ทำงานคืองานธรรม

พระวิชิต ธมฺมชิโต 28 ธันวาคม 2014

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้สร้างสรรค์โวหารอันคมคาย “การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม” ขึ้นมาชักชวนคนรุ่นใหม่ หรือคนในสังคมยุคใหม่ที่มีงานเป็นสาระของชีวิต ให้หันมาสนใจประยุกต์ใช้ธรรมะในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

โวหารนี้ยังเป็นการนิยาม “การปฏิบัติธรรม” เสียใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องปลีกตัวออกจากสังคมไปนุ่งขาวห่มขาวอยู่วัดหรือนั่งหลับตาทำสมาธิเท่านั้น หรือจะทำได้ก็ต่อเมื่อสละเรื่องทางโลกหรือเลิกทำงานแล้วเท่านั้น

แม้โวหารนี้จะดังก้องอยู่ในสังคมไทยมาหลายทศวรรษ แต่ดูเหมือนว่าความเข้าใจต่อการปฏิบัติธรรมของคนไทยทุกวันนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนัก ที่สำคัญเราไม่สามารถที่จะลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้ว่า ควรทำงานอย่างไรจึงจะช่วยพัฒนาจิตใจเราให้สูงขึ้น มีกิเลสเบาบางลงได้

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่การรับรู้ต่อความหมายของ “งาน” ที่มักมองว่าเรื่องงานต้องแยกออกจากชีวิตส่วนตัว ต่อเมื่อ “เลิกงาน” หรือ “ลาออกจากงาน” แล้ว จึงใช้เวลาเพื่อการอื่นที่เราสนใจ ในแง่นี้การทำงานด้วย ปฏิบัติธรรมไปด้วย อาจถูกมองได้ว่าไม่เหมาะสม

อุปสรรคอีกส่วนหนึ่ง สืบเนื่องมาจากความเข้าใจดั้งเดิมของเราที่มองว่า การปฏิบัติธรรมนั้นต้องปลีกตัวออกไปทำกิจกรรมอะไรเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เช่น ต้องไปสวดมนต์ แผ่เมตตา ไปวัด นั่งสมาธิ เป็นต้น โดยลืมไปว่าการกินอยู่เที่ยวเล่นหรือทำงานตามปกติ แต่ด้วยมุมมอง ท่าที หรือวิธีการที่เปลี่ยนไปนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว

เคยมีคนถามผู้เขียนว่า เราสามารถแยกชีวิตการทำงานงานกับการปฏิบัติธรรมออกจากกันได้หรือไม่ เพราะตัวเขานั้นตระหนักถึงประโยชน์ของการศึกษาและปฏิบัติธรรมดี แต่ด้วยอาชีพทำให้เขารักษาศีลไม่ได้ ปฏิบัติธรรมไปด้วยไม่ได้ เขาจึงพยายามทุ่มเทชีวิตในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงานในการทำบุญและปฏิบัติธรรมอย่างมาก

ขณะเดียวกัน หลายคนอาจเคยได้ยินว่าองค์กรขนาดใหญ่ทุกวันนี้ พยายามเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้พนักงานได้ฝึกสมาธิ เจริญสติในสำนักงานกันอย่างจริงจัง แต่นั่นคือรูปแบบอันพึงประสงค์ในการผนวกธรรมเข้ากับงาน หรือเป็นเพียงเทคนิคการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเท่านั้น

การจะทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการงานได้อย่างลงตัว มีสิ่งที่เราควรตระหนัก คือ

ประการแรก

ต้องชัดเจนในทัศนะของพระพุทธศาสนาที่มองชีวิตของมนุษย์ว่า เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกระแสของเหตุและปัจจัยที่สัมพันธ์กันอยู่อย่างซับซ้อนต่อเนื่อง ไม่สามารถแยกส่วนต่างๆ ออกจากกันได้ การกระทำหนึ่งๆ ในชีวิตย่อมส่งผลต่อเนื่องไปในอนาคตตามกฎแห่งกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเราทำงานหรือดำเนินชีวิตด้วยความฉ้อฉลไร้ศีลธรรม แต่หลังเลิกงานเราแบ่งเวลาศึกษาหลักธรรมคำสอน รักษาศีลอย่างเคร่งครัด นั่งสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง กิจกรรมทั้งสองนั้นก็ให้ผลของมันตามเหตุปัจจัยและส่งผลต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผลจากการศึกษาปฏิบัติธรรม ก็จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดขัดข้องลำบากใจมากขึ้นเมื่อต้องทำในสิ่งที่ฉ้อฉลทั้งหลาย ขณะเดียวกันผลของการงานที่ฉ้อฉล ก็ทำให้การตั้งใจรักษาศีลปฏิบัติธรรมของเราเป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร มีเรื่องติดขัดให้คิดกังวลมากจนหาความสงบได้ยาก เป็นต้น

ประการต่อมา

ควรเข้าใจถึงข้อจำกัดของความรู้สึกที่มีต่องาน ของเรา ซึ่งมีผลทั้งต่อวิธีการทำงาน ต่อผลงาน และรวมถึงต่อคุณค่าในชีวิตของเราด้วย  แม้งานในด้านหนึ่งคือความมั่นคง เป็นที่มาของรายได้ และความสุขหลายๆ ด้านในชีวิต แต่งานก็คือภาระ ความเหนื่อย ความหนัก ยิ่งเป็นงานที่ตนไม่ชอบ เพื่อนร่วมงานไม่ดี หรือเป็นงานไร้ฝีมือ งานผิดกฎหมาย ความน่าเบื่อยิ่งท่วมท้นมากขึ้น ต้องทนทำเพียงเพื่อรอรับค่าตอบแทนเท่านั้น รู้สึกมีความสุขทุกครั้งเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ถึงวันสุดสัปดาห์ หรือเมื่อทราบว่าได้หยุดงานเพิ่มเป็นพิเศษ (โดยรายได้ไม่ลดลง)

เมื่อเรานำการปฏิบัติธรรมไปผูกเข้ากับการทำงานในความรู้สึกด้านลบเช่นนี้ แทนที่ธรรมะจะเข้าไปช่วยให้เรามีความสุขในงานมากขึ้น ก็อาจพลอยทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องน่าเบื่อไปพร้อมกับงานด้วย

และประการสุดท้าย

เราต้องตระหนักว่าการทำงานแบบคนในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายที่ทุ่มเท จริงจัง แยกเรื่องส่วนตัวกับงานออกจากกันนั้น แม้จะดูเหมือนว่าดีต่อองค์กร เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีต่อชีวิตคนทำงานเลย  หลายองค์กรที่ผลิตสินค้า บริการ หรือทำงานเพื่อช่วยให้คนมีชีวิตสะดวกสบายขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่คนในหน่วยงานเหล่านั้นคือผู้ที่กำลังทุกข์ที่สุดเพราะระบบการทำงานในองค์กรนั้นเอง

การจะทำให้ “การทำงานคืองานธรรม” นั้น ต้องไม่พยายามแยกงานออกจากชีวิต หรืออาจต้องคิดใหม่ว่าชีวิตของเราทั้งชีวิตนั้นคือการทำงานก็ได้  แต่งานที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีความหมายแคบๆ เพียงแค่งานที่ทำให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่คืองานธรรม เพราะทุกๆ ขณะของชีวิต ไม่ว่าจะทำภารกิจส่วนตัว ขณะกิน-ใช้ เรียนรู้ ทำงาน ดูแลคนรอบข้าง รวมไปถึงขณะที่หาความบันเทิงและพักผ่อนหลับนอนนั้น ล้วนเป็นเวลาที่เราฝึกฝนพัฒนาตนได้ทั้งสิ้น

จากนั้นเราค่อยหาหลักธรรมที่เหมาะกับตนมาปฏิบัติ  แม้โดยหลักการจะไม่พ้นเรื่องของทาน ศีล ภาวนา แต่ขั้นลงมือทำจริงๆ ก็มีรายละเอียดที่เราเองควรตัดสินใจว่าจะทำแค่ไหน อย่างไร  ที่สำคัญคือต้องก้าวให้พ้นจากข้อจำกัดในการปฏิบัติเดิมๆ ที่อาจไม่เหมาะกับวิถีชีวิตปัจจุบันให้ได้

ทาน หรือการให้ การเสียสละนั้น หากค่อยๆ มองเราจะเห็นว่ามีโอกาสมากมายให้เราเสียสละ แบ่งปัน  ไม่ว่าความรู้ เงินทอง โอกาส แรงกาย หรือกำลังใจที่เรามีอยู่ให้กับคนรอบข้าง รวมถึงลูกค้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว

ศีล ความตั้งใจที่จะไม่ละเมิด ไม่เบียดเบียน รังแก หรือเอาเปรียบผู้อื่นไม่ว่าใคร รวมไปถึงสัตว์ สิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย

ส่วนการภาวนา ก็เป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจจิตใจของตนเอง พร้อมๆ กับการพยายามฝึกใจให้มั่นคง มีสติ ผ่อนคลาย ละวางได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ควรสำรวจความพร้อมด้วยว่าเราพอจะทำได้แค่ไหน เริ่มต้นนั้นไม่ต้องมาก แต่ขอให้ตั้งใจทำอย่างจริงจังไม่ย่อท้อล้มเลิกง่ายๆ เมื่อทำได้จนเป็นเรื่องปกติแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้น เช่น แบ่งเวลาเกื้อกูลสังคมให้มากขึ้นอีกนิด นอกจากไม่ลักทรัพย์แล้วของในสำนักงานเราก็จะไม่หยิบไปใช้ส่วนตัวด้วย หรือจะหาเวลาอ่านหนังสือหรือทดลองฝึกปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ชีวิตจิตใจให้มากขึ้นอีก เป็นต้น

ทุกขณะของชีวิต ล้วนเป็นเวลาที่เราฝึกฝนพัฒนาตนได้ทั้งสิ้น

การมีมุมมองต่องานที่กว้างขึ้นและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการปฏิบัติธรรม จึงเป็นหัวใจที่จะทำให้การทำงานคืองานธรรมที่พัฒนาจิตใจและปัญญาไปพร้อมๆ กัน

ณ เวลานี้ เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทบทวนชีวิตการงานที่ผ่านมา และตั้งต้นชีวิตการงานกันใหม่ เรามาทำให้ “การทำงานคืองานธรรม” เป็นของขวัญชิ้นพิเศษที่จะมาใช้เป็นอุบายในการพัฒนาชีวิตของเราด้วยกัน