ทำชีวิตให้เป็นวัตถุ: อนุสติจากข่าวโคลนนิ่งถึงข่าวฉาวทางเพศ

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 10 กุมภาพันธ์ 2001

ใครที่ติดตามข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตจะพบว่า ข่าวการแข่งขันเพื่อพัฒนาการโคลนนิ่ง กำลังคึกคักกันสุดๆ  และผู้ที่จ้องจะกระโดดมาขอร่วมวงคึกคักด้วย ก็คือนักการตลาดทั้งหลาย ที่เริ่มคิดถึงแผนการสร้างผลกำไร และการกระตุ้นความต้องการบริโภควิทยาการแผนใหม่นี้  เมื่อข่าวการโคลนนิ่งออกมาใหม่ๆ มีนักการตลาดหัวใส เสนอว่า ในอนาคตจะจัดบริการโคลนนิ่งบุคคลให้ตามออร์เดอร์ของลูกค้า เช่น ให้บริการแก่พ่อแม่ที่อยากกำหนดให้ลูกของตัวเองออกมามีหน้าตาเหมือนใคร ฯลฯ โดยจะเปิดบริการให้เหมือนมินิมาร์ท คือสะดวกที่ไหนไปที่นั่น

ข้อเสนอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ประเด็นคัดค้านคือ กิจกรรมดังกล่าวจะสร้างปัญหาจริยธรรมแก่สังคม  การโต้แย้งคัดค้านจบลงโดยไม่ยืดเยื้อ เพราะความก้าวหน้าของวิทยาการดังกล่าวยังไม่มากพอ  แต่เมื่อไรก็ตามที่วิทยาการนี้ก้าวหน้าขึ้นมากกว่านี้ และอยู่ในวิสัยทำกำไรได้แล้ว เชื่อเถอะว่าเมื่อนั้นนักการตลาดย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย และจะสามารถสร้าง “ความต้องการ” และสร้างเหตุผลที่ควรจะต้องมีบริการดังกล่าวเกิดขึ้น  เหมือนที่สามารถสร้างความต้องการสินค้าใหม่และบริการใหม่ จากวิทยาการทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ อย่างสำเร็จงดงาม กำไรเป็นกอบกำมาแล้วมากมาย  เช่น ตลาดขนาดมหึมาของสินค้าและบริการลดความอ้วน ชลอความแก่ ด้วยการทำให้ความอ้วนความแก่เป็นสภาพอันน่ารังเกียจในทัศนะของคนทั่วไป หรือมีเหตุผลในการผลิตสินค้าตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) โดยอ้างเหตุผลความอดอยากหิวโหยของคนจน

การพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ดังที่ทำกันอยู่ ได้ทำให้ความหมายของ “ชีวิต” และ “ความเป็นมนุษย์” ในปัจจุบัน หดแคบเหลือเพียงเรื่องของร่างกายล้วนๆ เท่านั้น  ทั้งการโคลนนิ่ง การถอดรหัสพันธุกรรม (จีโนม) มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาทางกายภาพของมนุษย์ เช่น เพื่อรักษาโรคที่ยังรักษาไม่ได้ เพื่อทำให้มนุษย์ไม่รู้จักแก่ (หรือตาย) หรือเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะปั้นแต่งมนุษย์ตามแบบที่ตัวเลือกได้  วิทยาการทั้งสองมิได้สนใจว่า นอกเหนือจากคุณสมบัติพิเศษทางกายภาพ (แข็งแรง ไม่รู้แก่ มีสมองชาญฉลาด) แล้ว จิตวิญญาณของเขาเป็นอย่างไร  เพราะความหมายของ “ชีวิต” และ “ความเป็นมนุษย์” ได้ถูกแยกออกเป็นชิ้นส่วน และเลือกที่จะสนใจเฉพาะส่วนกายเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถทำการตลาดได้ง่ายและกำไรมาก

การพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ดังที่ทำกันอยู่ ได้ทำให้ความหมายของ “ชีวิต” และ “ความเป็นมนุษย์” หดแคบเหลือเพียงเรื่องของร่างกาย โดยมิได้สนใจเรื่องจิตวิญญาณ

กระบวนการทำให้ชีวิตและความเป็นมนุษย์มีความหมายเหมือนวัตถุอย่างหนึ่งนี้ มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม แม้แต่ในครอบครัวด้วย  เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในสังคมบริโภควัตถุ ที่พ่อแม่แสดง “ความรัก” ลูกด้วยวัตถุ ได้ทำให้ “ความรัก” อันมีความหมายยิ่งใหญ่ ละเอียดลึกซึ้งเกินพรรณนาของพ่อแม่ กลายรูปเป็นข้าวของที่ยื่นส่งให้ลูก  สร้างการเรียนรู้ และความเคยชินซ้ำๆ ว่า ทุกอย่างสามารถทำให้เป็นวัตถุหรือเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้  ยิ่งเมื่อสังคมทั่วไปเองก็แสดงออกในทางเดียวกันว่า “ทุกอย่างซื้อขายได้” ตั้งแต่ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ขายให้นักท่องเที่ยว ไปจนถึงความยุติธรรม สิทธิ (การเลือกตั้ง) แม้กระทั่งความสุขจากสมาธิ ก็ยังมีบริการให้ซื้อได้  ย่อมสร้างการเรียนรู้ใหม่ทางสังคม โดยที่เราอาจจะไม่ทันรู้ตัวว่า เรากำลังเริ่มมองทุกอย่างเป็นวัตถุแล้ว?

เพราะฉะนั้น การที่เด็กหนีโรงเรียนไปขายบริการทางเพศด้วยการตัดสินใจอย่างง่ายดายเมื่อเพื่อนชวน เพราะจะเอาเงินไปซื้อของที่ตัวเองอยากได้ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และคงจะเกิดขึ้นต่อไป  เพราะเราได้สร้างสังคมแห่งมิจฉาทิฏฐิที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจผิดไปว่า ชีวิตก็เหมือนวัตถุอย่างหนึ่ง  ปัญหา “ชีวิต” ทั้งหลายจัดการง่ายดายเหมือนกับวัตถุ เขาสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ด้วยการกินยา  หรือหากผิดพลาดตั้งท้องขึ้นมา ก็ซื้อบริการของคลีนิคทำแท้ง เอา “ตัวอ่อน” ออกแล้วโยนลงถังแบบง่ายๆ เหมือนโยนขยะ  ความรักความเสียใจของพ่อแม่มีความหมายน้อย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ทุ่มเทความรักด้วยการให้วัตถุเป็นหลัก  ในขณะเดียวกัน ผู้ซื้อบริการทางเพศจากเด็ก ก็เห็นเด็กเป็นเพียง “วัตถุทางเพศ” ที่ซื้อได้ เหมือนที่ตนเองก็เคยขายความเป็น “มนุษย์” คือหิริโอตัปปะ คุณธรรมของตนเองให้แก่ผู้อื่นด้วยการกระทำอันฉ้อฉลทุจริต ฯลฯ เพื่อแลกเงินตราเอามาเสพสุข  ต่างกันก็ตรงที่เด็กกระทำไปเพราะความอ่อนเยาว์ต่อโลก และขาดการอบรมบ่มเพาะจากสังคมรอบข้าง มิได้ทำทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงเหมือนผู้ใหญ่

ดังนั้น ในขณะที่กระแสแห่งการทำชีวิตและมนุษย์ให้มีความหมายเพียงวัตถุอย่างหนึ่งกำลังมาแรงและมีความซับซ้อนซ่อนลึก การรู้ให้เท่าทันจึงเป็นเรื่องจำเป็น  ก่อนที่เราจะชื่นชมวิทยาการใหม่ใดๆ เราจะต้องตั้งคำถามเสมอว่า นวัตกรรมนั้นช่วยเติมเต็ม “ชีวิต” และความเป็นมนุษย์อย่างไร  ในขณะเดียวกันเราจะต้องไม่ชาชิน หรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำชีวิตให้เป็นวัตถุในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย  การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ ในสังคม เป็นหนทางสำคัญประการหนึ่งที่เราจะหยุดยั้งการทำชีวิตให้เป็นวัตถุ  เพราะพุทธศาสนามองชีวิตในมิติที่กว้างกว่าเพียงกายภาพ โดยรวมจิตใจ สติปัญญา หรือจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกับการพัฒนาร่างกายเสมอ  มิได้แบ่งแยกเป็นส่วนเป็นชิ้น  ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือพุทธศาสนามองชีวิตอื่นไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ พืช ฯลฯ ในฐานะของ “เพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย” จึงมุ่งความไม่เบียดเบียนกันในทุกระดับของชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  แม้แต่กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดูเหมือนว่าไม่มีชีวิต พุทธศาสนาก็สอนมิให้เราทำอะไรตามใจชอบ

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ในสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นค่านิยมหลักนั้น สังคมจะทำทุกอย่างแม้แต่วัตถุให้มีชีวิต เพื่อจัดความสัมพันธ์ที่ไม่เบียดเบียนกัน  เช่น การทำแม่น้ำให้เป็นพระแม่คงคา ทำพื้นดินให้เป็นพระแม่ธรณี เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ สังคม ธรรมชาติ อันตรงข้ามกับสังคมโลกาภิวัตน์ในขณะนี้เหลือเกิน


ภาพประกอบ