ธรรมมิตรไทย-พม่า: รอยอภิธรรมโชติกะ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 17 กรกฎาคม 2018

1.

อนิจลักษณะหรือความเป็นอนิจจัง เป็นหัวใจคำสอนข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา

ในขณะเดียวกันพุทธศาสนาเองก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติข้อนี้ด้วย

โดยนัยประหนึ่งว่ากำลังใช้ตัวเองสอนธรรมแก่สาธุชน

มองจากวันนี้ ในสายตาคนไทยทั่วไปอาจเห็นว่าเมืองพม่าดูกระจอกงอกง่อยด้อยกว่าไทยในทุกเรื่อง

แต่คนเคยสัมผัสพม่าในมุมกว้างและลึกซึ้ง ย่อมจะยอมรับว่าอย่างน้อยที่สุด แม่น้ำอิรวดีนั้นใหญ่และยาวกว่าเจ้าพระยามาก ท้องทุ่งนาและที่ราบลุ่มสำหรับกสิกรรมก็กว้างขวางไม่ด้อยไปกว่าที่ราบภาคกลางของไทยแน่ๆ  ขนาดของสวนตาลสองข้างทางระหว่างเมืองพุกามกับมัณฑะเลย์ก็ไม่เล็กน้อยไปกว่าสวนตาลเมืองเพชรแน่นอน ฯลฯ

เหล่านั้นเป็นในแง่ภูมิทัศน์ธรรมชาติ ในแง่สิ่งสร้างสรรค์ด้วยมือคน ใครเคยไปท่องอาณาจักรแห่งทะเลเจดีย์สี่พันองค์ที่พุกามย่อมต้องยอมรับว่าอยุธยาเมืองเก่าของเราเทียบไม่ได้เลย  นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวไทยบางคนเปรียบเปรยอย่างแสบสันต์ว่า ไปเห็นอาณาจักรพุกามแล้วอยุธยาของเราเหมือนของเด็กเล่น

แต่ศรัทธายิ่งใหญ่ก็มีวันโรยรา เหลือเพียงร่องรอย  ที่ยังยืนยงสืบเนื่องมาและคนทั่วไปอาจไม่รู้ไม่สนใจ แต่รู้กันดีในหมู่บรรพชิตคือพม่ายังมีระบบการศึกษาสงฆ์อันเข้มแข็ง

ภิกษุไทยรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังเดินทางไปเรียนปริยัติพระอภิธรรมในพม่า

และประวัติศาสตร์หน้าสำคัญเกี่ยวกับการเรียนพระอภิธรรมในเมืองไทยที่สาธุชนทั่วไปอาจไม่รู้เลยก็คือ หลักสูตรและตำราการเรียนพระอภิธรรมของเมืองไทยที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากการก่อร่างวางรากฐานโดยภิกษุชั้นธัมมาจริยะชาวพม่า นามว่า พระสัทธัมมะโชติกะธัมมาจริยะ

โดยต่อมาชื่อของท่านได้รับการนำมาตั้งเป็นนามสถาบัน อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

นอกเหนือจากชื่อสถาบัน นักศึกษาพระอภิธรรมคงพอรู้จักท่านจากในตำราที่ท่านเขียน และประวัติโดยย่อว่า นับแต่ปี ๒๔๙๒ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ขณะดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ที่สมณศักดิ์พระพิมลธรรมได้เดินทางไปดูงานพระศาสนาที่ประเทศพม่า ซึ่งเวลานั้นปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยนายอูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรก หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ

พุทธศาสนาในพม่าตอนนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูก้าวหน้าด้านการศึกษามากโดยเฉพาะการศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งเป็นปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก เป็นธรรมะล้วนที่ต้องอาศัยการศึกษาจริงจังในการเรียนรู้เพื่อเข้าถึง  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์จึงขอพระสงฆ์บัณฑิตชั้นธัมมาจริยะและมีความเชี่ยวชาญในพระอภิธรรมปิฎก จากสภาการศึกษาพระพุทธศาสนาของพม่า ให้มาช่วยสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนพระอภิธรรมในเมืองไทย

พระสัทธัมมะโชติกะธัมมาจริยะ ในวัย ๓๕ ปี ๑๕ พรรษา จึงได้ข้ามแดนจากแผ่นดินอิระวดีสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานับแต่นั้นกระทั่งเป็นแผ่นดินที่ฝากกายเมื่อท่านได้ละสังขารจากโลกในอีก ๑๗ ปีต่อมา

แต่ระบบการศึกษาพระอภิธรรมที่ท่านวางรากฐานเอาไว้ยังสืบเนื่องขยายวงกว้างต่อมา  ทว่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านนับวันเลือนรางไปจากความรับรู้ของอนุชน

นักเรียนอภิธรรมบางคนอาจรู้หรือเคยได้ยินเรื่องนิ้วก้อยข้างซ้ายของท่านที่หายไปสองข้อ

ไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุหรือถูกใครทำร้าย

แต่ท่านตัดนิ้วถวายเป็นพุทธบูชาเมื่ออุปสมบทได้ ๔ พรรษา ที่วัดในหมู่บ้านเกิด

โดยก่อนหน้านี้เป็นครึ่งค่อนศตวรรษที่ผ่านมาไม่มีใครรู้ว่าวัดนั้นอยู่ที่ไหนในพม่า

กระทั่งก่อนวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านในปี ๒๕๕๖ คณะศิษยานุศิษย์โชติกะวิทยาลัยที่ไปศึกษาพระอภิธรรมต่อที่พม่าได้ออกตามรอยธรรมของผู้เป็นบูรพาจารย์การศึกษาพระอภิธรรมในเมืองไทย ไปจนถึงมาตุภูมิของท่าน ที่จังหวัดเมี้ยนฉั่ง ย่านเมืองมัณฑะเลย์

กาลผันผ่านมา ๑๐๕ ปีนับแต่ท่านถือกำเนิด แต่สภาพบ้านเมืองและศาสนาสถานในท้องถิ่นนั้นเปลี่ยนไปไม่มาก  วัตถุหลักฐานและพยานบุคคลร่วมยุคสมัยกับท่านยังเหลือให้สืบเสาะ

ล่าสุดพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งจากเมืองไทยเพิ่งจาริกธรรมไปยังที่นั่นอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้

2.

พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะเดินทางจากพม่ามายังประเทศไทย เมื่อปี ๒๔๙๒ เพื่อวางรากฐานการศึกษาพระอภิธรรมให้กับไทย ตามการอาราธนาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) จนกระทั่งท่านถึงกาลมรณภาพ เมื่อปี ๒๕๐๙

ระบบการเรียนพระอภิธรรมของไทยดำเนินสืบเนื่องมา ขณะที่ความรับรู้เกี่ยวกับผู้เป็นบูรพาจารย์นับวันยิ่งเลือนราง  กระทั่งก่อนวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของพระอาจารย์โชติกะ ในปี ๒๕๕๖ คณะศิษยานุศิษย์ที่ไปศึกษาต่ออยู่ในประเทศพม่า ได้ออกตามรอยธรรมของท่านไปจนถึงถิ่นเกิด และได้รวบรวมประวัติของท่านอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในชื่อ “ประวัติพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะศาสนชธัมมาจริยะ” โดย พระมหาฉลาด จักกวโร  พระนรมย์ วิสารโท  พระบัณฑิต ญาณธีโร

ข้อเขียนนั้นเล่าถึงอาจารย์ว่าท่านเกิดที่หมู่บ้านยัวตา จังหวัดมี้ยงฉั่ง แถบเมืองมัณฑะเลย์  บรรพชาครั้งแรกตั้งแต่ ๗ ขวบ  อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๑ ปี จำพรรษาและศึกษาปริยัติธรรมชั้นต้นที่วัดวาโซไต้ ในหมู่บ้านเกิด

ก่อนเข้าพรรษาที่ ๓ น้องชายได้มาบวชจำพรรษาอยู่ด้วยกัน  ต่อมาวันหนึ่งในพรรษาที่ ๔ ภิกษุสองพี่น้องชวนกันไปไหว้พระในวิหารไม้  ต่อหน้าองค์พระพุทธรูปไม้จันทน์หอมปิดทองทั้งองค์ปางพระทับยืน เกิดศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นตัดสินใจบูชาพระพุทธเจ้าด้วยชีวิตและอวัยวะ

พระน้องชายกล่าวกับพี่ว่าอยากจะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยร่างกาย และชวนพระผู้พี่ว่าเราสองคนมาสละร่างกายและชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าดีไหม

พระโชติกะตอบว่า เกิดมาเป็นมนุษย์บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ไม่อยากจะทำลายร่างกายและสมองของตนเองที่มีอยู่ อยากจะใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนาบ้าง ขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยวัตถุสิ่งอื่น

จากนั้นภิกษุหนุ่มทั้งสองก็แยกกันไปทำการบูชาตามความปรารถนาของตน  พระธัมมิกะผู้น้องเดินออกไปนอกเจดีย์ กระทำการบูชาตามความตั้งใจของตน ใช้จีวรพันรอบกาย มัดเชือก ราดน้ำมัน แล้วจุดไฟเผาตนเป็นประทีปบูชาพระพุทธเจ้า

พระโชติกะตัดนิ้วก้อยข้างซ้ายถวายเป็นพุทธบูชา

ต่อมาท่านออกไปศึกษาต่อที่วัดตูมองไต้ จังหวัดอมรปุระ ทางใต้ของเมืองมัณฑะเลย์

หลังสำเร็จชั้นธัมมาจริยะที่เมืองอมรปุระ ท่านเดินทางไปศึกษาต่อที่จังหวัดปะขุ๊กกู่

จากนั้นพระโชติกะในวัยหนุ่มจึงเข้าเมืองหลวง ไปศึกษาพระวินัย พระบาลีอรรถกถา และฎีกา ที่วัดตะแยะไต้ ในกรุงย่างกุ้ง  ก่อนเดินทางธรรมต่อมาถึงกรุงเทพฯ ขณะมีอายุ ๓๖ ปี ๑๕ พรรษา

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ

ช่วงแรกพำนักอยู่ที่วัดนาคปรก เขตยานนาวา  ต่อมาย้ายมาวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี  จากนั้นท่านได้ดำเนินการสอนพระอภิธรรม และรจนาคัมภีร์พระอภิธรรมเล่มแรก พระอภิธรรมสังคณีมาติกา เมื่อปี ๒๔๙๔  ต่อมาเรียงเรียงคัมภีร์มหาปัฏฐาน ซึ่งใช้เวลาปีเศษจึงเสร็จ  ต่อด้วยคัมภีร์ธาตุกถา  ยมกเบื้องต่ำ ๕ ยมก  และเล่มต่อๆ มา

โดยพื้นภูมิหลังที่ท่านไม่ใช่คนไทยและไม่สันทัดการสื่อสารภาษาไทย แต่ท่านวิริยะอุตสาหะ ใช้ล่ามภาษาพม่าและลูกศิษย์ที่พอมีพื้นฐานความรู้พระอภิธรรม ในการจัดทำหลักสูตรการสอนมาแต่ต้น จนกระทั่งได้หลักสูตรเกี่ยวกับพระอภิธรรม ๒๐ เล่ม กับหนังสือจากการแสดงปาฐกถาปกิณกะอีก ๕ เล่ม สะท้อนถึงความเป็นอัจฉริยบุคคลทางวิชาการพุทธศาสนาของท่าน

ดังที่ท่านปรารภว่า

“อาตมาลำบากผู้เดียว แต่ทำให้ผู้อื่นจำนวนมากได้รับประโยชน์และความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อาตมาภาพก็ยินดียอมรับความลำบากนั้นๆ ทุกประการ โดยมิได้นึกเป็นอย่างอื่น  และเพื่อเป็นการสร้างสมบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ตามสมควรที่จะเป็นไปได้ประการหนึ่งฯ”

ปีที่ ๑๗ ที่พระอาจารย์โชติกะได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนพระอภิธรรมในเมืองไทย ท่านอาพาธหนักด้วยโรคความดันโลหิตสูง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมิชชั่น ๒ ครั้ง ภายหลังมาพักรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชร่วมเดือน แต่อาการยังทรุดหนัก กระทั่งถึงกาลมรณภาพเมื่อ ๒๐ นาฬิกาเศษ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๙ สิริอายุได้ ๕๓ ปี ๓๒ พรรษา

ท่านไม่ได้ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาดังน้องชาย แต่อุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนาจนลมหายใจสุดท้าย  และอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย ที่ท่านให้กำเนิด ก็ยังเติบโตต่อมาอย่างมีชีวิตชีวาจนปัจจุบัน


เครดิต

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ