นำโลกุตตรธรรมคืนสู่โลกนี้

พระไพศาล วิสาโล 29 ธันวาคม 2002

การปฏิรูปพุทธศาสนาในศตวรรษที่แล้ว พยายามทำให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์และเน้นประโยชน์ในโลกนี้  ผลที่ตามมาก็คือโกุตตรธรรมตลอดจนประโยชน์ในโลกหน้าถูกลดความสำคัญจนเลือนหายไป เหลือแต่โลกิยธรรมและประโยชน์ในโลกนี้เท่านั้น  ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาส่วนที่ขาดหายไปนั้นกลับคืนมาดังเดิม  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกลับไปเป็นอย่างอดีต คือไม่เกี่ยวข้องกับโลกนี้ หรือทำให้โลกุตตรธรรมเป็นเรื่องของโลกหน้าไปเลย โดยระหว่างที่อยู่ในโลกนี้ก็สะสมบุญกุศลตระเตรียมไว้ก่อน

โลกุตตรธรรมไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากโลกนี้  “โลกนี้” ในที่นี้ไม่ได้มีนัยยะจำเพาะกาละเท่านั้น หากรวมถึงเทศะด้วย  หมายความว่าโลกุตตรธรรมไม่ควรจะแยกขาดจากชีวิตที่ดำรงอยู่ตอนนี้ และไม่เจาะจงว่าจะต้องไปแสวงหาในป่าลึกเท่านั้น  กล่าวอีกนัยหนึ่ง โลกุตตรธรรมควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตประจำวันได้ด้วย  ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้หนึ่งที่พยายามนำโลกุตตรธรรมกลับมาสู่โลกนี้ โดยเน้นว่านิพพานในชาตินี้เป็นไปได้ และสามารถจะทำได้ท่ามกลางสังคม ไม่จำเป็นต้องละโลกสู่วัดก็ได้  เพราะการลดตัวตนนั้นพึงเป็นหน้าที่ของทุกคนเพื่อใช้ความเป็นมนุษย์ให้คุ้มค่าที่สุด ดังท่านเน้นว่า “บวชเพื่อกำจัดอัตตานั้น อยู่วัดก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ อยู่ถ้ำ อยู่ป่า อยู่เกาะร้างก็ได้ … การบวชที่แท้จริงที่สุดคือการทำชีวิตให้หมดปัญหา จะอย่างไร-ที่ไหน-เมื่อไร-เท่าไรก็ได้”

ที่แล้วมาโลกุตตรธรรมถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัว พอพูดถึงนิพพาน ถ้าไม่เมินหน้าหนีก็เอามือจบท่วมหัวแล้วก็อธิษฐานขอให้ได้พานพบในภพหน้า  แต่เมื่ออธิบายเสียใหม่ให้ตรงตามเนื้อหาสาระอย่างที่พระธรรมปิฎกกล่าวว่า คือการ “ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต ไม่ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจความยึดติดถือมั่น สามารถทำจิตให้เป็นอิสระ ปลอดโปร่งผ่องใสสะอาดสว่างและสงบ มีความสุขประณีตภายใน” โลกุตตรธรรมก็กลับกลายเป็นสิ่งที่คุณค่าอย่างยิ่งสำหรับชีวิตนี้ หาใช่ของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นอีกต่อไปไม่  พร้อมกันนั้นโลกุตตรธรรมก็กลับกลายเป็นสิ่งซึ่งมีอยู่จริงและอยู่ในวิสัยที่สัมผัสได้ หาใช่เรื่องเพ้อฝันที่ต้องหลีกทางแก่วิทยาศาสตร์ไม่

การทำให้โลกุตตรธรรมผสานกับชีวิตนี้ คือการทำให้ธรรมกับโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นชีวิตประจำวัน จะไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การแสวงหาความสำเร็จทางโลกหรือการทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้น หากยังจะเป็นการปฏิบัติธรรมไปในเวลาเดียวกัน  และธรรมที่ว่าก็มิได้หมายถึงศีลธรรมหรือการไม่ใช้กายวาจาเบียดเบียนผู้อื่นหรือทุจริตต่อสังคมเท่านั้น หากรวมถึงการฝึกฝนอบรมจิตและปัญญาพร้อมไปด้วยกันเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว เพิ่มพูนเมตตากรุณา รวมทั้งรู้เท่าทันความจริงของชีวิต ไม่สำคัญมั่นหมายเป็นตัวตนหรือ “ตัวกูของกู” จนเกิดความสงบโปร่งเบาและอิสระ ไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิตและโลก

โลกิยธรรมหรือศีลธรรมระดับโลกิยะนั้นช่วยให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี เกื้อกูลให้เกิดทรัพย์ สุขภาพ และความสัมพันธ์ที่ดีงามก็จริง แต่กระนั้นก็ยังมิใช่หลักประกันแห่งความสุขอย่างแท้จริง  คนที่ทำมาหากินด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ ใฝ่บุญ ก็ยังทุกข์ได้มากเพราะความพลัดพรากจากคนรัก สูญเสียทรัพย์ หรือประสบความล้มเหลวในการงาน  บ่อยครั้งก็ทุกข์เพราะการติดยึดในความดี เช่น เสียใจที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี หรือทุกข์ที่ลูกหลานไม่ดีอย่างที่ตนปรารถนา

โลกุตตรธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะช่วยให้ทำดีโดยไม่ทุกข์เพราะความดี ประสบความสำเร็จโดยไม่ติดยึดกับผลนั้น จึงไม่ทุกข์ยามล้มเหลว มียศทรัพย์โดยไม่หลงใหลปลาบปลื้ม จึงไม่ทุกข์ยามเสื่อมลาภ  นอกจากจะช่วยให้ชีวิตเป็นสุขอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นหลักประกันมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นในนามของความดี  สงครามและการประหัตประหารบ่อยครั้งก็ทำในนามของศาสนาและการขจัดความชั่วร้าย ทั้งนี้เป็นเพราะการติดยึดในความดี (ตามที่ตนเข้าใจ) จนกลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นที่ไม่คิดอย่างตน อาทิ การสังหารหมอทำแท้งโดยศาสนิกที่เรียกร้องผู้คนให้เคารพชีวิต  โลกุตตรธรรมช่วยให้เราไม่ติดยึดลุ่มหลงกับความคิดหรือทฤษฎีจนเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็น “ตัวกู ของกู” ซึ่งจะตามมาด้วยการเห็นคนที่คิดต่างจากตนเป็น “เขา” หรือเป็นศัตรู  ด้วยเหตุนี้เองโลกิยธรรมจึงควรกำกับด้วยโลกุตตรธรรม หรือมีโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐาน

โลกุตตรธรรมในความหมายข้างต้น ทำให้โลกและชีวิตประจำวันมีมิติทางจิตวิญญาณเพิ่มขึ้นมา  เพราะทุกขณะและทุกการกระทำในชีวิตประจำวันเป็นโอกาสที่จะได้ลดละอัตตา สัมผัสกับความสุขประณีตเป็นอิสระภายใน ไร้กิเลสครอบงำ ซึ่งก็คือ “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้” นั่นเอง  โดยนัยนี้โลกุตตรธรรมและโลกิยธรรมจึงมิได้แยกจากกัน ขณะเดียวกันโลกและชีวิตจะมิใช่สิ่งสาธารณ์ เป็นเรื่องของวัตถุหรือความดาษดื่นอย่างที่เข้าใจกัน หากกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป

โลกุตตรธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะช่วยให้ทำดีโดยไม่ทุกข์เพราะความดี ประสบความสำเร็จและมียศทรัพย์โดยไม่ติดยึด จึงไม่ทุกข์ยามล้มเหลวหรือเสื่อมลาภ

การนำโลกุตตรธรรมกลับมาในชีวิตประจำวัน ในแง่หนึ่งก็คือการทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ตราบใดที่โลกุตตรธรรมหรือนิพพานอยู่อีกโลกหนึ่ง ความรู้สึกเหินห่างระหว่างชาวพุทธกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เกิดขึ้น  แต่เมื่อนิพพานสามารถสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็มิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป  สิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ย่อมประเสริฐกว่าสิ่งที่ถูกปลุกเสกขึ้นมาโดยบริโภคนิยมและไสยศาสตร์เป็นไหนๆ แม้ว่าจะมองไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียง และบันดาลโชคลาภไม่ได้ก็ตาม (แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากโลกุตตรธรรมหรือนิพพานจะถูกสื่อด้วยสัญลักษณ์ที่มองเห็นชัด จะเป็นแสง เป็นเมืองแก้ว หรือมะพร้าวนาฬิเกร์ ก็สุดแท้แต่ท้องถิ่น วัฒนธรรม และระดับสติปัญญาของผู้คนที่ต้องการสื่อ)

การนำธรรมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลกนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำเฉพาะระดับบุคคลเท่านั้น  แม้ว่าการแปรชีวิตและการงานให้กลายเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัวจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ไม่ควรทำให้พุทธศาสนามีความหมายเพียงแค่นั้น  หาไม่แล้วพุทธศาสนาก็จะเหลือแต่มิติส่วนบุคคลอีก ซึ่งง่ายที่จะกลายเป็นศาสนาระดับบุคคลไป  โลกกับธรรมจักต้องเป็นเรื่องของสังคมด้วย กล่าวคือสถาบันและระบบต่างๆ ในสังคมตลอดจนการดำเนินกิจการระดับสังคม ต้องไม่มุ่งแต่ผลสำเร็จทางวัตถุเท่านั้นหรือประโยชน์ที่จับต้องได้เท่านั้น  หากจะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามแก่จิตใจ อำนวยให้ผู้คนเข้าถึงอิสรภาพภายในด้วย  แทนที่จะเอารายได้หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จ ควรวัดกันที่ความสุขและความสงบในสังคม  แทนที่จะมุ่งสนองการบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง ควรอำนวยส่งเสริมชีวิตที่เรียบง่าย สมดุลและรู้จักพอ

กล่าวโดยสรุป นอกจากโลกกับธรรมจะต้องผสานกันแล้ว ธรรมระดับบุคคลจะต้องไม่แยกจากธรรมระดับสังคมด้วย  บุคคลพึงดำเนินชีวิตโดยมีธรรมกำกับฉันใด สังคมก็พึงเป็นไปโดยเกื้อกูลต่อธรรมฉันนั้น  โดยนัยนี้เท่านั้นพุทธศาสนาจึงจะมีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คน และบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของการมีชีวิตทั้ง ๓ ระดับ  ได้แก่ ประโยชน์ปัจจุบัน (ประโยชน์เนื่องด้วยชีวิตประจำวัน) ประโยชน์เบื้องหน้า (ประโยชน์ด้านคุณค่าทางจิตใจ) และประโยชน์สูงสุด (ความอิสระของชีวิตด้านใน)


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา