ที่มั่นสำคัญของพุทธศาสนา

พระไพศาล วิสาโล 19 มิถุนายน 2005

หลังจากเกิดมหันตภัยสึนามิได้เพียงสัปดาห์เดียว ได้มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งจากประเทศแคนาดา ซึ่งสะท้อนน้ำใจอันยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธไทยน่าศึกษาเรียนรู้

ข่าวนั้นระบุว่า เจ้าอาวาสวัดพุทธเวียดนามชานกรุงแวนคูเวอร์ ประกาศ “ขายวัด” เพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ  ท่านได้กล่าวว่า การขายวัดเป็นวิธีเดียวที่ท่านจะสามารถหาเงินมาช่วยเหลือผู้สูญเสียในเวลานั้นได้  เนื่องจาก “คนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและมากกว่าพวกเรา”

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ท่านปรารถนาที่จะตอบแทนบุญคุณแก่ประเทศอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ที่เคยให้ที่พักพิงแก่ชาวเวียดนามเมื่อครั้งหนีภัยคอมมิวนิสต์ออกมาทางทะเลเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน  ท่านกล่าวว่าการตอบแทนครั้งนี้นับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่คนในประเทศเหล่านั้นเคยให้แก่ชาวเวียดนาม  เหตุผลดังกล่าวทำให้พระภิกษุในวัดนั้นซึ่งหลายรูปเคยเป็นผู้อพยพทางเรือ เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าวของเจ้าอาวาส และเตรียมตัวที่จะหาวัดเล็กๆ อาศัยอยู่ต่อไป

ข่าวดังกล่าวชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในญี่ปุ่นเมื่อหลายร้อยปีก่อน  เตซื่อเจ็นเป็นนักพรตที่ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาญี่ปุ่นให้ได้ ๗,๐๐๐ ชุด  เขาได้เดินเท้าจาริกไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อระดมเงินบริจาคสำหรับการนี้ เงินส่วนใหญ่ได้จากชาวนาซึ่งให้คนละเล็กละน้อย  หลังจากเดินทางได้สิบปี เขาก็รวบรวมเงินได้มากพอที่จะจัดพิมพ์พระไตรปิฎก  แต่แล้วในช่วงนั้นเองเกิดน้ำท่วมใหญ่ คนจำนวนนับพันๆ ต้องไร้ที่อยู่และหิวโหย  เตซื่อเจ็นตัดสินใจนำเงินทั้งหมดที่เขาเก็บสะสมได้ ไปช่วยเหลือคนเหล่านั้น

แล้วเขาก็จาริกหาเงินบริจาคอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากผ่านไปเกือบสิบปี เขาก็ได้เงินมากพอสำหรับการพิมพ์พระไตรปิฎก  แต่ปรากฏว่าเกิดโรคระบาดไปทั่วประเทศ เขาจึงนำเงินทั้งหมดไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นเคย

เขาออกเดินทางอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ต้องใช้เวลาถึงยี่สิบปีกว่าความฝันของเขาจะเป็นจริง  หลังจากที่ได้มีการตีพิมพ์พระไตรปิฎกจนสำเร็จแล้ว ชาวญี่ปุ่นได้ร่ำลือต่อๆ กันมาว่า เตซื่อเจ็นได้พิมพ์พระสูตรออกมาสามครั้งด้วยกัน  ฉบับพิมพ์สองครั้งแรกนั้นมองไม่เห็น แต่มีคุณค่ามากกว่าฉบับพิมพ์ครั้งที่สามมากนัก

วัดและพระไตรปิฎกนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากต่อจิตใจของชาวพุทธ เพราะถือว่าเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่หลายคนจะมองว่าวัดและพระไตรปิฎกนั้นมีความสำคัญเหนือความทุกข์ยากของผู้คน  การยอมสละวัดและพระไตรปิฎกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากสำหรับผู้ที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระศาสนา  เมื่อมองตามหลักเหตุผลก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะความทุกข์ยากของผู้คนนั้นเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว แต่ศาสนานั้นให้ผลสืบต่อไปถึงอนาคตอันยาวไกล  เพราะฉะนั้นวัดและพระไตรปิฎกจึงเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ให้ยั่งยืนในฐานะที่เป็นตัวแทนของศาสนา

อย่างไรก็ตาม คำถามหนึ่งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบก็คือ พุทธศาสนานั้นมีเพื่ออะไร?  พุทธศาสนานั้นไม่ได้มีขึ้นเพื่อตัวเอง แต่เพื่อความผาสุกของมนุษย์  ดังนั้นเมื่อมนุษย์ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน จึงเป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนาจะต้องเข้าไปบรรเทาความทุกข์ยากดังกล่าว แม้ว่าจะต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างก็ตาม  จริงอยู่ในยามที่ประสบภัยพิบัติ ผู้คนไม่ได้มีความทุกข์กายเท่านั้น หากยังมีความทุกข์ใจ ที่ควรได้รับการเยียวยาบำบัดด้วย  บทบาทของพุทธศาสนาจึงควรครอบคลุมทั้งการสงเคราะห์ด้วยวัตถุและด้วยธรรมะ

แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะมีการจำกัดบทบาทของพุทธศาสนาโดยเฉพาะในฝ่ายพระสงฆ์ให้เหลือเพียงการสงเคราะห์ทางจิตใจอย่างเดียว (เห็นได้ชัดจากบทบาทพระสงฆ์ไทยหลังเกิดเหตุสึนามิ)  โดยที่การสงเคราะห์ทางจิตใจนั้นก็เน้นที่การเทศนาสั่งสอนอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ธรรมะหรือศาสนานั้นมีความหมายมากกว่านั้น

การขายวัดหรือเอาเงินจัดพิมพ์พระไตรปิฎกไปช่วยคนที่ประสบภัยนั้น ดูเผินๆ ก็เป็นเพียงการสงเคราะห์ด้วยวัตถุเท่านั้น  แต่เมื่อมองให้ลึกแล้ว วัตถุเหล่านั้นไม่ว่าอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม มิได้ช่วยบำบัดทุกข์ทางกายเท่านั้น  หากยังมีความหมายในทางจิตใจ เพราะนั่นคือรูปธรรมหรือสื่อแห่งธรรมะที่ผู้ประสบภัยต้องการเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ เมตตาและกรุณา  ในยามประสบมหันตภัย ผู้คนย่อมรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง โดดเดี่ยว และรู้สึกว่าตนไร้คุณค่า  แต่เมื่อได้สัมผัสกับเมตตาและกรุณาจากเพื่อนมนุษย์ เขาย่อมรู้สึกมีกำลังใจ เกิดความอบอุ่นและซาบซึ้งในคุณธรรม  สิ่งเหล่านี้ย่อมช่วยให้เขามีพลังจะผ่านพ้นวิกฤตในชีวิตได้

เมตตาและกรุณานั้นคืออะไร หากไม่ใช่สารัตถะของศาสนา  วัดย่อมไร้ความหมายหากไม่สามารถเปล่งประกายแห่งการุณยธรรมให้ผู้คนสัมผัสได้  พระไตรปิฎกย่อมไร้ประโยชน์หากเป็นเพียงแค่ตัวอักษร แต่ไม่สามารถบันดาลใจให้ผู้คนมีความมั่นคงในธรรม หรือมีศรัทธาในคุณงามความดีได้  โดยอาศัยเงินที่รวบรวมได้ เตซื่อเจ็นได้ช่วยให้ผู้คนเป็นอันมากไม่เพียงรอดชีวิต หากยังได้สัมผัสกับอานุภาพของเมตตา และมีศรัทธาในความดี  การกระทำดังกล่าวมีคุณค่าไม่ต่างจากการเผยแผ่ธรรมะแก่ผู้คน  ด้วยเหตุนี้จึงสมควรแล้วที่ผู้คนเปรียบการกระทำดังกล่าวว่าเสมอเหมือนการพิมพ์พระไตรปิฎก

พุทธศาสนานั้นไม่ได้มีขึ้นเพื่อตัวเอง แต่เพื่อความผาสุกของมนุษย์ ดังนั้นเมื่อมนุษย์ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน จึงเป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนาจะต้องเข้าไปบรรเทาความทุกข์ยากดังกล่าว แม้ว่าจะต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างก็ตาม

สารัตถะของพุทธศาสนาที่แท้นั้นมิใช่วัดวาอารามหรือแม้แต่พระไตรปิฎก แต่คือธรรมะที่สถิตกลางใจและชี้นำกำกับวิถีชีวิตของเรา  แน่นอนชาวพุทธทุกคนมีหน้าที่รักษาวัดและพระไตรปิฎกเอาไว้  แต่ก็ต้องไม่ลืมรักษาธรรมะในใจไว้ให้มั่นคง โดยมีกรุณาและปัญญาเป็นพื้นฐาน  ทั้งนี้พึงตระหนักว่าแม้รักษาวัดหรือพระไตรปิฎกไว้ได้ แต่ก็ไม่ชื่อว่ารักษาพุทธศาสนา หากในใจนั้นเต็มไปด้วยความโกรธ เกลียด และพยาบาท

ในปัจจุบันชาวพุทธทั้งหลายกำลังเผชิญกับบททดสอบที่สำคัญในสามจังหวัดภาคใต้  สวัสดิภาพในชีวิตของพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในอันตราย  วัดวาอารามจำนวนมากกำลังเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากคนจำนวนหนึ่งซึ่งต้องการยั่วยุให้ผู้คนพลัดตกในกับดักที่วางล่อไว้  ในยามนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวพุทธจะต้องตระหนักว่า แม้พระจะถูกปองร้าย วัดจะถูกเผา แต่อย่าให้ใจของเราถูกเผาลนด้วยความโกรธเกลียดและพยาบาท  หากจะตอบโต้ก็พึงกระทำด้วยสันติวิธี

พุทธศาสนาจะไม่มีวันถูกทำลาย หากจิตใจของชาวพุทธยังมีธรรมะเป็นเครื่องกำกับ  เพราะนั่นคือที่มั่นสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา  เพราะฉะนั้นหากรักพุทธศาสนา ก็ต้องเพียรรักษาใจให้มั่นคงในธรรม มีเมตตา พร้อมจะให้อภัย และมีสติเตือนใจไม่ให้ลุแก่โทสะ  มีปัญญาตระหนักชัดว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไม่ใช่คำตอบ  มีแต่สันติวิธีเท่านั้นที่จะนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา