บทเรียนจากแอฟริกาใต้

พระไพศาล วิสาโล 20 มิถุนายน 2010

ฟุตบอลโลกครั้งที่ ๑๙ ทำให้แอฟริกาใต้กลับมาเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลกอีกครั้งหนึ่ง  ตลอดทั้งเดือนคนหลายร้อยล้านจะจับจ้องมองเกมกีฬาเดียวกัน ในขณะที่ชาวแอฟริกาใต้ร่วมกันเทใจให้กับทีมฟุตบอลของตัวท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

บรรยากาศดังกล่าวนับว่าแตกต่างอย่างมากจาก ๑๕ ปีก่อนเมื่อแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดรักบี้โลก  ก่อนหน้านั้นแค่ ๒ ปีแอฟริกาใต้เกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง  มีเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้งอันเกิดจากการปะทะกันระหว่างคนขาวกับคนดำ และระหว่างคนดำต่างเผ่า  รัฐบาลซึ่งมาจากคนขาวอันเป็นชนกลุ่มน้อยคุมสถานการณ์แทบจะไม่ได้แล้วทั้งๆ ที่มีอำนาจเผด็จการอยู่ในมือ  ใช่แต่เท่านั้น เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ก็ย่ำแย่เพราะเพิ่งฟื้นตัวจากการถูกนานาชาติคว่ำบาตร เนื่องจากมีนโยบายเหยียดผิวมาช้านาน

สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในปีถัดไป ซึ่งทำให้เนลสัน แมนเดลลาได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี  แม้จะได้คะแนนเสียงจากคนดำอย่างท่วมท้น แต่เนลสัน แมนเดลลาถือว่าตนเป็นประธานาธิบดีของคนแอฟริกาใต้ทั้งประเทศ ไม่ว่าคนดำหรือคนขาว  ความปรองดองของคนในชาติถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง เขาจึงเลือกอดีตประธานาธิบดีเดอเคลิร์กซึ่งเป็นคนขาว มาเป็นรองประธานาธิบดีในคณะรัฐบาลแห่งชาติ

เฟรดริก วิลเลิม เดอ เคลิร์ก (ซ้าย) กับ เนลสัน แมนเดลา (ขวา) ในการประชุม World Economic Forum ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1992

อย่างไรก็ตาม ความเคียดแค้นชิงชังที่คนดำมีต่อคนขาวซึ่งเอาเปรียบเหยียดหยามพวกเขามาช้านาน ไม่ได้หายไปง่ายๆ  คนดำรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับทุกอย่างที่เป็นของคนขาว รวมถึงทีมรักบี้ของแอฟริกาใต้  แม้ได้ชื่อว่าเป็นทีมชาติ แต่ทีมรักบี้แอฟริกาใต้เป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวอย่างชัดเจนเพราะมีแต่ผู้เล่นซึ่งเป็นคนขาว (ช่วงที่แอฟริกาใต้ถูกประชาคมนานาชาติคว่ำบาตรนั้น ทีมรักบี้แอฟริกาใต้ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้ไปเล่นในประเทศต่างๆ ด้วย)  ดังนั้นเมื่ออำนาจถูกโอนถ่ายจากคนขาวมาสู่คนดำหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๓๗ จึงมีเสียงเรียกร้องให้ยุบทีมรักบี้ดังกล่าว รวมทั้งยกเลิกทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของทีมรักบี้นี้ ไม่ว่าโลโก้หรือสมญานาม “สปริงบ็อกส์”

แต่แมนเดลลารู้ดีว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทำร้ายจิตใจของคนขาว นั่นไม่ใช่หนทางแห่งการปรองดอง  เขาตระหนักดีว่าการปรองดองนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีไมตรีจิตให้อีกฝ่าย มิใช่การแก้แค้นแม้จะมีอำนาจเหนือกว่า  ดังนั้นเขาจึงทำสิ่งที่คนดำทั้งประเทศคาดไม่ถึง นั่นคือปกป้องทีมสปริงบ็อกส์และคงสัญลักษณ์ทุกอย่างที่เป็นของทีมนี้

แมนเดลลารู้ดีว่าการทำเพียงเท่านั้นยังไม่พอ ตราบใดที่คนดำยังรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับทีมรักบี้ของชาติตัวเอง สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในการแข่งขันรักบี้โลกที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพก็คือ ชาวแอฟริกาใต้ผิวดำพากันส่งเสียงเชียร์ทีมตรงข้ามกับทีมชาติของตัว  ดังนั้นแมนเดลลาจึงทำการรณรงค์ให้คนผิวดำหันมาเล่นรักบี้กันให้มากขึ้น (แทนที่จะเล่นแต่ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาของคนดำ) มีการส่งนักรักบี้ทีมชาติเดินสายทั่วประเทศเพื่อฝึกเยาวชนผิวดำให้รู้จักเล่นรักบี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการสร้างสัมพันธภาพระหว่างคนผิวดำกับนักกีฬาทีมชาติของตัว

เมื่อการแข่งขันรักบี้โลกเปิดสนามขึ้นที่กรุงโจแฮนเนสเบิร์ก ฝันของแมนเดลลาก็ปรากฏเป็นจริง  คนแอฟริกาใต้ผิวดำต่างส่งเสียงเชียร์ทีมชาติของตนอย่างกึกก้อง ขณะที่คนขาวร้องเพลงชาติที่เป็นภาษาซูลู กล่าวกันว่านี้คือก้าวสำคัญสู่ความสมานฉันท์ในแอฟริกาใต้  ทั้งคนขาวและคนดำทิ้งความแตกต่างและความเจ็บปวดไว้เบื้องหลัง ต่างหันมาเทใจให้กับสิ่งเดียวกัน ผลก็คือทีมสปริงบ็อกส์ซึ่งเป็นทีมรองบ่อนไร้อันดับในการแข่งขันครั้งนั้น ได้พลิกคำทำนายของเซียนกีฬา สามารถฝ่าด่านจนเข้าชิงชนะเลิศกับทีมนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเต็งอันดับ ๑  แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อแอฟริกาใต้สามารถเอาชนะนิวซีแลนด์ได้อย่างเฉียดฉิว ครองแชมป์รักบี้โลกเป็นครั้งแรกท่ามกลางความปลื้มปีติของคนแอฟริกาใต้ทั้งประเทศ  ใช่แต่เท่านั้นแมนเดลลายังทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝัน นั่นคือสวมเสื้อทีมสปริงบ็อกส์มาเป็นประธานในพิธี  สำหรับผู้คนเป็นอันมาก นี้คือภาพที่ให้ความหวังว่าแอฟริกาใต้จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ

การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีไมตรีจิตให้อีกฝ่าย มิใช่การแก้แค้นแม้จะมีอำนาจเหนือกว่า

แมนเดลากับชุดกีฬารักบี้ทีมชาติในปี 1995

ในแอฟริกาใต้นั้น กีฬาคือเครื่องแบ่งแยก กล่าวคือคนขาวเล่นรักบี้ ส่วนคนดำเล่นฟุตบอล (มีคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกดูแคลนระหว่างนักกีฬา ๒ ประเภทว่า “รักบี้คือกีฬาอันธพาลที่เล่นโดยสุภาพบุรุษ ส่วนฟุตบอลคือกีฬาสุภาพบุรุษที่เล่นโดยอันธพาล”)  แต่อะไรที่แบ่งแยกผู้คนนั้น ก็สามารถเชื่อมผู้คนได้ เช่นเดียวกับกุญแจที่ลั่นดาลประตูก็สามารถเปิดประตูได้  แมนเดลลาตระหนักดีถึงความจริงข้อนี้ ผ่านประสบการณ์ของเขาเองระหว่างที่ถูกจองจำอยู่ในคุกนานถึง ๒๗ ปี

แมนเดลลาเคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ปราบปรามของรัฐบาลคนขาว  แต่ประสบการณ์และการไตร่ตรองภายในเรือนจำทำให้เขาตระหนักว่าสันติวิธีเป็นวิธีเดียวที่จะถางทางให้คนดำมีเสรีภาพและความเสมอภาคเช่นเดียวกับคนขาว  แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องทำให้คนขาวมองคนดำเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับคนขาว

แมนเดลลาตระหนักดีว่า ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก “ระยะห่างทางสังคม”  ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เขาทำระหว่างที่อยู่ในคุกก็คือ การศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมของคนขาว  เขาจับได้ว่าคนขาวนั้นชอบรักบี้เป็นชีวิตจิตใจ เขาจึงตะลุยอ่านหนังสือเกี่ยวกับรักบี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยชอบมาก่อนเลย และจดจำรายละเอียดมากมาย  เขาเชื่อว่านี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะเปิดใจคนขาวให้ยอมรับคนดำว่าเป็นเพื่อนได้

ห้องพักของแมนเดลาในเรือนจำบนเกาะร็อบเบิน ซึ่งเขาถูกคุมขังระหว่างปี 1964-1982

คุกที่เขาถูกขังนั้นขึ้นชื่อว่าเข้มงวดมาก และมีการป้องกันอย่างแน่นหนา อีกทั้งผู้คุมซึ่งเป็นคนขาวก็ดุร้าย เจ้าระเบียบ และมีท่าทีรังเกียจนักโทษคนดำมาก  แมนเดลลาพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีปัญหากับผู้คุม แต่เขามีเรื่องลำบากใจอยู่อย่างหนึ่ง คืออาหารมื้อเย็นที่เหลือจากตอนกลางวันนั้น จะเย็นชืดมาก  เขาเองกินอาหารเย็นๆ ไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องอุ่นเสียก่อน  เขารู้ดีว่าผู้คุมไม่ชอบแน่ที่เขาจะมาวุ่นวายเรื่องนี้  แต่เขาก็มีวิธี  ทุกเย็นเขาจะเดินเข้าไปคุยกับคนขาวเรื่องรักบี้ ชนิดเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียด รวมทั้งผลการแข่งขันล่าสุด (แน่นอนเขาคุยด้วยภาษาของคนขาว)  ปรากฏว่าถูกใจผู้คุมมาก สักพักเขาก็ตะโกนสั่งลูกน้องว่า “เฮ้ย ไปอุ่นอาหารให้แมนเดลลาหน่อย”

แมนเดลลาตระหนักดีว่าการจะโน้มน้าวคนขาวให้ถ่ายอำนาจแก่คนดำนั้น เขาต้อง “พูดกับหัวใจของพวกเขา” ไม่ใช่พูดกับสมองของเขา หรือเอาเหตุผลมาพูดกัน  เขาพบว่ารักบี้เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเป็นสะพานพาเขาเข้าถึงหัวใจของคนขาวได้  เขาพยายามทำให้คนขาวเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “ถ้าหากผู้ก่อการร้ายที่อยู่อีกด้านหนึ่งของโต๊ะเจรจาเป็นแฟนรักบี้ เขาก็คงไม่เลวร้ายอย่างที่พวกเรานึกกระมัง” แล้วเขาก็ทำสำเร็จ

แมนเดลลาประสบความสำเร็จในการเจรจาให้คนขาวแบ่งปันอำนาจให้แก่คนดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แอฟริกาใต้จึงสามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองได้อย่างหวุดหวิด  ความสำเร็จของแมนเดลลา มิได้อยู่ที่การมียุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ดี มีทางลงให้แก่คนขาวที่ครองอำนาจมานับร้อยปี  แต่ยังอยู่ที่บุคลิกและความสามารถส่วนตัวของเขา ที่ทำให้คนขาวไว้วางใจเขา เห็นเขาเป็นเพื่อน  ซึ่งทำให้เห็นต่อไปว่าคนดำนั้นก็เป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรี รวมทั้งมีความเหมือนมากกว่าความต่าง  และความเหมือนอย่างหนึ่งก็คือ เป็นแฟนรักบี้เหมือนกัน

บรรยากาศภายในเรือนจำ

การทำให้ผู้อื่นไว้วางใจนั้นจะสำเร็จได้ ต่อเมื่อเราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักหยิบยื่นไมตรีให้เขาด้วย หาไม่แล้วก็ยากที่จะเอาชนะความระแวงและความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ได้  แมนเดลลาสามารถชนะใจคนขาวได้ก็เพราะเหตุนี้ แต่สิ่งที่อาจจะยากกว่าก็คือการทำให้คนดำไม่ลุกขึ้นมาแก้แค้นคนขาวหลังจากที่ถูกกระทำย่ำยีมาช้านาน  บาดแผลที่คนดำได้รับจากคนขาวนั้นเรื้อรังมาหลายทศวรรษ จึงปรารถนาที่จะชำระความแค้นเมื่อคนดำได้เป็นใหญ่ในประเทศ  ดังนั้นจึงรู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่แมนเดลลาขัดขวางการกระทำดังกล่าว ซ้ำยังมีไมตรีจิตให้แก่คนขาว  ผู้คนเป็นอันมากผิดหวังที่เขาไม่กวาดล้างเจ้าหน้าที่ผิวขาวที่เคยเป็นมือไม้ให้กับรัฐบาลในการกดขี่ปราบปรามประชาชน ซ้ำยังยอมให้คนเหล่านั้นมาเป็นองครักษ์ประจำตัวของเขา  แทนที่จะใช้การเมืองแบบไล่ล่าแก้แค้น แมนเดลลายืนยันที่จะใช้การเมืองแห่งการให้อภัยและคืนดี

คนที่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก เพราะต้องสวนกระแสความรู้สึกของมหาชนที่เลือกเขาขึ้นมา ต้องทนคำวิพากษ์วิจารณ์และเข้าใจผิดนานัปการ  แต่กาลเวลาได้พิสูจน์ว่า สิ่งที่แมนเดลลาทำนั้นได้นำสันติสุขและความสมานฉันท์มาสู่แอฟริกาใต้ จากประเทศที่เกือบจะแตกเป็นเสี่ยง กลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา

เดินทางมาบรรยายหัวข้อ ‘แอฟริกาและบทบาทในเวทีโลก’ ที่ London School of Economics ในปี 2000

แมนเดลลาเคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับการกดขี่จากรัฐบาลคนขาว แต่ประสบการณ์และการไตร่ตรองภายในเรือนจำทำให้เขาตระหนักว่า “สันติวิธี” เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คนดำมีเสรีภาพและความเสมอภาคเช่นเดียวกับคนขาว

แน่นอนว่าความสมานฉันท์ในแอฟริกาใต้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่างๆ อีกมากมาย รวมทั้งการเยียวยาโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อสัจจะและความสมานฉันท์เป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้ผู้กระทำอาชญากรรม (ไม่ว่าขาวหรือดำ) ได้รับโทษ (หากไม่สารภาพตั้งแต่แรก)  และทำให้เหยื่อของความรุนแรงได้รับการชดเชย หรือมีโอกาสเล่าความเจ็บปวดของตนให้ผู้อื่นรับรู้ในระหว่างการพิจารณาคดี (ชาวผิวดำผู้หนึ่งซึ่งถูกตำรวจผิวขาวทรมานจนตาบอด เล่าว่า “สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแย่ตลอดเวลาก็คือความจริงที่ว่าผมไม่สามารถเล่าเรื่องราวของผมได้  แต่ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนว่าผมมองเห็นได้อีกครั้งหนึ่งโดยการมาที่นี่และบอกเล่าเรื่องราวของผมออกมา”)

๑๕ ปีหลังจากรักบี้โลกถึงฟุตบอลโลก แอฟริกาใต้ได้ก้าวหน้าไปมาก ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความปรองดองในชาติ  ทุกครั้งที่เราดูฟุตบอลโลกที่จัดในประเทศนั้น ควรจะนึกหันมามองบ้านเมืองของเราด้วย  อย่าคิดแต่เพียงว่าเมื่อไรเราจะมีปัญญาจัดฟุตบอลโลกได้ที่เมืองไทย แต่ควรนึกต่อไปว่าเราจะสร้างความปรองดองในชาติอย่างแอฟริกาใต้ได้อย่างไรบ้าง

คนไทยนั้นจะว่าไปแล้วความแตกต่างระหว่างกันมีน้อยกว่าความแตกต่างระหว่างคนขาวกับคนดำในแอฟริกาใต้ ไม่ว่าจะในแง่ผิวสี ฐานะทางเศรษฐกิจ หรืออำนาจทางการเมือง  หากแอฟริกาใต้ยังสามารถจัดสรรอำนาจกันใหม่ได้อย่างสันติ ชนิดที่กลับหัวกลับหางก็ว่าได้ (คนดำกลายเป็นผู้ปกครอง ส่วนคนขาวกลายเป็นผู้ถูกปกครอง)  เมืองไทยซึ่งมีปัญหาน้อยกว่ากันมาก จะไม่สามารถฝ่าพ้นวิกฤตด้วยสันติวิธีเชียวหรือ  แต่เราต้องทำมากกว่าการชูคำขวัญ  มีหลายอย่างที่จะต้องทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือความปรองดองบนวิถีแห่งไมตรีจิต ซึ่งต้องอาศัยความกล้าที่จะทวนกระแสแห่งความโกรธเกลียดทั้งของผู้คนและในใจเรา


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา