บททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต

พระไพศาล วิสาโล 27 มีนาคม 2005

ความตายเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกชีวิต  แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะเราไม่อาจกำหนดหรือคาดทำนายได้ว่าจะตายเมื่อใด ที่ไหน และด้วยสาเหตุอะไร  แม้แต่นักโทษประหารหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็อาจจบชีวิตด้วยสาเหตุที่ไม่คาดฝัน  ทั้งความแน่นอนและไม่แน่นอนนี้เองมีส่วนทำให้ความตายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้คนที่ปรารถนาจะควบคุมทุกอย่างไว้ในอำนาจ

เป็นเพราะเห็นความตายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว เราจึงไม่อยากนึกถึงความตายของตนเอง (แต่อาจสนใจอยากรู้ความตายของคนอื่น ทั้งโดยผ่านสื่อนานาชนิดและด้วยพฤติกรรม “ไทยมุง”) สุดท้ายก็เลยลืม (หรือแกล้งลืม) ว่าตนเองจะต้องตาย  แต่ไม่ว่าจะปัดไปให้พ้นตัวเพียงใด ในที่สุดความตายก็ต้องมาถึงจนได้

ความตายนั้นเป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต  บททดสอบอื่นๆ นั้นเราสามารถสอบได้หลายครั้ง แม้สอบตกก็ยังสามารถสอบใหม่ได้อีก  แต่บททดสอบที่ชื่อว่าความตายนั้น เรามีโอกาสสอบได้ครั้งเดียว และไม่สามารถสอบแก้ตัวได้เลย  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นบททดสอบที่ยากมาก และสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ โดยไม่ทันได้ตั้งตัว  เป็นบททดสอบที่เราแทบจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าเวลา สถานที่ หรือแม้กระทั่งร่างกายและจิตใจของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่ความตายเป็นบททดสอบที่สำคัญอย่างยิ่งของชีวิต แต่น้อยคนนักที่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับบททดสอบดังกล่าว  ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการทำมาหากินและการหาความสุขจากสิ่งเสพ  เราพร้อมจะให้เวลาเป็นปีๆ สำหรับการฝึกอาชีพ เข้าคอร์สฝึกร้องเพลงเต้นรำนานเป็นเดือนๆ ไม่นับเวลานับพันนับหมื่นชั่วโมงกับการช็อปปิ้งและท่องอินเตอร์เน็ต  แต่เรากลับไม่เคยสนใจที่จะตระเตรียมตนเองให้พร้อมเผชิญกับความตายหรือภาวะใกล้ตาย  ส่วนใหญ่นึกราวกับว่าตนเองจะไม่มีวันตาย หาไม่ก็คิดง่ายๆ ว่าขอ “ไปตายเอาดาบหน้า”  ไม่มีความประมาทอะไรที่ร้ายแรงไปกว่าการทิ้งโอกาสที่จะฝึกฝนตนเองให้เผชิญความตายอย่างสงบในขณะที่ยังมีเวลาและพลกำลังอย่างพร้อมมูล

เป็นเพราะเห็นความตายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว เราจึงไม่อยากนึกถึงความตายของตนเอง แต่ไม่ว่าจะปัดไปให้พ้นตัวเพียงใด ในที่สุดความตายก็ต้องมาถึง

เป็นเพราะไม่สนใจเตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อน  เมื่อล้มป่วยและเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้คนเป็นอันมากจึงประสบกับความทุกข์ทรมานอย่างแรงกล้าทั้งกายและใจ  ทรัพยากรที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะเอามาใช้ช่วยตัวเองในยามวิกฤต โดยเฉพาะ “ทุน” ที่สะสมไว้ในจิตใจ ซึ่งสำคัญกว่าทุนที่เป็นทรัพย์สมบัติ  ผู้คนจำนวนไม่น้อยลงเอยด้วยการพยายามต่อสู้กับความตายอย่างถึงที่สุด ฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีทุกชนิด  แต่การพยายามยืดชีวิตนั้น บ่อยครั้งกลับกลายเป็นการยืดการตายหรือภาวะใกล้ตายให้ยาวออกไปพร้อมกับความทุกข์ทรมาน โดยคุณภาพชีวิตและจิตใจหาได้ดีขึ้นหรือเท่าเดิมไม่

มีแนวโน้มว่าผู้คนจะใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายที่โรงพยาบาลกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนในเมือง  ปัญหาก็คือระบบการแพทย์ในปัจจุบันเน้นแต่การดูแลรักษาทางกาย โดยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจ  เทคโนโลยียืดชีวิตกลายเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด  แต่สิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องการมากที่สุดนั้น มิใช่ความรู้หรือเทคโนโลยี  หากได้แก่กำลังใจและความรัก  ไม่เฉพาะจากญาติมิตรและครอบครัวเท่านั้น  ขวัญและกำลังใจจากแพทย์และพยาบาลก็เป็นสิ่งสำคัญ  ยิ่งในยามที่ความรู้และเทคโนโลยีมาถึงขีดจำกัดในการรักษา สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่เลวร้ายลงไปก็คือ ความเมตตาและความใส่ใจโดยบุคคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ผู้คนแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอกไม่สำคัญเท่ากับจิตใจของผู้ป่วยเอง  ผู้ป่วยที่ยอมรับความตายและได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้า ย่อมมีโอกาสที่จะเผชิญกับความตายอย่างสงบ  หรืออย่างน้อยก็สามารถประคองใจไม่ให้เป็นทุกข์ในภาวะใกล้ตาย  หลายคนพบว่าศาสนาเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของจิตใจในวาระสุดท้าย โดยที่ญาติมิตรหรือคนรักก็ได้รับการเยียวยาทางจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กัน

การแพทย์แผนใหม่นั้นเห็นความตายเป็นปฏิปักษ์ต่อวิชาชีพแพทย์  ความตายของผู้ป่วยหมายถึงความล้มเหลวของแพทย์ ดังนั้นจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะความตายให้ได้ หรือหากทำไม่ได้ก็พยายามยืดชีวิตผู้ป่วยให้ได้นานที่สุด  ดังนั้นจึงไม่ลังเลที่จะทำอย่างไรก็ได้กับร่างกายของผู้ป่วย แม้นั่นจะหมายถึงการสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและญาติมิตร  จะเป็นการดีกว่าหากแพทย์และพยาบาลมองความสำเร็จและความล้มเหลวของตนในแง่มุมใหม่  คือไม่ได้ถือว่าความสำเร็จอยู่ที่การช่วยหรือยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ได้เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การช่วยให้เขาเผชิญความตายอย่างสงบ มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนตาย  มองในแง่นี้ความตายของผู้ป่วยจะไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวของแพทย์และพยาบาลเสมอไป

ไม่ว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือตายไปก็ยังถือว่าเป็นความสำเร็จของแพทย์และพยาบาลได้ หากว่าจิตใจของเขาได้รับความใส่ใจไม่น้อยไปกว่าร่างกาย  ในการรักษาพยาบาลนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีผู้ป่วยคนใดตายเลย  แต่เป็นไปได้ที่เขาจะจากไปอย่างสงบ เพราะฉะนั้นความสำเร็จในนิยามใหม่นี้จึงสามารถเกิดขึ้นได้ในการรักษาผู้ป่วยทุกกรณี

นิมิตดีก็คือมีแพทย์และพยาบาลจำนวนมากขึ้นที่ให้ความสำคัญกับจิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย  หลายคนแม้จะไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตต่อไปได้ แต่ครอบครัวและญาติมิตรของผู้ตายก็ซาบซึ้งที่แพทย์และพยาบาลช่วยให้คนรักของเขาจากไปอย่างสงบ  ความสำเร็จของแพทย์และพยาบาลเหล่านั้นอยู่ตรงที่ไม่พยายามยื้อชีวิตของผู้ป่วยให้นานที่สุด แต่พยายามประคับประคองให้เขาบรรลุวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างเจ็บปวดน้อยที่สุดและมีจิตเป็นกุศลหรือสงบมากที่สุด  การแพทย์แบบประคับประคอง (palliative care) เป็นสิ่งที่ควรจะได้รับความสนใจมากขึ้นจากสถาบันการแพทย์สมัยใหม่  ขณะเดียวกันก็ควรผนวกเอาวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบบูรณาการเข้าไปด้วย  ดังที่ได้มีการริเริ่มบ้างแล้วจากหลายฝ่ายจนเกิดเป็น “เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักบวช และนักปฏิบัติธรรมจำนวนหนึ่ง

ถ้าเราหันมาใคร่ครวญเกี่ยวกับความตาย และพยายามฝึกใจให้พร้อมรับมือกับบททดสอบที่สำคัญที่สุดของชีวิต  ความตายจะมิใช่วิกฤต หากเป็นโอกาสแห่งความสงบในทางจิตใจที่เงินและเทคโนโลยีไม่สามารถหาให้ได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา