ธรรมจัดสรร..กับการจับคว้า

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 24 มกราคม 2010

จากเหตุการณ์อันหนึ่ง นำไปสู่เหตุการณ์ผลกระทบสืบเนื่องเป็นลูกโซ่  เหตุและปัจจัยต่างๆ ร้อยเรียงกันเข้ามาเพื่อนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสามารถส่งผลกระทบอื่นๆ สืบเนื่องต่อไป  เราทุกคนคงมีประสบการณ์ของเหตุบังเอิญบางอย่างที่เราไม่ได้คาดคิด เราลงมือกระทำอะไรบางอย่าง จากนั้นชีวิตของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หญิงสาวนางหนึ่งใช้ชีวิตกับแฟนหนุ่มซึ่งเป็นนักเขียนตกยาก เธอเสียสละทำงานหนัก เพื่อคนรักจะได้มีโอกาสทำงานที่ตนเองรักอย่างเต็มที่ แต่แฟนหนุ่มไม่ได้มีความรักแบบที่เธอมี เขานอกใจและคบหากับชู้รักขณะที่เธอทำงานหนัก  นี่คือฉากเริ่มต้นของภาพยนตร์อังกฤษเรื่องหนึ่ง ซึ่งนำเสนอเรื่องราวคู่ขนาน ๒ เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นจากเหตุบังเอิญที่ว่า  วันหนึ่งมีเหตุให้เธอถูกไล่ออกจากงานบริษัท เธอกลับบ้านก่อนเวลา เหตุการณ์คู่ขนานเริ่มต้นด้วยรถไฟใต้ดินที่เธอโดยสารเพื่อกลับบ้านนั้น ขณะที่เธอพยายามแทรกตัวเพื่อให้ทันประตูรถไฟที่กำลังปิดลง

ภาพยนตร์ Sliding Doors

เหตุการณ์แรก คือ เธอสามารถแทรกตัวได้ทันประตูปิด เธอถึงบ้านก่อนเวลา และก็พบความจริงว่า คู่รักของตนนั้นไม่ซื่อสัตย์และนอกใจ เธอตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ ปรับเปลี่ยนรูปโฉมตนเอง สมัครและหางานที่เธอรักจะทำ เธอได้พบผู้ชายคนใหม่ที่เป็นคนดี ซื่อสัตย์ เธอตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตกับผู้ชายคนใหม่ พร้อมกับความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่เธอรักและได้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ เธอเกิดความเข้าใจผิดกับแฟนคนใหม่แต่ก็คลี่คลายได้ในที่สุด ก่อนที่จะจบลงว่าเธอประสบอุบัติเหตุรถชน สิ้นสติอยู่ที่โรงพยาบาล

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งตัดสลับไปมากับเหตุการณ์แรก คือ เธอไม่สามารถแทรกตัวผ่านประตูรถไฟใต้ดิน ดังนั้นเมื่อเธอกลับบ้านเธอจึงไม่พบความจริงดังกล่าว เพื่อความอยู่รอดเธอยอมรับงานเป็นบริกร ควบ ๒ งานในวันหนึ่ง ชีวิตของเธอดำเนินต่อไปภายใต้ความอดทน ความเสียสละและความรักที่ถูกหลอก เหนื่อยล้าและดูไร้ชีวิตชีวากับงานหนัก  ในที่สุดเธอพบความจริง เธอหมดสติและถูกนำส่งโรงพยาบาลแห่งเดียวกับตัวเธอในเหตุการณ์แรก  เธอฟื้นสติ ตัดสินใจหันหลังให้กับอดีต เธอออกจากโรงพยาบาลและพบกับชายหนุ่มอีกคน คนเดียวกับแฟนใหม่ของเธอในเหตุการณ์แรก  แล้วภาพยนตร์ก็จบลงด้วยเหตุการณ์คู่ขนานที่มาเชื่อมโยงกันในที่สุด  ภาพยนตร์ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์ไหนดี-เลวกว่ากัน เหตุการณ์ไหนใช่ หรือไม่ใช่  ทั้ง ๒ เหตุการณ์ต่างมีโอกาสเกิดขึ้นเท่าๆ กัน

เราทุกคนล้วนต่างมีโอกาสพานพบเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ธรรมจัดสรร” พูดอย่างสำนวนชาวบ้านคือ “เหตุบังเอิญ หรือ ฟลุ๊ค”  ครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณท่านหนึ่งชี้แจงว่าสำหรับชาวพุทธแล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเหตุบังเอิญ ทุกสิ่งเนื่องมาจากกรรมบันดาล กรรมในฐานะโชคชะตาบันดาลเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยมากมายเกินคาดคิด  เราอาจไม่ต้องสนใจว่าธรรมจัดสรรนั้นทำงานหรือมีที่มาอย่างไร สิ่งที่เราพึงใส่ใจคือ เราจะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับธรรมจัดสรรนั้นอย่างไร

ในฐานะผู้มีประสบการณ์กับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าลำพังตัวเหตุการณ์คงไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ  ความพิเศษคงอยู่ที่การเป็นเหตุการณ์เงื่อนไขเพื่อนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการตัดสินใจเลือกของเรา  ดังนั้น ความพิเศษแท้จริงจึงอยู่ที่การตัดสินใจเลือกในแต่ละขณะ  แต่ละจังหวะ แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามา เราจะตัดสินใจเลือกอะไร อย่างไร ได้มากน้อยเพียงใด  ขึ้นกับเรามีทุนทรัพย์ ทรัพยากรในตัวหรือรอบตัวอะไรและมากน้อยอย่างไร ในการมาเป็นต้นทุนของตนเอง

ครูผู้สอนนพลักษณ์หรือเอ็นเนียแกรมท่านหนึ่ง เล่าประสบการณ์ธรรมจัดสรรที่นำพาให้ตนเองได้มาทำงานในฐานะครูนพลักษณ์  เรื่องราวเริ่มต้นที่บ่ายวันเสาร์ของเดือนตุลาคม เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ครูท่านนี้รู้สึกลังเลระหว่างการตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน หรือไปงานสัปดาห์หนังสือดี  ในที่สุดครูท่านนี้ตัดสินใจไปและได้พบกับเพื่อนรุ่นพี่ เพื่อนท่านนี้บอกกล่าวข่าวคราวถึงการสัมมนาเรื่องนพลักษณ์ที่จะจัดในวันรุ่งขึ้น  เขาตัดสินใจไปเข้าร่วมการสัมมนาและพบว่าดูน่าสนใจและน่าติดตาม อาจทดลองสักระยะ แล้วจากนั้นเรื่องนี้ก็เข้ามาในชีวิตมากขึ้นและมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ก็ตามมาจนกลายเป็นอาชีพในที่สุด  สิ่งสำคัญคือการจับคว้าโอกาสธรรมจัดสรรนั้น

เราลงมือกระทำอะไรบางอย่าง จากนั้นชีวิตของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เราทุกคนต่างมีความคุ้นเคยที่เปรียบเหมือนรังนอน ซึ่งเรารู้สึกปลอดภัยและพอใจที่จะอยู่ในรังนอนนั้นโดยไม่คิดเปลี่ยนแปลง  การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความทุกข์บางอย่างกดดัน หรือกระตุ้นให้ตัวเราต้องตัดสินใจหรือขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง  กระนั้นความปรารถนาที่จะปรับเปลี่ยนเกิดผลได้ก็ต่อเมื่อเรามีองค์ประกอบของความพร้อมที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

เริ่มต้นที่ความพร้อมขององค์ประกอบ ๔ ส่วน คือ

๑) ร่างกาย

ร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรงย่อมหมายถึงการมีความพร้อมของยานพาหนะแห่งชีวิต ที่จะขับเคลื่อนหรือลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ได้ราบรื่น  ขณะเดียวกันสุขภาพที่ปราศจากโรคภัย ยังหมายถึงการมีลาภอันประเสริฐด้วย

๒) จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด

ซึ่งเชื่อมโยงการมีคุณภาพของสุขภาพจิต ซึ่งก็ต้องอาศัยความพร้อมของความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจ ทัศนคติ ด้วยจิตใจที่เบิกบาน แจ่มใส มีคุณธรรมเป็นเครื่องรักษาจิตใจ  จิตใจเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งในฐานะที่ “ใจเป็นใหญ่” “ใจเป็นประธาน”  ใจมีธรรมชาติที่มักไหลลงต่ำ แต่จิตใจก็เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้  การฝึกฝนจิตใจ การพัฒนาคุณธรรมในจิตใจ จะเป็นภารกิจสำคัญสำหรับการตระเตรียมต้นทุนทรัพยากรภายในตัวเอง

๓) การมีศีล

ในฐานะตัวกำกับพฤติกรรมตัวเราในความสัมพันธ์ทั้งกับตนเอง และสังคมรอบข้าง  ความเป็นกัลยาณมิตรในตัวเราที่เอื้อประโยชน์และสร้างสรรค์สัมพันธภาพมิตรภาพที่ดีให้กับสังคมรอบข้าง ย่อมหมายถึงโอกาสของการมีมิตรที่ดีรอบตัว  และการมีมิตรภาพที่ดีระหว่างกันเนื่องมาจากความวางใจต่อกัน  ความวางใจเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเรามีความซื่อสัตย์สุจริตระหว่างกัน รวมถึงคุณธรรมอื่นๆ เช่น เมตตากรุณา การให้อภัย ฯลฯ

๔) จิตวิญญาณ 

ในฐานะความฉลาดเพื่อเอาตัวรอดทางสติปัญญา  สติปัญญาที่ไม่ใช่การคิดเก่ง จำแม่น แต่เป็นสติปัญญาที่มองเห็น และเข้าใจความทุกข์ เข้าใจความจริงของชีวิต ซึ่งนำไปสู่การมีชีวิตที่ประเสริฐได้  รวมถึงการหยิบฉวยความหมายที่ถูกต้องให้กับชีวิตและความสัมพันธ์จากธรรมจัดสรรที่แสดงตัวให้เราเห็นอยู่เสมอๆ

ทั้งหมด คือ สิ่งที่เราเตรียมพร้อมให้กับตนเอง สำหรับจังหวะก้าวแต่ละขณะของชีวิต  ปราศจากปัจจัยความพร้อมต่างๆ ผลลัพธ์คือ อุปสรรคความยากลำบาก  ธรรมจัดสรรเป็นเหมือน “มหัศจรรย์แห่งชีวิต” เพราะเรานั่นแหละ คือผู้สร้างความหมายให้กับชีวิตเราเอง  เราสร้างสิ่งนี้ได้ ต่อเมื่อเริ่มต้นลงมือกระทำ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน