ทางเลือก: เผชิญภัยคุกคาม

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 13 พฤศจิกายน 2011

“ลูกหมู ๓ ตัว” เป็นนิทานเก่าแก่เรื่องหนึ่งของชาวยุโรป เรื่องราวเริ่มต้นว่าลูกหมู ๓ ตัวซึ่งเป็นพี่น้องต่างได้รับข่าวคราวจากเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไปว่า  หมาป่าหิวโซดุร้ายกำลังเดินทางเพื่อตามล่าเหยื่อมาเป็นอาหารของตน พวกเขาจึงต้องคิดหาวิธีป้องกันตนเอง  ลูกหมู ๒ ตัวแรกมีอุปนิสัยคล้ายคลึงกันสักหน่อย คือ เกียจคร้าน และไม่ค่อยฉลาดนัก  ตัวแรกเลือกที่จะสร้างบ้านด้วยกองฟางเพราะคิดนึกแล้วว่า บ้านกองฟางของตนน่าที่จะเพียงพอใช้ปกป้องตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้  ขณะที่เจ้าตัวกลางเลือกสร้างบ้านด้วยกองเศษไม้ที่มีอยู่ เพราะคาดหมายว่าบ้านเศษไม้ของตนแข็งแรงเพียงพอ อีกทั้งวิธีนี้ก็ไม่ยุ่งยากด้วย  สำหรับลูกหมูตัวที่สาม มันมองว่าหมาป่าเป็นสัตว์ดุร้ายอีกทั้งยังหิวโซ มันจะต้องพยายามค้นหาและล่าเหยื่อให้ได้ เลยเลือกที่จะสร้างบ้านด้วยอิฐและปูนซี่งมีความแข็งแรงทนทาน  แน่นอนนั่นหมายถึงความยากลำบากที่เพิ่มมากขึ้นหลายสิบเท่า

แล้วไม่นานหมาป่าก็เดินทางมาถึง  บ้านกองฟางพังราบแตกกระจายเพียงแค่การกระโจนครั้งเดียว  ลูกหมูตัวแรกส่งเสียงร้องวิ่งหนีเข้าบ้านของน้องชายตัวรอง  กระนั้นบ้านเศษไม้ก็ทนทานพลกำลังของหมาป่าไม่ได้ พังทลายในชั่วเวลาไม่นาน  ลูกหมูทั้งสองมีทางรอดสุดท้ายคือ ต้องมาอาศัยบ้านอิฐปูนของลูกหมูตัวน้องเล็กสุด  หมาป่าพยายามบุกทะลวงให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะบ้านอิฐปูนอันแข็งแรงนี้ได้ กระทั่งหมาป่าหมดแรงขาดใจตายในที่สุด  ลูกหมูทั้งสามตัวจึงปลอดภัยเพราะบ้านอันแข็งแรงของลูกหมูตัวที่สามนี่เอง

เค้าโครงนิทานยุโรปเรื่องนี้สะท้อนถึงการให้คุณค่ากับความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งหมายถึงความมานะบากบั่นและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะภัยคุกคาม  สำหรับนิทานเรื่องนี้หมาป่าอาจจะสื่อความหมายถึงภัยคุกคามที่เข้ามาในชีวิต มันเป็นภัยคุกคามที่จับต้องได้  โจทย์สำคัญมีเพียงประการเดียวคือ เบื้องต้นหลายคนรับรู้ภัยคุกคามได้เพียงเรื่องราวที่บอกเล่าต่อๆ กันมา ข้อมูลจริงเท็จอาจมีปะปนกัน  สิ่งสำคัญคือ ภัยคุกคามนี้เมื่อปรากฏตัวขึ้นจริงๆ พวกเราอาจมีเวลาน้อยมากในการเตรียมตัวหรือเตรียมความพร้อม และบ่อยครั้งภัยคุกคามนี้ก็ไม่ได้ให้โอกาสให้เราได้แก้ตัว

กระนั้นระหว่างความรอบคอบกับความหวาดระแวง หวั่นกลัว เส้นแบ่งที่กีดกั้นระหว่างลักษณะทั้งสองก็มีเพียงเส้นบางเบา  การเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจึงขึ้นกับว่า เรามีต้นทุนภายในตนเองมากน้อยเพียงใด  ต้นทุนภายใน: สติปัญญา สติสัมปชัญญะ และความรู้ ความเข้าใจที่มีต่อภัยคุกคามนั้น  และต้นทุนเหล่านี้ไม่มีใครชี้วัดได้  มีผลลัพธ์ในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น  เพราะสำหรับภัยคุกคาม สิ่งที่เข้ามาไม่ใช่การสอบย่อย แต่คือ การสอบไล่  อันหมายถึงชีวิตและความปลอดภัยของตน  เหมือนกับท่าทีการตอบสนองของลูกหมูทั้งสามที่มีต่อหมาป่าในฐานะภัยคุกคาม

ประเทศไทยเผชิญมหาอุทกภัยในคราวนี้ เริ่มต้นขึ้นเหมือนกับปีก่อนๆ ที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางเหนือ สร้างความเดือดร้อนให้กับท้องที่ จากนั้นวิกฤติภัยนี้ค่อยๆ กดดันและสร้างผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อเส้นทางของมวลน้ำมหาศาลค่อยๆ ไหลบ่าท่วมทับพื้นที่ภาคกลาง อยุธยา ปทุมธานี รวมถึงกรุงเทพฯ และกำลังค่อยๆ เข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งหมายถึงใจกลางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ  ภัยคุกคามนี้อาจจะแตกต่างจากภัยคุกคามอื่นๆ เพราะเราทุกคนต่างรู้ว่าในที่สุดมวลน้ำทั้งหมดก็จะไหลลงทะเล  แต่ปฏิกิริยาที่มีต่อวิกฤติภัยนี้ต่างหากที่อาจเป็นปัญหาให้เราพึงใส่ใจและให้ความสำคัญในการเรียนรู้

โดยทั่วไปแล้วปฏิกิริยาที่มักเกิดขึ้นยามเผชิญกับภัยอันตรายคือ สู้หรือหนี  พร้อมกับความเครียด ความกังวล ความโกรธ ท้อแท้ ความมุ่งมั่น บากบั่น ฯลฯ  ในแง่จิตใจ กลไกป้องกันตนเองทำงานโดยอัตโนมัติตามความถนัด ตั้งแต่การถอนตัว ซึมเศร้า การกล่าวโทษคนอื่น การพยายามหาคำอธิบาย เครียดจนกระทบจิตใจมาก รวมถึงอาการโรคจิตหรือโรคประสาทหากว่าไม่สามารถรับมือกับวิกฤติภัยนี้ได้

ระหว่างความรอบคอบกับความหวาดระแวง มีเพียงเส้นแบ่งบางเบาที่กีดกั้นไว้

ในหลายครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ หลายคนเลือกที่จะอยู่บ้านแทนการอพยพ สร้างความทุกข์ใจกับลูกหลานที่ไม่เห็นด้วยกับทางเลือกนี้ หลายครอบครัวกำลังทุกข์ร้อนแสนสาหัสกับทรัพย์สินที่สูญหาย และเสียหายไป รวมถึงการงานที่เป็นฐานรายได้เลี้ยงชีวิตก็อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง  ขณะที่ข่าวคราวการทำงานภาครัฐที่มักมีข่าวเชิงลบในด้านความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน การทุจริตคอรัปชั่นถุงยังชีพ รวมถึงการบริหารจัดการที่มีการเลือกพวกพ้อง รวมไปถึงการอ้างผลงาน ความดีความชอบหาประโยชน์ส่วนตัว ก็ทำให้วิกฤติภัยคุกคามน้ำท่วมนี้อาจไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤติในใจคนที่ไร้ความเมตตา ไร้ความเห็นใจ เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงส่วนรวมและสังคม

ท่ามกลางความหวั่นวิตกของพวกเราในเรื่องภัยน้ำท่วม  สังคมไทยเกิดกลไกภาคส่วนที่ช่วยเหลือเป็นจิตอาสาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่เพื่อนคนไทย  หลายภาคส่วนในสังคมยังมีการแบ่งเขาแบ่งเรา  แน่นอนว่าในความเป็นสังคมโดยรวมที่หลายองค์ประกอบไม่สามารถควบคุมได้  สิ่งที่เราทุกคนทำได้เท่าที่ทำได้คือ การรักษาสายใยครอบครัว สายใยความรักที่มีต่อกัน และเผื่อแผ่ให้กับผู้อื่น เพื่อนบ้าน ชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงสังคมวงกว้าง  สังคมไทยผ่านวิกฤติภัยนี้ได้มากน้อยเพียงไร จึงมิใช่เรื่องทางเทคนิค มิใช่เรื่องโครงการอะไรต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือ พลังของความรักความเอื้ออาทรในสายใยครอบครัว สายใยความเป็นชุมชน ความเป็นสังคมเดียวกัน  โดยไม่มีการสี แบ่งพวกพ้อง

พิจารณาให้ลึกซึ้ง สิ่งที่ปกป้องความปลอดภัยให้กับชีวิตของลูกหมูทั้งสาม หาใช่บ้านอันแข็งแรงที่สร้างด้วยอิฐปูน แต่คือ สายสัมพันธ์ของความเป็นพี่น้อง ความเป็นครอบครัวที่เกาะเกี่ยวไม่ทอดทิ้งกันต่างหาก  สำหรับประเทศไทยที่ความบาดหมางทางการเมืองยังคงอยู่ พวกเราอาจไม่ต้องรักกันมากแบบลูกหมู ๒ ตัวพี่น้องก็ได้  แต่อย่างน้อย ขอให้อดทนกันสักหน่อย เห็นอกเห็นใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก และทำหน้าที่เพื่อเห็นแก่สังคมโดยรวม


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน