ท่าทีของชาวพุทธต่อการฆ่า

พระไพศาล วิสาโล 11 มีนาคม 2003

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานศีลข้อที่หนึ่งให้ชาวพุทธสมาทานนั้น  พระองค์ไม่ได้ตรัสแม้แต่น้อยว่า ศีลข้อนี้อนุญาตให้ชาวพุทธฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้ในบางกรณี  ความหมายของศีลข้อนี้ตามพุทธบัญญัติคือจงใจละเว้นจากการฆ่าสัตว์ในทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้น

พุทธศาสนานั้นไม่ยอมรับการฆ่าในทุกกรณี  นอกจากการไม่ฆ่าด้วยตนเองแล้ว การเกี่ยวข้องกับการฆ่า ก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธพึงหลีกเลี่ยง  ดังนั้นนอกจากศีลข้อที่หนึ่งแล้ว ยังมีหลักธรรมคำสอนว่าด้วยมิจฉาวณิชชา หรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรประกอบ สามในห้าข้อได้แก่การค้าขายอาวุธ การเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย (เอาเนื้อ) และการค้าขายยาพิษ ล้วนเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการฆ่า ซึ่งชาวพุทธไม่ควรข้องแวะ

ในความเป็นจริงของชีวิต การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลยนั้นทำได้ยาก  เพราะในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้นั้นบ่อยครั้งก็จำต้องอาศัยชีวิตของสัตว์อื่นเป็นอาหาร  แม้กระนั้นการฆ่าชีวิตอื่นเพื่อความอยู่รอดก็ยังถือว่าผิดศีลในทางพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง (ด้วยเหตุนี้จึงทรงสอนให้ชาวพุทธกินอาหารเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ มิใช่เพื่อความเอร็ดอร่อยหรือโก้เก๋)  ในประเทศศรีลังกา ตั้งแต่อดีตมาชาวพุทธจึงหลีกเลี่ยงอาชีพประมงหรือฆ่าสัตว์ ปล่อยให้คนศาสนาอื่นมาทำอาชีพนี้แทน  ส่วนคนไทยใช้วิธีหลีกเลี่ยงบาปหนักด้วยการกินปลาเป็นพื้น เพิ่งมาระยะหลังนี้เองที่กินสัตว์ใหญ่กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แม้กระทั่งวัวควายที่ช่วยทำไร่ไถนา ก็ไม่ละเว้น

แต่ฆ่าอะไรก็ไม่หนักหนาเท่ากับการฆ่ามนุษย์  พุทธศาสนาไม่ยอมรับการฆ่ามนุษย์ในทุกกรณี แม้มนุษย์ผู้นั้นจะเป็นโจรใจบาป  ท่าทีของพุทธศาสนาในเรื่องนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในชาดกเรื่องเตมีย์ใบ้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะมาบังเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  พระเตมีย์เป็นโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อครั้งเป็นทารกทรงเห็นพระราชบิดาลงโทษโจรด้วยการเฆี่ยนตี ล่ามโซ่  ร้ายกว่านั้นคือเอาหอกแทงและหลาวเสียบ ทรงเกิดความสะดุ้งใจ  ต่อมาทรงระลึกชาติได้ว่าในอดีตพระองค์เคยครองราชย์ในกรุงพาราณสี ๒๐ ปี ครั้นสิ้นพระชนม์ก็ตกนรกหมกไหม้นานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี เนื่องจากได้สั่งประหารชีวิตผู้คนไว้มาก  พระองค์เกรงว่าถ้าได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็จะต้องตกนรกเพราะทำกรรมหนักอีก จึงแกล้งทำเป็นใบ้หูหนวกและง่อยเปลี้ย เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากพระราชบิดา

ใช่แต่การฆ่าโจรร้ายเท่านั้น แม้การฆ่าศัตรูที่มารุกรานก็ถือว่าผิดศีล มิใช่วิสัยของชาวพุทธ  มีชาดกหลายเรื่องที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าในชาติก่อนๆ) ที่ใช้ธรรมะหรือสันติวิธีเอาชนะผู้รุกราน  เช่น พระเจ้าสีลวะที่ปฏิเสธการสู้รบเมื่อพระเจ้าโกศลยกทัพมาประชิดพระนคร ทั้งนี้เพราะไม่ประสงค์ให้มีคนล้มตาย แม้จะถูกส่งไปให้สุนัขป่ากิน ก็ไม่ถือโทษโกรธเคืองศัตรู  เมื่อหนีรอดมาได้ก็กลับมายึดราชบัลลังก์คืนโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ  อีกเรื่องหนึ่งคือมโหสถ (หนึ่งในทศชาติ) ที่เอาชนะกองทัพผู้รุกรานด้วยการใช้ “ธรรมยุทธ” นั่นคือการชนะด้วยปัญญาและไหวพริบปฏิภาณ

การฆ่าหรือความรุนแรงนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในทัศนะของพุทธศาสนา เพราะ “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร” และ “ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์”  การฆ่าย่อมก่อให้เกิดการฆ่าไม่สิ้นสุด  ดังนั้นเมื่อมีปัญหาโจรผู้ร้าย พระพุทธองค์จึงไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามด้วยการใช้กำลัง หากทรงแนะนำให้ผู้ปกครองปรับปรุงเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยการให้ทุน เช่น พืชพันธุ์ อาหาร และเงิน แก่บุคคลอาชีพต่างๆ

การแก้ปัญหาโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่ใช้สันติวิธีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย  หากต้องอาศัยปัญญาและกรุณามาก โดยเฉพาะเมื่อปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับโจรผู้ร้ายหรือผู้ที่มีอาวุธอยู่ในมือ  แต่สำหรับชาวพุทธ การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามจะต้องเริ่มจากความตระหนักว่าความรุนแรงนั้นมิใช่วิถีของชาวพุทธ แม้ความรุนแรงนั้นจะกระทำด้วยเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม  ยิ่งการฆ่าด้วยแล้ว มิใช่วิสัยของชาวพุทธที่จะให้ความสนับสนุน อย่าว่าแต่จะลงมือกระทำเลย  แน่นอนปัญญาและกรุณาของปุถุชนคนเรานั้นมีขีดจำกัด บางครั้งเรามองไม่เห็นหนทางอื่นนอกจากความรุนแรง บ่อยครั้งความโกรธเกลียดเข้ามาครอบงำใจจึงตอบโต้ด้วยกำลัง  ในกรณีเช่นนั้นพึงตระหนักว่าเราได้คลาดเคลื่อนจากวิถีแห่งพุทธแล้ว และต้องพร้อมรับผลจากการกระทำนั้นๆ  ขณะเดียวกันก็พึงแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ตั้งมั่นในอหิงสธรรม และไม่พึงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำสิ่งผิดพลาดเช่นเดียวกับเรา

บุคคลแม้จะเลวร้ายเพียงใด เป็นอาชญากร หรือผู้ค้ายาบ้าก็ตาม  ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิตัดรอนชีวิตของเขาได้ เพราะมิใช่เป็นเจ้าของชีวิตของเขา  การฆ่าไม่เพียงก่อความทุกข์แก่เขาและตัดรอนโอกาสที่จะได้กลับตัวกลับใจเท่านั้น หากยังก่อวิบากกรรมและบ่มเพาะอกุศลจิตแก่ผู้ลงมือกระทำปาณาติบาตด้วย  แม้จะทำด้วยเจตนาดีต่อส่วนรวม คือเพื่อขจัด “คนชั่วร้าย” ออกไปจากสังคมก็ตาม  แต่ยิ่งเราใช้ความรุนแรงขจัดคนชั่วร้าย อกุศลจิตจากปาณาติบาตดังกล่าวยิ่งสั่งสมมากขึ้น จนในที่สุดสามารถเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายใจคอโหดเหี้ยมเสียเอง  ฮิตเลอร์ สตาลิน และพอลพต ล้วนเป็นผู้ที่กระเหี้ยนกระหือรือในการไล่ล่าสังหารคนชั่วร้ายให้หมดไปจากประเทศของเขา สุดท้ายเขาเหล่านั้นกลับกลายเป็นคนที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าคนที่เขาต้องการกำจัดเสียอีก  มิไยต้องเอ่ยถึงบินลาเดนกับสงครามศักดิ์สิทธิ์ของเขา  อันที่จริงไม่ต้องดูอื่นไกล ตำรวจที่ชอบใช้วิธีการดิบเถื่อนในการปราบโจร ในที่สุดมักมีจิตใจและพฤติกรรมไม่ต่างจากโจร  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความชั่วร้ายนั้นสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยมีความรุนแรงเป็นพาหะ  ตราบใดที่ยังมีความโกรธเกลียดอยู่ในใจ ย่อมง่ายที่จะรับเอาความชั่วร้ายนั้นเข้ามาในสันดานทุกครั้งที่ไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรง

ความชั่วร้ายไม่มีวันหมดไปจากสังคมได้ ตราบใดที่สังคมนั้นยังนิยมกำจัดคนชั่วร้ายด้วยการฆ่า  เพราะการฆ่านั้นจะคอยบ่มเพาะคนชั่วร้ายคนแล้วคนเล่าให้มาแทนที่คนเก่าที่ถูกกำจัด  ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเมื่อมีการฆ่ากันบ่อยเข้า วัฒนธรรมแห่งความรุนแรงก็แพร่ระบาดและฝังลึก ผู้คนเห็นกันและกันเป็นผักปลามากขึ้นเรื่อยๆ มิคสัญญีก็เกิดขึ้นตามมา  เมื่อฆ่าคนชั่วได้ง่ายดาย ต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะฆ่าคนบริสุทธิ์ถ้าหากเขาขัดผลประโยชน์  เป็นเพราะทำวิสามัญฆาตกรรมกันเป็นอาจิณใช่หรือไม่ การสังหารสองแม่ลูกตระกูลศรีธนขันธ์ ในกรณีเพชรซาอุ เมื่อแปดปีก่อนโดยน้ำมือของคนที่ได้ชื่อว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก  ไม่จำต้องพูดถึงกรณีอื่นๆ ทั้งก่อนหน้าและภายหลังจากนั้นอีกมากมาย

ความรุนแรงนั้นมิใช่วิถีของชาวพุทธ แม้ความรุนแรงนั้นจะกระทำด้วยเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม

สังคมใดที่สนับสนุนให้มีการฆ่ากันมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและศีลธรรม สังคมนั้นย่อมหาความสุขสงบได้ยาก  เพราะอาวุธที่ใช้กำจัดคนชั่วร้ายในที่สุดจะหันกลับมาทำร้ายสุจริตชนในสังคมนั้น  นี้เป็นกฎแห่งกรรมที่เราพึงสังวรให้มาก

ในยามที่ผู้คนเห็นดีเห็นงามกับปรากฏการณ์ “ฆ่าทั่วไทย” ในสงครามปราบยาเสพติด พระสงฆ์องคเจ้าน่าจะมีบทบาทในการเตือนสติผู้คน รวมทั้งท้วงติงรัฐบาลที่สนับสนุนอย่างน้อยก็โดยอ้อมให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว  ในยามนี้แทนที่จะสนับสนุนให้รัฐใช้ปาณาติบาตกับอาชญากร  จำเป็นอย่างยิ่งที่พระสงฆ์จะต้องยืนยันและเน้นย้ำคำสอนของพระบรมศาสดาว่าปาณาติบาตนั้นเป็นกรรมหนักที่ก่อผลเสียแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ในยามนี้สิ่งที่พระสงฆ์พึงทำคือตั้งมั่นในจุดยืนของชาวพุทธ นั่นคือปฏิเสธการฆ่าในทุกกรณี แม้จะขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลก็ตาม

ในเรื่องนี้พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเป็นแบบอย่างที่น่าศึกษา  เมื่อครั้งที่ดำรงสมณคักดิ์เป็นพระเทพโมลีในสมัยรัชกาลที่ ๖ ท่านเคยเทศน์ว่า วิชาทหารเป็น “ทุวิชา เป็นวิชาชั่วโดยแท้ เพราะขาดเมตตากรุณาแก่ฝ่ายหนึ่ง…เป็นสะพานแห่งความเสื่อมทราม ความฉิบหายโดยแท้”  ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังวิพากษ์สงครามโลกครั้งที่ ๑ ว่า ทำให้ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งคนแก่ ผู้หญิง และเด็ก เกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัส  ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเพราะ “อำนาจของวิชาชั่ว”  เทศนาดังกล่าวตำหนิคู่สงครามทั้งสองฝ่ายและมีนัยะวิพากษ์นโยบายของรัชกาลที่ ๖ ที่ส่งทหารไปร่วมรบในมหาสงครามครั้งนั้น  ผลก็คือในหลวงทรงกริ้วเป็นอย่างมาก ถึงกับสั่งถอดสมณศักดิ์และกักบริเวณท่านในวัด  แต่ด้วยอำนาจแห่งธรรมไม่นานท่านก็พ้นจากราชอาชญา อีกทั้งยังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี

ถ้าหากยังไม่สามารถท้วงติงผู้มีอำนาจอย่างเจ้าพระคุณท่านนั้นได้  อย่างน้อยพระสงฆ์ก็ไม่ควรออกปากสนับสนุนหรือเห็นดีเห็นงามกับการใช้ปาณาติบาตไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ควรแม้กระทั่งชี้ช่องให้ทำเช่นนั้น  สาเหตุก็เพราะ นอกจากหลักธรรมในพุทธศาสนาจะไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้นแล้ว พระวินัยยังไม่อนุญาตอีกด้วยโดยเฉพาะในกรณีที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจง  ดังในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งไปที่ตะแลงแกง เห็นเพชฌฆาตกำลังทรมานนักโทษก่อนจะประหารชีวิต  คงเพราะความหวังดี ท่านได้แนะเพชฌฆาตผู้นั้นว่า “อย่าทรมานนักโทษคนนี้เลย จงประหารชีวิตด้วยการฟันครั้งเดียว” ปรากฏว่าเพชฌฆาตทำตาม  พระภิกษุรูปนั้นเมื่อไปทูลถามพระพุทธเจ้า ก็ได้คำตอบว่าท่านได้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

เมืองไทยอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมหรือศูนย์กลางเอเชียก็เป็นไปเถิด  แต่ยังเป็นเมืองพุทธไม่ได้ ตราบใดที่ผู้คนยังเห็นดีเห็นงามกับการฆ่ากันอย่างอึงคะนึงเช่นทุกวันนี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา