เป็นความขัดแย้งที่ขยายวงไปทุกระดับ ตั้งแต่ระดับภาคและจังหวัด (เหนือและอีสานกับกลางและใต้) สถาบัน (ทหารกับตำรวจ) ไปจนถึงระดับครอบครัว

การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกไปทุกวงการ และพร้อมจะประทุเป็นความรุนแรงได้ทุกขณะ  จริงอยู่ที่ผ่านมามีการสูญเสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่โอกาสที่จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่และขยายวงจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะจากการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพกับคนเสื้อแดงซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

ดูเผินๆ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับความขัดแย้งในส่วนที่เหลือของประเทศ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย แม้จะเกิดขึ้นไล่ๆ กัน  เนื่องจากเหตุการณ์แรกนั้นเกิดขึ้นในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนเหตุการณ์หลังเกิดขึ้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณหลุดจากอำนาจไปแล้ว  แต่เมื่อมองให้พ้นตัวบุคคลไป จะพบว่าทั้งสองเหตุการณ์นั้นมีสาเหตุหลักคล้ายกันในบางประการ

จริงอยู่ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกี่ยวพันอย่างมากกับประเด็นทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และประวัติศาสตร์  ในขณะที่ความขัดแย้งในส่วนที่เหลือของประเทศ (ซึ่งขอเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่าความขัดแย้งระหว่างคนต่างสี) นั้น ไม่มีประเด็นเหล่านั้นมาเกี่ยวข้องเลย  อย่างไรก็ตามมีสองปัจจัยที่เป็นสาเหตุร่วมของความขัดแย้งทั้งสองกรณี  นั่นคือ ความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่ยุติธรรม

หลังจากที่ศึกษาหาข้อเท็จจริงมาหนึ่งปีเต็ม คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้สรุปว่า “ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาความยากจนหรือความไม่เป็นธรรม เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรง (ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพราะเป็นทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแนวร่วมและการสนับสนุนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ใช้ความรุนแรงได้”

ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ขณะเดียวกันก็มีคนจนเป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๖ ของคนจนทั้งภูมิภาค  และเมื่อศึกษาในรายละเอียด พบว่าในบรรดาหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงนั้น ปรากฏว่าร้อยละ ๔๖ มีความขัดแย้งทางทรัพยากร เช่น มีปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งหมายความว่านอกจากชาวบ้านจะมีปัญหาการทำมาหากินแล้ว ยังก็มีปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมักลงเอยด้วยการดำเนินคดี

ในด้านความไม่เป็นธรรม สิ่งที่ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบเป็นประจำก็คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม  มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมทั้งละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้เกี่ยวข้อง  ยิ่งกว่านั้นก็คือการทรมานและสังหารผู้ต้องสงสัยโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรม

ทั้งสองประการได้สร้างความเจ็บแค้นแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นประเด็นที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำมาใช้ปลุกระดมกระตุ้นเร้าให้ประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วมของพวกเขา  แกนนำขบวนการดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ที่มีความคิดสุดโต่ง มุ่งกำจัดรัฐไทยให้พ้นจากพื้นที่ด้วยกำลังอาวุธ แม้มีจำนวนไม่น้อย แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่แล้วย่อมไม่สามารถก่อความรุนแรงไปทั่วพื้นที่ได้ต่อเนื่องมาหลายปี

ในทำนองเดียวกัน เมื่อหันกลับมาดูความขัดแย้งในส่วนที่เหลือของประเทศ ก็จะพบว่าการเติบใหญ่ของขบวนการคนเสื้อแดงก็เป็นผลมาจากความความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนระดับรากหญ้ามาเป็นเวลาช้านาน  บุคคลเหล่านี้ซึ่งมีทั้งในชนบทและในเมืองล้วนถูกทอดทิ้งจากภาครัฐ  นอกจากไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการพัฒนาที่ผ่านมาเหมือนคนชั้นกลางในเมืองแล้ว ยังต้องรับภาระจากการพัฒนาดังกล่าว รวมทั้งต้องสูญเสียทรัพยากรต่างๆ เช่น ป่า น้ำ ที่ดิน เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นกลางในเมือง  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย  ยังไม่ต้องพูดถึงกลไกอื่นๆ ของภาครัฐที่เอื้อประโยชน์แก่คนรวยมาโดยตลอด

คนรากหญ้าเหล่านี้เคยสนับสนุนเจ้าพ่อในท้องถิ่นให้เป็น ส.ส. จนตั้งรัฐบาลและได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะหวังพึ่งเจ้าพ่อในคราบนักการเมืองเหล่านี้ในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการของรัฐ  รวมทั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองตนจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่  ครั้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี และหยิบยื่นผลประโยชน์จากส่วนกลางมาให้แก่พวกเขาผ่านนโยบายประชานิยม (แม้จะเทียบไม่ได้กับผลประโยชน์ที่กระจายสู่พวกพ้องและเครือข่ายของตน)  ทำให้ประชาชนรากหญ้ารู้สึกว่านี้เป็นรัฐบาลของพวกเขาจริงๆ  ยิ่งนักการเมืองในพรรคไทยรักไทยสามารถเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านได้ในยามที่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ (เพราะข้าราชการเกรงกลัวนักการเมืองและหัวคะแนนของนักการเมือง) ก็ยิ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชนรากหญ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างเลย  แต่เมื่อเขาถูกรัฐประหาร ประชาชนนับสิบล้านที่เลือกเขาก็ยิ่งรู้สึกมากขึ้นว่าพวกตนถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม  ความเหลื่อมล้ำที่ยังดำรงอยู่และความไม่เป็นธรรมที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาสนับสนุนการช่วงชิงอำนาจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ จนเกิดขบวนการคนเสื้อแดงขึ้นมา

ความสำเร็จประการหนึ่งของแกนนำคนเสื้อแดง อยู่ตรงที่ทำให้ประชาชนรากหญ้าเห็นความไม่เป็นธรรมในอีกระดับหนึ่ง ได้แก่กระบวนการยุติธรรมที่มี “สองมาตรฐาน” โดยยกเอากรณี พ.ต.ท.ทักษิณและพวกเป็นตัวอย่างและตัวกระตุ้นเร้า  การที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลตัดสินจำคุกและยึดทรัพย์ แทนที่จะเป็นสิ่งบ่งชี้ความผิดของเขา กลับกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงระบบสองมาตรฐานในสายตาของประชาชนรากหญ้า  แต่ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะผิดจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือสังคมไทยนั้นเป็นสังคมสองมาตรฐานจริงๆ  และผู้ที่ได้รับเคราะห์จากสังคมสองมาตรฐานนั้นมิใช่ใครที่ไหน หากคือประชาชนรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำนั้นเอง  ไม่ว่า “อำมาตย์” ในสายตาของคนเสื้อแดงจะหมายถึงใครก็ตาม  ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้อภิสิทธิ์จากระบบที่เป็นอยู่ รวมทั้งกุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ยอมรับว่าประชาชนรากหญ้านั้นมีสิทธิมีเสียงเท่ากับตน

กล่าวโดยสรุป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง ๗ ปีมานี้ ไม่ว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือส่วนที่เหลือของประเทศ ล้วนมีรากเหง้ามาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งแยกไม่ออกจากการใช้อำนาจอย่างล้นเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐ  และเมื่อสืบสาวไปก็จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับโครงสร้างการเมืองไทยที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งเอื้อให้คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการทรัพยากร  โครงสร้างดังกล่าวไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจก็จะก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความขัดแย้งในสังคมจนลุกลามเป็นความรุนแรง  ใช่หรือไม่ว่านี้แหละคือโครงสร้างแห่งความรุนแรง ที่ครอบสังคมไทยเอาไว้จนไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความรุนแรงได้

ตราบใดที่โครงสร้างดังกล่าวยังคงอยู่ ย่อมเปิดช่องให้คนที่มีความคิดสุดโต่ง (ซึ่งในยามปกติมีจำนวนไม่มากนัก) สามารถปลุกระดมผู้คนจนมีแนวร่วมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าในรูปของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือขบวนการล้มเจ้า  ขณะเดียวกันก็ทำให้การแย่งชิงอำนาจในระดับสูงส่งผลกระเทือนไปทั้งประเทศ ก่อความแตกแยกไปทั่ว เพราะต่างฝ่ายต่างดึงเอาประชาชนมาเป็นฐาน  ดัง พ.ต.ท.ทักษิณและพวกได้ระดมประชาชนรากหญ้ามาเป็นฐานกำลัง  ขณะที่ชนชั้นนำกลุ่มเดิม ซึ่งอิงหรือเติบใหญ่จากระบบราชการ อาศัยชนชั้นกลางเป็นกำลังสนับสนุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัว

ถึงแม้จะจับกุมแกนนำหรือจัดการกับผู้ที่มีความคิดสุดโต่งได้ สังคมไทยจะไม่มีวันหลุดจากกับดักแห่งความรุนแรงได้เลยจนกว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยสาวลึกไปถึงรากเหง้าในเชิงโครงสร้าง  กล่าวอีกนัยหนึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน อันจะทำให้การแบ่งปันทรัพยากรและผลประโยชน์เป็นไปอย่างทั่วถึงและเหลื่อมล้ำน้อยลง

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ข้อเสนอเพื่อการปรองดองของนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่ได้รับความร่วมมือจากแกนนำ นปช. ทำให้โอกาสที่จะเกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิรูปสังคมและถอดสลักความรุนแรงได้หลุดลอยหายไป  การที่ นปช.ยังคงชุมนุมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้สถานการณ์กลับเลวร้ายลงและล่อแหลมที่จะเกิดการนองเลือดครั้งใหม่ที่ยิ่งกว่าวันที่ ๑๐ เมษายน  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากการนองเลือดเกิดขึ้น สังคมไทยจะปริร้าวยิ่งกว่าเดิมและติดตรึงอยู่ในกับดักแห่งความรุนแรงแน่นหนาขึ้น  ถึงตอนนี้ได้แต่หวังว่าทุกฝ่ายจะมีสติ อดกลั้นอย่างถึงที่สุด และตระหนักว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากการนองเลือดนั้น มิใช่ชัยชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แต่เป็นชัยชนะของปีศาจร้ายที่ชื่อความโกรธเกลียดเคียดแค้นและการจองเวร

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา